svasdssvasds
เนชั่นทีวี

การเมือง

"ทวี"จี้คลอดรัฐสวัสดิการแก้รากเหง้าปัญหาปชช.-ลดความเหลื่อมล้ำ

27 พฤษภาคม 2565
เกาะติดข่าวสาร >> Nation Story
logoline

"ทวี สอดส่อง"ให้กำลังใจกรรมาธิการแก้ไขปัญหาประเทศ ฝ่าด่านลดความเหลื่อมล้ำ ด้วยการมีรัฐสวัสดิการเพื่อปชช. แก้รากเหง้าปัญหาอย่างแท้จริง

27 พฤษภาคม 2565 ผู้สื่อข่าวรายงานบรรยากาศการประชุมสภาผู้แทนราษฎรสมัยสามัญวันที่สอง โดยวิปรัฐบาลและฝ่ายค้าน มีมติร่วมกันที่จะเพิ่มวันประชุมสภาผู้แทนราษฎรนัดพิเศษ ในวันศุกร์เดือนละสองครั้ง เพื่อเร่งพิจารณากฎหมายและเรื่องที่กรรมาธิการพิจารณาแล้วเสร็จ ส่วนในสัปดาห์ใดไม่มีประชุมวันศุกร์ ก็จะขยายเวลาปิดประชุมในวันพุธและพฤหัส จากเวลา 19.00 น.  2 ถึง 3 ชั่วโมง นอกจากนี้ สำนักสารสนเทศ สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร ได้ทำแอปพลิเคชัน แจ้งเตือนสมาชิกให้เข้าลงมติ แจ้งปฏิทินแจ้งกำหนดการประชุม รวมทั้งแจ้งประวัติการเข้าประชุมของสมาชิกแต่ละคนด้วย 

 

สำหรับวาระ รายงานการพิจารณาศึกษาเรื่องแนวทางการเสนอกฎหมายบำนาญพื้นฐานแห่งชาติ ของคณะกรรมาธิการ (กมธ.) การสวัสดิการสังคม สภาผู้แทนราษฎร นั้น โดย พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง ส.ส.บัญชีรายชื่อ และเลขาธิการพรรคประชาชาติ อภิปรายตอนหนึ่งว่า ขอชื่นชมคณะกรรมาธิการสวัสดิการสังคมสภาผู้แทนราษฎร ที่ได้ศึกษาในเรื่องนี้ โดยเฉพาะ น.ส.รังสิมา รอดรัศมี ส.ส.สมุทรสงคราม พรรคประชาธิปัตย์ ในฐานะประธาน กมธ. รวมทั้งคณาจารย์ว่า วันนี้ (27พ.ค.) ได้มาแก้ปัญหาสำคัญของประเทศที่ยังไม่เห็นมีทิศทางใครจะแก้ได้ คือการนำไปสู่รัฐสวัสดิการ

ทั้งนี้ ต้องยอมรับว่าระบบเศรษฐกิจที่นำมาใช้แก้ ไม่ว่าจะเป็นระบบเศรษฐกิจเสรีที่อ้างว่ามีความเป็นธรรม ระบบเศรษฐกิจสร้างสรรค์ที่มีนวัตกรรม ทั้ง 2 อย่าง มันไม่สามารถจะแก้ปัญหาที่เป็นโรคร้ายที่เกิดในสังคมไทยขณะนี้ คือ โรคความเหลื่อมล้ำ จำเป็นต้องเอาระบบเศรษฐกิจที่ขอเรียกว่าระบบเศรษฐกิจฐานคุณธรรม คือ การนำเรื่องรัฐสวัสดิการหรือหลักสวัสดิการมาใช้

 

"ในการก่อเกิดพรรคประชาชาติของผม ซึ่งเป็นพรรคแนวสังคมพหุวัฒนธรรม คือ เราให้ความสำคัญคุณค่าของมนุษย์ มีความสำคัญมีศักดิ์ศรี และก็จะต้องได้รับการดูแล เราจึงได้มีนโยบายหนึ่ง ก็คือนโยบายเชิงรัฐสวัสดิการ ซึ่งนโยบายนี้ก็ส่งไปที่ กกต. ก็คือเราจะส่งเสริมการมีบำนาญแห่งชาติหรือสวัสดิการทั่วหน้า" พ.ต.อ.ทวี กล่าว

 

 

นอกจากนี้ เห็นว่าเป็นเรื่องที่รัฐต้องจัดให้ประชาชนอย่างเสมอหน้าด้วยสิทธิเสมอกัน ไม่ว่าจะยากดีมีจนภายใต้หลักการสวัสดิการ เป็นสิทธิอันพึงมีของประชาชน ไม่ใช่เป็นหน้าที่ของรัฐที่จะสงเคราะห์ตามอนาถา นี่คือนโยบายที่ส่งไป กกต. และในนโยบายพรรค ก็เสนอว่าผู้สูงอายุจะต้องมีบำนาญ 3,000 บาท ซึ่งได้ผ่านการคิดวิเคราะห์ทุกระบบในการแก้ปัญหาของประเทศขณะนี้

อย่างไรก็ตาม ต้องยอมรับว่ารัฐสวัสดิการไม่ใช่แก้ปัญหาความยากจน แต่เป็นการแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำ ที่ประเทศไทยถูกจัดลำดับบางครั้งมากที่สุดในโลก ซึ่งไม่น่าเชื่อว่าประเทศที่มีความอุดมสมบูรณ์ด้วยทรัพยากร มีความอุดมสมบูรณ์ทุกสิ่งทุกอย่าง แต่ประชาชนยังอยู่แบบมีความเหลื่อมล้ำ ในการเกิดรัฐบาลมีสภาขึ้นมา ทางพรรคประชาชาติก็ได้เสนอ พ.ร.บ.บำนาญแห่งชาติขึ้นมาเสนอเข้าสภาแห่งนี้ เมื่อวันที่ 18 ส.ค. 2563 ซึ่งหลักการก็คือควรจะมีกองทุนสวัสดิการแห่งชาติ

 

"ผมเห็นว่าขณะนั้นศึกษาควรจะมี เพราะว่าเราไม่เชื่อใจที่จะเอาระบบลักษณะนี้ไปอยู่ในการครอบงำของรัฐบาล ซึ่งถ้าเกิดมีการเปลี่ยนแปลงรัฐบาลเมื่อไหร่ ก็เปลี่ยนนโยบาย ถ้าเปลี่ยนนโยบายสิทธิเรื่องนี้ก็อาจจะหายไป เราจึงได้เขียน พ.ร.บ.ไปมีกองทุนลักษณะที่คล้ายองค์กรอิสระ ซึ่งมีตัวแทนภาคประชาสังคมมากกว่ารัฐบาล ที่อยู่ในคณะกรรมการ ข้อ 1 ก็คือเราเห็นว่าสวัสดิการไม่ว่าจะยากดีมีจนคนที่อายุ 60 ปีขึ้นไป จะต้องได้รับ คนรวยที่สุดคุณก็ได้รับแล้ว คุณก็มาเสียภาษีเอา คนจนที่สุดก็ได้รับเพราะอะไรอันนี้คือศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์เป็นสิทธิที่เขาต้องยืนอยู่คุณไม่ต้องมาสงสาร นี่คือโอกาสของฉันที่จะอยู่ ผมเชื่อว่าคนที่มีฐานะวันละ 100 บาท 2 คน 200 บาท เขาสามารถอยู่ในสังคมได้ อันนี้เป็นวิธีเดียวที่จะแก้ปัญหาความยากจนความเหลื่อมล้ำของประเทศ ผมไม่เชื่อว่ามีนักเศรษฐกิจคนใดที่มาพูดวันนี้จะแก้ปัญหาได้เพราะวันนี้ยิ่งเดินไปมันยิ่งเหลื่อมล้ำ อันนี้จึงเป็นที่มา" เลขาธิการพรรค ระบุ

 

ขณะเดียวกัน ร่างของพรรคประชาชาติ ถูกนายกฯปัดตก เป็นร่างการเงินเหมือนหลายพรรคที่มาพูดถึง เพราะอาจจะมองผู้สูงอายุกลุ่มนี้ยังไม่ถึง อาจจะมองคนรวยก่อน ซึ่งตัวเลขของบประมาณปี 2566 มีสวัสดิการผู้สูงอายุ ซึ่งมีคนประมาณ 11 ล้านคน รวมบัตรทอง ประมาณ 320,000 ล้าน ถ้าเบี้ยผู้สูงอายุอย่างเดียวไม่ถึง 80,000 ล้านบาท แต่มีสวัสดิการของคนเกษียณ ซึ่งมีไม่ถึงล้านคน ตัวเลขจากกรมบัญชีกลางก็เท่ากันประมาณ 3 แสน 2 หมื่นล้าน ถ้าไปบวกกับเงินค่ารักษาพยาบาลก็มากกว่า คนไม่ถึงล้านคนมีสวัสดิการมากกว่าคน 11 ล้านคน อันนี้คือความเหลื่อมล้ำที่เห็นได้ชัด

 

"ผมก็เป็นอดีตข้าราชการเก่า ผมไม่ได้ไปตำหนิตรงนั้น ผมอยากให้มองเห็นว่าในปี 2556-2557 ที่พล.อ.ประยุทธ์ยึดอำนาจมาตอนนั้น สวัสดิการเกษียณอายุแค่ประมาณ 1 แสนล้าน วันนี้พอท่านยึดอำนาจมา 8 ปี เพิ่มเป็น 3 เท่า และหนึ่งในจำนวนนั้น คือ รัฐธรรมนูญ 2560 ที่บัญญัติว่า รัฐสภา องค์กรอิสระ หรือศาล จะต้องมีงบบุคคลที่เพียงพอ แต่รัฐบาลชุดนี้หวังจะขยายอำนาจไปเขียน พ.ร.บ.วินัยการเงินการคลัง มาตรา 20 (2) ให้บุคลากรของรัฐมีเงินเดือนและสวัสดิการอย่างเพียงพอ มันจึงวิ่งขยายไป แทนที่จะไปเขียนให้ประชาชนมีสวัสดิการอย่างเพียงพอ จึงขอให้กำลังใจกรรมาธิการที่ได้ทำสิ่งที่ฝัน และก็สิ่งที่จะเกิดขึ้นนี้ คือ ได้แก้ปัญหารากเหง้าของประเทศไทยอย่างแท้จริง" พ.ต.อ.ทวี กล่าว

logoline