svasdssvasds
เนชั่นทีวี

สังคม

กสศ.ร่วม"ยูนิเซฟ-ก.ศึกษาฯ"ใช้สมุทรสาครเป็นต้นแบบฟื้นฟูการเรียนถดถอย

06 ธันวาคม 2564
เกาะติดข่าวสาร >> Nation Story
logoline

"กสศ." ร่วมกับ "ยูนิเซฟ-ศธ." เปิดตัวโปรแกรมฟื้นฟูการเรียนถดถอย ช่วยเด็กหลุดระบบศึกษาช่วงโควิด-19 นำร่องใช้สมุทรสาครเป็นโมเดลต้นแบบ ขณะที่ผู้ว่าฯสมุทรสาคร ประกาศรักษาเด็กทุกคนให้จบการศึกษาภาคบังคับ

6 ธันวาคม 2564 กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) องค์การยูนิเซฟ ประเทศไทย กระทรวงศึกษาธิการ มูลนิธิโรงเรียนสตาร์ฟิชคันทรีโฮม , สถาบันวิจัยเพื่อการประเมินและออกแบบนโยบาย (RIPED) มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย และจ.สมุทรสาคร จัดประชุมสานพลังความร่วมมือหน่วยงานด้านการศึกษา "ก้าวไปด้วยกัน สู่สมุทรสาครโมเดล จังหวัดต้นแบบลดความเหลื่อมล้ำ ฟื้นฟูการเรียนรู้เพื่อเด็กทุกคน" เพื่อเดินหน้าพันธกิจฟื้นฟการศึกษาไทย พร้อมเปิดตัวโครงการวิจัยนำร่องฟื้นฟูการเรียนรู้ถดถอย ป้องกันเด็กหลุดนอกระบบ ครอบคลุมทุกมิติ

 

โดย น.ส.ธันว์ธิดา วงศ์ประสงค์ ผู้อำนวยการ กสศ. กล่าวว่า โควิด-19 ส่งผลให้เกิดช่องว่างและความเหลื่อมล้ำทางการศึกษากว้างขึ้น แม้มีความพยายามในการนำความรู้ไปถึงเด็กทุกช่องทาง แต่การเข้าถึงอุปกรณ์การเรียน หรือสภาวะครอบครัวที่ไม่เอื้อต่อการเรียนรู้ ก็ยังเป็นอุปสรรคและทำให้เด็กเผชิญกับภาวะการเรียนรู้ถดถอย และมีบางส่วนที่หลุดออกจากระบบจากสาเหตุนี้ กสศ. ยูนิเซฟ และกระทรวงศึกษาธิการ ได้ประเมินสถานการณ์เบื้องต้น และนำมาสู่การออกแบบโครงการเพื่อฟื้นฟูความรู้ที่ถดถอย ป้องกันเด็กหลุดออกจากระบบ และส่งเสริมการเข้าถึงการศึกษาคุณภาพให้เด็ก    

 

กสศ.ร่วม"ยูนิเซฟ-ก.ศึกษาฯ"ใช้สมุทรสาครเป็นต้นแบบฟื้นฟูการเรียนถดถอย

 

 

 

 

ทั้งนี้ เป็นโครงการวิจัยเชิงปฏิบัติการนำร่องในจ.สมุทรสาคร ซึ่งเป็นหนึ่งในพื้นที่ปิดเรียนยาวนาน เพื่อหาตัวแบบก่อนขยายผลไปทั่วประเทศ โดยมีงบประมาณส่วนหนึ่งในการสนับสนุน โดยจะเชิญชวนสถานศึกษาทุกสังกัด ทั้ง สพฐ. อปท. และ สช. เข้าร่วม ด้วยรูปแบบที่ให้ความสำคัญกับทักษะด้านคณิตศาสตร์และทักษะการอ่าน ซึ่งพบว่ามีภาวะถดถอยมากที่สุดในช่วงการปิดโรงเรียน และเป็นสองทักษะพื้นฐานในการเรียนรู้วิชาอื่นๆ และภายใต้บริบทที่เปลี่ยนแปลงไป ทักษะสังคม อารมณ์ สุขภาพกายสุขภาพใจ ก็เป็นสิ่งที่ต้องเติมเต็มและส่งเสริมพัฒนาการไปพร้อมๆ กัน

 

"เรามีทีมวิชาการที่เข้มแข็งอย่างมูลนิธิสตาร์ฟิชคันทรีโฮม ที่ทำงานด้านนวัตกรรมการศึกษาระดับสากล มาเป็นโค้ชในการทำงานร่วมกับศึกษาธิการจังหวัด และสถานศึกษา และสถาบันวิจัยเพื่อการประเมินและออกแบบนโยบาย(RIPED) มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย ที่เป็นเครือข่ายด้านงานวิจัย มาช่วยถอดบทเรียนวิธีการทำงานที่ประสบความสำเร็จ ซึ่งจะนำไปใช้ขยายผลในอนาคต ดังนั้น สิ่งที่ได้จากโครงการนี้จะไม่ได้ก่อประโยชน์เพียงกับเด็กและเยาวชนใน จ.สมุทรสาครเท่านั้น แต่จะเป็นตัวแบบสำคัญที่จะขยายผลไปสู่จังหวัดอื่นๆ อีกด้วย" น.ส.ธันว์ธิดา กล่าว

ขณะที่ ดร.วีระชาติ กิเลนทอง ผู้อำนวยการสถาบันวิจัย RIPED กล่าวว่า งานวิจัยจากต่างประเทศแสดงให้เห็นหลักฐานยืนยันของการเกิดภาวะการเรียนรู้ถดถอยในช่วงวิกฤตโควิด-19 สำหรับประเทศไทย ทางสถาบันได้ร่วมกับ กสศ. เก็บข้อมูลจากเด็กหลายพื้นที่ทั่วประเทศ พบว่าระดับการเรียนรู้ที่เด็กได้รับในแต่ละวันที่มาโรงเรียนนั้นแตกต่างกันอย่างมีนัยยะสำคัญ โดยเฉพาะในจังหวัดที่มีการปิดเรียนยาวนาน 

 

กสศ.ร่วม"ยูนิเซฟ-ก.ศึกษาฯ"ใช้สมุทรสาครเป็นต้นแบบฟื้นฟูการเรียนถดถอย

 

"ความถดถอยของการเรียนรู้หมายถึงการเปรียบเทียบทักษะของเด็กในช่วงเวลาการไปเรียนปกติกับการปิดเรียน ซึ่งวัดได้จากเครื่องมือทางสถิติ ซึ่งได้ผลวิเคราะห์หลักว่า การที่เด็กไม่ได้ไปโรงเรียนส่งผลกระทบเชิงลบกับทักษะคณิตศาสตร์ และความจำใช้งาน ซึ่งหมายถึงความสามารถของเด็กในการจดจำข้อมูล และนำข้อมูลมาประมวลผลเพื่อนำกลับมาใช้ อันเป็นทักษะที่ช่วยส่งเสริมการเรียนรู้ของเด็กโดยตรง โดยบางกลุ่มตัวอย่างมีภาวะสูญหายของทักษะมากถึง 90% ข้อมูลเหล่านี้ย้ำเตือนว่า ทุกหน่วยงานมีหน้าที่ร่วมกันในการฟื้นฟูความรู้ที่ถดถอย และสร้างแนวทางการเรียนรู้ที่เหมาะสมเพื่อรับมือกับสถานการณ์โควิด-19 ซึ่งยังคงไม่มีความแน่นอน" ดร.วีระชาติ กล่าว

 

 

ดร.นรรธพร จันทร์เฉลี่ย เสริบุตร ประธานมูลนิธิโรงเรียนสตาร์ฟิชคันทรีโฮม กล่าวว่า โควิด-19 คืออุปสรรคแต่ขณะเดียวกันก็เป็นโอกาสในการค้นหาโมเดลต่างๆ มาพัฒนาการศึกษาให้ปรับตัวเข้ากับยุคสมัยที่เปลี่ยนไป โดยเฉพาะการสร้างพื้นที่ต้นแบบการจัดการศึกษา ซึ่งเป้าหมายโครงการจึงมุ่งไปสู่การสร้างนวัตกรรมในการบริหารจัดการสถานศึกษา และนวัตกรรมในการบริหารระดับจังหวัด เพื่อส่งเสริมขีดความสามารถของครูและโรงเรียน ทั้งเนื้อหา ศาสตร์การสอนและเทคโนโลยี รวมถึงการเรียนรู้แบบผสมผสาน สั้น กระชับ ในรูปแบบบทเรียนออนไลน์ การอบรมเชิงปฏิบัติการ การให้คำปรึกษา และยังสนับสนุนปัจจัยพื้นฐานในการจัดการเรียนการสอน รวมถึงเครื่องมือจำเป็น จนสามารถพัฒนานวัตกรรมและออกแบบการเรียนรู้เพื่อลดภาวะความรู้ถดถอยให้แก่ผู้เรียนได้

 

ด้าน นายณรงค์ รักร้อย ผู้ว่าฯ สมุทรสาคร ระบุว่า การระบาดโควิด-19 ตั้งแต่ช่วงปลายปีการศึกษา 2/2562 จนถึงปัจจุบัน ส่งผลกระทบต่อครัวเรือนที่มีบุตรหลานอยู่ในวัยเรียนทั้งทางตรงและอ้อม โดยเฉพาะครอบครัวยากจน ทำให้เด็กและเยาวชนเสี่ยงหลุดออกจากระบบการศึกษามีจำนวนเพิ่มขึ้น หากยังคงอยู่ในระบบการศึกษา แต่สถานศึกษาหรือครูอาจยังไม่ได้มีความพร้อมจัดการสอนในสถานการณ์ที่วิกฤตและมีข้อจำกัด เช่น การเรียนการสอนแบบออนไลน์ 100%  การขาดอุปกรณ์สื่อกลาง การเรียนรู้และหลักสูตรที่เหมาะสม ปัจจัยความพร้อมของเด็กที่แตกต่างกัน ทำให้เด็กและเยาวชนเกิดภาวะการเรียนรู้ถดถอย และยังมีเด็กจำนวนมากที่หลุดออกจากระบบไป 

 

กสศ.ร่วม"ยูนิเซฟ-ก.ศึกษาฯ"ใช้สมุทรสาครเป็นต้นแบบฟื้นฟูการเรียนถดถอย

 

ทั้งนี้ ข้อมูลจากระบบสารสนเทศของ กสศ. หรือ iSEE จ.สมุทรสาคร พบมีนักเรียนยากจนและยากจนพิเศษ จำนวน 3,189 คน ในจำนวนนี้เป็นนักเรียนยากจนพิเศษที่อยู่ในครัวเรือนยากจนที่สุด ร้อยละ 20 ของประเทศ มีรายได้เฉลี่ยต่อคนต่อเดือน 1,077 บาท หรือราว 36 บาทต่อวัน หรือ 12,924 บาทต่อปีหากดูตัวเลขเช่นนี้ ถือเป็นปัญหาใหญ่มาก โดยกลุ่มที่ต้องเฝ้าจับตา คือ เด็กในวัยเรียนกลุ่มช่วงชั้นรอยต่อทางการศึกษา ซึ่งเสี่ยงหลุดออกจากระบบการศึกษามากขึ้นในปี 2564-2565  และเด็กที่ไม่มีข้อมูลในระบบการศึกษาตามแต่ละช่วงวัย จำนวน 10,551 คน  

 

อย่างไรก็ตาม สถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ที่ยังมีความไม่แน่นอนสูง จำเป็นที่ภาคส่วนต่างๆต้องคำนึงถึงการเพิ่มความยืดหยุ่นในการดำเนินงาน เพื่อนำเด็กที่หลุดออกจากระบบการศึกษาในช่วงที่ผ่านมากลับเข้ามาให้เร็วที่สุด ไม่ให้เกิดการเสียโอกาสในชีวิต การแก้ปัญหาต้องขอความร่วมมือยึดเด็กเป็นศูนย์กลาง จำเป็นต้องคำนึงถึงการเพิ่มความยืดหยุ่นในการดำเนินงาน ในสถานการณ์ที่ไม่ปกติ

 

ดร.รังสรรค์ วิบูลย์อุปถัมภ์ เจ้าหน้าที่การศึกษาขององค์การยูนิเซฟฯ กล่าวว่า ที่มาและความสำคัญของโครงการวิจัยที่กำลังร่วมมือกันทำอยู่นี้ เป็นทิศทางเดียวกับที่ทั่วโลกกำลังทำ แต่ก็ทำในบริบทของประเทศไทย โดยเน้นตัวเด็กเป็นสำคัญ ผ่าน 3 เป้าหมายสำคัญ ดังนี้

 

1.เด็กและเยาวชนวัยเรียนทุกคนได้เรียนหนังสือที่โรงเรียน และได้รับการสนับสนุนที่ปรับให้เหมาะสมเพื่อสอดคล้องกับความต้องการทางการเรียนรู้ การมีสุขภาพกายและสุขภาพใจที่ดี รวมถึงความต้องการด้านอื่นๆ

 

2.เด็กและเยาวชนวัยเรียนทุกคนได้รับความช่วยเหลือในการเรียน เพื่อชดเชยการเรียนรู้ที่สูญเสียไปในช่วงการปิดโรงเรียน

 

กสศ.ร่วม"ยูนิเซฟ-ก.ศึกษาฯ"ใช้สมุทรสาครเป็นต้นแบบฟื้นฟูการเรียนถดถอย

 

3.ครูทุกคนได้รับการเตรียมความพร้อมและการสนับสนุน เพื่อแก้ไขปัญหาความรู้ถดถอยของนักเรียน สามารถนำเทคโนโลยีดิจิทัลและนวัตกรรมต่างๆ มาผสมผสานในการสอน ซึ่งผลที่ได้รับจากความร่วมมือในการทำงานครั้งนี้ ยูนิเซฟจะนำมาขยายผลสู่พื้นที่อื่น รวมถึงแสดงสู่สายตานานาประเทศ ในฐานะโมเดลต้นแบบของการลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา และฟื้นฟูการเรียนรู้เพื่อเด็กทุกคน

 

 

logoline