svasdssvasds
เนชั่นทีวี

การเมือง

"ธนาธร" มั่นใจเหตุ "ก้าวไกล" ยังไม่ยื่นซักฟอกเพราะต้องการข้อมูลหนักแน่น

05 มีนาคม 2567
เกาะติดข่าวสาร >> Nation Story
logoline

"ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ" มอง "ก้าวไกล" ไม่อยากทำส่งเดชปมยื่นซักฟอกรัฐบาล ย้ำต้องมีข้อมูลหนักแน่น รวมถึงควรให้ความเป็นธรรมกับ "เศรษฐา" ด้วย

5 มีนาคม 2567 การขออภิปรายไม่ไว้วางใจ แม้จะเป็นเครื่องหนึ่งของฝ่ายค้านใช้ตรวจสอบการทำหน้าที่ของรัฐบาล พร้อมสะท้อนถึงจุดบกพร่อง แต่ในเรื่องนี้ยังคงมีความเห็นต่างกันอยู่ภายในฝ่ายค้านจะใช้วิธีการหรือรูปแบบใด โดยเฉพาะการตัดสินใจของพรรคก้าวไกล ในฐานะผู้นำฝ่ายค้านในสภาผู้แทนราษฎร

โดย "นายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ" ประธานคณะก้าวหน้า กล่าวถึงกรณีที่พรรคก้าวไกล จะไม่ยื่นอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐบาลจะเป็นการเกี้ยเซี๊ยะกันนั้น ส่วนตัวเห็นว่าไม่ใช่ เพราะตนเข้าใจพรรคก้าวไกล เหมือนสมัยพรรคอนาคตใหม่ ที่ตนเองทำหน้าที่รวบรวมข้อมูลการอภิปรายไม่ไว้วางใจด้วยตนเอง ที่หากต้องการยกมาตรฐานการทำงานให้สูง ข้อมูลการอภิปรายต้องมีคุณภาพ และมีเนื้อหาที่หนักแน่น

 

"แต่รัฐบาลขณะนี้ ทำหน้าที่ได้เพียง 7 เดือน ซึ่งการจัดงบประมาณภายใต้รัฐบาล นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี ก็ยังไม่ชัดเจน ดังนั้น ก็จะต้องให้ความเป็นธรรมกับนายเศรษฐา และเข้าใจพรรคก้าวไกลด้วย เพราะหากนำข้อมูลไม่หนักแน่น นำมาอภิปราย ก็จะกลายเป็นผลเสีย" นายธนาธร ระบุ
 

สำหรับการอภิปรายไม่ไว้วางใจถือเป็นอาวุธการตรวจสอบสำคัญของฝ่ายค้าน หากใช้พร่ำเพรื่อ ไม่มีเรื่องราวที่หนักแน่นเพียงพอ ก็ทำให้พรรคก้าวไกลไม่สง่างาม จึงมั่นใจว่าไม่ใช่การเกี้ยเซี๊ยะ แต่พรรคก้าวไกล ต้องการธำรงไว้ซึ่งมาตรฐานการทำงานของสภาที่มีคุณภาพ

"ปกรณ์วุฒิ" ย้ำไม่อยากเปิดอภิปรายแบบเป็นพิธี

ขณะที่ "นายปกรณ์วุฒิ อุดมพิพัฒน์สกุล" สส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล ในฐานะประธานคณะกรรมการประสานงานพรรคร่วมฝ่ายค้าน หรือ วิปฝ่ายค้าน กล่าวถึงความคืบหน้าการเตรียมข้อมูลอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐบาล ซึ่งขณะนี้ยังไม่ได้พูดคุยกันอย่างเป็นทางการ มีต่อสายหากันบ้าง นับแต่สัปดาห์ที่แล้วที่ตนให้สัมภาษณ์ไป แล้วมีการโต้ตอบจากหลายฝ่าย โดยต้องชี้แจงว่าเรื่องการอภิปรายไม่ไว้วางใจไม่ได้มีแบบเดียว แต่มีทั้งแบบลงมติและไม่ลงมติ สัปดาห์ที่แล้วตนก็ยอมรับว่า การอภิปรายไม่ไว้วางใจแบบลงมติค่อนข้างหนักใจ เพราะไม่อยากทำเนื้อหาสาระเหมือนการเมืองยุคก่อนๆ ที่ต้องเปิดทุกปี

 

"ผมเห็นนักการเมืองสมัยเก่าหลาย ๆ ท่าน ออกมาวิจารณ์ผมว่า ทำตัวเกี้ยะเซียะกับรัฐบาล ไม่ยอมอภิปรายไม่ไว้วางใจ คือ ถ้าเปิดมาแล้วพูดเรื่องส่วนตัวของรัฐมนตรี ผมไม่ทำ มันต้องมีเนื้อหาสาระที่จับต้องได้ ที่ประชาชนมองเห็นว่าบุคคลนี้ รัฐมนตรีท่านนี้ ไม่เหมาะสมที่จะดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีอีกต่อไป ไม่ใช่แค่เปิดอภิปรายตามสิทธิ์ ผมว่าถ้าเปิดมาตามสิทธิ์แล้วอภิปรายอะไรที่ไร้สาระ ผมว่านั่นแหละเกี้ยะเซียะของจริง เป็นการทำให้รัฐบาลดูดีขึ้นมาทันที ถ้าเราพูดอะไรที่ไม่มีเนื้อหาสาระ" นายปกรณ์วุฒิ กล่าว
 

ยันสัปดาห์นี้เห็นความชัดเจนเรื่องยื่นญัตติ

ส่วนการอภิปรายทั่วไปแบบไม่ลงมตินั้น จะกว้างกว่า สามารถให้ข้อเสนอแนะ ทวงถามหลายๆ เรื่อง ซึ่งพรรคร่วมฝ่ายค้าน ก็ได้ทวงถามหลายๆ เรื่องต่อรัฐบาลมาตลอด แทบจะรายสัปดาห์ คิดว่าผู้สื่อข่าวก็สามารถลงข่าวได้ทุกสัปดาห์ว่า ฝ่ายค้านทวงถามอะไรรัฐบาลบ้าง อภิปราย 4 วันก็คงไม่จบ แต่ถ้าจะอภิปรายจริง ก็ต้องเป็นเรื่องที่สำคัญ ซึ่งก็ยังเปิดกว้าง และย้ำว่าสามารถเปิดอภิปรายแบบไม่ลงมติได้ และมีโอกาสมากกว่าการเปิดอภิปรายแบบลงมติแน่นอน

สำหรับข้อมูลใหม่ ๆ ที่ไม่เคยเปิดมาก่อนนั้น ยืนยันว่า มีเยอะ มีการไล่เรียงและเก็บข้อมูลแต่ละหัวข้อกันอยู่ตลอด เพียงแต่อาจยังไม่ครบถ้วนสมบูรณ์ แต่สามารถหยิบมาได้ มองว่าต้องมีสัก 40-50 เรื่อง ที่เก็บเอาไว้ พร้อมขอให้ติดตามภายในสัปดาห์นี้ ควรต้องเห็นความชัดเจนแล้ว เพราะการยื่นญัตติก็จำเป็นต้องใช้เวลา

6 มี.ค.พรรคร่วมฝ่ายค้านถกจะอภิปรายหรือไม่ 

ด้าน "นายอภิชาติ ศิริสุนทร" สส.บัญชีรายชื่อ และเลขาธิการพรรคก้าวไกล กล่าวว่า ในวันที่ 6 มี.ค. พรรคร่วมฝ่ายค้านจะมีการประชุมหารือกัน ในเวลา 10.00 น. ว่าจะอภิปรายหรือไม่อภิปราย และจะอภิปรายในกรอบประเด็นไหน

ส่วนความเห็นในกรณีที่นายกฯ จะมีการแถลงผลงาน 6 เดือน หลังจากการเดินทางไปประชุมที่ต่างประเทศ และมีกระแสวิจารณ์ว่า ไม่มีผลงานอะไรเป็นรูปธรรมนั้น นายอภิชาติ กล่าวว่า "ยังไม่เห็นอะไร ที่เป็นรูปธรรม"

 


 

logoline