svasdssvasds
เนชั่นทีวี

ภูมิภาค

นักวิชาการอัดรัฐบาล ปลดล็อกที่ดินอุทยานทับลาน ซัดเอื้อนายทุน-หาเสียง

12 กุมภาพันธ์ 2566
เกาะติดข่าวสาร >> Nation Story
logoline

นักวิชาการอิสระโคราช ซัดรัฐบาลปลดล็อกที่ดินอุทยานแห่งชาติทับลาน เป็นการเอื้อประโยชน์ให้นายทุนและพรรคฝ่ายรัฐบาลอย่างชัดเจน คนไทยมีแต่เสีย แนะกลับไปทบทวนใหม่

12 กุมภาพันธ์ 2566 จากกรณี นายชูวิทย์ กมลวิศิษฐ์ อดีตนักการเมือง ออกมาเปิดเผยข้อมูลว่า ในวันที่ 15 ก.พ.นี้ หน่วยงานที่เกี่ยวข้องจ ะมีการเซ็นคำสั่งปรับแนวเขตอุทยานแห่งชาติทับลาน จ.ปราจีนบุรี และนครราชสีมา เพื่อกันพื้นที่ให้รีสอร์ตและบ้านพักตากอากาศกว่า 400 แห่ง ที่ถูกดำเนินคดีบุกรุกพื้นที่อุทยานแห่งชาติทับลาน

เป็นการทำให้รีสอร์ตต่าง ๆ ที่ถูกดำเนินคดีบุกรุกพื้นที่อุทยานแห่งชาติทับลานไปแล้ว 418 คดี หลุดพ้นคดี และเป็นการเอื้อประโยชน์ให้กับนายทุน รวมทั้งยังเป็นการหาเสียง ให้กับพรรคการเมืองฝ่ายรัฐบาล ก่อนการเลือกตั้งอีกด้วย
นายชูวิทย์ กมลวิศิษฐ์ อดีตนักการเมือง

ล่าสุด นายทวิสันต์ โลณานุรักษ์ นักวิชาการอิสระจังหวัดนครราชสีมา ได้ออกมาแสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับเรื่องนี้ว่า เรื่องนี้ไม่ใช่เรื่องใหม่ เนื่องจากเมื่อปี 2537 สมัยที่พรรคประชาธิปัตย์ เป็นรัฐบาล โดยมีนายชวน หลีกภัย เป็นนายกรัฐมนตรี ก็เคยทำเรื่องนี้มาก่อนแล้ว

ซึ่งขณะนี้มี นายนิพนธ์ พร้อมพันธุ์ เป็น รมว.เกษตรและสหกรณ์ และนายสุเทพ เทือกสุบรรณ เป็น รมช.เกษตรและสหกรณ์ ก็ได้นำที่ดินทั้งหมด 486 แปลง ซึ่งเป็นที่ดิน สปก.4-01 กว่า 1 หมื่นไร่ ที่ จ.ภูเก็ต มาปลดล็อกเหมือนที่จะทำอยู่ในขณะนี้ ขณะนั้นก็มีพรรคร่วมรัฐบาลหลายพรรคไม่เห็นด้วย จนทำให้รัฐบาลต้องล่ม 

เรื่องนี้เรายังไม่ได้ฟังเสียงจากผู้รับผิดชอบโดยตรง คือ นายเฉลิมชัย ศรีอ่อน รมว.เกษตรและสหกรณ์ ที่อยู่พรรคประชาธิปัตย์ น่าจะมีประสบการณ์ดีที่สุด รวมทั้ง รมช.เกษตรและสหกรณ์ 2 คน คือ น.ส.มนัญญา ไทยเศรษฐ์ พรรคภูมิใจไทย และ นายประภัตร โพธิสุธน พรรคชาติไทยพัฒนา ซึ่งต้องถามทั้ง 3 คนนี้ก่อนว่า เห็นด้วยหรือไม่กับแนวคิดนี้ เพราะเป็นผู้รับผิดชอบโดยตรง
นายทวิสันต์ โลณานุรักษ์ นักวิชาการอิสระจังหวัดนครราชสีมา

นายทวิสันต์ กล่าวว่า เรื่องนี้มีทั้งคนได้และคนเสีย โดยคนที่ได้ก็คือนายทุน เจ้าของโรงแรม รีสอร์ตต่าง ๆ ที่จะทำให้ที่ดินเหล่านั้น ราคาขึ้นอีกหลายเท่าตัว ส่วนคนที่เสียก็จะเป็นคนไทยทั้งประเทศ เนื่องจากการเอาพื้นที่เขตอุทยานแห่งชาติ ไปพัฒนาเป็นรีสอร์ตต่าง ๆ จะเป็นผลกระทบกับธรรมชาติอันอุดมสมบูรณ์ ของเขตอุทยานแห่งชาติเป็นอย่างมาก หรือถ้าเลวร้ายมาก อาจจะถึงขั้นถูกปลดออกจากการเป็นมรดกโลกก็ได้ เพราะสมัยหนึ่งอุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ ก็เคยเจอกับปัญหานี้มาแล้ว
นักวิชาการอัดรัฐบาล ปลดล็อกที่ดินอุทยานทับลาน ซัดเอื้อนายทุน-หาเสียง  

นายทวิสันต์ กล่าวว่า ลักษณะที่ดินนั้นมีอยู่ด้วยกัน 5 รูปแบบ ได้แก่ ที่ดินโฉนด นส.4 จ, ที่ดิน นส.3ก, ที่ดิน นส.3 ซึ่ง 3 ลักษณะนี้ หากมีการซื้อขายแลกเปลี่ยนมือ ก็ไม่มีปัญหาอะไร แต่อีก 2 ลักษณะคือ ที่ดิน นส.2 และที่ดิน สปก.4-01 ห้ามซื้อขายเด็ดขาด การไปแตะต้องที่ดินเหล่านี้ มีปัญหาตามมามากมายแน่นอน เพราะที่ดินมีความจำกัดของมันอยู่

เรื่องนี้รัฐบาลต้องคิดให้รอบคอบ แม้กระทั่งเรื่องการจะออกกฎหมาย ให้ต่างชาติสามารถซื้อที่ดินในประเทศไทยได้ ก็ยังมีปัญหาจนรัฐบาลต้องถอยออกมาเลย ดังนั้นเรื่องนี้ก็ต้องนำเรื่องนั้นมาเป็นบทเรียนด้วย

ทั้งนี้มองว่า ความไม่เหมาะสมที่จะทำเรื่องนี้มีอยู่ 3 ประการ คือ 1.ช่วงนี้ใกล้จะมีการเลือกตั้ง ซึ่งจะทำให้สังคมส่วนใหญ่มองว่า รัฐบาลพยายามจะทำเรื่องนี้เพื่อหาเสียงหรือไม่ รัฐบาลอาจจะถูกอภิปรายไม่ไว้วางใจหนักขึ้นก็ได้ 2.ที่ดินมีความจำกัด โดยเฉพาะที่ดินเขตอุทยานแห่งชาติในประเทศไทย มีอยู่เท่านี้ มันไม่สามารถงอกออกมาใหม่ได้ ถ้าเราไม่เคารพในข้อกฎหมาย เกี่ยวกับเขตอุทยานแห่งชาติ ตนว่าจะทำให้มีปัญหาตามมาอีกมากมายในอนาคต 3.รัฐบาลเคยมีบทเรียนมาแล้ว โดยเฉพาะรัฐบาลของพรรคประชาธิปัตย์

วันนี้พรรคประชาธิปัตย์ดูแลเรื่องนี้อยู่ จึงต้องออกโรงมาชี้แจงว่า เห็นด้วยกับเรื่องนี้หรือไม่ เพราะจู่ ๆ การออกมาบอกว่าจะปลดล็อค 400 รีสอร์ต ออกจากอุทยานแห่งชาติ ฟังแล้วอาจจะดูดี แต่ที่ผ่านมาในพื้นที่ อ.วังน้ำเขียว มีปัญหาการบุกรุกที่ดินเขตอุทยานแห่งชาติมาโดยตลอด บางทีถึงขนาดไปไล่รื้อรีสอร์ตแล้วหลายแห่ง แล้วถ้าเจ้าของรีสอร์ตที่เขาถูกไล่รื้อไปแล้ว ลุกฮือออกมาเรียกร้องค่าเสียหายย้อนหลัง จะเกิดอะไรขึ้น ซึ่งมันจะไม่จบแค่นี้ เพราะไปขัดกับหลักการของลักษณะที่ดิน 5 ประเภทดังกล่าว ถ้าเราไม่เคารพกฎกติกาที่ถูกต้องตั้งแต่เนิน ๆ ตนเชื่อว่า จะมีปัญหาตามมามากมายในภายหลังแน่นอน


นักวิชาการอัดรัฐบาล ปลดล็อกที่ดินอุทยานทับลาน ซัดเอื้อนายทุน-หาเสียง
 

เปิดที่มาปัญหาปลดล็อกที่ดินทับลาน 

มีรายงานว่า สำหรับที่มาของปัญหาครั้งนี้ มาจากการที่เมื่อเดือน ม.ค. ที่ผ่านมา พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้เป็นประธานการประชุม คทช. โดยที่ประชุมฯ เห็นชอบต่อผลการดำเนินการปรับปรุงแผนที่แนวเขตที่ดินของรัฐแบบบูรณาการ มาตราส่วน 1 : 4000 (One Map) ในพื้นที่กลุ่มที่ 3 จำนวน 11 จังหวัด ประกอบด้วย นครราชสีมา บุรีรัมย์ ปราจีนบุรี มหาสารคาม ร้อยเอ็ด ชัยภูมิ สระแก้ว สุรินทร์ อุบลราชธานี เพชรบูรณ์ และเลย (ยกเว้นกรณีแนวเขตอุทยานแห่งชาติเขาใหญ่) และมอบหมายให้ สคทช. นำเรื่องให้ ครม.พิจารณาต่อไป

นอกจากนั้นที่ประชุมยังเห็นชอบแนวทางการแก้ไขปัญหา กรณีพื้นที่อุทยานแห่งชาติทับลาน จ.นครราชสีมา และ จ.ปราจีนบุรี (กรณีเร่งด่วน) โดยเห็นชอบต่อผลการดำเนินการปรับปรุงแผนที่แนวเขตที่ดินของรัฐแบบบูรณาการ มาตราส่วน 1 : 4000 (One Map) ของพื้นที่กรณีอุทยานแห่งชาติ ทับซ้อนกับเขตปฏิรูปที่ดิน

และให้ สคทช. นำเรื่องเสนอ ครม. เพื่อพิจารณาให้ความเห็นชอบต่อไป โดยได้มอบหมายให้คณะอนุกรรมการนโยบาย แนวทาง และมาตรการการบริหารจัดการที่ดินและทรัพยากรดิน รับเรื่องไปพิจารณา กรณีพื้นที่นอกแนวเขตที่กรมป่าไม้ส่งมอบให้ ส.ป.ก. (แต่อยู่ภายในเขตเส้นปรับปรุงปี พ.ศ. 2543) ว่าควรใช้แนวทางการดำเนินการที่เหมาะสมอย่างไร และนำเรื่องเสนอ คทช. พิจารณา ก่อนนำเสนอ ครม. และแจ้งไปยังคณะอนุกรรมการOne Map พิจารณาต่อไป
นักวิชาการอัดรัฐบาล ปลดล็อกที่ดินอุทยานทับลาน ซัดเอื้อนายทุน-หาเสียง  

รายงานข่าวจากกรมอุทยานฯ แจ้งว่า ที่ผ่านมามีความพยายามจากหลายฝ่ายในการใช้กลไกของ สคทช. เพื่อผลักดันให้มีการประกาศใช้ แผนที่ One map โดยยึดแนวเขตอุทยานฯ ที่รังวัดเมื่อปี 2543 ตามข้อเสนอของผู้ตรวจการแผ่นดิน ที่จะทำให้พื้นที่อุทยานฯ ทับลาน 2 แสนไร่ ถูกกันออก ซึ่งคณะกรรมการอุทยานแห่งชาติ ตาม พ.ร.บ.อุทยานแห่งชาติ 2562 และกรมอุทยานฯ คัดค้านมาโดยตลอด ซึ่งการขับเคลื่อนประเด็นนี้ในช่วงเวลานี้ เนื่องจากใกล้ครบวาระรัฐบาล
นักวิชาการอัดรัฐบาล ปลดล็อกที่ดินอุทยานทับลาน ซัดเอื้อนายทุน-หาเสียง

logoline