- 18 พ.ค. 2565
- 645
หมอธีระ เปิดผลงานวิชาการจาก เนเธอร์แลนด์ เปรียบเทียบประสิทธิภาพของวัคซีนในการกระตุ้นภูมิคุ้มกันในน้ำเลือด ต่อไวรัสสายพันธุ์ที่น่ากังวล รวมถึง "โอมิครอน" วัคซีนชนิดไหนมีประสิทธิภาพอย่างไรบ้าง ตรวจสอบได้ที่นี่
รศ.นพ.ธีระ วรธนารัตน์ หรือ “หมอธีระ” คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โพสต์ผ่านเพจเฟซบุ๊ก “Thira Woratanarat” เปิดข้อมูลประสิทธิภาพของวัคซีน ในการกระตุ้นภูมิคุ้มกันสู้โควิด-19 สายพันธุ์ “โอมิครอน” ชนิดไหนให้ผลดีและมีความสามารถได้เพียงใด มีรายละเอียดดังนี้..
18 พฤษภาคม 2565 ทะลุ 523 ล้านไปแล้ว เมื่อวานทั่วโลกติดเพิ่ม 794,802 คน ตายเพิ่ม 1,377 คน รวมแล้วติดไปรวม 523,707,042 คน เสียชีวิตรวม 6,292,170 คน
5 อันดับแรกที่ติดเชื้อสูงสุดคือ เกาหลีเหนือ เยอรมัน ออสเตรเลีย ไต้หวัน และอิตาลี
เมื่อวานนี้จำนวนติดเชื้อใหม่มีประเทศจากยุโรปและเอเชียครอง 7 ใน 10 อันดับแรก และ 13 ใน 20 อันดับแรกของโลก จำนวนติดเชื้อใหม่ในแต่ละวันของทั่วโลกตอนนี้ มาจากทวีปเอเชียและยุโรป รวมกันคิดเป็นร้อยละ 78.87 ของทั้งโลก ในขณะที่จำนวนการเสียชีวิตคิดเป็นร้อยละ 62.23
การติดเชื้อใหม่ในทวีปเอเชียนั้นคิดเป็นร้อยละ 51.95 ของทั้งโลก ส่วนจำนวนเสียชีวิตเพิ่มคิดเป็นร้อยละ 13.58
สถานการณ์ระบาดของไทย
จากข้อมูล Worldometer เช้านี้พบว่า เมื่อวานนี้จำนวนติดเชื้อใหม่ รวม ATK สูงเป็นอันดับ 14 ของโลก และอันดับ 5 ของเอเชีย
ในขณะที่จำนวนเสียชีวิตเมื่อวาน สูงเป็นอันดับ 10 ของโลก และเป็นอันดับ 1 ของเอเชียเท่ากับไต้หวัน ถึงแม้ สธ.ไทยจะปรับระบบรายงานตั้งแต่ 1 พฤษภาคม เป็นต้นมาจนทำให้จำนวนที่รายงานนั้นลดลงไปก็ตาม
ทั้งนี้จำนวนเสียชีวิตของไทยเมื่อวานคิดเป็น 20.32% ของการเสียชีวิตทั้งหมดที่รายงานของทวีปเอเชีย
อัพเดตความรู้
- 1. van Gils MJ และคณะจากประเทศเนเธอร์แลนด์ เปรียบเทียบประสิทธิภาพของวัคซีนในการกระตุ้นภูมิคุ้มกันในน้ำเลือด (แอนติบอดี้) ต่อไวรัสสายพันธุ์ที่น่ากังวล รวมถึง Omicron โดยวัด ณ 4 สัปดาห์ หลังฉีดวัคซีน และหลังฉีดเข็มกระตุ้น เป็นที่ชัดเจนว่า วัคซีนประเภท mRNA มีประสิทธิภาพดีกว่าประเภท viral vector (รูปที่ 1)
- 2. Nordstrom P และคณะ จากประเทศสวีเดน ชี้ให้เห็นว่า การฉีดวัคซีนเข็มกระตุ้นเข็มที่่ 2 ในกลุ่มผู้สูงอายุ จะช่วยลดความเสี่ยงต่อการเสียชีวิตได้มากกว่าการฉีดเข็มกระตุ้นเพียงเข็มเดียวได้อีก 42% (ช่วงความเชื่อมั่นตั้งแต่ 35%-49%) (ดังที่แสดงในตารางที่ 1)
- 3. ข้อมูลจาก Prof.Page C (UK) สรุปสถานการณ์ในสหราชอาณาจักรว่า ปัจจุบันมีอัตราการว่างงานน้อยที่สุดในรอบ 50 ปี ทั้งนี้ทาง BBC ชี้ให้เห็นว่ามีตำแหน่งงานว่างถึง 1.3 ล้านตำแหน่ง เพราะมีจำนวนแรงงานในระบบที่ลดลง อันเป็นผลมาจาก 3 เหตุผลหลักคือ กฎเกณฑ์สำหรับแรงงานหลังนโยบาย Brexit, การออกจากระบบแรงงานของคนที่สูงอายุหลังช่วงโควิดระบาด, และการมีจำนวนคนที่ประสบปัญหาเจ็บป่วยระยะยาวที่มากขึ้น (Long term sickness)
ทั้งนี้ข้อมูลจาก Bank of England วันที่ 9 พฤษภาคม 2565 ระบุว่าการขาดแคลนแรงงานวัย 16-64 ปีอันเป็นผลมาจากการเจ็บป่วยระยะยาวนั้นสูงขึ้นเร็ว โดยเฉพาะอย่างยิ่งเพศหญิง และเชื่อว่าเป็นผลมาจากโรค
ระบาดและ Long COVID
สถานการณ์ที่เห็นในต่างประเทศนั้น ไทยจำเป็นต้องมองไปข้างหน้า และเตรียมรับมือสถานการณ์ขาดแคลนแรงงานที่อาจเกิดขึ้นในอนาคต อันเป็นผลมาจากการติดเชื้อจำนวนมากตั้งแต่ระลอกสอง (ปลายปี 63 ถึงต้นปี 64 จากสายพันธุ์ G) ระลอกสาม (เมษายนปี 64 จนถึงปลายปี จาก อัลฟา และ เดลตา) และสี่ (Omicron ตั้งแต่ต้นปี 65 เป็นต้นมา) ซึ่งมีโอกาสที่จะเกิดผู้ป่วย Long COVID มีผลทำให้บั่นทอนสมรรถนะในการดำรงชีวิตประจำวัน และการทำงาน
การป้องกันตัวอย่างสม่ำเสมอเป็นสิ่งสำคัญ ...ไม่ติดเชื้อย่อมดีที่สุด
อ้างอิง :
1. van Gils MJ et al. Antibody responses against SARS-CoV-2 variants induced by four different SARS-CoV-2 vaccines in health care workers in the Netherlands: A prospective cohort study. PLOS Medicine. 17 May 2022.
2. Nordstrom P et al. Effectiveness of a Second COVID-19 Vaccine Booster on All-Cause Mortality in Long-Term Care Facility Residents and in the Oldest Old: A Nationwide, Retrospective Cohort Study in Sweden. SSRN (Preprints with The Lancet). 12 May 2022.