svasdssvasds
เนชั่นทีวี

การเมือง

รู้หรือไม่? ไม่ได้มีแค่ประเทศไทย ที่จัดตั้งรัฐบาลยาก

02 มกราคม 2567
เกาะติดข่าวสาร >> Nation Story
logoline

นับเป็นอีกหนึ่งเหตุการณ์ประวัติศาสตร์การเมืองไทยในปี 2566 ซึ่งภายหลังจากเลือกตั้งแล้วเสร็จ ต้องใช้ระยะเวลานานกว่า 3 เดือน หรือต้องจัดให้มีการประชุมรัฐสภาเพื่อโหวตเลือนายกรัฐมนตรีของไทยคนที่ 30 ถึง 3 ครั้ง จึงจะจัดตั้งรัฐบาลได้สำเร็จ

ย้อนไทม์ไลน์โหวตนายกฯ คนที่ 30 

ภายหลังจากมีการเลือกตั้งอย่างเป็นทางการในวันที่ 14 พฤษภาคม 2566 จากนั้น และประกาศรับรองผลการเลือกตั้ง สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (สส.) อย่างเป็นทางการครบ 500 คน ของ กกต. เมื่อวันที่ 19 มิ.ย. 2566 ใช้เวลากว่า 2 เดือนจึงจะมีการนัดประชุมเพื่อโหวตเลือกนายกฯรัฐมนตรี 

โดยการจัดประชุมรัฐสภา เพื่อโหวตเลือกนายกฯครั้งแรก คือวันที่ 13 กรกฎาคม 2566 ซึ่งบุคคลที่ได้รับการเสนอชื่อ คือนายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ ซึ่งเป็นหัวหน้าพรรคก้าวไกลในขณะนั้น และเป็นแคนดิเดตนายกฯ แต่ปรากฎว่าได้รับความเห็นชอบไม่ถึง 376 เสียง 

รู้หรือไม่? ไม่ได้มีแค่ประเทศไทย ที่จัดตั้งรัฐบาลยาก

สภาถกวุ่น โหวตนายกฯครั้งที่ 2 ห้ามเสนอชื่อซ้ำ

ต่อมาการโหวตเลือกนายกรัฐมนตรีในรอบที่ 2 เกิดขึ้นในวันที่ 19 กรกฎาคม 2566 แต่ปรากฎว่าในที่ประชุมรัฐสภา กลับมีการถกเถียงกันถึงข้อบังคับการประชุมว่าจะสามารถเสนอรายชื่อ นายพิธาซ้ำได้หรือไม่ เนื่องจากมีความเห็นว่าญัตติที่เสนอชื่อนายพิธาเป็นนายกรัฐมนตรีตกไปแล้ว ไม่สามารถนำขึ้นมาพิจารณาใหม่ได้ แม้นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานรัฐสภา จะเปิดลงมติตามข้อตามข้อบังคับที่ 151 ปรากฎว่าเสียงกึ่งหนึ่งเห็นว่าไม่สามารถเสนอชื่อนายพิธาซ้ำได้  

ขาดสะบั้น MOU ก้าวไกล-เพื่อไทย

จากนั้นช่วงเช้าของวันที่ 21 กรกฎาคม 2566 นายชัยธวัช ตุลาธน ได้แถลงส่งไม้ต่อให้พรรคเพื่อไทย เป็นแกนนำในการจัดตั้งรัฐบาล และช่วงบ่ายของวันเดียวกันนั้น นพ.ชลน่าน ในนามของพรรคเพื่อไทย แถลงข่าวจับมือตั้งรัฐบาลเพื่อไทย 314 เสียงกับ 11 พรรคการเมืองที่เคยเป็นพรรครัฐบาลเดิม ในสมัยของพล.อ.ประยุทธ์

 

"เศรษฐา" ผ่านฉลุย 482 เสียง เห็นชอบนั่งนายกฯ

"เศรษฐา" ผ่านฉลุย 482 เสียงเห็นชอบนั่งนายกฯ

เป็นเหตุให้วันที่ 22 สิงหาคม นายวันมูหะมัดนอร์ ได้นัดประชุมรัฐสภาอีกครั้งเพื่อพิจารณาบุคคลซึ่งสมควรได้รับแต่งตั้งเป็นนายกรัฐมนตรี เป็นครั้งที่ 3 โดยมีการเสนอชื่อนายเศรษฐา ทวีสิน เป็นนายกรัฐมนตรี สุดท้ายก็ผ่านความเห็นชอบของรัฐสภาด้วยเสียง 482 เสียง ต่อไม่เห็นชอบ 165 เสียง และงดออกเสียง 81 เสียง ทำให้นายเศรษฐาเป็นนายกรัฐมนตรีคนที่ 30 

ไทม์ไลน์ตั้ง"รัฐบาลเศรษฐา"

หากนับจากวันเลือกตั้งเมื่อวันที่ 14 พ.ค.2566 มาวันประกาศแต่งตั้งนายกรัฐมนตรี 22 ส.ค.2566 ถึงวันประกาศแต่งตั้งครม.เศรษฐา 1 เมื่อวันที่ 1 ก.ย.2566  รวมแล้วรัฐบาลเศรษฐาใช้เวลารวม 110 วัน ซึ่งถือใช้เวลายาวนานที่สุดในประวัติศาสตร์การเมืองไทย

รู้หรือไม่? ไม่ได้มีแค่ประเทศไทย ที่จัดตั้งรัฐบาลยาก

5 ประเทศใช้เวลาในการ "จัดตั้งรัฐบาล" นานที่สุดในโลก!

ประเทศไทยไม่ใช่ประเทศแรกที่ใช้เวลาในการจัดตั้งรัฐบาลยาวนานนับร้อยวัน แต่ยังมีอีกหลายประเทศที่ใช้เวลายาวนาน  "เนชั่นออนไลน์" จะพาไปดูว่า 5 ประเทศที่ใช้เวลาในการจัดตั้งรัฐบาลนานที่สุดในโลกมีประเทศใดบ้าง เริ่มจาก

1. เบลเยียม 

เบลเยียมใช้เวลาในการจัดตั้งรัฐบาลนานถึง 541 วัน ในการเลือกตั้งในปี 2010 สาเหตุที่ไม่สามารถจัดตั้งรัฐบาลได้ เพราะปัญหาความแตกต่างทางนโยบาย จากฝ่ายการเมืองอย่าง ‘พรรคการเมืองฝ่ายเฟลมมิช’ และ ‘ฝ่ายฟรองโคโฟน’ โดยเฉพาะเรื่องการปฏิรูปประเทศ ไม่มีรัฐบาลกลางเกือบ 2 ปี จนถูกบันทึกลงสถิติโลก กินเนสส์ เวิลด์ เรคคอร์ดส์ เลยทีเดียว

2. สเปน  

สเปนใช้เวลาในการจัดตั้งรัฐบาล 315 วัน ในการเลือกตั้งเมื่อปี 2015 การเลือกตั้งครั้งนั้นไม่อาจทำให้สเปนพ้นจากทางตันได้ เพราะถึงแม้พรรคสายอนุรักษ์นิยมจะชนะ แต่ไม่สามารถคุมเสียงข้างมากในสภาที่จำนวน 176 ที่นั่งเอาไว้ได้ จากทั้งหมด 350 ที่นั่ง อีกทั้งพรรคการเมืองอื่น ๆ ก็ยังมีท่าทีต่อต้านการเมืองรูปแบบเดิม ๆ โดยพรรคประชาชนสเปนพยายามเจรจากับกลุ่มพรรคการเมืองอื่นหลายครั้ง แต่ก็ล้มเหลว กว่าจะตั้งรัฐบาลได้สำเร็จก็กินเวลาเกือบ 1 ปี

3. เนเธอร์แลนด์ 

เนเธอร์แลนด์ใช้เวลา 225 วัน หลังการเลือกตั้งในปี 2017  โดยสาเหตุมาจากข้อนโยบายที่ไม่ลงตัว เนื่องจากรัฐบาล 4 พรรคผสมของเนเธอร์แลนด์ ที่มีทั้งสายเสรีนิยมและอนุรักษ์นิยม โดยมีนโยบายสนับสนุนความหลากหลายทางเพศที่ต่างกัน จนต้องใช้เวลาเจรจากัน 225 วัน แถมยังมีเสียงข้างมากเกินรัฐสภาแค่ 1 เสียงเท่านั้น ขณะที่มีพรรคการเมืองอยู่ในสภาถึง 13 พรรค 

4. เยอรมนี 

เยอรมันใช้เวลาจัดตั้งรัฐบาล 136 วัน และเกือบจะต้องเลือกตั้งใหม่ เพราะจัดตั้งรัฐบาลไม่สำเร็จ เมื่อนางแองเกลา เมเคิล ผู้นำพรรค CDU ชนะการเลือกตั้งในปี 2017 ด้วยคะแนน 33% ซึ่งถือว่าต่ำมาก จึงต้องจัดตั้งรัฐบาล รวมกับพรรค SDP ซึ่งได้ที่นั่งอันดับ 2 แต่การเจรจาล้มเหลวหลายครั้ง เพราะมีนโยบายไม่ตรงกันหลายเรื่อง ทำให้ต้องใช้เวลาเจรจานานถึง 136 วัน สุดท้ายต้องยอมยก กระทรวงการคลัง กระทรวงการต่างประเทศ และกระทรวงแรงงาน ให้พรรค SDP ถือว่าเป็นการเจรจาที่นานที่สุดในประวัติศาสตร์เยอรมนี

5. สวีเดน 

สวีเดนใช้เวลา 134 วัน ในการเลือกตั้งปี 2018 เนื่องจากคะแนนเสียงไม่เพียงพอที่จะทิ้งห่างพรรคอันดับ 2 โดยพรรค Social Democrats ได้คะแนนเสียงต่ำที่สุดในรอบศตวรรษของพรรค จึงต้องรวมคะแนนเสียงกับกลุ่มพรรคฝั่งซ้ายอื่น ๆ จนอยู่ที่ 40.6% ขณะที่อันดับ 2 รวมคะแนนเสียงได้อยู่ที่ 40.3% ซึ่งนั่นก็ยังไม่พอให้ Social Democrats จัดตั้งรัฐบาลได้ ทางรัฐสภาจึงมีมติหลังการเจรจากว่า 134 วัน ให้ผู้นำพรรค Social Democrats เป็นรัฐบาลเสียงข้างน้อย  เพื่อตัดปัญหาการเลือกตั้งที่หาข้อสรุปไม่ได้ไป

logoline