ราชาแห่งผลไม้ ผลผลิตช่วงหน้าร้อนของประเทศไทยยกให้ “ทุเรียน” ของโปรดของใครหลายคน ที่หากกล่าวถึงสรรพคุณของทุเรียนในทางการแพทย์แผนไทย ทุกส่วนของทุเรียนถือว่าเป็นผลไม้ที่มีสรรพคุณทางยา สามารถนำมาใช้ประโยชน์กับร่างกายคนเราได้ โดย “ใบทุเรียน” รสขมเย็นเฝื่อน ช่วยแก้ไข้ แก้ดีซ่าน ขับพยาธิ “เนื้อทุเรียน” รสหวานร้อน ให้ความร้อนแก้โรคผิวหนัง ทำให้ฝีแห้งและขับพยาธิ “เปลือกทุเรียน” รสฝาดเฝื่อน ใช้สมานแผล แก้น้ำเหลืองเสียพุพอง แก้ฝีตานซาง คุมธาตุ แก้คางทูม และไล่ยุงและแมลง “รากทุเรียน” รสฝาดขมใช้แก้ไข้และแก้ท้องร่วง
ข้อมูลโดย แพทย์จีนพรฟ้า อนันต์ไพศาล แพทย์แผนจีนประจำศูนย์การแพทย์แผนไทยและการแพทย์ผสมผสาน ศูนย์ความเป็นเลิศทางการแพทย์ คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ อธิบายว่า “ทุเรียน” มีกลิ่นที่เป็นเอกลักษณ์และรสชาติหวานมัน เนื้อที่นุ่มละมุน จึงทำให้ทุเรียนเป็นผลไม้ที่เป็นที่รู้จักและนิยมบริโภคกันอย่างแพร่หลาย ทั้งคนไทยและชาวต่างชาติ โดยภายในเนื้อทุเรียนอุดมไปด้วยสารอาหารสำคัญหลากหลายชนิด
คุณค่าทางโภชนาการของเนื้อทุเรียนต่อ 100 กรัม
พลังงาน 174 กิโลแคลอรี
ร้อยละของปริมาณที่แนะนำต่อวันสำหรับผู้ใหญ่ (อ้างอิงข้อมูลจาก : USDA Nutrient database )
ในทางแพทย์แผนจีน ทุเรียนเป็นผลไม้ที่มีรสหวาน เผ็ด ฤทธิ์ร้อน สามารถบำรุงม้าม เพิ่มชี่ (ลมปราณ) บำรุงไต เพิ่มหยาง และความอุ่นให้กับร่างกาย เหมาะกับคนที่ร่างกายอ่อนแอ เลือดและลมปราณน้อย เนื่องจากเนื้อทุเรียนอุดมไปด้วยสารอาหารมากมาย ดังนั้น จึงมีประโยชน์ในด้านอื่นๆ อีก เช่น
มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ พบว่า ทุเรียนมีฤทธิ์ในการกำจัดอนุมูลอิสระบางชนิดซึ่งเป็นสาเหตุทำให้หน้าแก่เกินวัย ดังนั้น หากบริโภคทุเรียนตามสัดส่วนที่พอดี จะช่วยลดการเสื่อมสภาพของเซลล์ในร่างกายได้ แต่ไม่แนะนำให้กินทุเรียนเพื่อหวังผลเบื้องต้นที่กล่าวมา เพราะจะทำให้ร่างกายได้รับทั้งคาร์โบไฮเดรต น้ำตาล และไขมันสูงไปด้วย หากกินทุเรียนในปริมาณที่เพียงพอ ก็ย่อมส่งผลดีต่อร่างกายได้อย่างมากมายเช่นกัน
เนื่องจากทุเรียนในทางแพทย์แผนจีนจัดเป็นผลไม้ฤทธิ์ร้อน ถ้าบริโภคมากเกินความจำเป็น จะทำให้ร่างกายสะสมความร้อนไว้มากเกินไป ซึ่งจะส่งผลต่างๆ ตามมามากมาย เช่น จะร้อนใน เจ็บคอ เป็นแผลในปาก ท้องผูก เป็นต้น ดังนั้นผู้ที่มีพื้นฐานสุขภาพค่อนไปทางร้อน และหยินพร่อง ควรรับประทานทุเรียนอย่างพอเหมาะ
จากข้อมูลของกรมอนามัย แนะนำว่าไม่ควรกินทุเรียนเกินวันละ 2 เม็ดกลาง เนื่องจากการกินทุเรียน 4-6 เม็ด เทียบเท่ากับการดื่มน้ำอัดลม 2 กระป๋อง (พลังงานประมาณ 400 กิโลแคลอรี) จึงเป็นเหตุให้ร่างกายได้รับพลังงานมากเกินควร ดังนั้น ไม่ควรรับประทานทุเรียนเกินวันละ 2 เม็ด ไม่กินถี่ทุกวัน และลดอาหารกลุ่มข้าวแป้ง ควรหลีกเลี่ยงอาหารรสหวานจัด หรือมันจัด เพื่อที่จะได้รับพลังงานในปริมาณที่ไม่เกินกว่าร่างกายต้องการ
นอกจากเนื้อทุเรียนแล้ว ยังหมายรวมถึงผลิตภัณฑ์ที่แปรรูปมาจากทุเรียน เช่น ทุเรียนทอด ทุเรียนกวน ไอศกรีมรสทุเรียน
หากรับประทานมากติดต่อกันหลายๆ วัน ก็จะทำให้มีน้ำหนักเพิ่มขึ้นมาได้ ซึ่งเราควรออกกำลังกายควบคู่ไปด้วย จึงจะได้ทั้งความอิ่มอร่อยและสุขภาพดีอย่างไม่ต้องกังวลกับปัญหาสุขภาพที่จะตามมา
1.ผู้ป่วยโรคเบาหวาน
เป็นที่ทราบกันดีอยู่แล้วว่าทุเรียนจัดเป็นผลไม้ที่ให้น้ำตาล ไขมัน และมีพลังงานสูง ดังนั้น ผู้ป่วยที่เป็นโรคเบาหวานกินทุเรียนเข้าไป อาจทำให้มีอาการน้ำตาลในเลือดสูงขึ้นอย่างรวดเร็วเกินไป ส่งผลให้เจ็บป่วยไม่สบายตัวหรือร้อนใน และอาจเป็นอันตรายถึงภาวะช็อกได้
2.ผู้ป่วยโรคความดันโลหิตสูง
ทุเรียนจัดว่าเป็นผลไม้ฤทธิ์ร้อน จึงไม่ควรรับประทานในปริมาณมาก เพราะจะทำให้ความดันสูงขึ้นจนอาจเป็นอันตรายแก่ร่างกายได้
3.ผู้ป่วยโรคไตและโรคหลอดเลือดหัวใจตีบ
ทุเรียนเป็นผลไม้ที่มีโพแทสเซียมสูง ผู้ป่วยโรคไตร่างกายจะขับโพแทสเซียมออกได้ไม่ดี ซึ่งถ้ามีการสะสมของโพแทสเซียมปริมาณมาก จะส่งผลให้เกิดภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะ
4. ผู้ที่ต้องการคุมปริมาณน้ำตาลและไขมันในเลือด
ทุเรียนจัดเป็นผลไม้ที่ให้น้ำตาล ไขมัน และมีพลังงานสูง ดังนั้น จึงควรระมัดระวังในการกินทุเรียน ทั้งทุเรียนสดและทุเรียนแปรรูป และควรปฏิบัติตามคำแนะนำของแพทย์
ตามแผนจีนทุเรียน “ไม่ควร” กินคู่กับอะไรบ้าง
1.ไม่ควรกินร่วมกับเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ เพราะการกินทุเรียนร่วมกับเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ จะก่อให้เกิดอาการหน้าแดง ชา วิงเวียน และอาเจียนได้ อีกทั้งทุเรียนเป็นอาหารที่มีไขมัน และคาร์โบไฮเดรตสูง ส่วนเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ก็ให้พลังงานสูงเช่นเดียวกัน เมื่อกินทุเรียนร่วมกับเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ร่างกายจะได้รับพลังงานที่มากเกินไป ทำให้ระดับน้ำตาลในเลือดสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว
2.ไม่ควรกินร่วมกับเครื่องดื่มที่มีคาเฟอีน หากรับประทานคู่กับคาเฟอีนก็จะทำให้ปวดศีรษะได้
หลายคนอาจเคยได้ยินมาบ้างว่า ควรรับประทานทุเรียนคู่กับมังคุดช่วยลดความร้อน ตามหลักการแพทย์แผนโบราณของจีน กล่าวว่า ทุเรียนเป็นผลไม้ฤทธิ์ร้อน มังคุดเป็นผลไม้ฤทธิ์เย็น ซึ่งจะช่วยดับความร้อนที่เกิดขึ้น ซึ่งถ้าในแง่ของฤทธิ์ ผลไม้ทั้งสองอย่างนี้จะเกี่ยวข้องกัน แต่อย่างไรก็ตาม ในแง่โภชนาการแล้วทั้งทุเรียนและมังคุดต่างก็มีน้ำตาลสูง ดังนั้น ไม่ควรรับประทานในปริมาณที่มากเกินไป
ที่มา : สถาบันส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (สสวท.) กระทรวงศึกษาธิการ / คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่