"ชา" เป็นเครื่องดื่มโปรดของใครต่อใคร และเป็นเครื่องดื่มยอดนิยมของคนทั่วโลก องค์การอาหารและเกษตรแห่งสหประชาชาติ หรือ FAO จึงกำหนดให้วันที่ 21 พฤษภาคม ของทุกปี เป็น "วันชาสากล" เพื่อระลึกถึงคุณประโยชน์ของชา ตลอดจนตระหนักถึงความสำคัญของบรรดาเกษตรกรตัวเล็กๆ ผู้ปลูกที่พืช ซึ่งกลายเป็นเครื่องดื่มที่มีคุณค่าไปทั่วโลกมาจนถึงทุกวันนี้
ประวัติของชา กับหลักฐานสำคัญ
"ชา" เป็นเครื่องดื่มที่ถือกำเนิดมามากกว่า 5,000 ปี โดยมีต้นกำเนิดในแถบเอเชียตะวันออก คือ จีน และอินเดีย
ซึ่งการดื่มชามีหลายตำนาน มีการคาดกันว่า จีนเป็นประเทศแรกที่รู้จักการดื่มชาในรูปแบบเครื่องดื่มตั้งแต่สมัย "จักรพรรดิเสินหนิง" ของจีน (Shen Nung) หลักฐานสำคัญที่เป็นลายลักษณ์อักษรเกี่ยวกับเรื่องชาที่สืบทอดมาจนถึงทุกวันนี้คือ วรรณกรรมชาคลาสสิกฉาชิง (Cha Ching) เป็นตำราที่เกี่ยวกับชาเล่มแรกของโลก บรรยายถึงแหล่งกำเนิดของชา การปลูกชา การผลิตชา คุณภาพของชา วิธีการดื่มชา อุปกรณ์การชงชาและธรรมเนียมการชงชา นานนับศตวรรษที่หนังสือเล่มนี้กลายเป็นพื้นฐานการศึกษาของจีน
หลังจากนั้น อินเดีย ก็เริ่มเข้ามาสู่อุตสาหกรรมชาด้วย โดยเริ่มจากนำพันธุ์ชาจากจีนเข้ามาปลูกพร้อมกับพัฒนาพันธุ์ชาของตนด้วย พอความนิยมของชาแพร่หลาย ก็ทำให้ปัจจุบันมีการปลูกชากันทั่วไปในหลายประเทศ เช่น ประเทศไทย ศรีลังกา มาเลเซีย อินโดนีเซีย ญี่ปุ่น เกาหลี เป็นต้น
8 เรื่องน่ารู้ ประโยชน์-โทษของการดื่มชา
นอกเหนือจากการเป็นเครื่องดื่มแก้กระหาย แก้ง่วง และเพิ่มความสดชื่นแล้ว ยังพบว่าชามีส่วนช่วยบำรุงร่างกาย เช่น มีสารต้านอนุมูลอิสสระที่เกิดขึ้นภายในเซลล์ของร่างกาย ต้านอาการอักเสบ ต้านเชื้อจุลินทรีย์ในลำไส้ ป้องกันตับจากสารพิษ และโรคอื่นๆ อีกมากมายที่เกิดจากอนุมูลอิสสระ เนื่องจากมีองค์ประกอบของสารสำคัญในใบชาที่เรียกว่า แทนนิน หรือ ทีโพลีฟีนอล (Tea polyphenols) สารสำคัญกลุ่มนี้พบมากในพืชเกือบทุกชนิด แต่ละชนิดอาจจะมีโครงสร้างทางเคมีที่แตกต่างกันไป
โดยสารแทนนิน ในใบชาสดหรือชาเขียวที่มีฤทธิ์ทางยาที่สำคัญ ได้แก่ สารกลุ่มที่ชื่อว่า คาเทคชินส์ (catechins) ซึ่งนักวิทยาศาสตร์ค้นพบว่ามีฤทธิ์ต้านโรคภัยได้มากมายหากดื่มเป็นประจำ แต่สารสำคัญจากใบชามักจะสลายตัวได้ง่ายและรวดเร็วเมื่อสัมผัสกับออกซิเจนในอากาศและความร้อน
ทีนีเรามาดูกัน วิธีชงชา หรือเครื่องดื่มชาแบบไหน ให้ประโยชน์-โทษต่อร่างกาย
1.ชาร้อนกับประโยชน์ที่เสียไป
สำหรับผู้ที่นิยมดื่มน้ำชาร้อน สารสำคัญที่เป็นประโยชน์คือ คาเทคชินส์ (Catechins) จะถูกความร้อนทำลายไปเกือบหมด คงเหลือแต่ความหอมและรสชาติ ถ้าต้องการให้ได้ประโยชน์ต่อสุขภาพร่างกายแต่ยังนิยมชาร้อนๆ ควรดื่มน้ำชาที่เข้มข้น เช่นเดียวกับคนจีนแต้จิ๋วที่นิยมชงชาจีนรสเข้มข้นในถ้วยชาใบจิ๋วคล้ายกับการดื่มกาแฟเอสเพรสโซ่ ความเข้มข้นของใบชาจะทำให้มีปริมาณสารคาเทคชินส์ที่เข้มข้น ถึงแม้ว่าสารเหล่านี้จะสลายตัวไปบางส่วนเมื่อโดนความร้อนจากน้ำร้อน แต่จะยังคงมีบางส่วนที่หลงเหลืออยู่ที่พอจะให้ประโยชน์ต่อสุขภาพได้บ้าง
2.ดื่มชาแบบเย็นได้ประโยชน์มากกว่า?
ชาเขียว หรือสารสกัดจากใบชาสด หากนำมาเตรียมเป็นเครื่องดื่มแช่เย็น ความเย็นจะช่วยรักษาคุณค่าของสารสำคัญในใบชาไว้ได้ดี อย่างไรก็ตาม หากกระบวนการผลิตเครื่องดื่มชาเขียวที่ต้องผ่านขบวนการต้ม หรือทำให้ร้อนในขบวนการฆ่าเชื้อจุลินทรีย์ก่อนบรรจุลงในขวด ปริมาณสารสำคัญในน้ำชาก็จะถูกทำลายหรือลดน้อยลงไปเช่นกัน
3.ชากับนม เข้าคู่กัน?
การดื่มน้ำชาไม่ว่าจะชาร้อนหรือชาแช่เย็น ไม่ควรแต่งรสด้วยนมทุกชนิด ไม่ว่าจะน้ำนมสด นมข้นหรือนมผง เพราะโปรตีนในนมจะไปจับกับสารสำคัญในชา และทำลายประสิทธิภาพสารออกฤทธิ์ที่เป็นประโยชน์ต่อร่างกาย วิธีการดื่มชาเขียวให้เกิดประโยชน์ต่อสุขภาพ จึงควรดื่มน้ำชาล้วนๆ ไม่ควรปรุงแต่ง สำหรับผู้ที่ชื่นชอบชาเย็นใส่นมจะไม่ได้ประโยชน์จากใบชาเลย
4.ควรเลี่ยงดื่มน้ำชาร่วมกับอะไรบ้าง
ผู้ที่รับประทานวิตามินเสริม เช่น ธาตุเหล็ก เกลือแร่ หรือยาที่คล้ายคลึงกัน ควรหลีกเลี่ยงการดื่มน้ำชาร่วมไปด้วย เพราะสารสำคัญจากใบชาจะไปตกตะกอนธาตุเหล็กหรือเกลือแร่ไม่ให้ถูกดูดซึมเข้าสู่ร่างกาย ในกรณีที่ดื่มน้ำชาร่วมกับการรับประทานอาหาร แร่ธาตุต่างๆ จากผักใบเขียวหรือจากผลไม้ก็จะถูกสารสำคัญจากชาจับไว้หมดไม่ให้ดูดซึมเข้าสู่ร่างกายเช่นกัน
5.โทษของการดื่มชาต่อร่างกายก็มีรายงานเช่นกัน
สารสำคัญอย่าง แทนนิน จะไปตกตะกอนโปรตีนและแร่ธาตุต่างๆ จากอาหารที่รับประทาน ทำให้ลดการดูดซึมของสารอาหารที่มีคุณค่าต่อร่างกาย ดังนั้น จึงมักจะมีคำแนะนำไม่ให้เด็กดื่มน้ำชา ไม่ว่าจะเป็นชาเขียวแช่เย็นหรือชาร้อน เพราะจะทำให้ร่างกายขาดสารอาหารได้
6.การสะสมของสารในชา
ใบชายังมีองค์ประกอบที่ให้โทษต่อร่างกายที่ยังไม่ค่อยมีคนกล่าวถึงคือ มีองค์ประกอบของ "ฟลูออไรด์" ในปริมาณที่ค่อนข้างสูง และสูงกว่าปริมาณในน้ำประปา การที่ร่างกายได้รับเข้าไปทุกวันจากการดื่มน้ำชาเป็นประจำ จะเกิดการสะสม มีผลให้ไตวาย เกิดมะเร็งลำไส้ โรคกระดูกพรุน (Osteofluorosis) โรคข้อ และโรคอื่นๆ ที่เกี่ยวกับกระดูก แต่ผู้ที่ดื่มไม่มาก ก็คงไม่ต้องกังวล
7.เรื่องของไตกับการดื่มชา
ใบชายังมีสารที่ไม่ดีต่อสุขภาพอีก คือ สารที่ชื่อว่า ออกซาเรท oxalate แม้ว่าสารชนิดนี้จะมีอยู่น้อย แต่หากผู้ที่ชื่นชอบการดื่มชามากๆ และดื่มบ่อยๆ เป็นประจำ จะสะสมสารออกซาเรทในร่างกายได้ สารชนิดนี้มีรายงานว่ามีผลทำลายไต
8.กาเฟอีนในใบชา
ใบชามีสารคาเฟอีนในปริมาณสูง อาจสูงกว่าในเมล็ดกาแฟด้วยซ้ำไป เพียงแต่การดื่มน้ำชา สารแทนนินจากน้ำชาจะป้องกันหรือลดการดูดซึมของคาเฟอีนเข้าสู่ร่างกาย ทำให้ฤทธิ์การกระตุ้นหัวใจและสมองน้อยกว่ากาแฟมาก
อย่างไรก็ดี ประโยชน์ของการดื่มชาในปริมาณที่เหมาะสม มีดังนี้
อย. แนะวิธีเลือกซื้อผลิตภัณฑ์ชา
เนื่องในวันชาสากล ปี 2567 นี้ สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ได้ให้ข้อมูลว่า ชาเป็นเครื่องดื่มยอดนิยมตลอดกาลของคนทั่วโลก เป็นแหล่งรายได้ที่หล่อเลี้ยงครอบครัว ชุมชน และเป็นผลิตภัณฑ์ที่มีการค้าขายในระดับโลก สำหรับประเทศไทยชาเป็นเครื่องดื่มที่คนไทยนิยมรับประทาน ไม่ว่าจะเป็นการดื่มชาร้อนหรือเย็น อีกทั้งยังมีรสชาติที่หลากหลายให้เลือกดื่มด้วย ซึ่งได้จากพืชผัก ผลไม้ ดอกไม้หลากหลายชนิด ที่เรียกว่าชาจากพืช โดยนำส่วนต่างๆ ของพืชที่ผ่านกระบวนการทำให้แห้ง ผ่านการบดหยาบหรือลดขนาด
ทั้งนี้ พบการจำหน่ายชาในท้องตลาด 2 รูปแบบ ได้แก่
ทาง อย. ยังได้แนะนำก่อนเลือกซื้อชาชนิดต่างๆ มารับประทาน ต้องอ่านฉลากก่อนซื้อทุกครั้ง โดยฉลากที่แสดงบนบรรจุภัณฑ์ต้องมีข้อความภาษาไทย และมีรายละเอียดดังนี้
นอกจากนี้ บรรจุภัณฑ์ต้องอยู่ในสภาพสมบูรณ์ไม่มีรอยบุบหรือฉีกขาด มีการเก็บรักษาสภาวะที่เหมาะสม ที่สำคัญควรเลือกซื้อผลิตภัณฑ์จากแหล่งที่เชื่อถือได้
มาถึงตรงนี้ พอสรุปได้ว่า เครื่องดื่มชามีทั้งคุณและโทษต่อร่างกาย ขึ้นอยู่กับการบริโภคนั่นเอง...
ขอบคุณข้อมูลจาก :
คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล
สถาบันชาและกาแฟ มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง
สำนักหอสมุดกลาง มหาวิทยาลัยรามคำแหง
สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา
กรุงเทพธุรกิจ
daysoftheyear
ภาพบางส่วนจาก : shutterstock