svasdssvasds
เนชั่นทีวี

สุขภาพ

มัดรวม “10 โรคหน้าร้อน” อาการป่วยยอดฮิตที่เป็นพิษต่อสุขภาพ

11 มีนาคม 2567
เกาะติดข่าวสาร >> Nation Story
logoline

สภาพอากาศที่ร้อนจัดส่งผลกระทบต่อสุขภาพอย่างไรได้บ้าง Nation Story มัดรวม “10 โรคหน้าร้อน” อาการป่วยยอดฮิตที่เป็นพิษต่อสุขภาพ ชวนรู้เท่าทัน...ระวังไว้จะได้ไม่ป่วย

ช่วงนี้สภาพอากาศที่ร้อนจัดเป็นปัญหาสำคัญระดับโลก สาเหตุหนึ่งมาจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ทำให้เกิดการเจ็บป่วยและเสียชีวิตด้วยโรคที่เกิดจากความร้อน เกิดโรคทางเดินทางอาหาร จากน้ำดื่ม อาหารที่ไม่สะอาด หรืออาหารบูดเสียง่าย เพิ่มค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพ ซึ่งอากาศที่ร้อนจัดอาจทำให้เสียชีวิตได้ภายใน 24 ชั่วโมง หากไม่มีการป้องกัน หรือรักษาอย่างทันท่วงที แล้วร้อนนี้มีโรคอะไรที่ต้องระวังบ้างไปดูกัน

10 โรคหน้าร้อน อันตรายต่อสุขภาพที่ควรระวัง

1 โรคลมแดด (Heatstroke) โรคหน้าร้อนอันตรายถึงตาย

โรคลมแดด หรือฮีทสโตรก เป็นโรคอันตรายที่พบได้บ่อยในช่วงหน้าร้อน เนื่องจากร่างกายเกิดความร้อนสะสม โดยมีอุณหภูมิสูงกว่า 40 องศาเซลเซียส มี 5 อาการเตือนที่สังเกตได้ คือเหงื่อไม่ออก สับสนมึนงง กระหายน้ำ หน้าแดงตัวแดง จากนั้นอุณหภูมิในร่างกายจะสูงขึ้นเรื่อยๆ จนรูขุมขนปิด ทำให้เหงื่อไม่ออก ชีพจรเต้นเร็ว ใจสั่น จนถึงขั้นชักกระตุก เกร็ง และหมดสติได้ หากไม่ได้รับการรักษาอย่างถูกต้องและทันท่วงที อาจทำให้หัวใจหยุดเต้นและถึงแก่ชีวิตได้

ความรุนแรงของโรคลมแดดจะขึ้นอยู่กับหลายปัจจัย เช่น โรคประจำตัวอย่างเบาหวาน หัวใจ ความดันโลหิตสูง หรือมีภาวะขาดน้ำ โดยในกลุ่มที่ติดสุราเรื้อรังโรคก็จะยิ่งทวีความรุนแรงขึ้น เพื่อลดความเสี่ยงในการเกิดโรคลมแดด ควรดื่มน้ำให้เพียงพออย่างน้อยวันละ 8 แก้ว ใส่เสื้อผ้าสีอ่อน ผ้าโปร่ง ระบายอากาศได้ดี หลีกเลี่ยงการอยู่กลางแดดหรือออกกำลังกายในสภาพอากาศที่ร้อนจัด และงดเครื่องดื่มแอลกฮอล์

2 โรคอุจจาระร่วง (Acute Diarrhea) โรคหน้าร้อนที่ติดต่อได้

โรคอุจจาระร่วง หรือท้องร่วง เกิดจากการกินอาหารหรือดื่มน้ำที่ปนเปื้อนเชื้อโรคต่างๆ เช่น แบคทีเรีย ไวรัส โปรโตซัว พยาธิ หรือในบางรายอาจได้รับเชื้อโรคจากการใช้มือหยิบจับสิ่งของที่ปนเปื้อนแล้วนำเข้าปาก อาการของโรคอุจจาระร่วงคือ การถ่ายเหลวหรือถ่ายเป็นน้ำอย่างน้อย 3 ครั้งขึ้นไปต่อวัน หรือถ่ายเป็นมูกปนเลือด 1 ครั้งขึ้นไปต่อวัน หากปล่อยไว้ร่างกายจะสูญเสียน้ำและเกลือแร่ ทำให้อ่อนเพลีย อวัยวะต่างๆ เสียสมดุลการทำงาน และเกิดภาวะแทรกซ้อนต่างๆ ตามมาจนทำให้เกิดภาวะช็อก หมดสติ และเสียชีวิตได้

โรคอาหารเป็นพิษ (Food Poisoning) โรคหน้าร้อนอันตรายในเด็กเล็ก

3 โรคอาหารเป็นพิษ (Food Poisoning) โรคหน้าร้อนอันตรายในเด็กเล็ก

โรคอาหารเป็นพิษ เป็นโรคทางเดินอาหารที่พบบ่อยมาก เนื่องจากสารพิษ (Toxin) จากแบคทีเรียตกค้างอยู่ในอาหารที่ไม่สะอาดพอ สุกๆ ดิบๆ หรือบูดเสีย ทำให้เกิดปัญหาท้องเสียได้ สำหรับการรักษาส่วนใหญ่หากเป็นไม่มาก จะถ่ายเป็นน้ำไม่มีมูกเลือด ไม่มีไข้ หายได้เอง แต่ถ้าเป็นมากต้องได้รับน้ำเกลือเสริม อาจอยู่ในรูปแบบของการดื่ม หรือการให้ทางเส้นเลือดแล้วแต่ความรุนแรง หากเกิดในเด็กทารก หรือผู้สูงอายุอาจทำให้ภูมิต้านทานลดลงมากจนทำให้เสียชีวิตได้

โรคหน้าร้อน โรคพิษสุนัขบ้า

4 โรคพิษสุนัขบ้า (Rabies) โรคหน้าร้อนติดต่อจากสัตว์สู่คน

โรคพิษสุนัขบ้า หรือโรคกลัวน้ำ เป็นโรคติดต่อร้ายแรงจากสัตว์สู่คน ไม่มียารักษาให้หายขาดได้ ติดต่อจากการถูกสัตว์ที่มีเชื้อโรคพิษสุนัขบ้ากัด ข่วน หรือเลียบริเวณที่มีแผล หรือน้ำลายของสัตว์กระเด็นเข้าตา ปาก จมูก วิธีป้องกันที่ดีที่สุดก็คือ การนำสัตว์เลี้ยงไปฉีดวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้าปีละครั้ง เริ่มฉีดเมื่ออายุ 2-4 เดือน และหากถูกสุนัขหรือสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมกัดหรือข่วน ให้รีบล้างแผลด้วยสบู่และน้ำสะอาดหลายๆ ครั้ง เช็ดให้แห้ง แล้วใส่ยารักษาแผลสด และรีบไปพบแพทย์เพื่อรับการรักษาที่ถูกต้อง

5 อหิวาตกโรค (Cholera) โรคหน้าร้อนจากเชื้ออหิวาต์

โดยทั่วไปคนส่วนใหญ่ที่ติดเชื้ออหิวาต์การกินอาหารหรือดื่มน้ำที่มีเชื้อแบคทีเรียวิบริโอ โคเลอรี (Vibrio Cholerae) ปนเปื้อนอยู่ โดยเชื้อแบคทีเรียชนิดนี้จะทำปฏิกิริยากับเยื่อบุผนังลำไส้เล็ก ส่งผลให้มีอาการถ่ายเหลวหรือถ่ายเป็นน้ำอย่างรุนแรง โดยไม่มีอาการปวดท้อง แต่ในรายที่ติดเชื้อรุนแรงอาจเสียชีวิตได้ในเวลาเพียงไม่กี่ชั่วโมงหลังเกิดอาการ เนื่องจากมีการสูญเสียของน้ำและเกลือแร่ในปริมาณมาก การรักษาควรทดแทนน้ำและเกลือแร่ที่สูญเสียไปกับการถ่ายอุจจาระและการอาเจียน เช่น ให้ผู้ป่วยดื่มน้ำเกลือ แต่หากรุนแรงต้องให้ทางเส้นเลือด ควบคู่กับการใช้ยาปฏิชีวนะ

6 โรคบิด (Dysentery) โรคหน้าร้อนเพราะอาหารสุกๆ ดิบๆ

โรคบิดเกิดจากเชื้อแบคทีเรียเข้าสู่ร่างกายผ่านการกินอาหาร น้ำที่ปนเปื้อนเชื้อโรค อาหารดิบๆ สุกๆ หรืออาหารที่มีแมลงวันตอม ดังนั้น ไม่ว่าเด็ก ผู้ใหญ่ เพศไหน วัยใดก็สามารถเป็นโรคบิดได้ทั้งนั้น โดยผู้ป่วยจะมีอาการปวดบิดในท้อง ต่อมาจะเริ่มไข้ขึ้น และถ่ายเหลว รวมถึงอาจปวดศีรษะ ปวดเมื่อยตามตัว คลื่นไส้ อาเจียน ซึ่งอาการท้องเดินเป็นบิด จะหายได้เองภายใน 5-7 วัน ในคนที่ไม่ได้ทานยา แต่บางรายก็อาจมีอาการกลับมาใหม่ได้อีก

7 ไทฟอยด์ (Typhoid) โรคหน้าร้อนอาการเฉียบพลัน

ไทฟอยด์ หรือโรคไข้รากสาดน้อย มักเกิดจากการปนเปื้อนของเชื้อแบคทีเรียซัลโมเนลล่า ไทฟี่ (Salmonella typhi) ในอาหารหรือน้ำดื่ม ซึ่งไข้ไทฟอยด์จะมีอาการแบบเฉียบพลัน รายที่เป็นรุนแรงอาจเสียชีวิตได้ อาการของโรคจะมีไข้ ปวดเนื้อปวดตัว คลื่นไส้ หัวใจเต้นช้าลง ส่วนการป้องกันสามารถทำได้โดยการใช้วัคซีน ซึ่งมีทั้งในรูปของการกินหรือฉีด แต่การป้องกันไม่สามารถป้องกันได้ร้อยเปอร์เซ็นต์ ดังนั้น วิธีที่ดีที่สุดคือการระมัดระวังเรื่องอาหารและน้ำดื่ม

8 โรคระบบทางเดินหายใจ โรคหน้าร้อนในคนไม่แข็งแรง

เช่น โรคไข้หวัด ไข้หวัดใหญ่ ปอดบวม ปวดหัว ตัวร้อน ไอจาม ทั้งนี้ เพราะอากาศเปลี่ยนไปมาหรืออยู่ในที่ที่อากาศถ่ายเทไม่ดี ร่วมกับร่างกายที่อ่อนแอ เมื่อรู้สึกตัวว่าเป็นหวัดให้พักผ่อน ดื่มน้ำอุ่นให้มากๆ และแยกนอนร่วมกับผู้อื่น หากยังไม่ดีขึ้นควรไปพบแพทย์

9 โรคผิวหนัง โรคหน้าร้อนที่ป้องกันได้

ช่วงหน้าร้อนแดดแรงทําให้เกิดผิวไหม้จากแสงแดด ผิวคล้ำเสีย ผดผื่นแดงคัน มะเร็งผิวหนัง และอากาศที่ร้อนอบอ้าวย้งเป็นทำให้เกิดโรคผิวหนังชนิดต่างๆ ได้ จากเหงื่อที่ระบายออกบายออกมาจากผิวหนัง เกิดการสะสมของแบคทีเรีย กลาก เกลื้อน รวมถึงเกิดกลิ่นตัว และกลิ่นเหม็น สามารถป้องกันได้ด้วยการอาบน้ำชำระร่างกายและรักษาความสะอาดบ่อยๆ หลีกเลี่ยงการสัมผัสน้ำสกปรกหรือน้ำที่ไม่สะอาด ทาครีมกันแดดทุกครั้งก่อนออกแดด 10-20 นาที

10 โรคเครียด โรคหน้าร้อนที่ผู้ใหญ่อาจเป็นบ่อย

หนึ่งในปัญหาที่พบบ่อยในหน้าร้อนคือภาวะโรคเครียด ความเครียดสะสม ที่ทำให้เกิดอาการปวดหัว นอนไม่หลับ รู้สึกโมโหและหงุดหงิดง่าย จนกระทบไปถึงความสัมพันธ์กับบุคคลรอบข้าง วิธีคลายเครียดง่ายๆ คืออยู่ในที่ที่มีอากาศเย็นสบาย เช่น ในห้องแอร์ ใต้ร่มไม้ หรือหางานอดิเรกทำ ฝึกนั่งสมาธิ เป็นต้น

 

โรคหน้าร้อนรู้เท่าทัน ป้องกันได้

จะเห็นได้ว่า โรคที่มากับหน้าร้อนส่วนใหญ่ มักเกี่ยวกับสาเหตุของการออกไปสัมผัสแดดจัด การกินอาหารหรือน้ำที่ไม่สะอาด ดังนั้น เพื่อหลีกเลี่ยงและลดเสี่ยงโรคต่างๆ ในหน้าร้อน จึงมีคำแนะนำดังนี้

  • เลือกกินอาหารที่ปรุงสุก สะอาด ไม่บูด หรือไม่นำวัตถุดิบที่เริ่มเสียมาปรุงอาหาร
  • งดเครื่องดื่มที่มีส่วนผสมของแอลกอฮอล์
  • ล้างมือให้สะอาดทุกครั้ง ทั้งก่อนและหลังมื้ออาหาร รวมถึงหลังใช้ห้องน้ำ
  • ดื่มน้ำที่สะอาด เช่น น้ำดื่มบรรจุขวดที่มีเครื่องหมาย อย. หรือน้ำต้มสุก
  • ดื่มน้ำให้เพียงพออย่างน้อยวันละ 6-8 แก้ว โดยจิบบ่อยๆ ทั้งวัน
  • แนะนำ 6 กลุ่มอาหารสู้แดด และ 12 อาหารต้านอนุมูลอิสระ กินช่วยเซฟผิวหน้าร้อน
  • หมั่นออกกำลังกายสม่ำเสมอ
  • พักผ่อนให้เพียงพอ
  • ทาครีมกันแดด
logoline