svasdssvasds
เนชั่นทีวี

สังคม

ย้อนนโยบายพรรคการเมือง "ยกเลิกทหารเกณฑ์" กับความจริงอันแสนยากจะทำ

31 มีนาคม 2567
เกาะติดข่าวสาร >> Nation Story
logoline

เมื่อ "ฤดูเกณฑ์ทหารประจำปี 2567" มาถึง นโยบาย "ยกเลิกทหารเกณฑ์" ทำได้หรือยัง Nation STORY พาย้อนดูนโยบายบรรดาพรรคการเมือง ในการ "ยกเลิกทหารเกณฑ์" ทั้งก่อนและหลังเลือกตั้ง สรุปแล้วได้ทำไหม ทำได้หรือเปล่า กับความจริงที่แสนยาก หากจะให้เกิดขึ้นจริง

เข้าสู่วันที่ 2 ของ "ฤดูเกณฑ์ทหาร" ประเทศไทย ประจำปี 2567 ที่มีขึ้นระหว่างวันที่ 1 - 12 เมษายน 2567 ที่ชายไทย อายุ 21 ปีบริบูรณ์ จะต้องได้รับการคัดเลือกทหารกองเกิน เข้ารับราชการทหารกองประจำการ หรือเข้าเป็น "ทหารเกณฑ์" ตามกฎหมาย

สิ่งที่ทำให้การ "เกณฑ์ทหาร" ปีนี้ น่าจับตาเป็นพิเศษ เพราะเป็นการเกณฑ์ทหารปีแรก ของรัฐบาลพลเรือนอย่างแท้จริง หลังการเลือกตั้งใหญ่เมื่อปี 2566 ที่ผ่านมา ที่บรรดานักการเมืองและพรรคการเมืองหลายพรรค ต่างนำเสนอนโยบายเกี่ยวกับการปฏิรูปกองทัพ โดยเฉพาะจุดขาย "ยกเลิกเกณฑ์ทหาร" เพื่อช่วงชิงคะแนนเสียงจากคนรุ่นใหม่ 

จากการหาเสียงกันในวันนั้น จนถึงวันนี้ ที่ "ฤดูเกณฑ์ทหาร" วนกลับมาอีกครั้ง Nation STORY จะพาย้อนดูถึงนโยบายของพรรคการเมืองต่าง ๆ ที่หาเสียงไว้ก่อนเลือกตั้งว่า มีพรรคการเมืองไหนบ้าง นำเสนอไว้อย่างไร หลังการเลือกตั้งผ่านไป มีการจัดตั้งรัฐบาลแล้ว มีการนำปฏิบัติหรือไม่อย่างไร และติดปัญหาเรื่องใด สรุปแล้วจะสามารถยกเลิกการเกณฑ์ทหารได้จริง ๆ กี่โมง....
ย้อนนโยบายพรรคการเมือง \"ยกเลิกทหารเกณฑ์\" กับความจริงอันแสนยากจะทำ
 

เปิดนโยบายพรรคการเมืองปฏิรูปกองทัพ ยกเลิกทหารเกณฑ์ 

หากนย้อนกลับไป ก่อนการเลือกตั้งปี 2566 ในส่วนของ 9 พรรคการเมืองขนาดใหญ่ กับนโยบายยกเลิกเกณฑ์ทหารพบว่า 

พรรคก้าวไกล : ยกเลิกการบังคับการเกณฑ์ทหาร ปฏิรูปกองทัพ เปลี่ยนเป็นระบบสมัครใจร้อยเปอร์เซ็นต์ ปฏิรูปให้เกิดประสิทธิภาพอย่างมากในปัจจุบัน เพื่อให้งบประมาณที่สิ้นเปลือง ถูกเปลี่ยนถ่ายสู่สวัสดิการและประโยชน์ของประชาชนโดยแท้จริง ให้การเกณฑ์ทหารในเดือน เม.ย. 66 เป็นการเกณฑ์ทหารครั้งสุดท้าย

พรรคเพื่อไทย : ยกเลิกการเกณฑ์ทหารจากการบังคับ ให้เป็นโดยสมัครใจ เปิดกว้างในการสมัครออนไลน์ให้ทำง่ายและครอบคลุม โดยไม่กำหนดเป้าหมายการรับ เพื่อทำให้เป็นทหารมืออาชีพ รับลดงบกลาโหมลง 10 % เพื่อนำไปสนับสนุนคนรุ่นใหม่ เพื่อให้งบประมาณที่ใช้เหมาะสมสอดคล้องกับความเป็นจริง

พรรคไทยสร้างไทย : ยกเลิกการจับใบดำใบแดง เพื่อเปลี่ยนให้เป็นระบบสมัครใจ ปรับลดจำนวนพลทหารให้เพียงพอต่อความจำเป็น ซึ่งหากนำงบประมาณการเกณฑ์ทหาร และลดทอนงบประมาณที่ไม่จำเป็นออกไป เปลี่ยนเป็นสวัสดิการเพิ่มงบประมาณให้กับผู้ที่สมัครใจเป็นพลทหาร เป็นการสร้างแรงจูงใจให้คนมาสมัครเพิ่มขึ้น
ย้อนนโยบายพรรคการเมือง \"ยกเลิกทหารเกณฑ์\" กับความจริงอันแสนยากจะทำ

พรรคเสรีรวมไทย : ลดขนาดกองทัพให้เล็ก ลดจำนวนนายพล รวมถึงการยกเลิกเกณฑ์ทหาร ใช้ความสมัครใจ ให้มีระยะเวลาประจำการแค่ 1 ปีจากเดิม 2 ปี เน้นใช้เทคโนโลยีแทนกำลังคน

พรรคชาติพัฒนากล้า : ทำให้กระบวนการในเกณฑ์ทหารเป็นอาชีพที่สามารถสร้างรายได้ที่ดี เป็นอาชีพหนึ่ง ตำแหน่งหน้าที่ดี ก้าวหน้า เพื่อให้ผู้ที่อยากเป็นทหารมีจำนวนเพิ่มขึ้น โดยไม่ต้องมีการเกณฑ์ทหาร

พรรครวมไทยสร้างชาติ : ทหารอาสา แบ่งสัดส่วนเกณฑ์ 30 % อาสา 70% เพิ่มสิทธิ สวัสดิการ มีรายได้ และได้เรียนจนจบปริญญาตรี

พรรคพลังประชารัฐ : ไม่มีนโยบาย

พรรคประชาธิปัตย์ : ไม่มีนโยบาย

พรรคภูมิใจไทย : ไม่มีนโยบาย
ย้อนนโยบายพรรคการเมือง \"ยกเลิกทหารเกณฑ์\" กับความจริงอันแสนยากจะทำ

หลังการเลือกตั้งนโยบายเกี่ยวกับการเกณฑ์ทหารถูกนำมาปฏิบัติแค่ไหน

ภายหลังการเลือกตั้ง 2566 ปรากฏว่า พรรคเพื่อไทยที่ได้ สส. เป็นอันดับสอง ได้เป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาล ต่อจากพรรคก้าวไกล ที่ไม่สามารถจัดตั้งรัฐบาลได้ โดยมี พรรครวมไทยสร้างชาติ , พรรคเสรีรวมไทย , พรรคชาติพัฒนากล้า ที่มีนโยบายเกี่ยวกับการปฏิรูปกองทัพเข้าร่วม มี นายสุทิน คลังแสง จากพรรคเพื่อไทย นั่งเป็นเจ้ากระทรวงกลาโหม 

โดย นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี ย้ำกับสื่อมวลชนหลังเข้ารับตำแหน่งว่า จะไม่ใช้คำว่าปฏิรูปกองทัพ แต่จะใช้คำว่า พัฒนากองทัพร่วมกัน ซึ่งสอดคล้องกับเนื้อหาที่ปรากฏในเอกสารคำแถลงนโยบายของคณะรัฐมนตรีว่า รัฐบาลจะร่วมกันพัฒนากองทัพ ให้เป็นกำลังสำคัญในการพัฒนาศักยภาพของประเทศพร้อมกับประชาชน ทั้งการเปลี่ยนรูปแบบเกณฑ์ทหารเป็นสมัครใจ, ปรับปรุงการฝึกนักศึกษาวิชาทหารฯ เป็นแบบสร้างสรรค์ รวมถึงการปรับลดกำลังพลนายทหารระดับสูง ฯลฯ  
นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี

ขณะที่ เว็บไซต์พรรคเพื่อไทย ได้ระบุนโยบายหลักของพรรค เกี่ยวกับการปฏิรูปกองทัพไว้อย่างชัดเจนว่า เพื่อให้เป็นทหารมืออาชีพ ป้องกันการก้าวก่ายแทรกแซงทางการเมือง และการบริหารราชการแผ่นดิน ให้มีความเป็นทหารอาชีพ และแก้ไขกฎหมายยกเลิกการเกณฑ์ทหาร ให้เข้ารับราชการทหารโดยสมัครใจ

แม้จะมีคำแถลงที่สวยหรูเพียงใด แต่ภายหลังที่พรรคเพื่อไทยเข้ามาดูแลกระทรวงกลาโหม ก็เริ่มมีเสียงทวงถามจากประชาชน ถึงนโยบาย "ปฏิรูปกองทัพ" โดยเฉพาะ "ยกเลิกเกณฑ์ทหาร" ที่ได้มีการหาเสียงไว้ 

เรื่องนี้ เมื่อวันที่ 4 ก.ย. 2566 "นายสุทิน" ได้เปิดเผยภายหลังหารือกับ ว่าที่ผู้บัญชาการเหล่าทัพว่า เรื่องดังกล่าว กองทัพทำมานานแล้ว เพียงแต่เป็นขั้นตอน หากอยากให้รวดเร็วทันกับที่สังคมต้องการ รัฐบาลจะต้องเข้าไปกำกับสนับสนุน  

ส่วนที่ระบุว่า จะสามารถเริ่มต้นได้เลยในเดือน เม.ย. 2567 คำว่า เม.ย. 2567 หมายถึงมีการเกณฑ์ทหาร หากมีคนสมัครเต็ม ก็ไม่ต้องไปเกณฑ์ทหาร เป็นการปรับลดกำลังพลตามแผนปฏิรูปกองทัพภายในปี 2570 
นายสุทิน คลังแสง รมว.กลาโหม

เปิดแผน 'ปฏิรูปกองทัพ' ภายในปี 2570 

เมื่อวันที่ 1 มิ.ย. 2566 พ.อ.จิตนาถ ปุณโณทก รองโฆษกกระทรวงกลาโหม แถลงภายหลังการประชุมสภากลาโหม ที่มี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯ และ รมว.กลาโหม ในขณะนั้นเป็นประธาน ถึงปฏิรูปกองทัพเพื่อรองรับยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี

โดยปรับปรุงโครงสร้างให้มีขนาดกะทัดรัด คล่องตัว ทันสมัย เช่น การยุติแผนการเสริมสร้างกองพลทหารราบที่ 7 และกองพลทหารม้าที่ 3 ของกองทัพบก การปรับลดกำลังทหารพราน ในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ จำนวน 1,656 อัตรา 

การปรับลดนายทหารชั้นยศสูง เพื่อลดงบประมาณด้านกำลังพล โดยในห้วงปี 2570 ให้เหลือ 50% ตามแผนที่กำหนด รวมถึงการปิดการบรรจุกำลังพล และลดกำลังพลในปี 2560-2564 ไปแล้วกว่า 8,000 นาย และเมื่อถึงปี 2570 จะสามารถปรับลดกำลังลงได้ประมาณ 12,000 นาย 

ส่วนการตรวจเลือกทหารกองเกินเข้าเป็นทหารกองประจำการนั้น จำนวนที่ตรวจเลือกในแต่ละปี จะสอดคล้องกับโครงสร้างการจัดและภารกิจของกองทัพ โดยปัจจุบันมีความต้องการพลทหารปีละประมาณ 90,000 นาย และกำลังปรับลดลงอย่างต่อเนื่อง ขณะที่จำนวนนี้มีผู้สมัครใจเข้าเป็นทหาร เพิ่มมากขึ้น ถือเป็นสัญญาณที่ดีในการพัฒนาไปสู่การใช้ระบบการสมัครใจเข้าเป็นทหารได้ในอนาคต
ย้อนนโยบายพรรคการเมือง \"ยกเลิกทหารเกณฑ์\" กับความจริงอันแสนยากจะทำ

ทั้งนี้ กองทัพบก ได้เริ่มเปิดรับสมัครทหารกองเกิน เข้ารับราชการทหารกองประจำการด้วยกัน 2 แบบ คือ วิธีร้องขอ (กรณีพิเศษ) ด้วยระบบออนไลน์ ซึ่งดำเนินการเข้าสู่ปีที่ 4 แล้ว ส่วนอีกแบบรับสมัครในวันตรวจเลือกจริง

  • ปี 2564 มียอดผู้สมัคร 28,572 คน แยกเป็นผู้ที่สมัครจากระบบทหารออนไลน์ จำนวน 3,207 คน และผู้ที่สมัครในระหว่างการตรวจเลือก 25,365 คน
  • ปี 2565 มียอดผู้สมัคร 29,997 คน แยกเป็นผู้ที่สมัครจากระบบทหารออนไลน์ จำนวน 6,652 คน และผู้ที่สมัครในระหว่างการตรวจเลือก จำนวน 23,345 คน
  • ปี 2566 สมัคร จำนวน 35,617 คน แยกเป็นผู้ที่สมัครจากระบบทหารออนไลน์ จำนวน 10,156 คน และผู้ที่สมัครในระหว่างการตรวจเลือก 25,461 คน
  • ปี 2567 "กองทัพ" ได้พยายามทุกวิถีทาง ทั้งระดมประชาสัมพันธ์ผ่านช่องทางต่าง ๆ ทางออนไลน์ เว็บไซต์หน่วยทหารทั่วประเทศ เชิญชวนให้ชายไทย มาสมัครใจเป็นทหาร ตั้งแต่เดือน 1 กันยายน 2566 - 27 มกราคม 2567 ในส่วนของกองทัพบก เปิดรับสมัคร 27,721 คน มีผู้สมัคร 20,065 คน ผ่านการคัดเลือก 14,185 คน และอยู่ระหว่างรณรงค์ให้มีการสมัครในวันตรวจเลือกจริง

ย้อนนโยบายพรรคการเมือง \"ยกเลิกทหารเกณฑ์\" กับความจริงอันแสนยากจะทำ

สรุปจะยกเลิก "เกณฑ์ทหาร" ได้เมื่อใด 

สำหรับประเด็นเกี่ยวกับการปฏิรูปกองทัพ โดยเฉพาะเรื่องการ "ยกเลิกเกณฑ์ทหาร" นั้น แท้จริงแล้ว ไม่ได้เป็นเรื่องใหม่ เพราะในการเลือกตั้งในวันที่ 24 มีนาคม 2562 ก็มีหลายพรรคการเมือง เสนอนโยบายปฏิรูปกองทัพ หนึ่งในนั้นคือการ "ยกเลิกเกณฑ์ทหาร" ด้วยหลากหลายเหตุผล

แต่ก็ยังไม่มีอะไรที่เป็นรูปธรรมมากนัก ความหวังจึงกลับมาอีกครั้งหลังการเลือกตั้งปี 2566 ที่ได้รัฐบาลและผู้นำรัฐบาล มาจากพลเรือนอย่างแท้จริง

แต่อย่างไรก็ดี ในเรื่องของการจะยกเลิกนโยบายการเกณฑ์ทหารนั้น ไม่สามารถทำได้ด้วยนโยบายของพรรคการเมือง หรือรัฐบาลเท่านั้น เพราะการเกณฑ์ทหารนั้น เกี่ยวข้องกับกฎหมายอย่างน้อย 2 ฉบับ คือ พระราชบัญญัติรับราชการทหาร พ.ศ. 2497 และ รัฐธรรมนูญปี 2560 ดังนั้นจึงจะต้องมีการแก้ไขกฎหมายทั้งสองฉบับนี้ร่วมด้วย 

ในส่วนของการแก้ไขกฎหมายระดับพระราชบัญญัติ พรรคการเมืองต้องรวมเสียงกันให้ได้มากกว่าครึ่งหนึ่งของสภาผู้แทนราษฎร หรือ อย่างน้อย 251 เสียง จึงจะแก้ไขกฎหมาย รับราชการทหาร พ.ศ. 2497 ได้

แต่ในส่วนการแก้ไขรัฐธรรมนูญนั้น ดูเหมือนจะเป็นเรื่องที่ทำได้ยาก จากเงื่อนไขที่ซับซ้อนประกอบด้วย

ขั้นที่ 1 วาระแรก ใช้เสียง สส. อย่างน้อย 251 เสียง+ใช้เสียง สว. อย่างน้อย 84 เสียง

ขั้นที่ 2 วาระที่สาม ต้องได้เสียงเกินครึ่งหนึ่งของรัฐสภา (376 เสียง)

พร้อมกับเงื่อนไขอีก 2 ประการคือ

  1. ต้องใช้เสียงจาก สว. อย่างน้อย 84 เสียง
  2. ต้องใช้เสียงจากพรรคที่ไม่ได้เป็นรัฐบาลและประธานสภาผู้แทนฯ อย่างน้อยร้อยละ 20 ของทุกพรรคดังกล่าว 


สิ่งเหล่านี้จึงเป็นคำตอบที่ชัดเจนว่า จะสามารถยกเลิกการเกณฑ์ทหารได้ตอนกี่โมง !!
ย้อนนโยบายพรรคการเมือง \"ยกเลิกทหารเกณฑ์\" กับความจริงอันแสนยากจะทำ


ขอบคุณข้อมูลอ้างอิง : 

logoline