svasdssvasds
เนชั่นทีวี

ต่างประเทศ

ฟิลิปปินส์กำลังจะอยู่ภายใต้บังเหียนของคน 2 ตระกูล

10 พฤษภาคม 2565
เกาะติดข่าวสาร >> Nation Story
logoline

การหวนคืนทำเนียบมาลากันญังของตระกูลมาร์กอสใกล้ความจริงมากขึ้นเรื่อย ๆ เมื่อเฟอร์ดินานด์ มาร์กอส จูเนียร์ กำลังจะกลายเป็นประธานาธิบดีคนที่ 17 เช่นเดียวกับลูกสาวของดูเตอร์เตที่เตรียมตัวเป็นรองประธานาธิบดี จากนี้อนาคตของชาวฟิลิปปินส์จะอยู่ในอุ้งมือของคน 2 ตระกูล

เฟอร์ดินานด์ มาร์กอส  "บองบอง" วัย 64 ปี กำลังจะสร้างประวัติศาสตร์หน้าใหม่ให้แก่ "ตระกูลมาร์กอส" ของเขา ด้วยการหวนคืนสู่ทำเนียบมาลากันญังหลังรอมานานถึง 36 ปี ด้วยการเตรียมตัวเป็นประธานาธิบดีคนที่ 17 โดยจากผลคะแนนเลือกตั้งที่ยังไม่ได้ประกาศอย่างเป็นทางการ ของคณะกรรมการการเลือกตั้ง (Comelec) ชี้ว่ามาร์กอสได้คะแนนเสียง 30,622,302 หรือ 58.78% ทิ้งห่างคู่แข่งสำคัญอย่างรองประธานาธิบดีเลนี โรเบรโด ที่ได้ 14,611,211 หรือ 28.04% ส่วนแมนนี ปาเกียว นักชกขวัญใจชาวฟิลิปปินส์ ได้ไปเพียง 3,541.623 หรือ 6.81% 

 

เฟอร์ดินานด์ มาร์กอส จูเนียร์

 

การได้กลับคืนสู่ทำเนียบมาลากันญัง คือสุดยอดของความพยายามในการ "รีแบรนด์" ชื่อและภาพลักษณ์ของตระกูลมาร์กอส ที่ก่อนหน้านี้ทำผ่านโซเชียลมีเดียในการแถลงต่อผู้นำสนับสนุน หลังมั่นใจว่ากำชัยชนะ มาร์กอสบอกว่า

 

"แม้การนับคะแนนจะยังไม่เสร็จสิ้น แต่ผมไม่สามารถอดทนรอที่จะกล่าวขอบคุณพวกคุณทุกคน ...คนที่ช่วย คนที่ร่วมแรงร่วมใจต่อสู้ คนที่เสียสละ"

 

แม้ในระหว่างหาเสียงเขาจะชูโนยบายเรื่องความปรองดอง และให้สัญญาเรื่องการจ้างงานที่มากขึ้น ทำให้ราคาสินค้าลดลง เพิ่มการลงทุนด้านการเกษตรและโครงสร้างพื้นฐาน แต่ในสายตานักวิเคราะห์การเมืองหลายคนมองว่า นโยบายของมาร์กอสไม่ได้เป็นชิ้นเป็นอัน ทั้งยัง "โหน" คะแนนนิยมของโรดริโก ดูเตอร์เต ประธานาธิบดีคนปัจจุบัน ด้วยการก้าวตามเส้นทางที่เขาปูไว้ และยิ่งตอกย้ำเมื่่อเขาจับมือเป็นพันธมิตรกับซารา ดูเตอร์เต-คาร์ปิโอ ลูกสาวของดูเตอร์เต ที่ประกาศจะเข้ามาสานต่อเส้นทางการเมืองของพ่อ ทำให้นับจากนี้ไปอนาคตของชาวฟิลิปปินส์จะขึ้นอยู่กับผู้นำจาก 2 ตระกูลที่มีชื่อเสียงกระฉ่อนโลก 

 

ตระกูลมาร์กอส

 

 

การที่มาร์กอสใช้ชื่อเดียวกับพ่อ ก็ยิ่งถูกมองว่าเขาต้องการ "ฟอกขาว" สิ่งที่พ่อของเขาเคยทำไว้ในช่วง 21 ปี ที่อยู่ในอำนาจ รายงานของกลุ่มนิรโทษกรรมสากลระบุว่า การบังคับใช้กฎอัยการศึกในพื้นที่เกือบครึ่งหนึ่งของประเทศช่วงระหว่างปี 2515-2524 ทำให้มีคนถูกส่งเข้าคุกราว 70,000 คน ถูกทรมาน 34,000 คน และถูกสังหารมากกว่า 3,000 คน ทั้งยังกอบโกยความมั่งคั่งของประเทศไปมหาศาลราว 5,000 ถึง 10,000 ล้านดอลลาร์อีกด้วย ส่วน ซาราที่ได้ชื่อว่าเป็น "ลูกบังเกิดเกล้า" ของดูเตอร์เต ก็ถูกมองว่าหวังจะช่วยพ่อให้รอดพ้นจากการถูกดำเนินคดีข้อหาฆาตกรรม ภายใต้นโยบายทำสงครามกวาดล้างยาเสพติดแบบเกินกว่าเหตุในปี 2559 

 

ซารา ดูเตอร์เต-คาร์ปิโอ

 

ในการลงสมัครชิงตำแหน่งรองประธานาธิบดี ซาราได้คะแนนเสียงสูงถึง 31,132,387 หรือ 61.19% ทิ้งห่างอันดับ 2 อย่างวุฒิสมาชิกกิโก ปังกิลินัน ที่ได้เพียง 9,133,445 หรือ 17.95% และซอตโต วิเซนเต ประธานวุฒิสภา ได้ 8,122,246 หรือ 15.97% ซึ่งคะแนนของซารา น่าจะได้อานิสงส์จากคะแนนนิยมของพ่อ 

 

โรดริโก ดูเตอร์เต ประธานาธิบดีคนปัจจุบัน - ซารา ดูเตอร์เต-คาร์ปิโอ

มาร์กอสยังถูกมองว่ากลับไปคุ้ยอดีตที่เคยรุ่งเรืองในยุคของพ่อมาหากิน จากการที่เขาใช้สโลแกน "rise again" ที่อ้างถึงยุคทองของประเทศ เศรษฐกิจเฟื่องฟูในสมัยพ่อของเขา ผู้สนับสนุนเขาบอกว่าเป็นช่วงเวลาแห่งความก้าวหน้าและเจริญรุ่งเรือง ที่มีการก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐานที่สำคัญ เช่น โรงพยาบาล ถนน และสะพาน แต่ก็ถูกวิพากษ์วิจารณ์ว่านั่นเป็นแค่ "ภาพลวงตา" ที่ได้รับแรงผลักดันจากการคอร์รัปชันเป็นวงกว้าง จากเงินกู้ต่างประเทศและยอดหนี้ที่พุ่งทะลุเพดาน คณะกรรมการว่าด้วยธรรมาภิบาลของประธานาธิบดีฟิลิปปินส์ (Philippines' Presidential Commission on Good Governance) หรือ PCGG ยังคงพยายามที่จะเอาเงิน 10,000 ล้านดอลลาร์ มาคืนให้ประชาชน และยังมีอีกนับร้อยคดีที่ตระกูลมาร์กอสยังอยู่ระหว่างถูกฟ้องร้อง ซึ่งเป็นการต่อสู้เรียร้องความยุติธรรมของผู้ที่ตกเป็นเหยื่อในช่วงการประกาศกฎอัยการศึก ตอนที่ครอบครัวถูกโค่นอำนาจและต้องหนีไปฮาวายเมื่อปี 2529 มาร์กอสมีอายุ 29 ปี ก่อนกลับฟิลิปปินส์ในปี 2534 หลังจากพ่อเสียชีวิตได้ 3 ปี พวกเขาใช้ความมั่งคั่งและคอนเน็คชันเดิมในการคืนชีพความทะเยอทะยานทางการเมือง และมาร์กอสก็เริ่มต้นจากการเป็นผู้ว่าราชการจังหวัดบ้านเกิด "อิโลกอส นอร์เต", เป็นวุฒิสมาชิกและส.ส.

 

ฟิลิปปินส์กำลังจะอยู่ภายใต้บังเหียนของคน 2 ตระกูล

 

มาเรีย เรสซา ผู้สื่อข่าวเจ้าของรางวัลโนเบลสาขาสันติภาพ เมื่อปี 2524 และประธานบริหารสื่อท้องถิ่น "Rappler" บอกว่าชัยชนะของมาร์กอสไม่ได้เป็นที่ประจักษ์ต่อชาวฟิลิปปินส์เท่านั้น แต่ยังต่อโลกด้วย มันคือผลกระทบของการบิดเบือนข้อมูลในระบอบประชาธิปไตย...  "เขาจะเป็นผู้กำหนดอนาคตของประเทศกับอดีตไปพร้อม ๆ กัน" 

 

การมีประธานาธิบดีคนใหม่สิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้คือนโยบายต่างประเทศ โดยเฉพาะการ "รีเซ็ต" ความสัมพันธ์กับเหล่ามหาอำนาจ ในกรณี "จีน" ที่มีข้อพิพาทในทะเลจีนใต้ มาร์กอสอาจเลือกสานต่อนโยบาย "เข้าหาจีน" ของดูเตอร์เต แต่กับสหรัฐฯ เขายังมีคดีความที่รัฐฮาวายและทำให้ไปเหยียบแผ่นดินสหรัฐฯ ไม่ได้ ก็อาจตามรอยดูเตอร์เตที่ไม่เคยไปเยือนสหรัฐฯ ตลอดระยะเวลา 6 ปี ที่อยู่ในตำแหน่ง เพราะไม่พอใจที่ถูกสหรัฐฯ ตำหนิแรง เรื่องนโยบายกวาดล้างยาเสพติดที่ทำให้มีผู้เสียชีวิตไปมากกว่า 6,000 คน

logoline