svasdssvasds
เนชั่นทีวี

สังคม

“ครอบครัวเปราะบาง”สะท้อนวิกฤตสังคม รอแก้ไขฐานราก​

20 กันยายน 2564
เกาะติดข่าวสาร >> Nation Story
logoline

“ครอบครัว” นับเป็นฐานสำคัญ การดำเนินชีวิต ซึ่งทิศทางการพัฒนาของประเทศทั้งการเมือง เศรษฐกิจ ส่งผลต่อ ความอ่อนแอเปราะบางของครอบครัว และมีความชัดยิ่งขึ้นจากการระบาดโควิด-19 ทั้งภาวะซึมเศร้า ความเครียดที่ต้องเสี่ยงติดเชื้อ สะท้อนภาวะความอ่อนแอของครอบครัวไทย

 ความเห็นจากเวทีเสวนา “วิกฤตความอยู่รอดของครอบครัวเปราะบางในสถานการณ์โควิด-19” ซึ่งสถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข (สวรส.) และคณะสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ได้ร่วมกันจัดขึ้นเมื่อ 31 สิงหาคม ที่ผ่านมา โดยนักวิชาการ ผู้เชี่ยวชาญการแก้ปัญหา ตลอดจนบุคลากรคนทำงานด้านสุขภาพซึ่งเป็นผู้เกี่ยวข้องในอีกมิติของเรื่องนี้ ได้ให้ความเห็นต่างๆ ไว้อย่างน่าสนใจ

 

รศ.ดร.ลือชัย ศรีเงินยวง เครือข่ายนักวิจัย สวรส. สังกัดศูนย์จิตตปัญญาศึกษา คณะสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล  หัวหน้าแผนดำเนินงานวิจัย ภายใต้ศูนย์ความเป็นเลิศด้านการวิจัยและขับเคลื่อนนโยบายสังคมไม่ทอดทิ้งกัน ให้ความเห็นว่า ความเปราะบางของสถาบันครอบครัวท่ามกลางสถานการณ์โควิด-19 ทำให้เราเห็นถึง ภาวะพึ่งพิงหรือช่วยตนเองไม่ได้ ที่ทำให้เกิดความไม่มั่นคงทั้งภายนอกและภายในจิตใจ เช่น ภาวะตกงานหรือขาดรายได้จากผลกระทบทางเศรษฐกิจ ขาดปัจจัยสี่ การเข้าไม่ถึงระบบสุขภาพ วัคซีน การตรวจเชื้อ ตลอดจนช่องทางการรักษาหรือระบบต่างๆ รวมถึงความรู้ความสามารถในการดูแลป้องกันตัวเองและแก้ปัญหาต่างๆในวิกฤติที่ซับซ้อนขึ้น สำหรับครอบครัวและคนที่ได้รับผลกระทบไม่มาก อาจเห็นปรากฎการณ์เหล่านี้ แค่เพียงผ่านตาจาการเสพข่าวข้อมูลในแต่ละวัน จนเป็นความคุ้นชิน

นางนุชนารถ แท่นทอง ประธานเครือข่ายสลัมสี่ภาค  เผยว่า เรามีรายได้เพียงวันละ 300 กว่าบาท ในสถานการณ์ที่ค่าครองชีพเพิ่มขึ้น บางครอบครัวต้องจำนนจบลงด้วยการตกงาน ส่งผลกระเทือนทั้งครอบครัว ช่วยตัวเองไม่ได้ เลี้ยงดูครอบครัวไม่ได้ ต้องพึ่งพิงสิ่งต่างๆ จากการบริจาค รับการช่วยเหลือภายนอก

 

ด้าน นพ.นิธิวัชร์ แสงเรือง ผู้อำนวยการโรงพยาบาลบ่อเกลือ จ.น่าน นำเสนอมุมมองด้านระบบสุขภาพ ในการเปิดรับผู้ป่วยจากพื้นที่ระบาดรุนแรง กลับมารักษาที่ยังภูมิลำเนา เพราะประชาชนเชื่อว่า การอยู่ในเมืองเหมือนกับท่ากับการรอติดเชื้อ รอตรวจหาเชื้อ รอเตียงรักษา และถึงขั้นรอความตายอยู่ที่บ้าน ในขณะที่ต่างจังหวัดยังคงมีศักยภาพในการตรวจหาเชื้อ และมีเตียงสำหรับดูแลรักษาผู้ติดเชื้อโควิดอยู่ หรือถ้ายังไม่ติดเชื้อก็มีกลไกของชุมชนในการประคับประคองให้ประชาชนที่กลับมาสามารถกักตัวจนครบ 14 วันได้ แต่พบว่าการรับผู้ป่วยกลับมารักษาที่ภูมิลำเนา 

 

ข้อเสนอคือ ควรกระจายอำนาจสู่ท้องถิ่นให้ประชาชนมีส่วนร่วมบริหารจัดการปัญหาไม่ใช่เป็นเพียงผู้รับปัญหาปลายทาง การปรับกฎระเบียบต่าง ๆ ของรัฐที่ขัดต่อการทำงานไม่สามารถตอบโต้ในสถานการณ์ฉุกเฉินได้อย่างทันท่วงทีให้สามารถทำงานได้มีความคล่องตัวมากขึ้น ตลอดจนการเยียวยาทางเศรษฐกิจ และจัดสวัสดิการทางสังคมที่หลากหลายและเหมาะสมกับทุกคนที่ได้รับผลกระทบจากวิกฤตทางสุขภาพในครั้งนี้ให้กับคนจนให้เหมาะสมที่อาจแตกต่างไปจากคนชั้นกลางและคนชั้นสูง

ดร.ดิเรก หมานมานะ สาขาวิชาสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา ม.อ.ปัตตานี กล่าวว่า ครอบครัวเปราะบางในพื้นที่จังหวัดชายแดนใต้จะต่างกับครอบครัวเมือง เช่น ความเชื่อวิถีวัฒนธรรมมุสลิม ส่งผลให้การฉีดวัคซีนป้องกันโควิดนั้น ภรรยาและลูกจะต้องให้สามี/พ่อเห็นชอบก่อนจึงจะฉีดได้ ครอบครัวที่เป็นหญิงหม้ายจากการสูญเสียสามีที่ติดโควิด ไม่สามารถค้าขายได้ ทำให้ไม่มีรายได้ ดังนั้นวันนี้เรารอพึ่งพารัฐอย่างเดียวคงไม่ได้ นอกจากภาครัฐจะส่งเสริมสวัสดิการแล้ว รัฐยังต้องกระจายอำนาจจากส่วนกลางให้ชุมชนสามารถจัดการตนเองบนบริบทวัฒนธรรมของเขาได้ เช่น ปรับปรุงระเบียบให้คล่องตัวเพื่อหนุนภาคประชาสังคมหรือองค์กรพัฒนาเอกชน โรงเรียน วัด มัสยิด ให้มีส่วนร่วมในการทำงานเสริมพลังภาครัฐ เป็นต้น

 

ทางด้าน ดร.สมใจ รักษาศรี มูลนิธิสถาบันครอบครัวไทย เสนอว่า รัฐต้องสร้างให้ครอบครัวไทยแข็งแกร่งขึ้น โดยต้องมีโครงสร้างการทำงานที่มีความพร้อมและทำงานได้ทันกับสถานการณ์ หรือทำหน้าที่เป็นกลไกกลางในการเชื่อมประสานภาคส่วนต่างๆเข้ามาสนับสนนุนเอื้ออำนวย สร้างความพร้อมให้กับประชาชน การกระจายอำนาจในการบริหารจัดการไม่รวมศูนย์ การพัฒนาที่มี “คน – ครอบครัว” เป็นตัวตั้ง บนความเข้าใจรากฐานของปัญหา โดยเฉพาะปัญหาความยากจนกับการแก้ปัญหาด้วยรัฐสวัสดิการ ตลอดจนการนำสิ่งต่างๆมาเป็นบทเรียนการทำงาน เพื่อเรียนรู้สำหรับการเตรียมพร้อมกับการรับมือวิกฤตที่อาจรุนแรงขึ้นในอนาคต

logoline