- 19 พ.ค. 2563
- 200
การตัดสินใจเชิงนโยบายของรัฐบาลในระยะต่อไปกับการล็อคดาวน์ต่อหรือปลดล็อคดาวน์ประเทศ ตลอดจนการวางแนวทางแก้ปัญหาและพัฒนาระยะยาวนั้น จำเป็นต้องพิจารณาใช้ข้อมูลทางวิชาการที่มีความชัดเจนในการกำหนดนโยบายหรือมาตรการต่างๆกับประชาชนมากยิ่งขึ้น สถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข (สวรส.) ร่วมกับคณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล ทำการศึกษาวิจัย "พัฒนาแบบจำลองบูรณาการระบบการแก้ไขปัญหาโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 เพื่อสนับสนุนกระบวนการตัดสินใจเชิงนโยบาย" ซึ่งแนวคิดงานวิจัยมีความน่าสนใจอย่างยิ่ง
"การวิจัยนี้ได้ให้ความสำคัญงานวิจัยที่มาประยุกต์ใช้กระบวนการคิดเชิงระบบเพื่อวิเคราะห์ทางเลือกเชิงนโยบายในการแก้ไขปัญหา COVID-19 และลดข้อจำกัดของการคิดแบบแยกส่วน โดยทำความเข้าใจความสัมพันธ์ระหว่างองค์ประกอบของระบบในมุมมองต่างๆที่หลากหลายได้อย่างมีประสิทธิภาพ" ผศ.ดร.จรวยพร กล่าว
ผศ.ดร.นพ.บวรศม ลีระพันธ์ คณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดีม.มหิดล หัวหน้าโครงการวิจัยฯ กล่าวว่า จากการศึกษาโดยแบบจำลองที่ใช้ในการวิจัยทำให้เห็นว่านโยบายที่เกิดขึ้นไม่สามารถมาจากภาครัฐเพียงอย่างเดียว ทั้งมาตรการระยะสั้นของรัฐบาลในการปิดเมืองปิดประเทศการปรับพฤติกรรมส่วนบุคคล การลดความความหนาแน่นของชุมชน ต้องการการมีส่วนร่วมจากหน่วยต่างๆในอีกหลายประเด็น โดยเฉพาะการจัดการเชิงโครงสร้างซึ่งทำได้ง่ายกว่าการเปลี่ยนให้คนมาปรับพฤติกรรม เช่น การขึ้นรถเมล์หรือรถไฟฟ้าที่มีผู้คนหนาแน่นเบียดเสียดเป็นปกติ การให้ยืนห่างกัน1-2 เมตรจึงเป็นเรื่องยากจึงต้องอาศัยการจัดการเดินรถให้ถี่ขึ้นโดยภาคเอกชน ตลอดจนการพัฒนานวัตกรรมที่เหมาะกับบริบทสังคมชนบทที่ผู้สูงอายุอยู่เป็นครอบครัวใหญ่ ที่มีโจทย์ต้องมาช่วยกันคิดว่าการเว้นระยะห่างกับผู้สูงวัยของสังคมไทยจะมีหน้าตาแบบไหนซึ่งนักสังคมวิทยา นักพฤฒาวิทยา แพทย์เวชศาสตร์ผู้สูงอายุ หรือสถาปนิก สามารถเข้ามาช่วยออกแบบช่องว่างของมาตรการนี้ได้หรือแม้แต่กรณีที่รัฐบาลกำลังแก้ไขปัญหาอยู่ คือ การแยกผู้เสี่ยงติดเชื้อและต้องกักโรค หรือการให้อยู่บ้านจะอยู่บ้านได้นานแค่ไหน ยิ่งคนในระดับล่างที่มีบ้านคับแคบก็ยังเสี่ยงแพร่เชื้อให้กับคนในบ้านซึ่งลักษณะนี้จะทำอย่างไร
"ตัวอย่างเช่น หากโควิดยังอยู่นานถึง 2 ปี ซึ่งถ้าปิดเมืองไปเรื่อยๆ ประชาชนคงทนพิษเศรษฐกิจไม่ไหวแต่ถ้าเราต้องเปิดประเทศบางส่วน หรือให้คนบางกลุ่มออกไปทำกิจกรรมทางเศรษฐกิจ แบบจำลองสถานการณ์จะช่วยแสดงให้เห็นว่าเปิดกลุ่มใดจะมีโอกาสการเกิดระบาดใหม่น้อยที่สุดรวมทั้งเปิดภาคส่วนไหนจะลดผลกระทบด้านลบในทางเศรษฐกิจและสังคมได้มากที่สุด ฯลฯ ทั้งหมดนี้คือการคาดการณ์เพื่อการออกแบบนโยบาย ฉะนั้นจะเห็นได้ว่าแบบจำลองนี้ไม่เพียงแค่ทำงานเชิงระบาดเท่านั้นแต่ได้เชื่อมกับเศรษฐศาสตร์ สังคม รวมทั้งช่วยการสื่อสารเรื่องกระบวนการแก้ไขปัญหาให้สาธารณะได้ช่วยกันคิดช่วยกันทำงานได้ด้วย" ผศ.ดร.นพ.บวรศม กล่าว