svasdssvasds
เนชั่นทีวี

การเมือง

เจาะยุทธศาสตร์"ก้าวไกล"ตั้งเป้าได้ ส.ส.หลักร้อย

20 พฤศจิกายน 2564
เกาะติดข่าวสาร >> Nation Story
logoline

หลังจาก "พิธา ลิ้มเจริญรัตน์" หัวหน้าก้าวไกล ประกาศนำประเด็นในร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติม "ฉบับประชาชน" ที่รัฐสภาโหวตคว่ำ ไปจัดทำเป็นนโยบายของพรรคเพื่อใช้ในการรณรงค์หาเสียงเลือกตั้ง

เรื่องดังกล่าวทำหลายฝ่ายจับตาว่า ยุทธศาสตร์ก้าวไกล คือ อะไรกันแน่ และการนำประเด็นอ่อนไหวในร่างรัฐธรรมนูญฉบับประชาชน ไปเป็นนโยบายจะทำให้พรรคชนะเลือกตั้งได้จริงหรือ?

 

แหล่งข่าวระดับแกนนำก้าวไกล บอกกับ "เนชั่นทีวี" ว่า คำประกาศของ "พิธา ลิ้มเจริญรัตน์" เป็นส่วนหนึ่งของแผนการหาเสียงเลือกตั้ง ที่คาดว่าจะมีขึ้นในปีหน้า โดยการนำประเด็นในร่างรัฐธรรมนูญที่ถูกตีตกไปมาใช้หาเสียงนั้น คือ การตอกย้ำภาพลักษณ์และจุดยืนของพรรคที่ว่า พรรค คือ ผู้นำการเปลี่ยนแปลงตัวจริง

 

ส่วนยุทธศาสตร์ด้านอื่นๆ ก็มีวางไว้อย่างรอบด้าน โดยพรรคก้าวไกลตั้งเป้าได้ ส.ส.มากกว่า 100 คน โดยแบ่งเป็น ส.ส.เขต ไม่น้อยกว่า 80 เขต ใน 80 เขตนี้เป็น "เขตเลือกตั้งยุทธศาสตร์" ของพรรค ที่ได้เก็บข้อมูลสถิติทุกด้านแล้ว จึงมั่นใจว่ามีหวัง และน่าจะได้รับชัยชนะ สามารถปักธงได้

 

นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ ส.ส.บัญชีรายชื่อ หัวหน้าพรรคก้าวไกล

โดยเขตยุทธศาสตร์ที่ว่านี้ มีอยู่ 4 ปัจจัย 4 เงื่อนไข คือ

 

1.เป็นเขตที่ผู้สม้คร ส.ส.เคยแพ้ผู้สมัครของพรรคเพื่อไทย หรือพรรคอื่น ทว่า ส่วนใหญ่เป็นเพื่อไทย ในการเลือกตั้งเมื่อปี 2562 ด้วยคะแนนห่างกันไม่เกิน 5%

 

2.เป็นพื้นที่ที่มีคะแนนเลือกตั้งท้องถิ่นของพรรคดีขึ้นเรื่อยๆ จาก อบจ. เทศบาล ถึง อบต.

 

เจาะยุทธศาสตร์"ก้าวไกล"ตั้งเป้าได้ ส.ส.หลักร้อย

 

3.เป็นพื้นที่ที่มีประเด็นขัดแย้ง หรือกระแสต่อต้านเมกะโปรเจคที่สร้างผลกระทบกับสิ่งแวดล้อม เช่น นิคมอุตสาหกรรมจะนะ จ.สงขลา หรือพื้นที่ที่มีโครงการสร้างเขื่อนที่ประชาชนไม่เห็นด้วย

 

4.เป็นพื้นที่ที่มีคนรุ่นใหม่เยอะ มีมหาวิทยาลัย มีชุมชนของคนรุ่นใหม่หรือวัยรุ่นมาก

 

 

สำหรับการทำแคมเปญหาเสียง นอกจากแคมเปญระดับชาติ หรือนโยบายที่เป็นวาระแห่งชาติ เช่น เกษตร อุตสาหกรรม สาธารณสุข ฯลฯ แล้ว ยังมีนโยบายเจาะพื้นที่ หรือ "เซกเมนต์" ด้วย โดยเฉพาะในพื้นที่ที่มีปัญหา มีความขัดแย้ง ภายใต้หลักคิดที่ว่า "อะไรที่ทำให้เขานอนไม่หลับ เราจะทำให้กระดิ่งในใจเขาดังขึ้น"

 

ที่สำคัญจะชูนโยบายเลือกก้าวไกล ได้แก้ไขรัฐธรรมนูญ​ เหมือนกับการเมืองก่อนปี 2540 ที่ "บรรหาร ศิลปอาชา" นำพรรคเพื่อไทยชนะเลือกตั้ง ได้เป็นนายกฯ พร้อมจัดตั้งรัฐบาลเมื่อปี 2538 ก็หาเสียงว่า "ถ้าเลือกบรรหาร จะได้แก้ไขรัฐธรรมนูญ ได้ปฏิรูปการเมือง" และเป็นจุดเริ่มต้นของรัฐธรรมนูญฉบับปี 2540 ที่ได้รับการยอมรับว่าเป็นรัฐธรรมนูญที่ประชาชนมีส่วนร่วมมากที่สุด

logoline