svasdssvasds
เนชั่นทีวี

เจาะประเด็นร้อน

ควันหลง"อภิปรายทั่วไปโดยไม่ลงมติ" ส่งสัญญาณ ความโดดเดี่ยว"นายกฯลุงตู่"

17 กุมภาพันธ์ 2566
เกาะติดข่าวสาร >> Nation Story
logoline

"การอภิปรายทั่วไปโดยไม่ลงมติ" ปิดฉากลงไปแล้ว แต่บทบาทการทำหน้าที่ของฝ่ายค้านและรัฐบาลในสภา เป็นภาพสะท้อนการดำเนินงานทางการเมืองนับจากนี้ โดยเฉพาะ "นายกฯลุงตู่" ที่กำลังเป็นโดดเดี่ยวผู้น่ารักหรือไม่ ติดตาม เจาะประเด็นร้อน

จากการอภิปรายของฝ่ายค้านที่จัดหนักตลอด 2 วัน ฝ่ายรัฐบาลที่ชี้แจงเป็นเนื้อเป็นหนังมากที่สุด คือ "พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา" นายกรัฐมนตรี 

 

แต่การชี้แจงของฝั่งรัฐบาลมีข้อสังเกตดังนี้ 

 

1."นายกฯ" ยึดไมค์ ชี้แจงหลายรอบ และเน้นการตอบโต้เสียดสีฝ่ายค้าน แต่ไม่ได้ตอบคำถามหลายคำถามที่สังคมอยากรู้ หรือเห็นคล้อยตามฝ่ายค้าน

 

พล.อ.ประยุทธ์  จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรมว.กลาโหม

 

- เช่น ไม่ตอบเรื่องการทำธุรกิจของหลาน - ก่อนหน้านี้ นายกฯเคยชี้แจงว่าไม่เกี่ยวกับตน ไม่ใช่ลูกตน คนละบ้าน คนละครอบครัว ต้องให้ผู้ถูกกล่าวหาชี้แจงเอง และเรื่องการประมูล ถ้าไม่โปร่งใสก็มีช่องทางตรวจสอบอยู่แล้ว 

 

-เรื่องที่ตั้งพรรครวมไทยสร้างชาติ มอบหมายให้ "ดร.แด๊ก" ธนกร วังบุญคงชนะ ชี้แจงแทน แต่ชี้แจงไม่ชัดเจนนัก ทั้งๆ ที่ข้อมูลตามเอกสารที่สื่อเคยเปิดเผย ค่อนข้างชัดเจนว่า ส.ว. "อ." ขายหุ้นบริษัทที่เกี่ยวข้องกับที่ดินผืนนี้ ที่ภายหลังสร้างเป็นอาคารที่ทำการพรรครวมไทยสร้างชาติ ไปตั้งแต่ปี 62 แต่การสร้างตึกเกิดขึ้นในปี 65 การเชื่อมโยงในแง่ของเอกสาร หรือความเป็นเจ้าของ จึงพิสูจน์ยากมาก แต่เมื่อนายกฯไม่ได้ตอบ และทางพรรคไม่ได้ชี้แจงให้ชัดเจน ทำให้หลายคนคาใจ 

-นายกฯใช้วาทกรรมเสียดสีฝ่ายค้านกลับ เน้นสะใจกองเชียร์ แต่คนที่รอฟังเนื้อกลับเสียดาย และมองว่าเสียโอกาสอธิบาย 

 

2.รัฐบาลเสียเปรียบ หรืออาจจะเรียกได้ว่าพ่ายแพ้ในสงครามข่าวสาร เพราะฝ่ายค้านพร้อมกว่า

 

-อภิปรายในสภา มีชาร์ท กราฟฟิก ข้อมูลแสดงชัดเจน มีคลิปเสียงประกอบ (แม้จะถูกตั้งคำถามว่าใช่ของจริงหรือไม่ก็ตาม) 

 

-มีทีมตัดคลิปให้เป็นไวรัลในโซเชียลมีเดีย โดยเฉพาะจากทีมก้าวไกล และทีม ส.ส.รุ่นใหม่ของเพื่อไทย 

 

รูปแบบแบนเนอร์ ของฝ่ายค้าน จะมีการเผยแพร่อย่างรวดเร็วผ่านสื่อโซเชียล ในแต่ละช่วงเวลาที่ส.ส.คนนั้นอภิปราย

***รัฐบาลยังช้ากว่ามากในเรื่องการชี้แจงผ่านสื่อโซเชียลฯ 

 

-แม้รัฐบาลจะแก้เกม ให้ทีมโฆษก และหน่วยงานรัฐ ออกมาชี้แจงข้อมูลเพิ่ม แบบ "ใช้สิทธิพาดพิง"แต่ไม่น่าเชื่อถือเท่าตัวนายกฯ หรือรัฐมนตรีชี้แจงเอง และคนไม่ค่อยสนใจฟัง 

 

-การชี้แจงของฝั่งรัฐบาล อยู่ในรูปแบบ "ทางการเกินไป" ไม่เหมือนทีมงานของฝ่ายค้าน และฝ่ายที่สนับสนุนฝ่ายค้าน ที่มีการตัดคลิปสั้น เรียกน้ำย่อย เรียกความสนใจ หรือบางทีอาจเลือกบางท่อน บางช็อต ทำให้เข้าใจคลาดเคลื่อน บิดเบือนนิดๆ เพื่อหวังผลการเมืองด้วยซ้ำ (บางช็อตเป็นคำชี้แจงของนายกฯที่ถูกตัดตอนเองก็มี) 

เช่นเดียวกับ พรรคก้าวไกล มีการขึ้นแบนเนอร์ ทางสื่อโซเชียล ในระหว่างการอภิปรายทั่วไป

3.นายกฯค่อนข้างโดดเดี่ยวมากขึ้นอย่างเห็นได้ชัดในช่วงปลายรัฐบาล แทบไม่มี ส.ส.เป็นองครักษ์ ยกเว้น "ดร.แด๊ก" ขุนพลคู่ใจ ส่วน ส.ส.พลังประชารัฐ เกือบทั้งหมดวางเฉย 

 

4.ผิดกับภูมิใจไทย ที่มีทีมองครักษ์โต้แทนรัฐมนตรีเยอะมาก 

 

5.มีการเมืองย่อยๆ ของพรรคร่วมรัฐบาลด้วยกันเองแฝงอยู่ในศึกอภิปรายทั่วไป

 

-ประชาธิปัตย์ นอกจากจะประกาศตัวเป็นองค์ประชุม 100% แล้ว ยังชื่นชมฝ่ายค้านอภิปรายดี เพราะงานนี้ตัวเองไม่โดนอะไร 

 

-เป้าหมายสำคัญของการอภิปราย คือ นายกฯ กับรัฐมนตรีของภูมิใจไทย ซึ่งล้วนเป็นคู่แข่งของประชาธิปัตย์ ในภาคใต้ และ กทม. 

 

**ที่สำคัญพรรคใหม่ลุงตู่ คือ "รวมไทยสร้างชาติ" เป็นคู่แค้นของประชาธิปัตย์ ส่วนภูมิใจไทย ก็ขบเหลี่ยมกันเรื่องกัญชา 

 

-พรรคเพื่อไทยแตะ "ลุงป้อม" น้อยมาก เรียกว่าผิวๆ มีแต่ก้าวไกลที่จัดหนัก 3ป. สะท้อนให้เห็น "ดีลลับ" และข้อตกลงทางการเมืองค่อนข้างเด่นชัด 

 

-ก้าวไกลหวังให้การอภิปรายครั้งนี้เป็นแรงส่งให้สังคมเห็นว่า พรรคตนของจริง เอาจริง ทั้งต่อสู้เผด็จการ ต่อสู้ 3ป. และทำงานหนักในสภา ผิดกับเพื่อไทย 

 

-เพื่อไทยเล่นบทชิลล์ ลอยตัว เพราะมั่นใจยังไงก็แลนด์สไลด์ หรือได้ที่ 1 แน่ๆ จึงเน้นรักษาพันธมิตรการเมือง ระวังไม่ให้โดนสวน เพื่อรักษารูปมวย รอตั้งรัฐบาลหลังเลือกตั้ง

logoline