svasdssvasds
เนชั่นทีวี

การเมือง

"ทวี สอดส่อง"ชูปฏิรูปที่ดินลดเหลื่อมล้ำ กระจายอำนาจสู่ชุมชน

30 เมษายน 2565
เกาะติดข่าวสาร >> Nation Story
logoline

"ทวี สอดส่อง"ลั่นปฏิรูปที่ดินไม่ได้ประเทศก็ไร้ทางพัฒนา แนะแก้กฎหมายอุทยานฯ พร้อมกระจายอำนาจจัดการพื้นดินสู่ชุมชนท้องถิ่น ยกตัวอย่างที่ดินชาวบ้านทำการเกษตรที่สุไหงปาดี นราธิวาส จู่ๆ กรมป่าไม้ประกาศเขตป่า ประชาชนกลายเป็นผู้บุกรุก 

30 เมษายน 2565 พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง ส.ส.บัญชีรายชื่อ และเลขาธิการพรรคประชาชาติ ให้สัมภาษณ์ถึงประเด็นการเร่งปฏิรูปที่ดินทำกินเพื่อคนไทยทั้งประเทศ ในรายการ คุยทะลุจอ Fact Talks ตอนหนึ่งว่า ปัญหาที่สำคัญที่สุดของประเทศชาติบ้านเมือง คือ เรื่องที่ดินทำกิน ซึ่งที่ดินสำหรับอยู่อาศัย ปัญหาความเหลื่อมล้ำเรื่องที่ดิน ตนเคยพูดในหลายเวทีว่าถ้าประเทศไทยไม่แก้ในปัญหารากฐานใหญ่ คือ ปฏิรูปที่ดินไม่ได้ ประเทศจะไม่สามารถพัฒนาไปได้เลย เพราะประเทศไทยเป็นประเทศเกษตรกรรม

 

"ต้องยอมรับว่า เรามีความเหลื่อมล้ำเรื่องที่ดินค่อนข้างมาก โครงสร้างเรื่องที่ดินเราจะแบ่งเป็นที่ดินของเอกชนกับที่ดินที่ให้หน่วยราชการเป็นผู้ดูแล ในประเทศไทยเรามีที่ดินประมาณ 320 ล้านไร่เศษ ในจำนวนนี้ประมาณ 128 ล้านไร่ อยู่ในความดูแลของกรมที่ดิน กระทรวงมหาดไทย" พ.ต.อ.ทวี กล่าว 

ส่วนที่ดินเอกชนสามารถโอนซื้อขายได้ ทำให้มีการมองว่าที่ดินเป็นสินทรัพย์ จึงทำให้เกิดการกักตุน มีการเก็งกำไรที่ดินเป็นมูลค่า ประเทศไทยไม่มีกฎหมายกำหนดเพดานการถือครองที่ดิน ใครรวยจะกักตุนที่ดินเท่าไหร่ก็ได้ และไม่มีกฎหมายที่ไปบีบบังคับ เมื่อไม่มีกฎหมายการกำหนดเพดานการถือครอง ทำให้ที่ดินไปกระจุกตัวอยู่กับคนที่ร่ำรวย 

 

ทั้งนี้ คณะกรรมาธิการการศึกษาปัญหาที่ดินและการออกเอกสารสิทธิ์ของสภาผู้แทนราษฎร เคยประชุมกันและเห็นว่า ไม่เคยรู้เลยว่า ที่ดินที่อยู่ในกรมที่ดินที่มองเป็นสินทรัพย์ไปอยู่ในมือใครบ้าง มีนักวิชาการบอกว่าบางคนถือครองเป็นแสนไร่ก็มี 

 

"ปัญหาที่ดินไทย คือตัวเลขทางสังคมถูกปิดบังมาโดยตลอด ตรวจสอบยาก แต่สิ่งที่เราพบก็คือว่าที่ดินเอกชนมีโฉนดประมาณ 16 ล้านราย ส่วนใหญ่รายละไม่ถึงไร่ ส่วนที่มีเกิน 50 ไร่ เป็นคนรวยมีไม่ถึง 5 หมื่นคน บางคนมีเป็นแสนไร่ มันจึงกระจุกตัวในคนกลุ่มหนึ่ง" เลขาธิการพรรคประชาชาติ ระบุ 

พ.ต.อ.ทวี กล่าวต่อว่า ปัญหาที่ดินอีกประการหนึ่งคือ ปัญหาที่ดินแนวเขตทับซ้อน โดยเฉพาะที่ดินของรัฐที่ทับซ้อนกับที่ดินของประชาชน นี่คือปัญหาความขัดแย้งที่เกิดขึ้นที่ต้องแก้ 

 

"อย่างเมื่อวาน (28 เม.ย.) ผมไปที่ อ.สุไหงปาดี จ.นราธิวาส พื้นที่ตรงนั้นเป็นพื้นที่ติดต่อระหว่าง อ.สุไหงโก-ลก อ.ตากใบ และ อ.สุไหงปาดี เนื้อที่ประมาณ 20,000 ไร่ ปรากฏว่ามีการประกาศเป็นป่าสงวนไปทับที่ของประชาชน ทั้งๆ ที่มีหลักฐานประชาชนอยู่มาหลายร้อยปี มีประวัติทางโบราณวัตถุว่ามีคนทำประโยชน์ และอีกจุดหนึ่งก็ประกาศเป็นเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า เมื่อมีประกาศเป็นที่ดินของรัฐขึ้นมา รัฐต้องบังคับใช้กฎหมาย ประชาชนจะสู้รัฐไม่ได้ ประชาชนก็กลายเป็นผู้บุกรุก"  

 

"ท่านเจ้าคุณ พระเทพศีลวิสุทธิ์ เจ้าอาวาสวัดประชุมชลธารา อ.สุไหงปาดี ท่านพูดเอาไว้ดีมากว่า ปกติคนทำผิดมันต้องมาแก้ในสิ่งที่ทำผิดนั้น ถ้าเป็นคนทั่วไปจะต้องมาขอโทษ มาเยียวยาหรือมาฟื้นฟู ถ้าคดีอาญาคนทำผิดต้องไปติดคุก คดีแพ่งก็ต้องไปชดใช้ แต่กรณีนี้คนทำผิดกลับมาออกกฎหมายให้ผิดซ้ำอีก ทำให้คนทำถูกกลายเป็นคนทำผิดไปอีก อันนี้คือปัญหา"

 

เลขาธิการพรรคประชาชาติ กล่าวอีกว่า การแก้ปัญหาป่าทับที่ชาวบ้าน 20,000 ไร่ที่ อ.สุไหงปาดี นั้น เมื่อตอนนี้เป็นกฎหมาย ก็ต้องแก้ด้วยกฎหมาย หลักการง่ายๆ คนที่อยู่อาศัยมาก่อนหรือครอบครองมาก่อนป่าไม้จะไปประกาศทับ ควรที่จะให้ผู้นั้นพิสูจน์สิทธิ์ และควรจะให้ได้รับกรรมสิทธิเหมือนคนอื่น ซึ่งกฎหมายลักษณะนี้ก็ควรต้องไปแก้ไขส่วนหนึ่ง แต่อีกส่วนหนึ่งคิดว่าเราน่าจะถึงเวลา "ปฏิรูปที่ดิน" 

 

มีคนถามว่าจะปฏิรูปที่ดินอย่างไร หลายฝ่ายเห็นตรงกันว่าควรบรรจุไว้ในรัฐธรรมนูญ ทำให้เรื่องที่ดินเหมือนเป็นสิทธิเรื่องการศึกษา 

 

อีกประเด็นหนึ่งที่ควรจะหยิบขึ้นมาพูดกันอย่างจริงจังก็คือ ให้ที่ดินเป็นสิทธิชุมชน เรามีที่ดิน สปก. (เขตปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม) อยู่ 40 ล้านไร่ แต่ผู้ที่ครอบครอง สปก.มีคุณสมบัติเป็นเกษตรกรจริงหรือไม่ ตรงนี้มีการถือแทนกันเยอะมาก ถ้าเรามีการบริหารเชิงใหม่ให้สิทธิชุมชนเข้าไปกำหนด ให้ชุมชนท้องถิ่นเข้าไปดูแล ชุมชนจะรู้ว่าใครเป็นเกษตรกร ใครไม่เป็นเกษตรกร 

 

"ผมมองว่าที่ดินเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดิน เมื่อเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินมันก็ต้องเป็นสาธารณสมบัติของประชาชนด้วย แต่วันนี้กลับกลายเป็นสาธารณสมบัติของราชการ วันนี้ที่ดินของราชการ พอไปจัดให้ประชาชนไปอยู่อาศัย จะมีปัญหาสาธารณูปโภค จะมีขีดจำกัดเรื่องการพัฒนา น่าจะมาปฏิรูปกฎหมายที่ดินทั้งหมดให้เหลือฉบับเดียว" พ.ต.อ.ทวี เสนอ

 

เลขาธิการพรรคประชาชาติ บอกด้วยว่า ประเทศไทยมันมีความเหลื่อมล้ำที่เกิดจากความคิดที่มองประชาชนเป็นคนไม่มีเสียง มองประชาชนสำคัญน้อยกว่านายทุน แต่เมื่อบ้านเมืองเดินมาถึงวันนี้ สิ่งที่พอจะแก้อดีตได้ คือกลัดกระดุมเม็ดแรกให้ถูก คือการไปปฏิรูปที่ดิน ทำอย่างไรให้ที่ดินกลายเป็นปัจจัยการผลิต เมื่อเป็นปัจจัยการผลิตคนจะไม่ไปบุกรุกที่ดิน เพราะที่ดินเอามาเพื่อสร้างมูลค่าทางการเกษตร 

 

"ปัญหาเรื่องที่ดินมันมีทุกที่ คนที่ครอบครองที่ดินมากที่สุดคือทหาร เป็นที่ราชพัสดุต่างๆที่ทั้งประเทศมีประมาณ 15 ล้านไร่ แต่ที่ราชพัสดุเป็นที่ดินทหารบกครอบครองประมาณ 4 ล้านไร่เศษถือว่าเยอะมาก เฉพาะที่อำเภอสวนผึ้งราชบุรีต่อเนื่องจังหวัดกาญจนบุรีก็ประมาณ 6 แสนไร่ เราจะทำอย่างไรกับที่ดินที่เกินความจำเป็นเช่นนี้ จะมีกฎหมายก็ได้ แต่ต้องเปลี่ยนผู้ใช้กฎหมายให้เป็นประชาชน เพราะตัวกฎหมายเขียนไว้ดีอยู่แล้ว ผมยังเชื่อในสติปัญญาของประชาชน การกระจายอำนาจไปให้ชุมชนท้องถิ่น คำว่าท้องถิ่นในที่นี้ไม่ใช่องค์กรปกครองท้องถิ่นอย่างเดียวนะ ชุมชนท้องถิ่นต้องมีระบบธรรมาภิบาลมากกว่านี้"

 

"ในส่วนของพรรคประชาชาติก็จะนำกฎหมายหลายฉบับที่ไม่เป็นธรรมมาแก้ไข เราจะปรับปรุงกฎหมาย คือมีข้อน่าสังเกตว่า กฎหมายอะไรที่ออกในยุคที่มีสภาผู้แทนราษฎร มันจะมีความรอบครอบ กฎหมายอะไรที่ออกในยุคที่ไม่มีสภาผู้แทนราษฎรหรือยุคเผด็จการ มันจะออกแบบรวบรัดและสร้างปัญหาผลกระทบต่อประชาชนติดตามมา" 

 

พ.ต.อ.ทวี ยังยกตัวอย่างทิ้งท้ายเกี่ยวกับการแก้ไขพระราชบัญญัติกองทุนให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา หรือ ร่าง พ.ร.บ.กยศ. ซึ่งพรรคประชาชาติเป็นผู้เสนอ และได้เข้าไปเป็นคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่างกฎหมายในชั้นแปรญัตติด้วย โดยบอกว่า กฎหมาย กยศ.ในฉบับแรก พ.ศ.2541 บอกว่าต้องการจะช่วยเหลือเด็กที่ไม่มีเงินเรียนให้มีเงินเรียน ถ้ามีดอกเบี้ยต้องไม่เกินเงินฝากของธนาคารออมสินก็ คือสลึงเดียว (ร้อยละ 0.25) แต่พอกฎหมายถูกแก้ในยุค คสช.ปี 60 กำหนดให้มีดอกเบี้ยร้อยละ 7.5 และเบี้ยปรับอีกร้อยละ 18 

 

"มันยิ่งกว่าธนาคารอีก คนไปเรียนหนังสือไม่ติดยาก็บุญแล้ว คนที่เรียนจบถือว่าประเทศได้ทรัพยากรที่มีค่า ตอนนี้ทางคณะกรรมาธิการบอกว่า ถ้าจะมีดอกเบี้ยก็ไม่ควรจะเกิน 1 สลึง จริงๆ การศึกษาเป็นหน้าที่ของรัฐที่จะต้องให้ประชาชนของตนเองมีการศึกษา ถ้าทรัพยากรบุคคลเรามีความรู้น้อยกว่าต่างประเทศ เราจะสู้ต่างประเทศไม่ได้" เลขาธิการพรรคประชาชาติ กล่าว

logoline