svasdssvasds
เนชั่นทีวี

ไลฟ์สไตล์

“Rest Gap” เหตุผลที่ผู้หญิงไม่ได้รับการพักผ่อนเท่าที่ควร

30 เมษายน 2567
เกาะติดข่าวสาร >> Nation Story
logoline

หลายต่อหลายครั้งประเด็นเรื่องความไม่เท่าเทียมทางเพศมักจะแฝงมาอย่างแนบเนียนในสังคม จนบางครั้งเราอาจไม่รู้ตัวเลยว่าสิ่งที่เรากำลังเผชิญอยู่คือ ‘ความไม่เท่าเทียมทางเพศ’

หนึ่งในตัวอย่างของกรณีความไม่เท่าเทียมทางเพศที่เรามักจะมองข้ามกันคือ ปัญหาช่องว่างทางรายได้ระหว่างเพศ (Gender Pay Gap) ซึ่งถ้ามองเพียงผิวเผินอาจกล่าวได้ว่าการได้รับค่าจ้างที่แตกต่างกันระหว่างผู้ชายและผู้หญิงเป็นเพราะความแตกต่างของหน้าที่รับผิดชอบหรือตำแหน่งในโครงสร้างองค์กร ทว่าในความเป็นจริงอาจไม่ได้มีแค่นั้น แต่ยังมีประเด็นเรื่องความไม่เทียมทางเพศรวมอยู่ด้วย

จากงานวิจัยของ Workplace Gender Equality Agency  ได้นำเสนอข้อเท็จจริงเกี่ยวกับช่องว่างทางรายได้ระหว่างเพศเอาไว้ว่าแท้จริงแล้วปัญหาดังกล่าวมีส่วนเกี่ยวข้องกับประเด็นเรื่องเพศอื่นๆ เช่น การเลือกปฏิบัติทั้งที่รู้หรือไม่รู้ตัว อคติทางเพศในที่ทำงาน หรือการต้องทำหน้าที่หรือมีภาระอื่นๆ นอกเหนือจากการทำงานจนนำไปสู่ความไม่ก้าวหน้าในเส้นทางอาชีพ ซึ่งมีส่วนสำคัญอย่างยิ่งต่อโอกาสในการได้รับค่าจ้างที่เพิ่มขึ้น

“Rest Gap” เหตุผลที่ผู้หญิงไม่ได้รับการพักผ่อนเท่าที่ควร

นอกจากปัญหาช่องว่างทางรายได้แล้ว อีกหนึ่งปัญหาที่เกี่ยวข้องกับความไม่เท่าเทียมทางเพศในพื้นที่การทำงานคือ ปัญหาช่องว่างการพักผ่อน (Rest Gap) ซึ่งเป็นแนวคิดที่อธิบายถึงการที่ผู้หญิงมีเวลาในการพักผ่อนน้อยกว่าผู้ชาย โดยมีสาเหตุหลักมาจากความคาดหวังในเรื่องบทบาทของผู้หญิง
 

ในปัจจุบันสังคมเริ่มมีการเปิดกว้างและยอมรับผู้หญิงเข้าสู่พื้นที่การทำงานมากขึ้น จากเมื่อก่อนที่บทบาทของผู้หญิงมักถูกจำกัดอยู่ไว้เพียงในบ้านหรือในครัวเท่านั้น ทำให้เมื่อผู้หญิงก้าวเข้าสู่พื้นที่การทำงานจึงเกิดคำนิยามหรือแนวคิดใหม่ๆ ที่สัมพันธ์กับผู้หญิงและการทำงาน เช่น working woman หรือแม้แต่แนวคิดเรื่องช่องว่างทางรายได้ระหว่างเพศ ก็เกิดขึ้นตามมาหลังจากมีผู้หญิงเข้าสู่พื้นที่การทำงานด้วยเช่นกัน 

อย่างไรก็ตามมีผู้หญิงหลายคนที่ก้าวเข้าสู่พื้นที่การทำงาน แต่ยังคงต้องมีบทบาทและความรับผิดชอบต่อหน้าที่ในพื้นที่บ้านดังเดิมเหมือนกับก่อนที่จะออกมาสู่พื้นที่การทำงาน โดยความคาดหวังทางสังคมที่มีต่อผู้หญิง ตลอดจนแรงกดดันต่อหน้าที่ของผู้หญิงทำให้ผู้หญิงจำเป็นต้องแบกรับ ‘งานที่ไม่ได้รับค่าจ้าง’  ไม่ว่าจะเป็น การทำงานบ้าน งานครัว การเลี้ยงดูลูก หรือแม้แต่การเลี้ยงดูผู้สูงอายุในบ้าน ซึ่งนำไปสู่เวลาในการพักผ่อนที่น้อยกว่าของผู้หญิงเมื่อเทียบกับผู้ชาย 

จากงานศึกษาล่าสุดของ  Bloom UK ได้แสดงให้เห็นว่ามีผู้หญิง 9 ใน 10 คน กำลังเผชิญกับสภาวะทางจิตที่มีสาเหตุมาจากการต้องแบกรับหน้าที่มากเกินไป โดยเฉพาะอย่างยิ่งในการทำงานที่ไม่ได้รับค่าจ้าง ซึ่งเมื่อเปรียบเทียบระยะเวลาในการรับผิดชอบงานดังกล่าวพบว่า ผู้ชายรับผิดชอบงานเหล่านี้โดยเฉลี่ย 16 ชั่วโมง ทว่าผู้หญิงกลับต้องรับผิดชอบโดยเฉลี่ย 26 ชั่วโมง ซึ่งสะท้อนให้เห็นว่ามีผู้หญิงจำนวนมากต้องแบกรับหน้าที่รับผิดชอบที่มากเกินไปจนไม่มีเวลาสำหรับการพักผ่อน ตลอดจนนำไปสู่ปัญหาด้านสุขภาพ

“Rest Gap” เหตุผลที่ผู้หญิงไม่ได้รับการพักผ่อนเท่าที่ควร
 

หลายคนอาจคิดว่าการปฏิเสธหน้าที่รับผิดชอบเหล่านี้อาจเป็นทางออกที่ทำให้ผู้หญิงสามารถหลุดพ้นจากความรับผิดชอบได้ ทว่าในความเป็นจริงมีผู้หญิงจำนวนมากต้องแบกรับหน้าที่เหล่านี้ เพียงเพราะมันถูกกำหนดให้เป็นหน้าที่ของผู้หญิง ด้วยเหตุนี้เองจึงมีผู้หญิงจำนวนมากต้องรับผิดชอบหน้าที่เหล่านี้ พร้อมกับแบกรับหน้าที่การงานนอกบ้านไปพร้อมๆ กัน  ที่สำคัญไปกว่านั้นยังเป็นเรื่องยากที่ผู้หญิงจะปฏิเสธความรับผิดชอบเหล่านี้ได้ เนื่องจากยังมีความเชื่อว่างานบ้านและการเลี้ยงลูกคือหน้าที่ของผู้หญิงมีผู้หญิงจำนวนไม่น้อยจึงเลี่ยงไม่ได้ที่จะรู้สึกผิดหากละเลยการปฏิบัติหน้าที่เหล่านี้

อย่างไรก็ดี ในแง่หนึ่งบทบาทหน้าที่ของผู้หญิงเองก็เป็นสิ่งที่สังคมประกอบสร้างขึ้นมาเพื่อตีกรอบและสร้างบรรทัดฐาน ‘ความเป็นหญิง’ ขึ้นมา เพื่อเป็นตัวกำหนดว่าผู้หญิงควรหรือไม่ควรจะปฏิบัติตัวอย่างไรให้เหมาะสมต่อการเป็นผู้หญิงในสังคม 

ซีโมน เดอ โบวัวร์ นักเขียนและนักปรัชญาสตรีนิยมชาวฝรั่งเศส ได้อธิบายความเป็นหญิงไว้ในหนังสือ ‘The Second Sex’ ว่า ความเป็นหญิงนั้นไม่ได้ติดตัวเรามาตั้งแต่กำเนิดแต่เป็นสิ่งที่สังคมได้พยายามสร้างมันขึ้นมาด้วยกระบวนการต่างๆ ดังคำกล่าวที่ว่า

“เราไม่ได้เกิดมาเป็นหญิง แต่ถูกทำให้เป็นหญิง”

[One is not born, but rather becomes a woman.] 

ประโยคของซีโมนดังกล่าวเป็นหนึ่งในประโยคที่สามารถอธิบายได้ถึงความเหน็ดเหนื่อยที่ผู้หญิงต้องเผชิญได้ดีที่สุด ซีโมนได้อธิบายเอาไว้ว่าความเป็นหญิงถูกปลูกฝังและหล่อหลอมมาตั้งแต่วัยเด็กผ่านการเลี้ยงดู การอบรมสั่งสอนที่ถูกส่งต่อกันมาเรื่อยๆ ผ่านรุ่นสู่รุ่น ทำให้ผู้หญิงต้องจำใจยอมรับต่อบทบาทที่พวกเธอเองก็ไม่อยากจะยอมรับเช่น บทบาทความเป็นแม่ การต้องรับผิดชอบงานบ้าน หรือแม้แต่การต้องลาออกจากงานเพื่อมาเลี้ยงลูก

“Rest Gap” เหตุผลที่ผู้หญิงไม่ได้รับการพักผ่อนเท่าที่ควร

อีกทั้งซีโมนยังเป็นนักปรัชญาสายอัตถิภาวนิยม (Existentialism) ซึ่งมีความเชื่อว่ามนุษย์ทุกคนไม่ใช่วัตถุ มนุษย์มีชีวิตจิตใจ มีความต้องการ มีความรู้สึก มีเสรีภาพในตัวเอง ไม่ว่าจะเป็นทางร่างกายหรือทางความคิด และผู้หญิงเองก็มีสิทธิเสรีภาพเหนือร่างกายตนเองเช่นกัน

เพราะฉะนั้นผู้หญิงทุกคนก็มีสิทธิที่จะได้รับการพักผ่อนอย่างเท่าเทียม โดยที่ตนเองไม่จำเป็นต้องแบกรับหน้าที่ความเป็นหญิง ที่ตัวเองไม่พอใจที่จะรับผิดชอบหรือต้องทำเพราะเป็นสิ่งที่สังคมกำหนดมาให้ว่าต้องทำ

งานบ้านและการเลี้ยงลูกจึงไม่ใช่หน้าที่ของใครคนใดคนหนึ่ง หรือเป็นแค่ส่วนที่ผู้หญิงต้องรับผิดชอบ ตรงนี้เองที่คู่ชีวิตเข้ามามีส่วนร่วมได้ อันดับแรกอาจจะเริ่มจากการสังเกต ก่อนจะเริ่มหาเวลามานั่งพูดคุยกันเพื่อหาทางออกและแบ่งเบาภาระของทั้งสองฝ่ายให้สมดุล ทั้งนี้ก็เพื่อให้ทั้งสองฝ่ายได้รับการพักผ่อนอย่างเท่าเทียม และเพื่อให้การพักผ่อนคือเรื่องของทุกคน

 

 

ข้อมูลอ้างอิง

logoline