svasdssvasds
เนชั่นทีวี

ต่างประเทศ

อินเดียตั้งเป้าปล่อยก๊าซเรือนกระจกเป็นศูนย์ในปี 2070

02 พฤศจิกายน 2564
เกาะติดข่าวสาร >> Nation Story
logoline

อินเดียสร้างเซอร์ไพรส์ประกาศเป็นครั้งแรกว่าจะลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกเป็นศูนย์ หรือ net zero ภายในปี 2070 ในการประชุม COP26 แต่ยังต่ำกว่าเป้าหมายของที่ประชุมที่ต้องการให้บรรลุผลภายในปี 2050

นายกรัฐมนตรี นเรนทรา โมดี ของอินเดีย กล่าวสุนทรพจน์ในการประชุมรัฐภาคีกรอบอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ หรือ COP26 ที่เมืองกลาสโกว์ของสกอตแลนด์ในวันแรกเมื่อวันจันทร์ โดยกล่าวยืนยันว่า อินเดียปฏิบัติตามข้อตกลงปารีสในการลดก๊าซเรือนกระจกพื่อลดโลกร้อน และชี้ให้เห็นว่า แม้อินเดียเป็นประเทศที่มีประชากรมากถึง 17% ของทั้งโลก แต่ปล่อยก๊าซเรือนกระจกเพียง 5% ของทั้งโลก

 

สื่อรายงานว่า อินเดียเป็นประเทศที่ปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์มากเป็นอันดับ 3 ของโลก รองจากจีน และสหรัฐฯ  แต่มีสัดส่วนการปล่อยคาร์บอนต่อจำนวนประชากรน้อยกว่าประเทศที่มีขนาดเศรษฐกิจใหญ่อื่นๆ  โดยอินเดียมีอัตราการปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์ 1.9 ตันต่อคนในปี 2562 เทียบกับ 15.5 ตันในสหรัฐฯ และ12.5 ตันในรัสเซียในปีเดียวกัน

 

 

อินเดียตั้งเป้าปล่อยก๊าซเรือนกระจกเป็นศูนย์ในปี 2070

 

และในการประชุมครั้งนี้ ผู้นำอินเดียประกาศชัดเจนเป็นครั้งแรกเรื่องเป้าหมายปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ Net Zero ซึ่งเป็นการควบคุมปริมาณการปล่อยและการกำจัดก๊าซเรือนกระจก ซึ่งมีหลายชนิดรวมถึงคาร์บอนไดออกไซด์ ให้สมดุลกัน โดยเขากำหนดว่า อินเดียจะปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ภายในปี 2070

 

ขณะที่จีนกำหนดกรอบเวลาไว้ภายในปี 2060 ส่วนสหรัฐฯและสหภาพยุโรปกำหนดไว้ภายในปี 2050 ซึ่งตรงกับเป้าหมายของการประชุม COP26 และนักวิทยาศาสตร์ ที่คาดว่า ต้องลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกเป็นศูนย์ภายในปีดังกล่าวเพื่อควบคุมอุณหภูมิของโลกไม่ให้เพิ่มเกิน 1.5 องศาจากระดับก่อนยุคอุตสาหกรรม

 

นอกจากนี้นายกรัฐมนตรีโมดี ยังประกาศด้วยว่า อินเดียจะเพิ่มการใช้พลังงานหมุนเวียนจาก 38% ในปีที่แล้วเป็น 50% ภายในปี 2030 และจะลดปริมาณการปล่อยคาร์บอนให้ได้ 1,000 ล้านตันในปีเดียวกัน

 

 

อินเดียตั้งเป้าปล่อยก๊าซเรือนกระจกเป็นศูนย์ในปี 2070

 

ขณะเดียวกันอินเดียเป็นหนึ่งในประเทศกำลังพัฒนา ที่เสี่ยงได้รับผลกระทบจากภาวะโลกร้อนมากที่สุด ร่วมส่งสารถึงชาติร่ำรวยให้ทำตามคำมั่นสัญญาที่จะตั้งกองทุนเพื่อสนับสนุนทางการเงินแก่ประเทศเหล่านี้ในการต่อสู้กับโลกร้อน

 

โมดี กล่าวว่า ปัญหาโลกร้อนเป็นภัยอันตรายใหญ่หลวงต่อการคงอยู่ของประเทศกำลังพัฒนาอย่างมาก และเรียกร้องให้ชาติพัฒนาแล้วร่วมลงขัน 1 ล้านล้านดอลลาร์เพื่อช่วยเหลือประเทศกำลังพัฒนาโดยเร็วเท่าที่เป็นไปได้

 

ก่อนหน้านี้ชาติร่ำรวยเคยให้คำมั่นว่าจะสนับสนุนเงินปีละ 1 แสนล้านดอลลาร์เพื่อสนับสนุนการปฏิรูปโครงสร้างพื้นฐานในช่วงการเปลี่ยนผ่านสู่การใช้พลังงานทางเลือกในประเทศกำลังพัฒนา และบรรเทาผลกระทบจากสภาพอากาศแปรปรวน

 

 

logoline