svasdssvasds
เนชั่นทีวี

การเมือง

เลือกซ่อมสงขลาชี้ชะตา 3 ขุนพล"ประชาธิปัตย์"

14 มกราคม 2565
เกาะติดข่าวสาร >> Nation Story
logoline

เปิดศักราชปี 2565 ถือเป็นปีแห่งการเลือกตั้ง เพราะแค่มกราคม เดือนเดียว ก็มีการเลือกตั้งซ่อมถึง 3 สนาม ได้แก่ สงขลา เขต 6 ชุมพร เขต 1 ซึ่งจะหย่อนบัตรกันในวันที่ 16 ม.ค. หรือวันอาทิตย์นี้ และกรุงเทพมหานคร เขต 9 "หลักสี่-จตุจักร" ในวันที่ 30 ม.ค.นี้

การเลือกตั้งซ่อม โดยปกติที่ผ่านๆ มา จะยึดถือมารยาททางการเมืองกันว่า หากพื้นที่เลือกตั้งซ่อมเป็นของพรรคใด ก็ให้พรรคนั้นส่งลงสมัคร โดยเฉพาะถ้าเป็นพรรคร่วมรัฐบาลด้วยกัน มักจะไม่ส่งผู้สมัครลงแข่งขันกันเอง แต่มารยาททางการเมืองนี้ ไม่ได้รับการยึดถือในการรัฐบาลยุคปัจจุบัน เพราะการเลือกตั้งซ่อม 2 เขตในภาคใต้ คือ เขต 6 สงขลา และเขต 1 ชุมพร พรรคพลังประชารัฐ ตัดสินใจส่งผู้สมัครลงชิงเก้าอี้กับพรรคประชาธิปัตย์ ซึ่งเป็นเจ้าของพื้นที่เดิม

 

เมื่อถึงฤดูการหาเสียง ทำให้เกิดกระแสวิวาทะกันระหว่าง 2 พรรค เรียกว่าโจมตีสาดโคลนโยนบาป กันเอง ตั้งแต่ระดับโฆษก จนถึงระดับแกนนำพรรค เข้าทำนองที่ว่า "ผีไม่เผา เงาไม่เหยียบ" กันเลยทีเดียว ทั้งๆ ที่ทั้งสองพรรคต้องรับผิดชอบงานบริหารประเทศร่วมกันในรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา และมีปัญหาใหญ่ที่ต้องจัดการร่วมกันเฉพาะหน้า คือ สินค้าราคาแพง โดยเฉพาะหมู และเนื้อสัตว์ต่างๆ แต่ปรากฏว่ากลับมีการโยนบาปกันแทนว่าเป็นความผิดของอีกฝ่าย

 

ประเด็นหาเสียงที่กลายเป็นวิวาทะกัน มีทั้งการกล่าวหาว่ามีการใช้อำนาจรัฐ และทหารเข้าไปสร้างแรงกดดันในพื้นที่ การโยนว่าปัญหาราคาสินค้าแพง เป็นเพราะการบริหารงานที่ล้มเหลวของพรรคการเมืองเก่าแก่ และล่าสุดยังกล่าวหากันว่า พรรคพลังประชารัฐปราศรัยเคลมผลงานโครงการ "คนละครึ่ง" ไปเป็นของตน

สถานการณ์ล่าสุดที่ จ.สงขลา มีข่าวว่าพลังประชารัฐรุกหนัก จนประชาธิปัตย์ต้องปรับแผน ดึง "หัวหน้าจุรินทร์" นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฎ์ หัวหน้าพรรค ไปช่วยปราศรัยดึงคะแนน และเดินสายพบปะประชาชนในช่วงโค้งสุดท้ายถึง 2 วันเต็มๆ

 

ศึกนี้ต้องบอกว่าหนักหนาสำหรับประชาธิปัตย์ เพราะพื้นที่เลือกตั้งเขต 6 โดยเฉพาะ อ.สะเดา ที่ นายถาวร เสนเนียม เคยครองเก้าอี้ ส.ส.มานานถึง 7 สมัยนั้น มีฐานเสียงและหัวคะแนนคนสำคัญ คือ อดีตนายกเทศมนตรีเมืองสะเดา ซึ่งเป้นพ่อของ "โบ๊ต" อนุกูล พฤกษานุศักดิ์ ผู้สมัครของพรรคพลังประชารัฐหนนี้นี่เอง

 

 

ขณะที่พรรคประชาธิปัตย์มีเดิมพันสูง เนื่องจากส่ง "น้ำหอม" น.ส.สุภาพร กำเนิดผล ภรรยาคนสวยของ นายเดชอิศม์ ขาวทอง หรือ "นายกชาย" รองหัวหน้าพรรคภาคใต้คนใหม่ลงสู้ศึก ทำให้งานนี้แพ้ไม่ได้เด็ดขาด

 

แรงกดดันไม่ได้เกิดเฉพาะกับตัว "นายกชาย" แต่ยังลามไปถึง "บิ๊กต่อ" นายเฉลิมชัย ศรีอ่อน เลขาธิการพรรค ซึ่งสนิทแนบแน่นกับ "นายกชาย" ขณะที่กลุ่มของนายจุรินทร์ พร้อม "บิ๊กต่อ" เลขาธิการพรรคคู่ใจ สู้ศึกเลือกตั้งใหญ่ครั้งแรกเมื่อปี 62 คว้าเก้าอี้ ส.ส.มาได้เพียง 50 กว่าที่นั่ง ต่ำที่สุดในรอบหลายทศวรรษ ฉะนั้น ถ้าหากเลือกตั้งซ่อมหนนี้แพ้อีก โดยเฉพาะที่สงขลา ผลสะเทือนจะยิ่งสูง

 

ผลการเลือกตั้งซ่อมสงขลา จึงนับเป็นความท้าทายอันหนักอึ้งของแกนนำพรรคทั้ง 3 คน เพราะหากแพ้ นั่นหมายถึงความไม่มั่นคงภายในพรรค ถึงขั้นถูกกระแสกดดันให้เกิดการปรับโครงสร้างตามมา เพื่อเตรียมสู้ศึกเลือกตั้งใหญ่ซึ่งจะมีขึ้นไม่เกินปีหน้าอยางแน่นอน เพราะต้องไม่ลืมว่าสถานะการเป็นหัวหน้าพรรคของนายจุรินทร์ ไม่ได้มั่นคงสถาพรนัก เนื่องจากไม่ค่อยได้รับการยอมรับจากบรรดา ส.ส.เท่าที่ควร โดยเฉพาะ ส.ส.รุ่นใหญ่ และมีการบริหารแบบ "ไม่ค่อยเอาใคร" จนมีเลือดไหลออกไปแล้วไม่น้อย โดยเฉพาะ 2 ขุนพลคนสำคัญในภาคใต้อย่าง นายนิพิฏฐ์ อินทรสมบัติ และนายถาวร เสนเนียม เจ้าของพื้นที่เขต 6 สงขลาเอง

 

จับตาเกมพลิก "ชนะฟาวล์"

 

แต่โชคอาจเข้าข้างประชาธิปัตย์และนายจุรินทร์ก็ได้ เพราะคำปราศรัยหมิ่นเหม่ผิดกฎหมายเลือกตั้งของ ผู้กองธรรมนัส พรหมเผ่า ว่าด้วยเรื่องคนจน คนรวย ถูกพรรคคู่แข่งนำไปยื่นร้องเรียนต่อ กกต. ว่า "เข้าข่ายสัญญาว่าจะให้" ซึ่งตามกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. ผู้กระทำมีโทษทั้งจำคุก และเพิกถอนสิทธิ์เลือกตั้ง ทั้งยังให้ถือว่าเป็นความผิดฐานทุจริตเลือกตั้ง ซึ่งอาจทำให้พรรคประชาธิปัตย์ พลิกกลับมา "ชนะฟาวล์" ได้เหมือนกัน

 

 

logoline