svasdssvasds
เนชั่นทีวี

สังคม

"ศธ.-สช.-กสศ."ลงนามนำนวัตกรรมคัดกรองป้องกันเด็กด้อยโอกาสหลุดการศึกษา

19 พฤศจิกายน 2564
เกาะติดข่าวสาร >> Nation Story
logoline

"ศธ.-สช.-กสศ."นำนวัตกรรมคัดกรองเด็กยากจน ใช้เป็นฐานข้อมูลช่วยเหลือนักเรียนกันหลุดระบบการศึกษา สังกัดเอกชนโรงเรียนประเภทสายสามัญ ทั่วประเทศ 3,900 แห่ง รวมถึงพัฒนาครู และสถานศึกษา เพิ่มประสิทธิภาพการเรียนการสอนเพิ่มสมรรถนะในศตวรรษที่ 21

19 พฤศจิกายน 2564 กระทรวงศึกษาธิการ ร่วมมือกับกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา หรือ กสศ. ได้ลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือเพื่อสนับสนุนนวัตกรรมการคัดกรองความยากจน การวิจัยพัฒนาคุณภาพครู และสถานศึกษา ในสังกัดสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชน (สช.) เมื่อวันที่ 18 พ.ย. ที่ผ่านมา 

 

โดย ดร.กนกวรรณ วิลาวัลย์ รมช.ศึกษาธิการ กล่าวว่า การร่วมมือกันระหว่างกระทรวงศึกษา และกสศ. ขับเคลื่อนระบบการศึกษา คือ

 

1.สนับสนุนนวัตกรรมการคัดกรองความยากจน การจัดสรรงบประมาณแบบมีเงื่อนไข เพื่อลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา และให้การช่วยเหลือนักเรียนยากจน

 

2.ส่งเสริมโอกาสทางการศึกษาสำหรับนักเรียนยากจน นักเรียนพิการ และด้อยโอกาสให้ได้ศึกษาต่อในระดับที่สูงขึ้นตามศักยภาพ

 

3.สนับสนุนให้เกิดความร่วมมืออื่นๆ ที่เกี่ยวข้องกับความช่วยเหลือ ส่งเสริมนักเรียนยากจน นักเรียนพิการและด้อยโอกาส เพื่อลดความเลื่อมล้ำ ในการศึกษาจนสำเร็จการศึกษาขั้นพื้นฐานและพัฒนาคุณภาพของโรงเรียน และประสิทธิภาพครูของโรงเรียนในสังกัดกระทรวงศึกษาธิการ  

 

 

 

 

 

 

ขณะที่ นพ.สุภกร บัวสาย รักษาการผู้จัดการ กสศ. กล่าวว่า เด็กยากจนจำนวนมาก มีชีวิตที่ยากลำบากจนต้องหลุดจากระบบการศึกษา โดย กสศ.ทำงานครอบคลุมทั่วประเทศ และขยายสังกัดเพิ่มเติมขึ้นเรื่อยๆ ทำให้สามารถช่วยเหลือเด็กกลุ่มนี้มากกว่า 1.2 ล้านคน แม้ยังไม่หลุดจากระบบการศึกษา แต่ถ้ามาโรงเรียน ท้องยังหิว เดินทางยากลำบาก หรือได้รับการเรียนการสอนไม่ตรงกับการใช้ประโยชน์ในชีวิต ดังนั้น กสศ.จึงจัดงบประมาณลักษณะเงินอุดหนุนเพื่อช่วยเหลือด้านอาหารเช้า การเดินทาง การจัดการเรียนการสอนเพิ่มเติม ให้ตรงกับประโยชน์ที่นักเรียนจะใช้ได้จริง       

 

อย่างไรก็ตาม การช่วยเหลือเริ่มจากเด็กๆในสังกัด สพฐ. ซึ่งมีนักเรียนยากจนมากที่สุด และมีความพร้อมของข้อมูล และได้ขยายไปสู่สังกัด อปท. ตชด. แต่ยังเหลือสังกัดที่ยังไม่ครอบคลุมอีก คือ สช. ดังนั้น กสศ. จึงพยายามต่อสู้เรื่องงบประมาณมาอย่างน้อย 3 ปี โดยปีนี้มีโอกาสเริ่มต้นดำเนินการร่วมกับ สช. เป็นปีแรก การดำเนินงานจะมีเงื่อนไข คือ การใช้เครื่องมือการคัดกรองความยากจนด้วยวิธีวัดรายได้ทางอ้อม (Proxy Means Test : PMT) ของ กสศ. เพื่อให้ รัฐบาล รัฐสภา สำนักงบประมาณ มั่นใจว่าสนับสนุนงบประมาณถูกคน ยากจนจริง  

 

นอกจากนี้ ความร่วมมือยังนำมาสู่การเชื่อมต่อระบบสารสนเทศ และฐานข้อมูลรายบุคคลและรายสถานศึกษาระยะยาว ครอบคลุมเด็กเยาวชนที่มาจากครัวเรือนซึ่งมีรายได้น้อยที่สุดร้อยละ 20 ของประเทศ จำนวนมากกว่า 1 ล้านคน ในระบบการศึกษาขั้นพื้นฐาน ให้ครอบคลุมสถานศึกษาสังกัด สช. กว่า 3,902 แห่ง

ด้าน ดร.สุภัทร จำปาทอง ปลัดกระทรวงศึกษาฯ กล่าวว่า ตลอด 3 ปีที่ กสศ. กำเนิดขึ้นมา เป็นการเติมเต็มช่องว่างในสังคมไทย เปลี่ยนชีวิตเด็กให้เป็นบุคคลสำคัญ ขับเคลื่อนประเทศในอนาคต ซึ่งนักเรียนที่อยู่ในสถานศึกษามีความด้อยโอกาสแตกต่างกัน ส่วนหนึ่งจากสภาวะทางเศรษฐกิจ โดยเฉพาะในวิกฤตโควิด-19 ทำให้มีการย้ายถิ่นฐาน ผู้ปกครองว่างงาน ส่งผลกระทบต่อการศึกษาของเด็กไทย   ทำให้มีเด็กจำนวนมากที่ยังไม่พบว่าศึกษาต่อในระบบ เป็นเด็กต้องหล่นประมาณ 43,000 คน ซึ่งขณะนี้เหลืออีกราว 20,000 กว่าคน ที่กระทรวงศึกษากำลังเร่งรัดติดตาม ซึ่งมีชื่อเด็กทุกคน เพื่อให้เข้าสู่การศึกษาในระบบ หรือการศึกษานอกระบบ หรือเรียนอาชีวะ 

 

ดร.พีรศักดิ์ รัตนะ เลขาธิการ สช. กล่าวว่า การสนับสนุนนวัตกรรมดังกล่าว จะช่วยให้ สช. มีฐานข้อมูลความยากจนของนักเรียนที่เป็นหลักฐานเชิงประจักษ์ เพื่อให้ สช.นำข้อมูลไปใช้ ในการขอรับงบประมาณประจำปี สำหรับช่วยเหลือนักเรียนที่มีความเสี่ยงหลุดออกจากระบบการศึกษา เนื่องจากปัญหาความยากจน ด้อยโอกาสได้ดีขึ้น

 

นอกจากนี้ สช.และ กสศ.ยังมุ่งพัฒนาคุณภาพโรงเรียนทั้งระบบ ผ่านโครงการโรงเรียนพัฒนาตนเอง หรือ Teacher and School Quality Program: TSQP ที่เน้นการพัฒนาคุณภาพของระบบบริหารจัดการโรงเรียน และการจัดการเรียนการสอนที่มีคุณภาพสูงในชั้นเรียนเพื่อพัฒนาผู้เรียนให้เกิดสมรรถนะในศตวรรษที่ 21

logoline