svasdssvasds
เนชั่นทีวี

อาชญากรรม

อัยการ เผย รับเรื่อง ลุงเปี๊ยก จาก DSI หลังเข้าข่าย พ.ร.บ.อุ้มหายฯ ปมถูกขู่รับสารภาพ

25 มกราคม 2567
เกาะติดข่าวสาร >> Nation Story
logoline

"วัชรินทร์" รอง อธิบดีอัยการ เผย อัยการสอบสวนรับเรื่อง "ลุงเปี๊ยก" จาก DSI แล้ว หลังเข้าข่าย พ.ร.บ.อุ้มหายฯ ปมถูกตำรวจขู่ให้รับสารภาพ

25 มกราคม 2567 นายวัชรินทร์ ภาณุรัตน์ รองอธิบดีอัยการ สำนักงานการสอบสวนเเละรองโฆษกสำนักงานอัยการสูงสุด กล่าวถึงความคืบหน้า กรณีกัน "กัน จอมพลัง" พาหลานสาว "ลุงเปี๊ยก" มาขอความเป็นธรรมต่อพนักงานสอบสวนกรมสอบสวนคดีพิเศษ ตาม พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหาย พ.ศ. 2565 (พ.ร.บ.อุ้มหายฯ) ว่าเท่าที่ทราบจากดีเอสไอ เมื่อได้รับเรื่องนี้ทางเจ้าหน้าที่ดีเอสไอได้ลงพื้นที่จังหวัดสระเเก้ว หลังจากสืบสวนเสร็จแล้วปรากฏว่า มีพยานหลักฐานพอสมควรดีเอสไอก็ถือว่ารับเป็นคดีพิเศษ 

ซึ่งต้องอธิบายว่า พ.ร.บ.อุ้มหายฯ มาตรา 31 หน่วยงานที่มีอำนาจสอบสวนตามกฎหมายดังกล่าว ประกอบด้วย 1. พนักงานสอบสวนตำรวจ 2. ก็คือฝ่ายปกครอง3. พนักงานสอบสวน ดีเอสไอหรือ กรมสอบสวนคดีพิเศษ เเละ 4.อัยการ 

นายวัชรินทร์ ภาณุรัตน์ รองอธิบดีอัยการ สำนักงานการสอบสวน
นายวัชรินทร์ กล่าวด้วยว่า เรื่องนี้ถ้าเกิดว่าพนักงานสอบสวนดีเอสไอรับเรื่องจากการที่มีการมาร้องทุกข์กล่าวโทษ ตาม พ.ร.บ.อุ้มหายฯ ถือได้เลยว่า เป็นคดีพิเศษเป็นอำนาจของดีเอสไอโดยตรง ซึ่งถ้าไปดูกฎหมาย พ.ร.บ.การการสอบสวนคดีพิเศษฯ ถ้าเป็นคดีพิเศษแล้วหน่วยงานอื่นไม่สามารถเข้าไปสอบสวนได้แล้ว เพราะฉะนั้น คดีนี้ถือว่าอยู่กับเพียงหน่วยงานเดียว แต่ถ้ามีการระดมทีมในการให้เข้ามาร่วมในการทำคดีกับดีเอสไอ ก็ต้องใช้หลักเกณฑ์ของกฎหมายโดยการไปขอ เช่น อาจจะให้ฝ่ายปกครองเข้ามาร่วมหรือตำรวจเข้ามาร่วมอันนี้แล้วแต่ดีเอสไอ 

แต่ที่สำคัญที่สุด ใน พ.ร.บ.ฉบับนี้ มาตรา 31 ดีเอสไอต้องทำหนังสือถึงอัยการ ให้อัยการเข้ามากำกับหรือตรวจสอบการสอบสวนในคดีนี้ ซึ่งขณะนี้ รักษาการอธิบดีดีเอสไอ ได้ทำหนังสือมาถึง นายกุลธนิต มงคลสวัสดิ์ อธิบดีอัยการ สำนักงานการสอบสวนเป็นที่เรียบร้อย เพื่อให้เป็นไปตามมาตรา 31 ดังนั้น ก็คือเท่ากับอัยการจะต้องเข้าไปกำกับหรือตรวจสอบการสอบสวนในเรื่องนี้

ซึ่งขณะนี้ นายกุลธนิต อยู่ระหว่างพิจารณาในการที่จะตั้งคณะทำงานเเต่งตั้งอัยการไปร่วมในการตรวจสอบหรือกำกับการสอบสวน แต่ในขณะเดียวกันก็ทราบข่าวจากทางอัยการจังหวัดสระแก้วว่า ทางตำรวจสระแก้วก็ทำหนังสือถึงอัยการจังหวัดสระแก้วด้วย เพราะฉะนั้น ถ้าเป็นกรณีดังกล่าวจริงก็จะเกิดมีพนักงานสอบสวนหลายแห่งหลายท้องที่แบบนี้ ตาม พ.ร.บ.อุ้มหายฯ มาตรา 31 จะต้องส่งเรื่องให้อัยการสูงสุดเป็นผู้ชี้ขาดว่า จะให้พนักงานสอบสวนใดเป็นผู้รับผิดชอบการสอบสวน

นายวัชรินทร์ กล่าวอีกว่า ตนอยากเรียนว่าบางคนไม่เข้าใจว่า กฎหมายฉบับนี้ทำไมถึงให้อำนาจอัยการเข้าไปทำหน้าที่นี้ เนื่องจากทางผู้ร่างกฎหมายเห็นความสำคัญที่จะให้องค์กรอัยการเข้าไปกำกับหรือตรวจสอบการสอบสวนในกรณีเข้าข่ายของ พ.ร.บ.ดังกล่าว เพราะการตรวจสอบการจับกุมก็ให้อัยการและฝ่ายปกครองเป็นผู้ตรวจสอบการจับกุมตั้งแต่แรก ตามมาตรา 22 ถ้าพนักงานสอบสวนจับกุมไม่ได้แจ้งการจับกุมและไม่มีเหตุที่จะไม่แจ้ง เพราะทุกการจับกุมต้องเเจ้งให้อัยการและฝ่ายปกครองทราบ ถ้าอัยการและฝ่ายปกครองทราบก็จะได้ช่วยตรวจสอบตั้งแต่แรกว่ามีการจับกุมผู้ต้องหาไปโดยมีการทำร้ายขู่เข็ญหรือพาไปในสถานที่ๆไม่ควรพาไปหรือไม่ เจตนารมย์ของกฎหมายคือต้องการตรวจสอบตั้งแต่การจับกุม

และต่อมา คือ ถ้ามีการกระทำความผิดเกิดขึ้น ตามมาตรา 5 , 6 , 7 อันนี้คือ เมื่อเป็นคดีแล้วข้อสังเกตก็คือพนักงานสอบสวนที่จะมีอำนาจในการสอบสวนเรื่องนี้มีทั้งตำรวจ อัยการ ดีเอสไอและฝ่ายปกครองถ้ามีอัยการเป็นผู้สอบสวนแล้วไม่ต้องให้อัยการมากำกับหรือตรวจสอบเพราะอัยการสอบสวนได้เอง  แต่ถ้าหน่วยงานอื่นอีก 3 หน่วยงานสอบสวน ข้อสังเกตที่สำคัญที่สุดคือต้องมีอัยการเข้ามากำกับหรือตรวจสอบการสอบสวน 

ส่วนที่ถามมาว่า เมื่อคดีนี้ตำรวจมีการร้องในพื้นที่ถึงอัยการสระเเก้วด้วยก็จะต้องให้อัยการสูงสุดชี้ขาด แต่ถ้าเราดูแล้วถ้าเกิดว่าในพื้นที่ไม่ได้ดำเนินการเลยตั้งแต่แรก เพราะว่าอ้างว่าเป็นการกระทำความผิดตามมาตรา 157 เท่านั้น แต่ปรากฏว่าดีเอสไอทำการสอบสวนแล้วตั้งแต่แรก แนวโน้มทางดีเอสไอก็จะได้เป็นผู้รับผิดชอบการสอบสวน ก็ถือว่ารับเป็นคดีพิเศษได้ตาม พ.ร.บ.การสอบสวนคดีพิเศษฯ ถ้าเป็นคดีพิเศษเเล้วถือว่าหน่วยงานอื่นไม่มีอำนาจสอบสวนแล้ว

"ขออนุญาตยกตัวอย่างอย่างเช่นคดีของอดีตผู้บังคับการจังหวัดชลบุรีในการที่ถือว่าเกี่ยวพันกับ พรบ.ป้องกันและปราบปรามการทรมานฯมีอัยการจากสำนักงานอัยการสูงสุดโดยสำนักงานอัยการสอบสวนเข้ามากำกับหรือตรวจสอบในคดีนี้ครับ" รองอธิบดีอัยการสอบสวน ระบุ

logoline