svasdssvasds
เนชั่นทีวี

การเมือง

"ทิม พิธา"ร่ายยาวไม่รับงบ 66 เหตุเงินกระจุกตัวในบุคลากรราชการ

31 พฤษภาคม 2565
เกาะติดข่าวสาร >> Nation Story
logoline

"พิธา ลิ้มเจริญรัตน์"สาธยายเหตุผลไม่รับหลักการร่างปี 66 ชี้สแกนพบเป็นช้างป่วย รายได้ผันผวน-รายจ่ายแข็งตัว ต้องกู้เพิ่มแต่ยาก เพราะเงินเฟ้อสูง ชี้งบ 40% หมดไปกับบุคลากรราชการ ต้องหาวิธีปรับตัว

31 พฤษภาคม 2565 นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ ส.ส.บัญชีรายชื่อ และหัวหน้าพรรคก้าวไกล อภิปรายร่าง พ.ร.บ.งบประมาณปี 2566 ว่า งบปีนี้มีความสำคัญ ไม่ใช่แค่เฉพาะรัฐบาลชุดนี้เป็นวาระสุดท้าย แต่ปีนี้เป็นปีการฟื้นฟูประเทศ เป็นปีแห่งความหวังที่ประชาชนจะลืมตาอ้าปาก และเห็นแสงสว่างที่ปลายอุโมงค์ สถานการณ์โควิดเริ่มดีขึ้น การท่องเที่ยวกำลังจะกลับมาอีกครั้ง ในจังหวะที่ประเทศและคนกำลังมีความหวัง งบประมาณของปีนี้ จึงเป็นปีที่เป็นหัวเลี้ยวหัวต่อและสำคัญมากที่สุด จำเป็นต้องลงทุนกับประเทศ เมื่อน้ำขึ้นก็รีบตัก เพื่อให้ประชาชนอยู่ดีกินดี ถ้าจัดงบดี ประเทศไทยจะทะยานไปอีก 10 ปีข้างหน้า นี่คือจุดเปลี่ยนของประเทศ แต่ถ้าจัดงบออกมาไม่ดี ทศวรรษหน้าก็จะเหมือนทศวรรษที่ผ่านมา

 

"ทิม พิธา"ร่ายยาวไม่รับงบ 66 เหตุเงินกระจุกตัวในบุคลากรราชการ

 

ทั้งนี้ ตนและพรรคก้าวไกล ต้องใช้กระบวนการพิเศษในการวิเคราะห์งบประมาณตลอด 3 ปีที่ผ่านมา กว่า 9,000 หน้า โดย ส.ส.ใช้เวลาอ่าน 12 วัน ทำให้เหมือนตาบอดคลำช้าง ไม่มีเวลาอ่านเพียงพอ และจำเป็นต้องเอาเทคโนโลยีมาช่วย โดย นายณัฐพงษ์ เรืองปัญญาวุฒิ ส.ส.กรุงเทพฯ เป็นผู้อดทนอ่านเเละสรุปรวบรวมมาให้ทุกคน

"จากการสแกนงบประมาณแล้วพบว่าเป็นงบช้างป่วย ที่ปรับตัวไม่ได้ รายได้ผันผวนรายจ่ายแข็งตัวการกู้ก็จะหลุดกรอบในส่วนของรายได้ประมาณการอยู่ที่ 2.49 ล้านล้านบาท ไม่เพียงพอต่อรายจ่ายจึงจำเป็นต้องกู้เพิ่มอีก 0.695 ล้านล้านบาท เพื่อมาเป็นรายจ่าย เอา 3.185 ล้านล้านบาท ซึ่งปัจจัยเสี่ยงของรายได้คือการเก็บภาษีถดถอยลง หลุดเป้าปีละ 2-3 เเสนล้านบาท" นายพิธา กล่าว

 

"ทิม พิธา"ร่ายยาวไม่รับงบ 66 เหตุเงินกระจุกตัวในบุคลากรราชการ

 

ทั้งนี้ ตลอด 2 ปีที่ผ่านมา การพึ่งพาเค้าโครงเศรษฐกิจแบบเดิม เน้นอุตสาหกรรมยานยนต์ อุตสาหกรรมพลังงาน และอุตสาหกรรมการท่องเที่ยว เศรษฐกิจนอกระบบของไทยสูงถึง 40% แรงงานทั้งประเทศ 40 ล้านคน มีแค่ 4 คนที่เสียภาษี ถือเป็นปัจจัยเสี่ยงในเชิงโครงสร้างในการจัดเก็บรายได้ของประเทศไทย สำหรับการกู้ มีความเสี่ยงภาวะเงินเฟ้อที่สูง ก็อาจทำให้อัตราดอกเบี้ยสูงขึ้น เท่ากับภาระเงินกู้จะสูงตามไปด้วย การกู้จะยากมากขึ้น รายได้ผันผวน การกู้จะหลุดกรอบ ตัวเลขที่สูงที่สุดในงบประมาณชุดนี้คือเบี้ยหวัด บำเหน็จ บำนาญ ของข้าราชการ มูลค่า 300,000 กว่าล้าน ซึ่งสูงถึง 40% เท่ากับกระทรวงศึกษาธิการ ถือเป็นปัญหาช้างป่วยที่ปรับตัวไม่ได้

 

สำหรับการหารายได้หรือการจัดเก็บภาษีของรัฐบาล ถือว่าพลาดเป้า ตั้งแต่ 2562-2564 ลดลงอย่างมีนัยยะสำคัญ ทำให้ประเทศไทยจำเป็นต้องหารายได้ใหม่ๆ มาใช้เพื่อให้พอกับรายจ่ายของประเทศ

ส่วนรายจ่ายของปี 66 สมมติว่า รายได้ 100 บาท 40% หมดไปกับรายจ่ายบุคลากร 10% หมดไปกับการชำระหนี้และดอกเบี้ยเก่า 10% หมดไปกับเงินอุดหนุน อปท. 7% หมดไปกับสวัสดิการประชาชนที่เป็นนโยบายในอดีต 5% หมดกับภาวะผูกพันในอดีต เหลือ 28% สามารถใช้เป็นพื้นที่ทางการคลังได้ โดยใน 40% จะมีปัญหา เพราะบำเหน็จ บำนาญ ค่ารักษา เงินเดือน เพิ่มขึ้นทุกปี แล้วจะเอาเงินมาจากไหน นี่คือยาขมที่ต้องกลืน ก็ต้องส่งสัญญาณไปยังข้าราชการว่าต้องมาช่วยกันคิด ว่ากระบวนการรัฐราชการช้างอุ้ยอ้าย ช้างป่วย ที่ปรับตัวไม่ได้แบบนี้ จะแก้ไขกันอย่างไร

 

"ทิม พิธา"ร่ายยาวไม่รับงบ 66 เหตุเงินกระจุกตัวในบุคลากรราชการ

 

"เพราะถ้าปล่อยแบบนี้อีก 10 ปี 3 แสนกว่าล้าน ที่เป็นอันดับ 1 ของปีแห่งการฟื้นฟูประเทศ คือ งบข้าราชการ ถ้าไปถึงปี 2580 จะกลายเป็น 8 เเสนกว่าล้าน แล้วลูกหลานจะพัฒนาประเทศกันอย่างไร ดังนั้น ปัญหาทั้งหลายที่เกิดขึ้นจากการจัดทำงบแบบนี้ ผมจึงไม่สามารถรับหลักการได้" หัวหน้าพรรคก้าวไกล ระบุ

logoline