svasdssvasds
เนชั่นทีวี

คอลัมนิสต์

"โค้งสุดท้าย"หรือ"เฮือกสุดท้าย" การจัดความสัมพันธ์ 3 ป. โดย สุรชาติ บำรุงสุข

07 ธันวาคม 2565
เกาะติดข่าวสาร >> Nation Story
logoline

คำถามสำคัญว่า ในการเลือกตั้ง 2566 นั้น สามผู้นำรัฐประหารจะจัดความสัมพันธ์กันอย่างไร และสำนวน "สาม ป."จะยังคงใช้ได้อีกต่อไปหรือไม่ ติดตามได้ในเจาะประเด็น โดย "สุรชาติ บำรุงสุข"

 

การประกาศกำหนดวันเลือกตั้งไว้อย่างชัดเจนคือ วันที่ 7 พฤษภาคม 2566 นั้น ต้องถือว่าเป็นเรื่องที่ดี ซึ่งทำให้ "ตารางเวลา" ของการเมืองไทยมีความชัดเจนในตัวเองเพราะเท่ากับเป็นการกำหนดจุดสิ้นสุดของรัฐสภาชุดนี้

 

ฉะนั้น ไม่ว่าคำประกาศยุบสภาจะมา "ช้าหรือเร็ว"  ก็จะต้องเกิดขึ้นอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ และหลังจากออกประกาศกฤษฎีกายุบสภาแล้วการเลือกตั้งจะต้องจัดขึ้นภายในระยะเวลา 45 วัน แต่ไม่เกิน 60 วัน ซึ่งเท่ากับมีนัยว่า การยุบสภาจะเกิดขึ้นช้าหรือเร็วเท่านั้นเอง แม้อาจจะคนบางกลุ่มที่ต้องการไม่ให้การเลือกตั้งเกิดขึ้น


แต่ความคิดเช่นนี้ ไม่น่าจะเป็นทางเลือกที่ดีสำหรับอนาคตของประเทศ   เราอาจจะต้องยอมรับว่าประเทศไทยเดินหน้ามาแล้ว จึงไม่ใช่ทางเลือกที่ดีที่จะพาประเทศ "เดินย้อนกลับทางเก่า"


เพราะจะยิ่งทำให้ความขัดแย้งทางการเมืองที่ดำรงอยู่ในสังคมไทยทวีความรุนแรงมากขึ้น และจะต้องคิดเสมอที่จะไม่พาสังคมไทยเข้าสู่ "กับดักความขัดแย้ง" ทางการเมืองในแบบเมียนมาดังจะเห็นถึงสภาวะที่เป็น "สงครามกลางเมือง" เช่นในปัจจุบัน

 

คณะรักษาความสงบแห่งชาติ ประกาศยึดอำนาจเมื่อวันที่ 22 พฤษภาคม 2557

 

คำถามโค้งสุดท้าย! นับจากนี้ไปซึ่งเป็น "โค้งสุดท้าย" ของการเมืองก่อนการเลือกตั้งที่จะเกิดขึ้นจริงนั้น เรามีคำถามสำคัญ 12 ประเด็นที่น่าติดตาม ได้แก่ ความสัมพันธ์ของอดีตผู้นำรัฐประหารทั้ง 3 ที่มีอำนาจในรัฐบาลปัจจุบันนั้น เริ่มสะท้อนให้เห็นถึง "ปัญหาเอกภาพ" ของผู้มีอำนาจในรัฐบาลที่เคยยึดอำนาจร่วมกันมา

 

และเป็นคำถามสำคัญว่า ในการเลือกตั้ง 2566 นั้น สามผู้นำรัฐประหารจะจัดความสัมพันธ์กันอย่างไร และสำนวน "สาม ป."จะยังคงใช้ได้อีกต่อไปหรือไม่

 

ประเด็นที่ทุกฝ่ายจับตามองจึงเป็นคำถามว่า พวกเขาทั้งสามจะยังเดินไปต่อด้วยกันอีกจริงหรือไม่ หรือในความเป็นจริงนั้น แนวคิด "แยกกันเดิน-รวมกันตี" เป็นเพียงวาทกรรมปลอบใจสำหรับกองเชียร์ที่ต้องการเห็นภาพเก่าๆ ทั้งที่เอกภาพนี้มีปัญหามาอย่างต่อเนื่อง จนเป็นปัญหา  "หนึ่ง ป. vs สอง ป." ในปัจจุบัน จนอาจต้องเปรียบว่า "เดินคนละทาง ชิงดาวคนละดวง"

 

การจะเดินไปต่อร่วมกันของ 3 ผู้นำรัฐประหารเดิมจะมีนัยต่ออนาคตของ "พรรคทหาร" ซึ่งได้แก่ พรรคพลังประชารัฐในปัจจุบันอย่างมาก และน่าคิดอย่างมากว่าผลการเลือกตั้งจะบ่งชี้ถึงจุดสิ้นสุดของพรรคทหารหรือไม่

 

เพราะพรรคทหารดำรงอยู่ด้วยเงื่อนไขเอกภาพของผู้นำรัฐประหารเดิม
แม้จะมีความพยายามในการตั้งพรรคทหารใหม่ หรือเป็นดังการเปิด "พรรคทหาร 2" ซึ่งน่าติดตามว่าพรรคนี้ เป็นการจัดตั้งเพื่อเป็น "พรรคคู่แข่ง" หรือเพื่อสร้าง "พรรคพี่-พรรคน้อง" ในการเป็นพันธมิตรทางการเมือง

 

"โค้งสุดท้าย"หรือ"เฮือกสุดท้าย" การจัดความสัมพันธ์ 3 ป. โดย สุรชาติ บำรุงสุข

 

ประเด็นนี้จะมีความชัดเจนมากขึ้นเรื่อยๆ บนฐานของปัญหาเอกภาพของผู้นำรัฐประหารทั้ง 3 อันจะทำให้ภาพการแข่งขันของผู้นำเดิมภายใต้สภาวะ "หนึ่ง ป. vs สอง ป." ปรากฏชัดขึ้น เพราะเงื่อนไขของการเมืองในระบบรัฐสภาคือ ต้องเป็นพรรคที่ชนะเสียงเลือกตั้ง

 

ความสัมพันธ์ของพรรคร่วมรัฐบาลเองก็ดูจะมีปัญหาอย่างต่อเนื่องทั้งในสภาและนอกสภาจนแรงเสียดทานที่เกิดขึ้นได้สร้างปัญหา "เอกภาพของพรรคร่วม" และเป็นจุดขัดแย้งสำคัญของรัฐบาลปัจจุบัน

 

ความสัมพันธ์ระหว่างพรรคฝ่ายค้านจะเป็นอีกประเด็นที่ถูกจับตามองว่าการเป็นพันธมิตรของปีกพรรคฝ่ายค้านจะร่วมมือกันได้เพียงใด หรือจะสามารถร่วมกันสร้าง "พรรคฝ่ายประชาธิปไตย" ในสภาได้หรือไม่ ซึ่งพรรคฝ่ายค้านเองก็ตกอยู่ภายใต้เงื่อนไขเดียวกันคือต้องแข่งขันเพื่อชนะในการเลือกตั้งจากนี้ไปจนกว่าการเลือกตั้งจะจบลง

 

การแข่งขันระหว่างพรรคการเมืองจะรุนแรงมากขึ้นและการโจมตีทางการเมือง การใส่ร้ายป้ายสี และการสร้างข่าวปลอม (fake news) จะมีมากขึ้นด้วย ประชาชนที่เป็นผู้เสพสื่อจึงต้องแยกแยะ และสื่อควรมีบทบาทในการจำแนกข่าวปลอม เพื่อสร้าง "สังคมข่าวสาร"
ทางการเมือง ไม่ใช่ "สังคมข่าวปลอม"

 

การแข่งขันทางการเมืองในอีกด้านจะเน้นในเรื่องของการนำเสนอนโยบายซึ่งจากนี้จะมีนโยบายถูกนำเสนอขายให้แก่สังคมมากขึ้น และนโยบายมีแนวโน้มที่เป็น "ประชานิยม"พร้อมกับคำสัญญาในทางเศรษฐกิจมากขึ้น เนื่องจากผู้คนในสังคมประสบปัญหาวิกฤตเศรษฐกิจอย่างต่อเนื่อง

 

"อุ๊งอิ๊ง"  แพทองธาร  ชินวัตร   หัวหน้าครอบครัวเพื่อไทย

 

การสร้างพันธมิตรของพรรคการเมืองจะผันแปรไปตามสถานการณ์
และจะเห็นชัดในท้ายที่สุดต่อเมื่อคะแนนการเลือกตั้งถูกประกาศ อันจะนำไปสู่จุดสุดท้ายคือการสร้างพันธมิตรเพื่อการจัดตั้งรัฐบาล
คำถามสำคัญประการหนึ่งคือ การเลือกตั้งที่เกิดขึ้นในปี 2566
จะนำไปสู่การสิ้นสุดของระบอบสืบทอดอำนาจจากการรัฐประหารหรือไม่

 

อันเป็นผลจากการถดถอยของกระแสพรรคทหารและตัวผู้นำ หรือเป็นคำถามทางวิชาการว่าผลการเลือกตั้งจะพาสังคมก้าวเข้าสู่ "การเมืองยุคหลังประยุทธ์" หรือไม่

 

ถ้าระบอบสืบทอดอำนาจเป็นฝ่ายพ่ายแพ้ในการเลือกตั้งแล้ว ผู้นำรัฐบาลที่เคยเป็น "นักรัฐประหาร" มาก่อน จะ"ทำใจ" ยอมรับถึงความพ่ายแพ้ที่เกิดขึ้นได้เพียงใด และทั้งกลุ่มการเมืองขวาจัดจะยอมรับความพ่ายแพ้ในการเลือกตั้งได้หรือไม่ (เปรียบเทียบตัวแบบการบุกรัฐสภาของผู้สนับสนุนประธานาธิบดีทรัมป์ในสหรัฐ)

 

วาทกรรมการแข่งขันและการหาเสียงในการเลือกตั้งจะสู้กันใน 3 ประเด็นหลัก คือ "เอาประยุทธ์ vs ไม่เอาประยุทธ์" และต้องเลือกระหว่าง "ประชาธิปไตย vs เผด็จการ" อีกส่วนคือจะ "เอาทักษิณ vs
ไม่เอาทักษิณ"

 

วาทกรรม 3 ชุดนี้จะใช้เรียกเสียงสนับสนุนตาม "จริต" ของกลุ่มการเมืองต่างๆ ได้เป็นอย่างดี  กลุ่มอำนาจที่ไม่เคยหยุดนิ่ง!

 

นอกจากนี้ในการเมืองโค้งสุดท้ายจนถึงการเลือกตั้งเช่นนี้ ยังมีคำถามถึงบทบาทของกลุ่มการเมืองต่างๆ 6 กลุ่มที่มีบทบาทอย่างมีนัยสำคัญในการเมืองไทย ได้แก่ บทบาทของกลุ่มทุนใหญ่ หรืออาจเรียกว่าเป็น "ออลิการ์กในการเมืองไทย" จะเป็นเช่นไร

 

และเมื่อการเลือกตั้งมากถึง ทุนใหญ่เหล่านี้จะ "เทใจ" ไปสนับสนุนให้กับพรรคใด เพราะความสนับสนุนด้าน"ทรัพยากร" เป็นปัจจัยสำคัญในการเลือกตั้ง และทำให้ "ออลิการ์กไทย" เป็นตัวละครใหญ่ในการเมืองเสมอ

 

กองทัพจะมีบทบาทเช่นไรจึงเหมาะสมกับการเป็น "กองทัพในระบอบประชาธิปไตย" หรือคำถามในทางปฎิบัติคือ บทบาทและอิทธิพลของ "ทหารกับการเลือกตั้ง" จะเป็นเช่นไร 

 

เรื่องนี้เป็นประเด็นที่ละเลยไม่ได้ คนรุ่นใหม่จะแสดงบทบาทอย่างไรในการเลือกตั้งที่จะเกิดขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งกลุ่มคนที่มีสิทธิ์ลงเสียงครั้งแรก จะ "ให้ใจ" กับพรรคใด

 

พรรคที่เคยครองใจคนรุ่นใหม่จะยังได้เสียงเช่นนี้ต่อไปอีกหรือไม่
บทบาทของกลุ่มอนุรักษนิยมผนึกกำลังกับกลุ่มจารีตนิยม ยังคงเป็น "พลังฝ่ายขวา" ที่สำคัญ  และละเลยไม่ได้ในการเมืองไทย แน่นอนว่า เสียงของปีกนี้จะเทไปที่พรรคฝ่ายขวา

 

พิธา  ลิ้มเจริญรัตน์  หัวหน้าพรรคก้าวไกล และ ธนาธร  จึงรุ่งเรืองกิจ ประธานคณะก้าวหน้า

 

โดยเฉพาะพรรคทหารแต่ในอีกด้านจะเกิดการชิงเสียงของพรรคฝ่ายขวาด้วยกันเองด้วยกลุ่มที่ประกาศตัวเป็น "พลังประชาธิปไตย" และไม่ยอมรับรัฐบาลนี้ จะเทเสียงไปที่พรรคฝ่ายค้าน แต่ก็จะเกิดปัญหาแบบเดียวกันคือ การชิงเสียงของพรรคในปีกนี้เช่นกัน มีความกลัวต่อกระแสของพรรคฝ่ายค้านที่มาแรง ทำให้เกิดคำถามถึงกระบวนการ "ตุลาการธิปไตย" ว่า จะมีการใช้เครื่องมือชุดนี้ในการยุบพรรคฝ่ายตรงข้ามอีกหรือไม่ แต่สิ่งที่ผู้มีอำนาจต้องตระหนักเสมอคือการยุบพรรคฝ่ายค้านอาจก่อให้เกิดวิกฤตการเมืองอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ด้วย
มองอนาคต

 

คำถาม 12+6 ประการที่ตั้งไว้ในข้างต้น ให้คำตอบแก่เราอย่างชัดเจนว่า การเมืองจากนี้ไปเป็น"โค้งสุดท้าย" ก่อนการเลือกตั้ง ซึ่งไม่น่าจะมีโอกาสพลิกผันไปเป็นอื่นแล้ว อันจะทำให้เห็นสภาวะ "5 ชิง" อย่างชัดเจน ได้แก่ "ชิงเสียง-ชิงคน-ชิงพื้นที่-ชิงทรัพยากร (เงินทุนสนับสนุน)-ชิงการนำ"

 

หากกล่าวโดยสรุปในภาพรวม การเมืองจากปีใหม่ไปจนถึงการเลือกตั้งจะยิ่ง "เข้มข้น" ในทุกมิติอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ และน่าสนใจอีกด้วยว่า "โค้งสุดท้าย" มีนัยเป็น "เฮือกสุดท้าย" ของผู้นำรัฐประหารเดิมด้วยหรือไม่?

logoline