svasdssvasds
เนชั่นทีวี

การเมือง

ถอดรหัส "ก้าวไกล" เหตุไฉนยื่นเปิดอภิปรายทั่วไปจะทำรัฐตกสะเก็ดหรือสะกิด

06 มีนาคม 2567
เกาะติดข่าวสาร >> Nation Story
logoline

ได้บทสรุปไปเป็นที่เรียบร้อยสำหรับพรรคร่วมฝ่ายค้าน หลังมีมติจะยื่นอภิปรายรัฐบาลแบบทั่วไป โดยไม่ลงมติตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 152 จนถูกจับจ้องว่าจะสามารถทำรัฐบาลระคายเคืองได้หรือไม่

3 ปัจจัยการเปิดอภิปรายทั่วไป

แน่นอนว่าการยื่นญัตติอภิปรายจะเกิดขึ้นหลังจบการพิจารณา ร่าง พ.ร.บ.งบประมาณฯ 67 ระหว่างวันที่ 3-5 เม.ย. ก่อนจะปิดสมัยประชุมสภา ในวันที่ 9 เม.ย. และถือเป็นเครื่องมือหนึ่งของฝ่ายค้านที่จะใช้ตรวจสอบการทำงานของรัฐบาล

สำหรับญัตติที่ฝ่ายค้านซึ่งนำโดยก้าวไกลจะยื่นนั้น หากถอดรหัสออกมาพบว่า 

  • ยังไม่มีประเด็นทุจริตการใช้งบประมาณ จึงพุ่งเป้าไปในเรื่องที่รัฐบาลไม่ได้ดำเนินการตามสัญญา
  • ปล่อยปละละเลยให้กลุ่มอิทธิพลรวมถึงข้าราชการเรียกรับประโยชน์กับประชาชน
  • "ทักษิณ" เป็นส่วนหนึ่งในหัวข้อ แต่จะเน้นหลายเรื่องเกี่ยวกับนิติรัฐ-นิติธรรม
     

ไม่เกี้ยเซียะ-แต่หมัดฮุกยังเบา

ถือเป็นหัวข้อหลัก ๆ ที่ "ชัยธวัช ตุลาธน" ผู้นำฝ่ายค้านในสภาผู้แทนราษฎร จะใช้เชือดเฉือนรัฐบาล พร้อมประกาศย้ำชัดว่าเรื่องนี้ไม่มีเกี้ยเซียะกันแน่นอน

ทว่า ประเด็นที่จะใช้อภิปรายข้างต้น กำลังถูกต้องคำถามว่า "หมัดหนัก" พอแล้วหรือยัง

เนื่องจากยังมีประเด็นสำคัญแม้จะไม่เกี่ยวข้องกับการใช้งบประมาณ แต่ก็สามารถใช้เปิดอภิปรายไม่ไว้วางใจได้ ยกตัวอย่าง

  • เนื้อสัตว์เถื่อน
  • ส.ป.ก.ทับซ้อนพื้นที่อุทยาน
  • มาเฟียครองที่ดินในไทย

ประเด็นที่เกิดขึ้นจึงไม่สามารถให้ละคำถามถึงการเอื้อประโยชน์ต่อกัน
 

ทำอะไรไม่ได้แต่เชื่อมสัมพันธ์

โดย "รศ.ดร.โอฬาร ถิ่นบางเตียว" อาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์และนิติศาสตร์มหาวิทยาลัยบูรพา สะท้อนปรากฏการณ์ของฝ่ายค้านในครั้งนี้ คงไม่สามารถทำอะไรรัฐบาลได้

แม้ฝ่ายค้านมีโอกาสจะยื่น มาตรา 151 ก็ได้ แต่กลับให้เหตุผล รัฐบาลยังทำงานไม่เป็นรูปธรรม ยังไม่มีการผ่านงบประมาณ จึงเลือกการอภิปรายเชิงแนะนำ เพื่อให้ข้อมูลมีความหนักแน่น แต่สังคมจะคล้อยตามหรือไม่

ทั้งนี้ หากเทียบการตรวจสอบของก้าวไกล กับสมัยรัฐบาล "พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา" และกับเพื่อไทย จะเห็นมาตราฐานที่ต่างกัน ซึ่งสะท้อนฝ่ายค้านวางกลยุทธ์อะไรบางอย่างกับรัฐบาล อีกทั้ง ยิ่งตอกย้ำถึงข่าวดีลกันระหว่าง "ธนาธร" กับ "ทักษิณ" ก่อนหน้านี้

เกมรักษาดุลอำนาจ-ตัดขาอนุรักษ์นิยม

ขณะเดียวกัน การดำเนินงานของก้าวไกลดูเป็นการรักษาดุลอำนาจการเมือง หากมองในเชิงภูมิรัฐศาสตร์ เพราะเป็นการต่อสู้ของ 3 กลุ่มอำนาจ คือ

  • อนุรักษ์นิยม
  • เพื่อไทย
  • ก้าวไกล

โดยฝ่ายอนุรักษ์นิยมครองพื้นที่ในอำนาจผ่านกลไกกองทัพ กระบวนการยุติธรรม ระบบราชการ ตำรวจ แม้กลไกทุกวันนี้มันเสื่อมแต่อยู่ได้ แต่ทางการเมืองแพ้ย่อยยับ

ดังนั้น ฝ่ายอนุรักษ์นิยมจึงต้องร่วมกับเพื่อไทย แต่ก็ไม่ได้ไว้ใจ ทว่า เพื่อไทยฉลาดพอในการเล่นเกมพื้นที่อำนาจ ที่ต้องพึ่งพาอาศัย เพราะต้องไม่ลืมเพื่อไทยเท่านั้น ที่จะรักษาอำนาจกลุ่มนี้เอาไว้ได้

ขณะเดียวกัน เพื่อไทยเล่นเกมกับก้าวไกลไปด้วย ทำให้อนุรักษ์นิยมจึงต้องเกรงเพื่อไทย กลายเป็นงูกินหาง แต่ลึกๆ ทางการเมือง สะท้อนถึงพันธมิตรกัน ระหว่าง "เพื่อไทย-ก้าวไกล" แม้ไม่เห็นพ้องต้องกันทั้งหมด

 

"การทำแบบนี้อนุรักษ์นิยมจะเกิดความระแวงกับเพื่อไทยมากขึ้น แม้กลุ่มอนุรักษ์ไม่ชอบเพื่อไทย แต่ชัดว่าเกลียดก้าวไกล และหากเพื่อไทย ก้าวไกล สามารถรักษาดุลอะไรบางอย่างร่วมกันได้ โอกาสชนะเลือกตั้งครั้งหน้ามีแน่"


ยิงปืนนัดเดียวก้าวไกลได้นกสองตัว

ทั้งนี้ เมื่อเกิดความหวาดระแวงต่อกัน หากมีการหักหลังขึ้นไม่ว่าจะเป็นฝ่ายอนุรักษ์นิยมที่ทำต่อทักษิณ หรือทักษิณทำต่อฝ่ายอนุรักษ์นิยม ภาพที่ออกมากลายเป็นก้าวไกลจะได้คะแนนนิยมสูงมากขึ้นในการเลือกตั้งครั้งหน้า  เท่ากับยิงปืนนัดเดียวได้นกสองตัว

 

"เราจึงจะได้เห็นข่าวออกมาแปลกๆ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องเกี่ยวกับ "บิ๊กแดง" การปรับเปลี่ยนนายกฯ หรือปรับ ครม. แม้กระทั่งภาพ "บิ๊กป้อม" ที่ออกมาในช่วงนี้" 

 

logoline