svasdssvasds
เนชั่นทีวี

การเมือง

"สาธิต"ยันไร้เหตุทำกฎหมายลูกถูกตีตกวาระ 3

16 มีนาคม 2565
เกาะติดข่าวสาร >> Nation Story
logoline

"สาธิต ปิตุเตชะ"มั่นใจไร้เหตุกฎหมายลูก 2 ฉบับ ถูกตีตกวาระ 3 ชี้เป็นเครื่องมือยุบสภา-เลือกตั้งใหม่ ชี้หากรัฐสภาคว่ำ เป็นอำนาจรัฐบาลในการเสนอเข้ามาใหม่หรือออกพ.ร.ก.

16 มีนาคม 2565 นายสาธิต ปิตุเตชะ รมช.สาธารณสุข ในฐานะประธานคณะกรรมาธิการ (กมธ.) วิสามัญพิจารณาร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. และร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง เปิดเผยว่า กระแสข่าวที่จะมีการโหวตไม่เห็นชอบร่างกฎหมายลูกทั้ง 2 ฉบับ ในวาระที่ 3 นั้น ส่วนตัวยังไม่มีเหตุผลที่จะทำให้การคว่ำร่างกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญในวาระ 3 เพราะทุกอย่างเกิดขึ้นภายใต้กรอบของกฎหมาย

 

"สาธิต"ยันไร้เหตุทำกฎหมายลูกถูกตีตกวาระ 3

 

ทั้งนี้ ยอมรับว่าความเห็นที่แตกต่างกันสามารถเกิดขึ้นได้ และจะต้องมีฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งไม่ได้อย่างที่ตนเองต้องการแต่สุดท้ายในชั้นกมธ. ก็ไม่สามารถเปลี่ยนแปลงหรือเพิ่มเติมอะไรที่อยู่นอกเหนือหลักการของกฎหมายที่ผ่านความเห็นชอบจากที่ประชุมร่วมรัฐสภาในวาระแรกมาแล้ว โดยยืนยันว่ากมธ.จะทำหน้าที่อย่างดีที่สุด ปกป้องกฎหมายที่ดำเนินการโดยฝ่ายนิติบัญญัติ ส่วนวาระ 3 เป็นเรื่องดุลยพินิจของรัฐสภาว่าจะมีมติอย่างไร 

 

"เราทำหน้าที่ของเราให้ดีที่สุด แล้วประชาชนก็จะมีความเข้าใจ และจะมองเห็นเหตุผลในแต่ละการตัดสินใจในแต่ละขั้นตอน เพราะฉะนั้นผมยังมีความมั่นใจว่าจนถึงขณะนี้ยังไม่มีเหตุผลอะไรที่จะไปล้มเลิกกระบวนการหรือจะไปคว่ำในวาระที่ 3" นายสาธิต กล่าว 

ส่วนกรณีมีกระแสว่าบางฝ่ายต้องการกลับไปใช้บัตรเลือกตั้งใบเดียวด้วยการใช้กลไกใน กมธ. ให้เกิดทางตันนั้น ส่วนตัวมองว่าความเห็นนี้ อาจจะเป็นจุดแข็งของกมธ.ชุดนี้ก็ได้ เพราะเป็นความเห็นต่างในแต่ละซีก ดังนั้น การพิจารณาในชั้นกมธ.อาจจะเป็นความเห็นสลับฝ่าย แต่สุดท้ายความเห็นอิสระในชั้นกมธ. จะเป็นเกราะป้องกันข้อสรุปในการแก้ไขกฎหมายนำไปสู่วาระที่ 3 

 

"ความต่างหรือความต้องการพรรคการเมืองหรือฝ่ายใด ต้องการอะไรมันอาจจะทำไม่ได้สำเร็จ เพราะไม่ได้เห็นตรงกันในแต่ละฝ่าย ฉะนั้นกลไกในกมธ. จะสามารถแสดงความเห็นที่เป็นกลาง ซึ่งความเป็นกลางในกรรมาธิการนี้ไม่สามารถทำนอกกรอบหลักการที่รับมา" นายสาธิต ระบุ

อย่างไรก็ตาม หากกฎหมายทั้ง 2 ฉบับถูกตีตกในวาระที่ 3 ก็จะเป็นเรื่องที่รัฐบาล และนายกรัฐมนตรีจะต้องชี้แจงต่อสังคมว่า เกิดอะไรขึ้น เพราะกฎหมายนี้จะเป็นเครื่องมือของการยุบสภา และเป็นเครื่องมือในการจัดการเลือกตั้งด้วย ดังนั้น หากอุบัติเหตุที่เกิดขึ้นในการพิจารณาของฝ่ายนิติบัญญัติ การนำเสนอเข้ามาใหม่ หรือการประกาศพระราชกำหนด เป็นอำนาจโดยตรงของรัฐบาลและนายกรัฐมนตรี ซึ่งอันนี้ก็เป็นสิ่งที่นอกเหนืออำนาจของกรรมาธิการไปแล้ว 

 

สำหรับการพิจารณาของกมธ.กฎหมายลูก 2 ฉบับ วันนี้ (16มี.ค.) ต่อเนื่องจากเรื่องที่แขวนไว้เมื่อสัปดาห์ก่อน ทั้งเรื่องค่าบำรุงพรรคการเมือง ซึ่งกมธ.ส่วนหนึ่งมองว่า ควรกำหนดไว้ในข้อบังคับพรรค ไม่ใช่ร่างกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญ ขณะที่ส่วนหนึ่งเห็นว่า จะบรรจุไว้หรือไม่ก็ได้ ให้เป็นดุลยพินิจของพรรคการเมือง รวมทั้งจะมีการหารือถึงประเด็นพรรคการเมืองและผู้สมัครใช้หมายเลขเดียวกันด้วย

logoline