svasdssvasds
เนชั่นทีวี

สังคม

หมอธีระ ชี้ โควิด เป็น "โรคประจำถิ่น" เสี่ยงสูง เหตุประเมินกลายพันธุ์ยาก

19 พฤษภาคม 2565
เกาะติดข่าวสาร >> Nation Story
logoline

หมอธีระ ชี้ประกาศ "โควิด" เป็น "โรคประจำในท้องถิ่น" มีความเสี่ยงสูง เหตุไม่สามารถคาดการณ์การกลายพันธุ์เชื้อไวรัสได้แน่นอน

รศ.นพ.ธีระ วรธนารัตน์ หรือ “หมอธีระ” คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โพสต์ผ่านเพจเฟซบุ๊ก “Thira Woratanarat” แสดงความกังวลในการประกาศให้ "โควิด-19" เป็น "โรคประจำถิ่น" เนื่องจากไม่สามารถประเมินความเปลี่ยนแปลงของเชื้อไวรัสได้แน่นอน มีรายละเอียดดังนี้..

 

19 พฤษภาคม 2565 ทะลุ 524 ล้านไปแล้ว เมื่อวานทั่วโลกติดเพิ่ม 752,159 คน ตายเพิ่ม 1,521 คน รวมแล้วติดไปรวม 524,630,463 คน เสียชีวิตรวม 6,294,383 คน

 

5 อันดับแรกที่ติดเชื้อสูงสุดคือ เกาหลีเหนือ สหรัฐอเมริกา ไต้หวัน เยอรมัน และออสเตรเลีย

 

เมื่อวานนี้จำนวนติดเชื้อใหม่มีประเทศจากยุโรปและเอเชียครอง 7 ใน 10 อันดับแรก และ 13 ใน 20 อันดับแรกของโลก จำนวนติดเชื้อใหม่ในแต่ละวันของทั่วโลกตอนนี้ มาจากทวีปเอเชียและยุโรป รวมกันคิดเป็นร้อยละ 74.29 ของทั้งโลก ในขณะที่จำนวนการเสียชีวิตคิดเป็นร้อยละ 60.02 การติดเชื้อใหม่ในทวีปเอเชียนั้นคิดเป็นร้อยละ 54.23 ของทั้งโลก ส่วนจำนวนเสียชีวิตเพิ่มคิดเป็นร้อยละ 13.34

 

 สถานการณ์ระบาดของไทย 

จากข้อมูล Worldometer เช้านี้พบว่า เมื่อวานนี้จำนวนติดเชื้อใหม่ รวม ATK สูงเป็นอันดับ 11 ของโลก และอันดับ 5 ของเอเชีย

 

ในขณะที่จำนวนเสียชีวิตเมื่อวาน สูงเป็นอันดับ 11 ของโลก และเป็นอันดับ 1 ของเอเชีย ถึงแม้ สธ.ไทยจะปรับระบบรายงานตั้งแต่ 1 พฤษภาคม เป็นต้นมา จนทำให้จำนวนที่รายงานนั้นลดลงไปก็ตาม ทั้งนี้จำนวนเสียชีวิตของไทยเมื่อวานคิดเป็น 22.16% ของการเสียชีวิตทั้งหมดที่รายงานของทวีปเอเชีย

 

 Endemic diseases 

การประกาศให้โรคใดโรคหนึ่งเป็นโรคที่พบได้ประจำในท้องถิ่นนั้น สิ่งที่ต้องบรรลุก่อนคือ การรู้จักธรรมชาติของมันว่าระบาดอย่างไร สามารถคาดการณ์การเปลี่ยนแปลงของตัวเชื้อโรคนั้นได้

 

แต่สำหรับโควิด-19 นั้น ตราบจนถึงปัจจุบันยังคาดการณ์ได้ยากว่าตัวเชื้อไวรัสนั้นจะเปลี่ยนแปลงไปในลักษณะอ่อนแอลง หรือแข็งกร้าวมากขึ้น แม้ในประเทศตะวันตกพอจะสังเกตเห็นได้จากสองปีที่ผ่านมาว่าจะระบาดหนักในช่วงหน้าหนาว แต่ก็ยังฟันธงไม่ได้แน่นอนนัก
 

นอกจากปัจจัยข้างต้น ยังต้องประเมินดูสถานะที่แท้จริงของประเทศว่า ตัวเลขที่เห็นจากรายงานทางการทุกวันนั้นมันสะท้อนสถานการณ์จริงที่เกิดขึ้นในสังคมจริงหรือไม่?

 

เพราะหากเป็นภาพจริง ก็ย่อมทำให้ประเมินสถานะตนเองได้ดีว่า การระบาดนั้นเอาอยู่ ทรัพยากรเพียงพอ และสูญเสียน้อย จนควบคุมโรคอยู่หมัดได้จริง

 

แต่หากเป็นภาพที่ไม่ตรงกับความจริง ตัวเลขติดเชื้อน้อย ทั้งที่จริงแล้ว คนตรวจด้วยตนเองแต่ไม่รายงาน หรือไม่ตรวจแม้จะมีอาการไม่สบาย เพราะรู้ว่ารายงานเข้าระบบไปก็ไม่ช่วยให้ชีวิตดีขึ้น วิ่งหาหยูกยา หรือรักษาตนเองดูจะสะดวกกว่า หรือไม่รายงาน เพราะรู้ว่าหากตนเองติดเชื้อ จะต้องหยุดงาน ไม่มีกลไกสนับสนุนช่วยเหลือเยียวยาอย่างเพียงพอ 

 

หรือหากตัวเลขตายลดลงสวยงาม แต่โดยแท้จริงแล้วไม่สะท้อนสถานการณ์จริงที่มีคนอีกจำนวนไม่น้อยที่ตายโดยพบว่าติดเชื้อแต่มีโรคอื่นประจำตัว ไม่รวมไว้ในรายงานสถานการณ์ให้สังคมได้ทราบ ก็ย่อมส่งผลต่อการประเมินสถานการณ์ และการรับรู้ความเสี่ยงที่บิดเบือนไป จนอาจเกิดผลต่อพฤติกรรมป้องกันตัว และการวางแผนนโยบายและมาตรการต่างๆ รวมถึงการผลักดันให้เป็น endemic disease ได้เช่นกัน

 

ที่สำคัญมากคือ การประเมินระบบสุขภาพของตนเองว่า จริงๆ แล้ว หยูกยาที่มีใช้นั้นเป็นไปตามหลักฐานทางการแพทย์มาตรฐานสากล มีปริมาณเพียงพอ เข้าถึงได้สะดวกหรือไม่ รวมถึงวัคซีนป้องกัน และสัดส่วนประชากรทุกช่วงวัยที่ได้รับการสร้างภูมิคุ้มกันด้วยวัคซีนที่ดีมีมาตรฐานสากลอย่างเพียงพอ

 

ทุกเรื่องข้างต้นล้วนมีความสำคัญในการกำหนดย่างก้าวของแต่ละประเทศท่ามกลางสถานการณ์ระบาดของโรคโควิด-19 ที่ยังไม่ได้สิ้นสุด

 

หลายเรื่องในสังคมนั้น เปรียบเหมือนการขึ้นรถไฟที่ไม่หวนกลับ เช่น การปลดล็อกกัญชา ซึ่งเริ่มเห็นผลกระทบที่เกิดขึ้นแล้ว การตัดสินใจเรื่องโรคโควิด-19 ก็เช่นกัน
ธรรมดา...เอาอยู่...เพียงพอ...ประจำถิ่นรวดเร็วดังสายฟ้าแลบ
ผลลัพธ์ที่ผ่านมา ประชาชนในแต่ละประเทศย่อมทราบดีว่าเป็นเช่นนั้นหรือไม่
มันใช่จริงหรือ?
สวัสดิภาพและความปลอดภัยในชีวิตของประชาชนทุกคนในสังคม เป็นเรื่องที่สำคัญที่สุด

logoline