svasdssvasds
เนชั่นทีวี

เจาะประเด็นร้อน

"ผู้นำในสงคราม" ความเป็นศูนย์รวมจิตใจ กรณีศึกษา การสู้รบรัสเซียกับยูเครน

01 กุมภาพันธ์ 2566
เกาะติดข่าวสาร >> Nation Story
logoline

กรณีศึกษาการสู้รบระหว่างรัสเซียกับยูเครน ภาพสะท้อน ผู้นำกองทัพทั่วโลกแทบจะต้องเปิดการเรียนวิชาทหารใหม่ ติดตามได้ในเจาะประเด็น โดย "สุรชาติ บำรุงสุข"

วันนี้เราอาจจะตั้งเป็นข้อสังเกตสำหรับการศึกษาของนายทหารได้ว่า สงครามยูเครนเป็นเสมือน "วิทยาลัยการทัพ" ที่ใหญ่ที่สุดในโลก และสงครามครั้งนี้ทำให้ผู้นำกองทัพทั่วโลกแทบจะต้องเปิดการเรียนวิชาทหารใหม่ 

 

เนื่องจากสงครามได้ให้บทเรียนการทหารอย่างมากมาย อันอาจอนุมานในเบื้องต้นได้ว่า ผลของการรบที่เกิดในยูเครนนั้น จะมีส่วนอย่างสำคัญต่อ "การปฎิรูปกองทัพ"ของหลายๆ ประเทศในอนาคตอย่างแน่นอน โดยเฉพาะการปรับเปลี่ยนของแนวคิดทางทหารที่รองรับต่อความเปลี่ยนแปลงของโลกในอนาคต

 

ไม่น่าเชื่อว่ากองทัพยูเครนที่มีขนาดเล็กกว่ากองทัพรัสเซียอย่างมาก และมียุทโธปกรณ์น้อยกว่ามากอย่างที่เปรียบเทียบไม่ได้นั้น กลับสามารถยันการรุกของกองทัพรัสเซียได้อย่างยาวนาน และยังสามารถเปิดการรุกตอบโต้กลับได้ในพื้นที่ทางยุทธศาสตร์บางจุดอย่างที่เคอร์ซอนได้ จนเป็นดั่งสัญญาณการถดถอยของกองทัพรัสเซียอย่างชัดเจนในยุคปัจจุบัน

 

ชัยชนะของยูเครน ตลอดรวมถึงการดำรงขีดความสามารถในการรบได้อย่างต่อเนื่องนั้น ไม่ใช่เป็นเรื่องของการได้รับความช่วยเหลือทางด้านอาวุธใหม่ที่มีความทันสมัยจากฝ่ายตะวันตกเท่านั้น หากแต่ "จิตใจสู้รบ" ของประชาชนในสังคมดูจะเป็นปัจจัยสำคัญที่สุดในสถานการณ์สงครามปัจจุบัน เพราะต่อให้ยูเครนมีอาวุธใหม่และมากมายเพียงใด แต่หากคนในสังคมปฎิเสธที่จะเข้าร่วมกับรัฐในการทำสงครามกับผู้รุกรานแล้ว รัฐยูเครนจะไม่ประสบความสำเร็จในการ "ยันทางยุทธศาสตร์" ต่อการรุกของกองทัพรัสเซียได้เลย

สภาวะเช่นนี้ทำให้เห็นชัดเจนว่า การดำรงขีดความสามารถทำการรบได้อย่างต่อเนื่องของสังคมยูเครนนั้น สะท้อนถึงเอกภาพของคนในสังคมที่มีจิตใจมุ่งมั่นเป็นประเด็นสำคัญ อาจจะเปรียบเทียบได้กับการโจมตีทางอากาศของเยอรมันต่ออังกฤษในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 ที่แม้เกาะอังกฤษจะถูกโจมตีอย่างหนักเพียงใด แต่ด้วยจิตใจมุ่งมั่นไม่ยอมแพ้ อังกฤษจึงสามารถพาตัวเองให้รอดพ้นจากการยึดครองของฮิตเลอร์ได้

 

เรื่องราวเช่นนี้สะท้อนชัดว่า ขวัญกำลังใจของคนในสังคมที่พร้อมเข้าร่วมกับรัฐบาลในการต่อสู้กับรัฐข้าศึกเป็น "อำนาจกำลังรบที่ไม่มีตัวตน" และอาจมีความสำคัญมากกว่าอาวุธยุทโธปกรณ์ที่รัฐมีเสียอีก ทั้งยังเห็นถึง จิตใจสู้รบที่ชาวยูเครนในหลากหลายอาชีพตัดสินใจเข้าร่วมในการปกป้องมาตุภูมิของตนจากการบุกของกองทัพรัสเซีย 

 

ในขณะที่มีรายงานอย่างมากว่า ทหารรัสเซียมี "ขวัญกำลังใจต่ำ" ไม่เพียงพวกเขาไม่ต้องการเข้าสู่สนามรบในยูเครนเท่านั้น แต่ยังพบรายงานข่าวว่า มีกำลังพลหลายส่วนตัดสินใจหนีทหาร เป็นต้น

ในทางตรงข้าม สำหรับประเทศที่แม้จะมีอาวุธมาก แต่ถ้าคนในกองทัพและสังคมไม่ต้องการเข้าร่วมรบ ดังเช่นสถานการณ์ในสังคมรัสเซียปัจจุบันนั้น สิ่งที่ตามมาในสังคมเช่นนี้คือ "ความแตกแยกใหญ่"ทางความคิด 

 

ตัวอย่างที่ชัดเจน เห็นได้จากการขับเคลื่อนของกระแสต่อต้านสงครามในหมู่ชาวรัสเซีย หรือหากย้อนกลับไปในอดีต กระแสต่อต้านสงครามเวียดนามในสหรัฐเป็นตัวอย่างของปรากฏการณ์ที่คนในสังคมอเมริกันไม่เห็นด้วยกับการทำสงครามของรัฐ ซึ่งในสภาวะเช่นนี้ รัฐจะเผชิญกับทั้งสงครามภายนอกและภายในคู่ขนานกัน

 

สงครามในครั้งนี้ยังสะท้อนให้เห็นถึงความเป็น "กองทัพทหารอาชีพ" ของฝ่ายยูเครนได้เป็นอย่างดี ในขณะที่ กองทัพรัสเซียกลายเป็น "ภาพลบ" ด้านตรงข้าม ในด้านหนึ่งจะเห็นได้ถึงประสิทธิภาพการรบของหน่วยทหารรัสเซียที่อ่อนด้อยทั้งในระดับยุทธวิธีและระดับยุทธการ ซึ่งเป็นต้นเหตุหนึ่งที่สำคัญของความล้มเหลวทางยุทธศาสตร์ของรัสเซีย 

 

ในอีกด้าน หน่วยทหารรัสเซียแทบจะไม่มีภาพลักษณ์ของ "กองทัพสังคมนิยมที่มีเกียรติ" เช่นที่เคยโฆษณาไว้เลย เนื่องจากทหารรัสเซียได้ก่ออาชญากรรมในพื้นที่ยึดครอง ไม่ว่าจะเป็นการก่อกรณีสังหารหมู่ประชาชน การข่มขืนสตรี การปล้นสดมภ์ทรัพย์สินของชาวบ้านในหลายพื้นที่ การกวาดจับบุคคลต้องสงสัยแบบไม่มีเหตุผล และการใช้การทรมานกระทำต่อผู้ที่ถูกจับกุม เป็นต้น

 

ผลจากการกระทำของทหารรัสเซียในพื้นที่ยึดครอง กลายเป็นการก่อ "อาชญากรรมสงคราม"  จนวันนี้ ความมีเกียรติของ "กองทัพแดงรัสเซีย" ที่เคยถูกสร้างเป็นภาพลักษณ์ตั้งแต่ยุค "สงครามต่อต้านนาซี" ในสมัยสงครามโลกครั้งที่ 2 นั้น กำลังถูกแทนที่ด้วยภาพของ "กองทัพแห่งความอัปยศ" ที่ใช้อำนาจทางทหารทำลายชีวิตของประชาชนผู้บริสุทธิ์ชาวยูเครน ด้วยการ "โจมตีอย่างไม่จำแนก" ซึ่งถือเป็นการกระทำที่ผิดกฎหมายระหว่างประเทศ แม้ผู้นำรัสเซียจะพยายามหาทางแก้ตัว แต่ก็ดูจะขัดแย้งกับรายงานที่ปรากฏอย่างเห็นได้ชัด

 

ดังนั้น หากจะสรุปในเบื้องต้นแล้ว ชัยชนะของกองทัพยูเครนที่สามารถยันกองทัพรัสเซียได้อย่างยาวนานจนเกือบหนึ่งขวบปีนั้น บ่งบอกถึงความเป็นกองทัพทหารอาชีพ พร้อมๆ กับเอกภาพทางความคิดและจิตใจของชาวยูเครนที่ตัดสินใจเข้าร่วมกับรัฐบาลในการทำสงครามกับข้าศึก ทั้งยังมีประธานาธิบดีซีเลนสกี้เป็น "ศูนย์รวมจิตใจ" ที่แสดงออกถึงการตัดสินใจที่จะอยู่ในประเทศเพื่อต่อสู้กับภัยสงครามจากรัสเซีย มากกว่าจะหนีออกไปตั้งรัฐบาลพลัดถิ่นนอกประเทศตั้งแต่ช่วงต้นสงคราม ต่างจากผู้นำอัฟกานิสถานที่หนีก่อนคาบูลแตก

 

ภาพจากสงครามยูเครนเช่นนี้ ทำให้อดคิดเปรียบเทียบกับไทยในปัจจุบันไม่ได้ ผู้คนในสังคมไทยมีความแตกแยกมาก และสังคมเองก็ประสบปัญหาภายในอย่างหนัก จนการสร้างขวัญกำลังใจสู้รบเช่นในแบบสังคมยูเครนนั้น อาจจะเป็นเรื่องที่เป็นไปไม่ได้เลย 

 

อีกทั้ง ผู้นำทางการเมืองของไทยปัจจุบันเอง ก็ไม่อยู่ในเงื่อนไขที่จะเป็นผู้สร้างเอกภาพของสังคม จนอาจกล่าวเชิงเปรียบเทียบได้ว่า ผู้นำไทยไม่มีสถานะเป็น "ศูนย์รวมใจ" ในแบบผู้นำยูเครนเลย และดูจะเป็น "ศูนย์รวมความขัดแย้ง" เสียมากกว่า 

 

ในอีกมุมหนึ่งของปัญหา กองทัพไทยเองถูกพันธนาการอยู่กับผลประโยชน์ การคอร์รัปชั่น และบทบาททางการเมืองของผู้นำทหารที่ดำเนินสืบทอดกันมา จนกองทัพขาดความเป็นทหารอาชีพ ซึ่งก็ดูจะไม่ต่างจากปัญหาภายในกองทัพรัสเซียปัจจุบันเช่นกันด้วย

 

รัฐและกองทัพในเงื่อนไขเช่นนี้มีคำตอบเพียงประการเดียวว่า แพ้ตั้งแต่สงครามยังไม่เริ่มต้นเท่านั้นเอง … ใครเลยจะคิดว่า "ตัวตลก"  ในภาพยนตร์วันวานจะกลายเป็นทั้ง "รัฐบุรุษ" และ "แม่ทัพใหญ่" ของชาวยูเครนในวันนี้อย่างไม่น่าเชื่อ 

 

ส่วนที่สารขัณฑ์นั้น อดีต "แม่ทัพใหญ่" กลับเป็นยิ่งกว่า "ตัวตลก" จนกลายเป็น "ตลกร้าย" ของประเทศอย่างไม่น่าเชื่ออีกแบบ ฉะนั้น บทเรียนจากยูเครนจึงมีเพียงประการเดียวคือ ประเทศต้องการผู้นำที่ดีและเป็นที่ยอมรับของคนส่วนใหญ่ เพื่อทำหน้าที่สร้างเอกภาพ ไม่ใช่สร้างความแตกแยก!

logoline