svasdssvasds
เนชั่นทีวี

สังคม

สวรส.ชี้ “เอไอ เทคโนฯ ควบคู่เป็นธรรม" นำพาสังคมก้าวหน้า

20 กันยายน 2564
เกาะติดข่าวสาร >> Nation Story
logoline

ปัจจุบัน โควิด-19 นับเป็นการระบาดครั้งใหญ่(Pandemic) แต่ละประเทศมีวิธีรับมือที่แตกต่างกัน ซึ่งเทคโนโลยีได้เข้ามามีบทบาทในการช่วงลดแพร่ระบาด ตลอดจนถึงการรักษา นับเป็นความท้าทายมนุษย์ และ “เทคโนโลยี” ต้องทำงานประสาน ปรับกระบวนทัศน์ (Paradigm Shift) เป็นอย่างมาก

สถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข (สวรส.) จึงร่วมกับคณะสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล เปิดเวทีแลกเปลี่ยนกับผู้เชี่ยวชาญ นักวิชาการจากหลากหลายสาขาที่เกี่ยวข้องในมิติของความเหลื่อมล้ำในกลุ่มเปราะบาง ในหัวข้อ “เทคโนโลยี ลดหรือขยายช่องว่างความเหลื่อมล้ำ ในสถานการณ์โควิด” ซึ่งเป็นประเด็นจากงานวิจัย “ปัญญาประดิษฐ์กับความเป็นธรรมทางสุขภาพและสังคม” ภายใต้แผนดำเนินงานวิจัยของศูนย์ความเป็นเลิศด้านการวิจัยและขับเคลื่อนนโยบายสังคมไม่ทอดทิ้งกัน เมื่อวันที่ 1 ก.ย. 2564 ที่ผ่านมา

 

รศ.ดร.ลือชัย ศรีเงินยวง เครือข่ายนักวิจัย สวรส. สังกัดศูนย์จิตตปัญญาศึกษา และคณะสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล หัวหน้าแผนงานวิจัยฯ กล่าวว่า เป้าหมายหลักของทุกงานวิจัย ภายใต้ศูนย์ความเป็นเลิศด้านการวิจัยและขับเคลื่อนนโยบายสังคมไม่ทอดทิ้งกัน คือ การพัฒนาความรู้และหลักวิชาการที่สามารถเชื่อมโยงและตอบโจทย์การแก้ปัญหา และอุดช่องว่างของปัญหาในมิติต่างๆ ของกลุ่มคนเปราะบางในสังคม เช่น เด็กต่างด้าว คนจนเมือง กลุ่มคนชายขอบ ครูข้างถนน คนขับแท็กซี่ ฯลฯ ซึ่งในสถานการณ์วิกฤตของโรคโควิด-19 ทำให้เราได้เห็นถึงอิทธิพลของเทคโนโลยีที่มีผลต่อหลายๆ เรื่อง โดยเวทีเสวนาจะเชื่อมโยงเทคโนโลยีกับ 3 เรื่องหลักๆ คือ วัคซีน การเข้าถึงบริการสุขภาพของคนจนเมือง และการเรียนระบบออนไลน์กับผลกระทบกับเด็กๆ ในครอบครัวคนจน โดยวิเคราะห์ควบคู่ไปกับแนวคิดทางด้านปรัชญาจากงานวิจัยเรื่องปัญญาประดิษฐ์กับความเป็นธรรมทางสุขภาพและสังคม

สวรส.ชี้ “เอไอ เทคโนฯ ควบคู่เป็นธรรม" นำพาสังคมก้าวหน้า

ผศ.ภญ.ดร.นิยดา เกียรติยิ่งอังศุลี ศูนย์วิชาการเฝ้าระวังและพัฒนาระบบยา (กพย.) เปิดประเด็นเรื่องวัคซีนในสถานการณ์โควิดว่า วัคซีนโควิดเป็นเทคโนโลยีเร่งด่วน ที่ถูกพัฒนาโดยใช้ระยะเวลาสั้น เนื่องจากต้องนำมาใช้ในสถานการณ์วิกฤต แต่ส่งผลกระทบในระยะยาว ซึ่งวัคซีนจะเป็นตัวเร่งให้ร่างกายมีภูมิคุ้มกันโรคมากขึ้น จึงนับเป็นเทคโนโลยีที่มีความซับซ้อน และมีความแตกต่างในคุณสมบัติของวัคซีนแต่ละยี่ห้อ นอกจากนี้วัคซีนยังมีความเกี่ยวข้องกับนโยบายด้านเศรษฐกิจการเมือง ระบบบริการสุขภาพ การสื่อสาร สิทธิบัตร กลไกราคา โครงสร้างสังคม การขึ้นทะเบียน การคัดเลือกรายการวัคซีน การจัดหา การกระจาย เกณฑ์การฉีดวัคซีน รวมไปถึงวัฒนธรรม ความเชื่อ และการให้ข้อมูลแก่ประชาชน ซึ่งทั้งหมดล้วนมีผลต่อการเข้าถึงวัคซีน และการนำเทคโนโลยีมาใช้ เช่น กรณีวัคซีนที่ต้องมีการลงทะเบียนออนไลน์เพื่อการเข้าถึงวัคซีน อาจกลายเป็นข้อจำกัดให้กับประชากรบางกลุ่ม เช่น กลุ่มคนพิการ กลุ่มผู้สูงอายุ ที่อาจมีข้อจำกัดในการใช้ออนไลน์เทคโลยี ซึ่งถ้ากลุ่มดังกล่าวไม่ได้รับวัคซีนที่เหมาะสม ตามเวลาที่สมควร อาจเสี่ยงต่อการ ติดเชื้อ และมีโอกาสป่วยรุนแรงถึงขึ้นเสียชีวิตได้

 

ดร.นพ.วิรุฬ ลิ้มสวาท สำนักวิจัยสังคมและสุขภาพ ให้มุมมองจากการลงไปทำงานในพื้นที่ว่า คนจนเมืองในที่นี้ เรามองบริบทความเป็นเมืองของกรุงเทพมหานครและปริมณฑลเป็นหลัก กรณีคนจนเมือง นอกจากคนจนที่อยู่ในชุมชนแออัดเดิมที่มีอยู่แล้ว ยังมีคนจนใหม่ที่เป็นกลุ่มคนทำมาหากินรายวัน และประชากรแฝง เช่น แรงงานต่างด้าวที่ย้ายเข้ามาอยู่ในชุมชนและไม่มีเอกสารรับรองใดๆ ซึ่งกลุ่มดังกล่าวจนทั้งในแง่ของเศรษฐกิจและจนโอกาส ไม่สามารถเข้าถึงบริการและเทคโนโลยีสุขภาพ เห็นได้จาก ถ้าคนที่ไม่มีโทรศัพท์แบบสมาร์ตโฟน จะไม่สามารถเข้าถึงบริการของรัฐได้

สวรส.ชี้ “เอไอ เทคโนฯ ควบคู่เป็นธรรม" นำพาสังคมก้าวหน้า

ในเวทีเสวนามีผู้ร่วมแลกเปลี่ยนมุมมองที่น่าสนใจ อาทิ  มุมมองเทคโนโลยีจะไม่ทำให้ช่องว่างเพิ่มมากขึ้น ถ้าเราทำความเข้าใจกับความต้องการของกลุ่มคนต่างๆ แบบไม่ผิวเผิน และการพัฒนาเทคโนโลยีในรูปแบบเช่น Start up innovation ต้องรู้ข้อมูลวิถีและความต้องการของกลุ่มเป้าหมายก่อนว่าเป็นอย่างไร แล้วจึงนำไปออกแบบแนวความคิดหลักของการพัฒนา โดยเน้นหลักความยืดหยุ่นเป็นสำคัญ  

 

รวมถึง เทคโนโลยีหลายเรื่องที่ถูกพัฒนาขึ้นเพื่อแก้ปัญหาในช่วงสถานการณ์โควิด-19 ทำให้เห็นชัดเจนว่า เป็นการพัฒนาที่มีความรีบร้อนเกินไป จนบางครั้งอาจลืมคำนึงถึงศาสตร์อื่นๆ การออกแบบเทคโนโลยีที่มีประสิทธิภาพ จำเป็นต้องมีระบบและกลไกที่เชื่อมโยงกับการใช้งานได้จริงกับแต่ละกลุ่มเป้าหมายในพื้นที่ รวมทั้งต้องพัฒนามาจากความต้องการของผู้ที่จะใช้จริงเป็นสำคัญ เพื่อให้เทคโนโลยีมีความเป็นธรรมกับคนทุกกลุ่มในสังคมมากยิ่งขึ้น โดยรัฐบาลมีหน้าที่สนับสนุนให้เกิดระบบและกลไกดังกล่าว ซึ่งมุมมองจากเวทีเสวนาช่วยคลี่แต่ละประเด็นให้เห็นภาพชัดเจนขึ้น 

 

หลังจากนี้ สวรส.และศูนย์ความเป็นเลิศด้านการวิจัยและขับเคลื่อนนโยบายสังคมไม่ทอดทิ้งกัน มหาวิทยาลัยมหิดล จะนำข้อมูลที่ได้ไปจัดลำดับความสำคัญ และนำมาพัฒนาเป็นข้อเสนองานวิจัยเพื่อรองรับผลกระทบของการเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยีและปัญญาประดิษฐ์ที่มีผลต่อสังคม ทั้งด้านสุขภาพและคุณภาพชีวิต ตลอดจนด้านสังคมอื่นๆ โดยไม่ละเลยกรอบแนวคิดทางด้านสังคมและจริยธรรม

สวรส.ชี้ “เอไอ เทคโนฯ ควบคู่เป็นธรรม" นำพาสังคมก้าวหน้า

logoline