svasdssvasds
เนชั่นทีวี

การเมือง

“ทวี” ชงแก้ 2 ประเด็นหลักช่วยลูกหนี้ กยศ.

22 เมษายน 2565
เกาะติดข่าวสาร >> Nation Story
logoline

“ทวี สอดส่อง” ชงแก้ 2 ประเด็นหลักช่วยลูกหนี้ กยศ. ปรับโครงสร้างบอร์ด เพิ่มการมีส่วนร่วม เตรียมหารือก.คลัง ทบทวบหลักเกณฑ์ลดเวลาบำเพ็ญประโยชน์

22 เมษายน 2565 พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาชาติ กล่าวถึงกรณีที่ตัวแทนนิสิต-นักศึกษา 12 สถาบัน เดินทางมาที่อาคารรัฐสภา เพื่อยืนเรื่องต่อคณะกรรมาธิการ (กมธ.) วิสามัญพิจารณาร่าง พ.ร.บ.กองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา (กยศ.) เรียกร้องให้มีการปรับแก้ในหลายประเด็น 

 

โดยหลักๆ มีอยู่ 2 หัวข้อใหญ่ๆ ก็คือ  กรณีปัจจุบันคณะกรรมการ กยศ. ไปออกประกาศของ กยศ.ในเรื่องคุณสมบัติเฉพาะของนักเรียนหรือนักศึกษาผู้กู้ยืมกองทุน ทุกลักษณ์ทั้งกลุ่มผู้ขาดแคลนทุนทรัพย์  สาขาวิชาที่เป็นความต้องการหลัก สาขาวิชาขาดแคลน และกลุ่มเรียนดีเพื่อสร้างความเป็นเลิศ กยศ. มีหลักเกณฑ์อยู่ข้อหนึ่งว่า “เป็นผู้ที่ทำประโยชน์ต่อสังคมหรือสาธารณะ” ทั้งนักเรียนหรือนักศึกษาผู้กู้ยืมรายใหม่ ผู้กู้ยืมรายเก่าที่เปลี่ยนระดับการศึกษา และผู้กู้ยืมรายเก่าที่เลื่อนชั้นทุกปีระดับการศึกษา สำหรับกรณีผู้กู้ยืมรายเก่าที่จะเลื่อนชั้นทุกปีของระดับการศึกษา จะกำหนดจำนวนให้ทำประโยชน์ต่อสังคม 36 ชั่วโมง ซึ่งประเด็นนี้ตัวแทนนักศึกษาเห็นว่า สถานการณ์การแพร่ระบาดโควิด 19 และคุณภาพครอบครัวชีวิตผู้กู้ปัจจุบันที่ยากลำบาก ระบบการเรียนยังเปลี่ยนไปใช้ออนไลน์เป็นส่วนใหญ่ และมีความจำเป็นต้องใช้แรงงานช่วยเหลือครอบครัวที่ยากลำบาก ผู้กู้ยืม กยศ.เป็นกลุ่มมีฐานะยากไร้ ก็เลยเรียกร้องข้อให้ไปปรับปรุง ซึ่งหลักเกณฑ์นี้คณะกรรมการ กยศ. อ้างว่าอาศัยอำนาจตาม มาตรา 39 พ.ร.บ.กองทุนให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา พ.ศ.2560 

 

“ทวี” ชงแก้ 2 ประเด็นหลักช่วยลูกหนี้ กยศ.

อีกประเด็นหนึ่งก็คือ ตัวแทนนักศึกษาอยากให้ คณะกรรมการ กยศ. ซึ่งปัจจุบันมีทั้งหมด 12 คน มีปลัดกระทรวงการคลังเป็นประธาน และมีกรรมการโดยตำแหน่ง 6 คน ผู้ทรงคุณวุฒิ 5 คน  และผู้จัดการ กยศ ทั้งหมดมาจากการแต่งตั้งจากรัฐ ทางนักศึกษาอยากให้มีตัวแทนที่มาจากระบบการเลือกตั้งบ้าง เช่นประธานสภาการศึกษา นายกองค์กรนักศึกษาที่มีกระบวนการเลือกตั้งร่วมเป็นคณะกรรมการ เพราะว่าการกู้ยืมเงินเป็นเรื่องของนักเรียน นักศึกษา จึงต้องการสะท้อนปัญหาและความต้องการ เพราะสิ่งที่เกิดขึ้นในทางปฏิบัติจริงๆ คือ ถ้าเป็นกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ ก็ไปแต่งตั้งคนมีตำแหน่งในหน่วยงานต่างๆ มาเป็นกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิซ้ำอีกตำแหน่ง หรือกรรมการด้านกฎหมาย ก็ไปเอาอดีตข้าราชการเก่าที่ระดับต่ำกว่าหรือลูกน้องคณะกรรมการโดยตำแหน่งที่มีอยู่แล้ว ทั้งด้านนักกฎหมาย หรือด้านการเงินก็ไปเอาข้าราชการระดับรองๆ ที่เกษียณอายุไปในกระทรวงการคลังเข้ามา เหล่านี้นักเรียนนักศึกษาอยากมีส่วนร่วม จึงยื่น 2 เรื่องเข้ามา 

 

พ.ต.อ.ทวี กล่าวว่า การแก้ไขในข้อเรียกร้องแรก ต้องชี้แจงทำความเข้าใจว่า ข้อเรียกร้องเรื่องคุณสมบัติผู้กู้ยืม กฏหมายให้อำนาจคณะกรรมการฯไปกำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขเกี่ยวกับการให้กู้ยืมเงิน ตามมาตรา 39 ตรงนี้ไม่มีอยู่ในกฎหมาย แต่คณะกรรมการไปออกหลักเกณฑ์ต้องเป็นไปตามเจตนารมณ์ของกฏหมายที่ส่งเสริมสนับสนุนเรื่องการศึกษาไม่ใช่ออกกฏเกณฑ์เป็นอำนาจนิยมและเป็นอุปสรรคต่อการศึกษา  เพราะ กมธ.วิสามัญฯ เพิ่งพิจารณามาตรา 39 เราก็มีการแก้ไขให้กว้างขึ้น เพื่อให้กองทุนสามารสนับสนุนส่งเสรืมการศึกษาได้มากยิ่งขึ้น

เดิมมีการล็อกคุณสมบัติอันหนึ่งที่จะกู้ได้ก็คือ “สัญชาติไทย” ซึ่ง กมธ. ก็เห็นด้วยกับคุณสมบัติสัญชาติไทย แต่เรายังพบว่ามีบุคคลจำนวนมากที่เป็นคนไทยที่รอสถานะทางสัญชาติที่รัฐบาลอยู่ในกระบวนการอยู่ เช่น กลุ่มชาติพันธุ์ กลุ่มชนเผ่าพื้นเมือง หรือคนที่เกิดในประเทศไทยแล้วอยู่ระหว่างรอพิสูจน์สัญชาติ คนกลุ่มนี้พอไปรอให้ราชการพิสูจน์สัญชาติ มันก็ช้ามากราชการมักอ้างงบประมาณและกำลังพลไม่มีพอทำงาน กว่าจะชี้ขาด บางทีอายุก็เลยวัยเรียนไปแล้วที่คนเหล่านี้ก็เป็นพลเมืองไทย เราก็อยากจะเปิดกว้างให้สามารถเข้ามากู้ยืมได้ จึงมีการแก้ไข 

 

ส่วนเรื่อง เงื่อนไขเป็นผู้ที่ทำประโยชน์ต่อสังคมหรือสาธารณะ หรือจิตอาสา ทุกคนที่เป็นผู้กู้ยืมและกรณีผู้กู้ยืมเก่าเลื่อนชั้นปีไปกำหนดอย่างน้อยต้อง 36 ชั่วโมง เป็นไปตามประกาศของ กยศ. เป็นเรื่องระเบียบภายใน แต่เป็นไปตามเจตนารมณ์กฏหมายหรือไม่ การศึกษาเป็นสิทธิและเสรีภาพที่รัฐธรรมนูญรองรับต้องเป็นไปตามความถนัดของผู้เรียน ส่วนตัวอาจเสนอให้ที่ประชุมมีมติเชิญปลัดกระทรวงการคลัง ที่เป็นประธานกรรการ กยศ. ผู้ลงนามในประกาศ กยศ. มาให้เหตุผล ตอบซักถาม แม้เป็นระเบียบที่ต้องไม่ขัดเจตนารมณ์ของกฏหมายที่ในเบื้องต้นมุมมองจะต่างกัน

 

รัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันได้บัญญัติเรื่อง การศึกษาต้องเป็นเสรีภาพตามศักยภาพของผู้เรียน การศึกษาเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานที่รัฐจะต้องไปส่งเสริม แต่ประกาศนี้มีลักษณะเป็นอำนาจนิยมเกินไปหรือไม่ ก็ต้องมาถามกัน 

 

“นักเรียนนักศึกษากลุมนี้ ตัวเขาเองคือแรงงาน เขาจะต้องมาช่วยครอบครัวที่ไม่มีเงินด้วยยังต้องไปบำเพ็ญประโยชน์ในช่วงโควิดอีก ทำไมคุณไม่ไปบังคับกับคนมือบน หรือคนที่ร่ำรวย ให้ไปทำเพื่อสาธารณะประโยชน์ของแผ่นดิน แม้ในคณะกรรมาธิการมีผู้จัดการ กยศ.อยู่ด้วยแต่ท่าน ก็อาจจะตอบยาก เพราะว่าเป็นประกาศคณะกรรมการที่ออกโดยปลัดกระทรวงการคลัง และออกมาถึง 4 ฉบับ เมื่อเดือน ม.ค.64 จึงต้องถามเหตุผลเราอยากจะให้กฎหมาย กยศ.เป็นกฎหมายที่เกิดความยุติธรรมกับทุกฝ่าย” 

 

ทั้งนี้มองว่าประกาศที่ออกมาในสถานการณ์เช่นนี้ ไม่เหมาะสม เพราะว่าคุณไปห้ามเขาออกจากบ้าน แล้วคุณก็ไปสั่งให้เขาทำสาธารณประโยชน์ คือการทำสาธารณประโยชน์ไม่ได้ทำอยู่ในบ้าน มันต้องเดินออกนอกบ้านไป แล้วเราไปจำกัดสิทธิพื้นที่ อันนี้เป็นปัญหา

 

พ.ต.อ.ทวี กล่าวอีกว่า การแก้ไข พ.ร.บ.กองทุนให้กู้ยืมเพื่อการศึกษาฯ ในครั้งนี้ เราคิดว่า คณะกรรมการ กยศ. ใน พ.ร.บ.ปี 60 มันเหมือนเป็นคณะกรรมการของธนาคารพาณิชย์จนเกินไป คือเป็นผู้เก็บเงิน กระทรวงการคลังก็เก็บเงินเก็บภาษี จะมีตัวแทนของกระทรวงศึกษาธิการ กระทรวงอุดมศึกษาฯ เข้ามาก็มีเล็กน้อย ส่วนนั้นก็จะเป็น ผอ.สำนักงบประมาณ กรมบัญชีกลาง กรมสรรพากร เลขาสภาพัฒฯ แล้วพอไปเป็นผู้ทรงคุณวุฒิ ก็เอาคนกลุ่มข้าราชการเกษียณเข้ามา 

 

ดังนั้นในการแก้ไขครั้งนี้ เราก็มีการเสนอให้แก้ไขโครงสร้างคณะกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ จากเดิม 5 คน เป็น 7 คน และใน 7 คน คณะกรรมาธิการฯ ได้นำเสนอโครงสร้างของผู้ทรงคุณวุฒิจะเป็นสัดส่วนที่ไม่ให้ระบบราชการไม่ชี้นำจนเกินไป แต่ต้องประกอบด้วยบุคคลที่จะทำให้เกิดประโยชน์สูงสุดกับการศึกษาให้กฎหมายนี้เกิดการมีส่วนร่วมมากที่สุด และก็เกิดประโยชน์มากที่สุด  เพราะการศึกษาในอนาคต รัฐธรรมนูญเราเขียนหมดเลย ต้องมีกองทุนสำหรับผู้ยากไร้ เขียนคำว่า “ต้องมี” ไม่ใช่ “ควรมี” (หรือพึงมี) ปรากฏว่าต้องมีกองทุนสำหรับผู้ยากไร้ ต้องทำให้เสร็จภายใน 1 ปี ปรากฏว่านี่เลยมาแล้วก็ย้งไม่มี

 

นอกจากนั้นยังมีกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา ปรากฏว่ากองทุนเสมอภาคเพื่อการศึกษา กลับไปที่คนที่เรียนฟรี 15 ปี ถึง 99 % ซึ่งคนกลุ่มนี้เขามีเงินอยู่แล้ว คนที่ยากไร้กลับไม่มีกองทุน ฉะนั้นอาจถือได้ว่ารัฐไม่ปฏิบัติตามรัฐธรรมนูญ ฉะนั้นที่ประชุม กมธ.จึงต้องมีการแก้ไขให้สอดคล้องกับรัฐธรรมนูญ  

 

“เราเคาะเบื้องต้นว่าให้มีการปรับปรุงผู้ทรงคุณวุฒิ แล้วก็เปิดกว้างว่าจะปรับปรุงผุ้ทรงคุณวุฒิ 7 คนให้จากด้านใดบ้าง ซึ่งในตัวผมเอง สิ่งที่นักศึกษาเสนอมา อย่างเช่น สภาเด็กและเยาวชนแห่งประเทศไทย มีกฎหมายของ พม. (กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์) รองรับอยู่แล้ว ก็สมควรจะเลือกตัวแทนประธานสภานักศึกษามหาวิทยาลัยต่างๆ ทั้งรัฐและเอกชนก็มีความจำเป็น” 

 

พ.ต.อ.ทวี ในฐานะรองประธาน กมธ.พิจารณาร่าง พ.ร.บ.กยศ. ยังบอกด้วยว่า กมธ.ทำงานกันอย่างขยันขันแข็ง ตั้งใจให้เสร็จทันเปิดสมัยประชุมรัฐสภา แต่จะไม่รีบจนขาดความรอบครอบ หลายเรื่องตัว รมช.คลัง ที่เป็นประธาน กมธ. ก็ทักท้วงเองเลย หลังจากได้รับข้อมูลครบถ้วน 

 

ยกตัวอย่างง่ายๆ การไปเรียกดอกเบี้ยและเบี้ยปรับจากลูกหนี้ ใน พ.ร.บ.กยศ.ฉบับปัจจุบัน ทำให้ กยศ.มีสินทรัพย์ กยศ.ถึง 3 แสนล้านกว่าบาท การจะบริหารเงินตรงนี้ กฎหมายเดิมเปิดโอกาสไว้ในมาตรา 12 คือเงินที่เป็นกองทุนเราจะเอาแค่ดอกเบี้ยที่ไปฝากกับธนาคารพาณิชย์มาใช้เท่านั้น แต่กฎหมายใหม่จะเปิดกว้างให้ไปซื้อหลักทรัพย์ของรัฐบาล รัฐวิสาหกิจ หรือหน่วยงานของรัฐได้ เช่น รัฐวิสาหกิจบางแห่ง มูลค่าหลักทรัพย์สูงขึ้นหลายเปอร์เซ็นต์ ฉะนั้นถ้า กยศ.เป็นมืออาชีพจริงๆ ต้องไม่ต้องไปเอากำไรจากเด็กนักศึกษาที่ไม่มีเงิน แต่ต้องบริหารจัดการให้เงินที่มีอยู่เพิ่มมูลค่ามากขึ้น 

 

“ทวี” ชงแก้ 2 ประเด็นหลักช่วยลูกหนี้ กยศ.

 

“นักศึกษาเป็นหนี้ เขาต้องคืนเงินก็พอแล้ว เพราะสิ่งที่เขาคืนสังคมในเรื่องคุณภาพของคนที่ได้รับการศึกษาที่เป็นอนาคตที่ดี ถือว่าประเทศได้กำไร” 

logoline