svasdssvasds
เนชั่นทีวี

คอลัมนิสต์

การเมืองหลัง"เอเปค" ท่านผู้นำ ตื่นจากฝันหรือยัง โดย "สุรชาติ บำรุงสุข"

25 พฤศจิกายน 2565
เกาะติดข่าวสาร >> Nation Story
logoline

"ผู้นำรัฐบาล"มีความฝันอย่างมากในการที่ประเทศไทยได้เป็นเจ้าภาพจัด"ประชุมเอเปค" และมีความหวังว่า เอเปคจะทำให้นายกรัฐมนตรีในระบอบ "รัฐบาลทหารแบบเลือกตั้ง"มีความ"โดดเด่น"ขึ้น ติดตามได้เจาะประเด็นโดย "สุรชาติ บำรุงสุข"

 

ผู้นำรัฐบาลไทยปัจจุบันดูจะมีความฝันอย่างมากในการที่ประเทศไทยได้เป็นเจ้าภาพจัด "การประชุมเอเปค" และมีความหวังว่า เอเปคจะทำให้อดีตผู้นำรัฐประหารไทย ที่ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีในระบอบ "รัฐบาลทหารแบบเลือกตั้ง" มีความ "โดดเด่น" ทางการเมือง
หรืออีกนัยหนึ่งเอเปคจะช่วยทำหน้าที่ในการโฆษณาทางการเมืองให้ผู้นำรัฐบาลไทยทั้งในเวทีภายในและภายนอก

 

การประชุมเอเปคยังทำให้บรรดาปีกอนุรักษนิยมและปีกนิยมรัฐประหาร เชื่อมั่นว่า "ระบอบทหารแบบเลือกตั้ง" จะยังเป็นพลังขับเคลื่อนทางการเมืองต่อไปได้เพื่อรองรับต่อการเลือกตั้งที่จะเกิดขึ้นในอนาคตและอาจจะช่วยนำพาผู้นำคนเดิมกลับเข้าสู่ตำแหน่งนายกรัฐมนตรีอีกครั้ง

 

แต่จะเป็นเช่นนั้นได้จริง เอเปคจะต้องจบลงด้วยความสำเร็จอย่างมีนัยสำคัญกับปัญหาการเมืองและเศรษฐกิจในเวทีระหว่างประเทศและส่งผลให้สถานะของรัฐบาลไทยในฐานะเจ้าภาพผู้จัดการประชุม ได้รับผลจากอานิสงส์นี้ด้วย

 

 

แต่ถ้าเราตื่นจากความฝันสักหน่อย เราอาจจะพบความจริงว่า "เอเปค 2022" ที่กรุงเทพดูจะไม่มีพลังอย่างที่คาด ซึ่งว่าที่จริงแล้ว อาจมีคำอธิบายที่ไม่ซับซ้อน เช่น เวทีการประชุม จี-20 ที่บาหลีเป็นเวทีสำคัญ และเป็นหนึ่งในเวทีหลักของการประชุมระหว่างประเทศในปัจจุบัน
ซึ่งเห็นได้ชัดจากความสนใจของสื่อสากล การจัดเอเปคตามหลัง จึงเสมือนกับการถูกเวทีใหญ่ "บดบัง" เวทีเล็ก

 

ผู้นำที่สำคัญของโลกได้พบปะและได้มีโอกาสพูดคุยกันแล้วที่บาหลี
และอาจจะไม่มีความจำเป็นต้องมาคุยกันต่อที่กรุงเทพฯ เช่น การพบกันระหว่างประธานาธิบดีของสหรัฐและจีนหรือการถกปัญหาสงครามยูเครน เป็นต้น

 

วันนี้จุดของความน่าสนใจของเศรษฐกิจภูมิภาค อยู่ที่อินโดนีเซีย (และอาจรวมถึงเวียดนาม) มากกว่าจะอยู่ที่ไทย ดังจะเห็นถึงแนวโน้มการลงทุนที่มุ่งไปจาการ์ตามากกว่ามากรุงเทพฯ


รัฐบาลอินโดนีเซียมีบทบาทและกล้าในการแสดง “จุดยืน” ที่เด่นชัดกับปัญหาในเวทีระหว่างประเทศไม่ว่าจะเป็นปัญหาความรุนแรงในเมียนมา หรือการลงเสียงประนามรัสเซียในสหประชาชาติ ซึ่งรัฐบาลไทย
“ไม่กล้า” แสดงท่าทีเช่นนี้

 

ท่าทีของไทยในเวทีโลกถูกจับตามองด้วยข้อสรุปว่า ไทย “เกาะติด” อยู่กับจีน และ “เกรงใจ” รัสเซีย ดังเห็นจากการลงเสียงในเวทีสหประชาชาติของไทย ผู้แทนไทยออกเสียงแบบเดียวคือ “งดออกเสียง”และไม่กล้าที่จะแสดงความเห็นเป็นอื่น

 

สถานะทางการเมืองของประเทศไทยไม่สอดรับกับกระแสโลก
รัฐไทยปัจจุบันเป็นผลผลิตจากการสืบทอดอำนาจที่มาจากการรัฐประหารและระบอบการเมืองในปัจจุบันเองไม่มีดัชนีที่เป็น “จุดขาย” เพื่อนำเสนอให้กับเวทีโลก ทั้งเรื่องประชาธิปไตย นิติรัฐ และสิทธิมนุษยชน

 

ผู้นำรัฐบาลไทยไม่เคยแสดงบทบาทที่ชัดเจนต่อปัญหาในเวทีระหว่างประเทศ เช่นปัญหาการละเมิดสิทธิมนุษยชนในเมียนมา เป็นต้น แม้จะพยายามสร้างจุดขายในงานด้วย “เศรษฐกิจสีเขียว”หรือข้อเสนอเรื่อง “BCG” ซึ่งดูจะไม่เป็นจริงเท่าใดนัก เพราะผู้นำไม่เคย “พูดและทำ” ในเรื่องเหล่านี้เลย

 

ทำให้เกิดคำถามอย่างมากว่า อดีตผู้นำรัฐประหารไทยเข้าใจเรื่องเศรษฐกิจสีเขียวและการเปลี่ยนแปลงสภาวะอากาศของโลกเพียงใด
เมื่อเขาออกมานำเสนอประเด็นเช่นนี้เป็นจุดขายของรัฐบาลไทยในเอเปค

 

อีกทั้งยังเกิดเสียงต่อต้านจากภาคประชาสังคมในบ้านอย่างมากว่า เศรษฐกิจสีเขียวเอื้อประโยชน์ให้แก่ทุนใหญ่ไม่ได้ให้ผลตอบแทนกับเกษตรกรไทย

 

รัฐบาลไทยพยายามสร้าง “ซอฟเพาเวอร์” (soft power) ผ่านอาหารและวัฒนธรรมแต่สิ่งเหล่านี้ไม่ความหมายในตัวเอง แต่จะมีความหมายต่อเมื่อสถานะของประเทศมี “เสนห์” จนเกิด “แรงจูงใจ”
อันจะนำไปสู่ความสนใจต่อประเทศไทย

 

อีกทั้งความเป็นจริงของสังคมการเมืองภายในก็ต้องรองรับต่อการนำเสนอซอฟเพาเวอร์เช่นนั้นด้วย ความหวังที่จะมี “คำประกาศกรุงเทพฯ” เป็นสิ่งที่ไม่เป็นจริง เพราะรัฐบาลไทยไม่มี “ความริเริ่มทางการเมือง”

 

ในเวทีสากล ต่างจากบทบาทของรัฐบาลไทยในการประชุมเอเปคที่กรุงเทพฯ สมัยนายกฯ อานันท์ ปันยารชุน ในปี 1992 (พศ. 2535) และสมัยนายกฯ ทักษิณ ชินวัตร ในปี 2003 (2546) ที่มีความริเริ่มเกิดจากข้อเสนอของรัฐบาลไทยอย่างชัดเจน

 

เอเปคที่กรุงเทพฯ เกิดในภาวะที่รัฐบาล “ไม่มีเสน่ห์” ในสมัยนายกฯ อานันท์ ไทยมีจุดเด่นของการเป็นตัวแทนของกระแสประชาธิปไตยในโลก หลังจาก “พฤษภาประชาธิปไตย 2535”

 

ในสมัยนายกฯ ทักษิณ ไทยกำลังเติบโตและเป็นที่จับตามองในภูมิภาค แต่รัฐบาลในปัจจุบันมีสภาวะ

 

“ไม่มีบทบาท-ไม่มีจุดขาย-ไม่มีวิสัยทัศน์” ที่จะเป็น “เสน่ห์” ให้นานาชาติหันมาสนใจประเทศไทย ดังนั้น วันนี้อาจจะต้องยอมรับความจริงว่า เอเปคครั้งนี้ดูจะไม่ “หวือหวา” หรือ “ดังปังๆ” เช่นจี-20 ที่บาหลี

 

ซึ่งเราได้เห็นทั้งบทบาทของผู้นำโลกและผู้นำอินโดนีเซียในเวทีการประชุมระหว่างประเทศ ดูจะแตกต่างกับที่กรุงเทพฯ อย่างมากที่ดู “เหงาๆ” และยังตามมาด้วยเสียงเรียกร้องของผู้เห็นต่างในบ้านให้ผู้นำรัฐบาลคืนอำนาจให้ประชาชน

 

 

 

ถ้าเช่นนั้นแล้ว ความคาดหวังที่จะได้ผลตอบแทนทั้งทางการเมืองและเศรษฐกิจสำหรับประเทศอาจจะไม่มากอย่างที่คิด และยังอาจส่งผล อย่างมากต่อ "การเมืองไทยหลังเอเปค" อีกด้วย

 

ดังนั้น จึงน่าสนใจว่าการเมืองหลังเอเปคจะพลิกต่อไปอย่างไร … ส่วนผลตอบแทนที่เป็นรูปธรรมในทางสากลไม่มีความชัดเจน เนื่องจาก รัฐบาลไทยตั้งแต่หลังรัฐประหารจนถึงปัจจุบันยังดำเนินนโยบายแบบ "ไม่มีนโยบาย" จนไทยขาด"เสน่ห์" ที่จะเป็นแรงดึงดูดทางการเมือง ซึ่งภาวะเช่นนี้ต่อให้ "ปลากุเลา" อร่อยเท่าใด ก็ไม่อาจเป็น"ซอฟเพาเวอร์" ได้เลย!

logoline