svasdssvasds
เนชั่นทีวี

การเมือง

"ทวี" ชูใช้การศึกษาดับไฟใต้ ชงแก้รธน.ปลดล็อกปชช.ไม่ต้องอยู่ใต้อำนาจรัฐ

"ทวี สอดส่อง" ชำแหละรธน. กระทบ 7 เรื่อง ย้ำชัดต้องแก้กติกาประเทศ-ตัดอำนาจ ส.ว.โหวตเลือกนายกฯ ปลดล็อกสิทธิปชช.ไม่ต้องอยู่ใต้อำนาจรัฐ เดินหน้าสู่รัฐสวัสดิการ-เรียนฟรี ชูใช้การศึกษาดับไฟใต้ เปิดโต๊ะเจรจาพูดคุยเรื่องรูปแบบการปกครอง แล้วนำเข้าหารือในรัฐสภา

18 พฤษภาคม 2565 THE MOTIVE และองค์กรเครือข่ายได้จัดการเสวนาออนไลน์ หัวข้อ "รัฐธรรมนูญไทยในชายแดนใต้  ปาตานีในรัฐธรรมนูญไทย : มุมมองของนักการเมือง" โดยไลฟ์สดผ่านเพจเฟซบุ๊ก THE MOTIVE เมื่อช่วงคืนวันที่ 17 พฤษภาคม ที่ผ่านมา โดยได้เชิญตัวแทนพรรคการเมืองเข้าร่วม ประกอบด้วย นายชวลิต วิชยสุทธ์ ส.ส.นครพนม พรรคเพื่อไทย นายอันวาร์ สาและ ส.ส.ปัตตานี พรรคประชาธิปัตย์ นายนัจมุดดีน อูมา พรรคภูมิใจไทย พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง ส.ส.บัญชีรายชื่อ และเลขาธิการพรรคประชาชาติ นายพริษฐ์ วัชรสินธุ สมาชิกพรรคก้าวไกล และนายอาดิลัน อาลีอิสเฮาะ ส.ส.ยะลา พรรคพลังประชารัฐ พร้อมด้วยนักวิชาการและนักวิจัยในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้เข้าร่วมการเสวนาด้วย 

 

\"ทวี\" ชูใช้การศึกษาดับไฟใต้ ชงแก้รธน.ปลดล็อกปชช.ไม่ต้องอยู่ใต้อำนาจรัฐ

 

โดย พ.ต.อ.ทวี กล่าวในการเสวนาตอนหนึ่งว่า รัฐธรรมนูญฉบับนี้กับสามจังหวัดชายแดนภาคใต้เป็นอย่างไร ก่อนอื่นต้องบอกว่า ส.ส.ของพรรคประชาชาติไม่ได้รับร่างรัฐธรรมนูญ ซึ่งก็คือรัฐธรรมนูญฉบับปี 2560 เพราะประชาชนที่เลือก ส.ส.ของพรรคประชาชาติ ไม่เห็นชอบด้วย 

 

"ทำไมพี่น้องในสามจังหวัดไม่รับร่างรัฐธรรมนูญ คิดว่าในรัฐธรรมนูญมีส่วนที่มีมากเกินไป มีส่วนที่น้อยเกินไป และมีส่วนที่ไม่มีเลย โดยเฉพาะรัฐธรรมนูญจะต้องไม่ขัดกับพี่น้องในจังหวัดชายแดนภาคใต้ รัฐธรรมนูญต้องไม่ขัดกับหลักคำสอนศาสนาที่แต่ละคนนับถือที่เป็นธรรมนูญชีวิต และรัฐธรรมนูญจะต้องไม่ขัดกับความเชื่อ อัตลักษณ์ อุดมการณ์ของทุกชาติพันธุ์ ทุกเชื้อชาติ ทุกกลุ่มชน" พ.ต.อ.ทวี กล่าว

อย่างไรก็ตาม รัฐธรรมนูญฉบับนี้เกิดมามีผลกระทบอย่างรุนแรงใน 7 เรื่อง คือ 1.ศาสนา 2.การศึกษา 3.สาธารณสุข 4. เกษตรกร 5.ผลกระทบต่อการปกครองท้องถิ่น 6.ผลกระทบต่อเศรษฐกิจของประชาชน และ 7.การเมืองการปกครอง จึงจำเป็นต้องมีการแก้ไขรัฐธรรมนูญ แต่การแก้ไขให้เห็นผลเร็วที่สุด ถ้าจะแก้จริงๆ เอาอะไรที่เร็วก่อน คือ จะมีการเลือกตั้งก็ขอให้ผู้ที่ได้เสียงข้างมาก ให้สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรที่มาจากประชาชนเป็นคนโหวตนายกรัฐมนตรี คือ ต้องยกเลิกมาตรา 272 ให้อำนาจ ส.ว.ร่วมโหวตเลือกนายกรัฐมนตรี

 

"วันนี้รัฐธรรมนูญมีปัญหาเยอะมาก โดยเฉพาะรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน จริงๆ เป็นการละเมิดสิทธิเสรีภาพทั้งหมด เพราะมีข้อยกเว้นในเรื่องไม่ขัดต่อความมั่นคงของรัฐ หรือตามที่กฏหมายบัญญัติ หรือเป็นอันตรายต่อความมั่นคงของรัฐ ยกตัวอย่างที่เกี่ยวกับการดำรงชีวิตตามวัฒนธรรมประเพณี คือ เขียนไว้ในมาตรา 170 และจะมีต่อท้าย...ทั้งนี้เท่าที่ไม่ขัดต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดี หรือเป็นอันตรายต่อความมั่นคงของรัฐ เขียนเอาไว้แบบนี้ สมมติเป็นอันตรายต่อทหารพรานคนหนึ่ง ก็ถือว่าเป็นอันตรายต่อความมั่นคงของรัฐหรือเปล่า แสดงว่าสิทธิต่างๆ ประชาชนจะมีได้ต้องอยู่ในอำนาจของเจ้าหน้าที่รัฐเท่านั้น" เลขาธิการพรรค ระบุ

 

 

สำหรับประเด็นคำถามที่ว่า การแก้ไขปัญหาจังหวัดชายแดนใต้ที่เกี่ยวข้องกับรัฐธรรมนูญไทยฉบับปี 2560 ควรจะเริ่มต้นอย่างไรก่อน เพื่อให้เกิดสันติภาพนั้น ซึ่งต้องยอมรับว่า รัฐธรรมนูญเป็นกฎหมายที่ใช้ทั้งประเทศ และตนคิดว่าประชาชนในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ก็ไม่ต้องการอะไรพิเศษเข้ามา เพราะว่าสิ่งที่คนพื้นที่ได้รับ คือ กฎหมายพิเศษ และกฎอัยการศึก การมี "พิเศษ" เป็นการไม่เสมอภาคหรือคนไม่เท่าคน 

 

ขณะเดียวกัน คิดว่ากฎหมายที่พิเศษ คนที่ต้องการให้มีพิเศษ คือ รัฐ แต่ประชาชนไม่ต้องการ รัฐธรรมนูญฉบับนี้ถามว่า ต้องมีการแก้ไขอย่างไร ทุกคนก็คิดตรงกันว่าต้องคืนไปให้เจ้าของอำนาจอธิปไตย แล้วให้ประชาชนเป็นผู้ร่างขึ้นมา อาจจะเป็นรูปแบบสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ หรือ ส.ส.ร. หากจำเป็นเร่งด่วนจะใช้รัฐธรรมนูญฉบับนี้ก็ได้ คำต่อท้ายว่า เป็นความมั่นคงของรัฐ ตามที่กฎหมายบัญญัติ เป็นอันตรายต่อรัฐ อย่างนี้ต้องยกเลิกหรือตัดออกไปในทุกเรื่องที่เป็นสิทธิเสรีภาพของประชาชน มิฉะนั้นก็คือการไม่ให้สิทธิ์หรือละเมิดสิทธินั้นเอง

 

"การให้สิทธิ์และมีข้อยกเว้นตามที่กฎหมายบัญญัติ เราก็จะรู้ว่ากฎหมายบัญญัติจากอำนาจนิยม ถ้าเราปลดล็อกตรงนี้ได้ มันก็จะมีสวัสดิการเกิดขึ้น ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการศึกษาก็ดี เราควรเป็นรัฐสวัสดิการเรียนฟรีตามความถนัด ตามศักยภาพ จะปริญญาหรือไม่ต้องจบปริญญาก็ได้ แต่เรียนเพื่อให้เขาเป็นมนุษย์ที่สมบูรณ์ ถ้าเราไม่ไปพัฒนาเรื่องการศึกษา เราก็ไม่สามารถแก้ไขอะไรได้" เลขาธิการพรรคประชาชาติ ระบุ

 

นอกจากนี้ หากไม่แก้ปัญหาเรื่องความยุติธรรม โดยเฉพาะที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ที่มีความขัดแย้งกันอยู่ ปัญหาก็จะไม่จบ หากหาหมวดไหนที่จะเขียนเรื่องนี้ไม่ได้ ก็ไปหมวดปฏิรูปการเมือง เอาเรื่องการพูดคุยเพื่อสันติสุขสันติภาพ เอาปัญหานี้ขึ้นมาบนโต๊ะ คือ อย่าไปกำหนดชะตาชีวิตของคนสามจังหวัด ต้องให้เขากำหนดเอง วันนี้มีตัวแทนก็ขอให้มีตัวแทนทุกภาคส่วน ไปพูดคุยกันว่ารูปแบบการบริหารและการปกครอง ควรจะเป็นอย่างไรภายใต้รัฐธรรมนูญ แล้วก็อยากจะมีการพัฒนารูปแบบไหนก็ทำ

 

พ.ต.อ.ทวี กล่าวต่อว่า พรรคประชาชาติมีความชัดเจนในการประกาศนโยบาย จะพูดให้ชัดว่า เรื่องการบริหารการปกครองภาคใต้ ควรจะมีรูปแบบอย่างไรที่จะสอดคล้องกับความต้องการของคนในพื้นที่ ทำอย่างไรคนพุทธจะอยู่ในปัตตานี นราธิวาส ยะลา ได้อย่างคนพุทธ คนมุสลิมอยู่ในประเทศไทยได้ทุกแห่งอย่างคนมุสลิม คือต้องสร้างสันติภาพสันติสุขขึ้นมา และตนสนับสนุนในช่วงบุกเบิก

 

"เราน่าจะเอาปัญหาที่มีความขัดแย้งมาสู่รัฐสภา แม้การพูดคุยอาจจะต้องออกไปพูดคุยนอกประเทศ แต่เราหนีไม่พ้นต้องเอาเข้ามาในรัฐสภา ต้องเอาปัญหามาพูดคุยกัน ปัญหามันคืออะไร ปัญหาความยุติธรรมมันคืออะไร ต้องขอชื่นชมน้องๆ ที่ออกมารวมตัวกันในชุดเสื้อผ้ามลายู สิ่งที่เขามาเป็นแค่วัฒนธรรม ความภูมิใจ ความยุติธรรม มาเรียกร้องเรื่องสิทธิมนุษยชน เราก็ไปหวาดระแวง ผมว่าสิ่งนี้ถ้ารัฐธรรมนูญเราใจกว้าง ก็จะแก้ปัญหาได้ แต่วันนี้กฎหมายที่มีอยู่ใจแคบ และเจ้าหน้าที่กลับใจแคบกว่า มันจึงทำให้การแก้ปัญหาเป็นไปได้ยาก ผมก็เชื่อว่าวันนี้ ข้าราชการ ทหาร ตำรวจ หรือหลายๆ หน่วยงานก็ดีขึ้น ก็ปรับตัวขึ้นเยอะ ถึงเวลาแล้ว เราทดลองมามากมายแล้ว เราไม่สามารถสร้างความสงบได้ แต่เดือนรอมฎอนที่ผ่านมาได้พิสูจน์ให้เห็นว่า การหันหน้ามาพูดคุยกันทำความสงบได้" พ.ต.อ.ทวี กล่าว

 

พ.ต.อ.ทวี กล่าวอีกว่า สิ่งที่จำเป็นต้องแก้ที่สุด คือ การศึกษา วันนี้รัฐยังมีอำนาจนิยมในกฎหมายการศึกษา ประชาชนในสามจังหวัดจะมีหนี้กองทุนกู้ยืมเพื่อการศึกษา (กยศ.) เยอะมาก ในกฎหมาย กยศ.สมัยรัฐบาล นายชวน หลีกภัย ยกร่างขึ้นมาเมื่อปี 2541 เสียดอกเบี้ยไม่เกินเงินฝากธนาคารออมสิน คือ 1 สลึง (ร้อยละ 0.25) พอยุค คสช. ในรัฐธรรมนูญปี 2560 ไปแก้ให้มีดอกเบี้ย 7.5 พอบวกเบี้ยปรับเข้าไปก็เป็น 25.5  

 

"เรื่องการศึกษามันต้องให้ฟรีและมีคุณภาพ การพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ หน้าที่การพัฒนาเป็นหน้าที่ของรัฐ ต้องจัดการศึกษาให้ทุกคนอย่างเท่าเทียม รัฐธรรมนูญฉบับนี้บอกผู้ยากไร้จะต้องมีกองทุนให้ วันนี้ผู้ยากไร้คือ กยศ. จำนวน 6 ล้านกว่าคนที่กู้ เหลือ 3 ล้านกว่าคนเขาต้องการมีอนาคตที่ดี แต่พอจบมาต้องมาเป็นหนี้ครัวเรือน เป็นหนี้ที่เกิดจากความต้องการที่จะพัฒนา ถ้าเราจะแข่งขันกัน เราต้องแข่งขันในการพัฒนาคุณภาพของคน วันนี้งบประมาณด้านการศึกษาของประเทศที่เกือบ 20 เปอร์เซ็นต์ของงบประมาณ และเกือบ 5 เปอร์เซ็นต์ของจีดีพี ถือว่าค่อนข้างเยอะ แต่เงินของการศึกษาไปอยู่ที่ตึก ไปอยู่ที่ตำแหน่ง ไปอยู่ที่ระบบโครงสร้างดำเนินการที่ไม่เกี่ยวกับการศึกษา แทนที่จะไปพัฒนาเด็กให้มีคุณภาพ การจะแก้ปัญหาสามจังหวัด เราต้องใช้การศึกษานำการเมือง นำการทหาร แล้วก็ต้องเป็นการศึกษาที่ดีมีคุณภาพ" พ.ต.อ.ทวี ระบุ

 

อย่างไรก็ตาม ส่วนตัวอยากฝากถึงนักวิชาการลองศึกษาวิจัยในทางการเมือง วันนี้อำนาจของประชาชน คือ เลือก ส.ส. ส่วนตัว ส.ส.ตั้งแต่รัฐธรรมนูญปี 2517 เป็นต้นมา กำหนดให้ ส.ส.ไปอยู่กับพรรคการเมือง ตนยังไม่มั่นใจว่า ถ้าในสามจังหวัด ส.ส.ไม่อยู่กับพรรคการเมือง ให้เป็นแบบในประเทศสากล การสมัคร ส.ส.ไม่จำเป็นต้องอยู่กับพรรคการเมือง จะทำให้ตัว ส.ส. สนใจในประชาชนมากกว่าพรรคการเมืองหรือไม่ ถือเป็นเรื่องที่น่าศึกษาและพิจารณา