svasdssvasds
เนชั่นทีวี

สุขภาพ

‘ข้อเข่าเสื่อม’ ไม่ใช่โรคของผู้สูงอายุ เมื่อ Gen Y กลายเป็นกลุ่มเสี่ยง

รู้หรือไม่? โรคข้อเสื่อมเป็นได้ตั้งแต่อายุ 30 ปี พบในเพศหญิงมากกว่าเพศชาย และมีอาการปวดรุนแรงมากกว่า โดยน้ำหนักตัวที่มากกลายเป็นปัจจัยที่ทำให้เกิดข้อเข่าเสื่อมสภาพเร็วกว่าอายุ

“โรคข้อเข่าเสื่อม” ถือเป็นปัญหาด้านสุขภาพที่พบได้บ่อยในผู้สูงอายุ ซึ่งเกิดจากการใช้งานของข้อเข่ามาเป็นเวลานาน (Primary OA knee) แต่ในปัจจุบันพบว่าประเทศไทยเกิดปัญหา “โรคกระดูกและข้อ” มากขึ้นและพบในผู้ป่วยอายุน้อยลง ไม่ใช่ในผู้สูงอายุเท่านั้น โดยพบได้ในช่วงวัยกลางคน วัยทำงาน พบมากในกลุ่มที่ออกแรงใช้เข่ามาก ขึ้นบันได แบกของหนัก เดินไกลๆ หรือลุกนั่งบ่อยๆ โดยเฉพาะผู้ที่มีน้ำหนักตัวมากยิ่งเสี่ยงมากและมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง

‘ข้อเข่าเสื่อม’ ไม่ใช่โรคของผู้สูงอายุ เมื่อ Gen Y กลายเป็นกลุ่มเสี่ยง

สำหรับโรคข้อเสื่อมเป็นโรคที่พบได้บ่อยที่สุดถึงร้อยละ 50 ของจำนวนผู้ป่วยที่ไปพบแพทย์ด้วยอาการปวดข้อที่มีอายุ 50 ปีขึ้นไป บางรายพบตั้งแต่อายุ 30 ปี พบในเพศหญิงมากกว่าเพศชาย และมีอาการปวดรุนแรงมากกว่า

ในจำนวนนี้ยังพบว่าเป็นอาการของข้อเข่าเสื่อมและอักเสบถึงร้อยละ 28.34 เนื่องจากเป็นข้อที่รับนํ้าหนักและใช้งานมาก มีการเสื่อมสภาพของกระดูกข้อเข่า กระดูกอ่อน หมอนรองข้อเข่า เอ็นรอบๆ ข้อเข่า เยื่อบุข้อเข่า น้ำไขข้อน้อยลง เกิดได้จากปัจจัยเสี่ยงหลายสาเหตุ เช่น เสื่อมตามวัย อุบัติเหตุ ติดเชื้อ โรคเก๊าท์ โรครูมาตอยด์ และเกิดจากการทำงานที่ออกแรงใช้เข่ามาก มีการกระแทก หรืองอเข่าบ่อยๆ เช่น ต้องขึ้นบันไดแบกของหนัก เดินไกลๆ หรือลุกนั่งบ่อยๆ

นอกจากนี้ ผู้ที่มีน้ำหนักตัวมากจะเป็นปัจจัยเสริมให้เป็นข้อเข่าเสื่อมได้เช่นกัน ซึ่งผู้ป่วยในกลุ่มนี้มักมีอายุต่ำกว่า 45 ปี อาการข้อเข่าเสื่อมมักมีอาการแบบค่อยเป็นค่อยไป อาการที่ปวดจะสัมพันธ์กับงานที่ทำ เมื่อพักการใช้งานเข่าและอยู่ในท่าที่สบายมักจะไม่มีอาการปวดเข่า อาจมีอาการเข่าติด มีความรู้สึกว่าข้อขรุขระเวลาขยับข้อเข่า หากอาการปวดเข่านั้นเป็นมากแม้จะอยู่เฉยๆ รวมทั้งมีอาการปวดบวมแดงร้อน มีไข้ หรือมีอาการปวดตอนกลางคืนมากจะไม่ใช่ข้อเข่าเสื่อมจากการทำงาน ผู้ป่วยควรไปพบแพทย์เพื่อหาสาเหตุที่แท้จริง

โรคข้อเข่าเสื่อมเป็นอย่างไร?

โรคข้อเข่าเสื่อม (Knee Osteoarthritis) คือโรคที่เกิดจากความเสื่อมของกระดูกอ่อนผิวข้อเข่า ทั้งทางด้านรูปร่าง โครงสร้าง การทำงานของกระดูกข้อต่อ และกระดูกบริเวณใกล้ข้อมีการสึกหรอและเสื่อมลงตามอายุ เมื่อไม่มีผิวกระดูกอ่อนมาห่อหุ้ม เนื้อกระดูกจึงมีการชนกันขณะรับน้ำหนัก จึงทำให้เกิดอาการปวดเข่า เข่าบวม ข้อยึดติด โดยจะรุนแรงขึ้นเรื่อยๆ เมื่อเวลาผ่านไปนานๆ หัวเข่าก็จะผิดรูป และไม่สามารถประกอบกิจวัตรประจำวันได้ตามปกติ

สาเหตุของโรคข้อเข่าเสื่อมมีอะไรบ้าง?

สาเหตุของโรคข้อเข่าเสื่อม สามารถแบ่งออกเป็น 2 สาเหตุหลักตามลักษณะการเกิดคือ

1.สาเหตุจากความเสื่อมแบบปฐมภูมิ (primary knee osteoarthritis) : หรือไม่ทราบสาเหตุ เป็นภาวะที่เกิดจากการเสื่อมสภาพของผิวกระดูกอ่อนตามวัย เช่น

อายุที่เพิ่มมากขึ้น : เป็นสาเหตุที่พบได้บ่อยมากที่สุด เนื่องจากเมื่ออายุมากขึ้นความเสื่อมของกระดูกอ่อนผิวข้อ กล้ามเนื้อ และเส้นประสาทก็จะเสื่อมลงตามวัย โดยอายุ 40 ปี เริ่มมีข้อเสื่อม อายุ 55 ปีขึ้นไป จะเริ่มมีอาการปวดเข่า เข่าเสื่อม และอายุ 60 ปี จะเป็นข้อเข่าเสื่อมได้ถึงร้อยละ 40

เพศ : พบในเพศหญิงมากกว่าเพศชาย 2-3 เท่า เนื่องจากการขาดฮอร์โมนเอสโตรเจนที่เป็นตัวป้องกันความเสื่อมของกระดูกอ่อนผิวข้อเข่า โดยเฉพาะในภาวะหมดประจำเดือนยิ่งทำให้เพศหญิงเกิดข้อเข้าเสื่อมได้ง่ายกว่าปกติ

กรรมพันธุ์ : จากการศึกษาพบว่า เรื่องของกรรมพันธุ์ก็มีความเกี่ยวข้อง โดยคนไข้ที่มีคนในครอบครัวหรือญาติพี่น้องเป็นโรคข้อเข่าเสื่อม มีโอกาสที่จะเป็นข้อเข่าเสื่อมมากขึ้น แต่ทั้งนี้ไม่มีความสัมพันธ์โดยตรงในลักษณะของการถ่ายทอดทางพันธุกรรม

น้ำหนักตัวที่เกิน : ผู้ที่มีน้ำหนักตัวมากหรือเป็นโรคอ้วน จะยิ่งเพิ่มโอกาสการเป็นโรคข้อเข่าเสื่อมเร็วยิ่งขึ้น เพราะน้ำหนักตัวที่เพิ่มขึ้น 0.5 กิโลกรัม จะเพิ่มแรงที่กระทำต่อข้อเข่า 1-5 กิโลกรัม อีกทั้งเซลล์ไขมันที่มากเกินไปจะส่งผลต่อเซลล์กระดูกอ่อนและเซลล์กระดูกให้เกิดข้อเสื่อมเร็วขึ้น ประกอบกับหากขาดการออกกำลังกาย หรือดื่มเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์มากเป็นประจำ ก็ส่งผลให้เกิดภาวะข้อเข่าเสื่อมก่อนวัยเร็วขึ้นได้

การใช้งานที่มากเกินไป : การใช้ขาและหัวเข่าผิดท่า หรืออยู่ในท่าที่ไม่เหมาะสมเป็นเวลานาน เช่น ในกลุ่มผู้ที่ต้องยืนนานๆ หรือยกของหนัก ขึ้นลงบันไดบ่อยๆ การก้มยกของ รวมถึงท่าทางจากกิจกรรมที่มีแรงกดต่อข้อเข่ามากๆ เช่น คุกเข่า นั่งพับเพียบ นั่งขัดสมาธิ เป็นต้น

ความบกพร่องของส่วนประกอบของข้อ : เช่น ข้อเข่าหลวม กล้ามเนื้อต้นขาอ่อนแรง

2.ความเสื่อมแบบทุติยภูมิ (secondaryary knee osteoarthritis) : หรือความเสื่อมที่ทราบสาเหตุ ซึ่งสามารถแยกย่อยออกเป็นอีกหลายสาเหตุ ดังนี้

อุบัติเหตุที่เกิดแรงกระแทก : ในผู้ที่เคยได้รับบาดเจ็บ ประสบอุบัติเหตุที่ข้อ เส้นเอ็น การบาดเจ็บเรื้อรังที่บริเวณข้อเข่าจากการทำงานหรืออุบัติเหตุจากการเล่นกีฬาที่ทำให้เกิดแรงกระแทกสูง เช่น ล้มแล้วเข่าบิด มีกระดูกรอบข้อเข่าหัก หรือมีเลือดออกในข้อเข่า สาเหตุเหล่านี้จะส่งผลให้มีอาการปวดหัวเข่า และเสี่ยงข้อเข่าเสื่อมเร็วขึ้น

โรคบางชนิด : เช่น โรคข้ออักเสบรูมาตอยด์ โรคเก๊าท์ ข้อเข่าติดเชื้อ โรคที่เกิดกับอวัยวะนอกข้อเข่า รวมทั้งโรคข้ออักเสบชนิดต่างๆ (inflammatory joint disease)

สัญญาณเตือนโรคข้อเข่าเสื่อม

โดยทั่วไปแล้ว อาการของโรคข้อเข่าเสื่อมมักจะเกิดขึ้นอย่างช้าๆ ทำให้ผู้ป่วยส่วนใหญ่ละเลย เพราะอาการข้อเข่าเสื่อมในระยะแรกๆ คนไข้จะยังทำงานทุกอย่างได้ตามปกติ ดังนั้น หากเกิดความผิดปกติแล้วไม่แน่ใจว่าเสี่ยงข้อเข่าเสื่อมหรือไม่ สามารถสังเกตสัญญาณของโรคข้อเข่าเสื่อมได้ดังต่อไปนี้

1.เริ่มมีอาการปวดหัวเข่า
เป็นอาการที่พบบ่อยที่สุด มักปวดมากขึ้นเมื่อใช้งานมีการเคลื่อนไหว เช่น เดินขึ้นหรือลงบันได นั่งพับเพียบ นั่งยองๆ แต่อาการจะลดลงหลังจากการพัก ซึ่งเป็นหนึ่งในอาการที่สังเกตได้ง่าย เนื่องกระทบต่อการใช้ชีวิตประจำวันโดยตรง โดยทั่วไปอาการปวดจะเป็นๆ หายๆ บริเวณข้อเข่า และเป็นติดต่อกันมากกว่า 6 เดือน

2.เข่ามีเสียงกรอบแกรบ (crepitus)
เมื่อข้อเข่าเริ่มสึก จะมีการเสียดสีของเยื่อบุภายในข้อ หรือเอ็นที่หนาตัวขึ้น มีความขรุขระของกระดูกอ่อนที่บุปลายหัวกระดูก โดยผู้ป่วยจะมีเสียงกรอบแกรบในข้อเข่า ขณะเคลื่อนไหวเข่า และจะรู้สึกปวดเข่าร่วมด้วย

3.ข้อเข่าติด ฝืด ตึง แข็ง (stiffness)
สามารถสังเกตได้ในช่วงช่วงตื่นนอน คนไข้จะมีรู้สึกมีอาการฝืดตึง เข่าติด เคลื่อนไหวลำบากในตอนเช้า แต่เป็นไม่นานอาการก็จะค่อยๆ ดีขึ้น หรือเกิดในช่วงเวลาที่อยู่ในท่าใดท่าหนึ่งนานๆ ต่อเนื่องโดยไม่ได้ขยับ จะรู้สึกว่าข้อต่อขาดความยืดหยุ่น เหยียดหรืองอเข่าจะรู้สึกทำได้ไม่สุด

4.เสียวหัวเข่า
มีอาการเสียวหัวเข่า โดยเฉพาะเวลาเดิน หรือมีการเคลื่อนไว ซึ่งเกิดจากความบกพร่องของส่วนประกอบของข้อ เช่น ข้อเข่าหลวม กล้ามเนื้อต้นขาอ่อนแรง

5.บวม ร้อน กดเจ็บ
เป็นผลจากน้ำในข้อเข่าที่มีมากขึ้น และจากกระดูกงอกที่ขอบข้อเข่า เวลาคลำจะรู้สึกแข็งและข้อเข่าหน้าๆ หยุ่นๆ ในบางรายคนไข้จะรู้สึกปวดบริเวณหัวเข่า พร้อมกับมีอาการบวม กรณีที่มีการอักเสบเมื่อสัมผัสจะรู้สึกว่าเข่าอุ่น และหากใช้มือกดตรงบริเวณข้อเข่าจะรู้สึกว่าเจ็บบริเวณข้อเข่ามากขึ้น

6.ข้อเข่าโก่งงอ ต้นขาลีบ ข้อเข่าผิดรูป (swelling and deformity)
กรณีเป็นอาการของโรคข้อเข่าเสื่อมที่ชัดเจน โดยสังเกตได้จากกระดูกบริเวณรอบๆ อาจจะโก่งด้านนอกหรือโก่งด้านใน ต้นขาลีบ บิดเบี้ยวผิดรูป ทำให้ขาสั้นลง ทำให้เดินหรือใช้ชีวิตประจำวันลำบาก และมีอาการปวดเวลาเดินหรือขยับ

อาการปวดเข่าแบบไหนที่ควรรีบพบแพทย์?

เนื่องจากโรคข้อเข่าเสื่อม อาการที่พบได้บ่อยๆ คืออาการปวดที่เป็นสัญญาณเตือน หากปวดแบบเป็นๆ หายๆ ให้รอดูอาการได้ แต่ควรปรับเปลี่ยนพฤติกรรมและดูแลตัวเองให้ถูกต้องมากขึ้น ทั้งนี้ ก็มีอาการปวดบางลักษณะที่ไม่ควรรอช้า ต้องรีบพบแพทย์ทันที เพราะอาจทำให้เกิดปัญหาในการทรงตัว หรือเดินไม่ได้ในอนาคต เช่น

  • ปวดหัวเข่ารุนแรง แม้ไม่ได้เคลื่อนไหว แม้อยู่เฉยๆ แต่ก็ยังมีอาการปวด และเมื่อมีการเคลื่อนไหวหรือลงน้ำหนักจะยิ่งปวดมากขึ้น นั่นอาจเป็นอาการแสดงที่มีการอักเสบสะสมอยู่บริเวณข้อเข่าแล้ว
  • ปวดหัวเข่าและมีอาการบวมช้ำ มีอาการปวด บวม ช้ำ และรู้สึกร้อนในข้อเข่า กรณีนี้เป็นสัญญาณถึงการอักเสบรุนแรง ทั้งกับตัวกระดูกหรือเส้นเอ็นโดยรอบ หรือมีเลือดออกในข้อเข่าได้ โดยมากจะมีไข้ ตัวร้อนร่วมด้วย
  • ปวดร้าวลงขา งอเข่าได้ไม่สุด มีอาการปวดร้าวลงขา ไม่สามารถงอเข่าได้สุด เดินหรือยืนลำบาก อาการลักษณะนี้อาจจะมีอะไรติดขัดอยู่ในข้อ มีหินปูนเกาะที่ข้อเข่า หรือข้อเข่าสึก เสี่ยงต่อการยืนหรือเดินไม่ได้ในอนาคต

‘ข้อเข่าเสื่อม’ ไม่ใช่โรคของผู้สูงอายุ เมื่อ Gen Y กลายเป็นกลุ่มเสี่ยง

อาหารกับโรคข้อเข่าเสื่อม

อาหารที่จะช่วยบรรเทาอาการข้อเข่าเสื่อม

  • อาหารที่มีกรดไขมันโอเมก้า3 เช่น ปลาแซลมอน ปลาทูน่า ปลาทะเล ปลาน้ำจืดเนื้อขาว
  • อาหารที่อุดมไปด้วยวิตามินซี เช่น ส้ม ฝรั่ง สับปะรด มะละกอสุก มะเขือเทศ
  • อาหารที่อุดมไปด้วยวิตามินดี ได้แก่ นม ไข่ ปลาซาดีน
  • อาหารที่มีสารต้านอนุมูลอิสระและเบตาแคโรทีน เช่น แครอท ผักปวยเล้ง บรอกโคลี ผักโขม กระหล่ำปลีม่วง ข้าวโพดและฟักทอง
  • อาหารที่มีแคลเซียมสูง เช่น งาดำ ถั่วเหลืองหรือผลิตภัณฑ์จากถั่วเหลือง รวมไปถึงการกินปลาตัวเล็กตัวน้อยจะช่วยเสริมแคลเซียมให้กระดูกแข็งแรง

อาหารที่ผู้ป่วยข้อเข่าเสื่อมควรเลี่ยง

  • อาหารที่มีรสเค็มหรือเกลือในปริมาณมาก
  • อาหารที่มีรสหวานหรือน้ำตาลในปริมาณมาก
  • หลีกเหลี่ยงอาหารทอด เช่น ทอดมัน ไก่ทอด ลูกชิ้นทอด
  • แป้งขัดขาว เช่น ธัญพืชต่าง ๆ ที่ขัดขาว พาสต้า ขนมปังขาว
  • กาแฟหรือเครื่องดื่มที่มีคาเฟอีน หากได้รับในปริมาณมากและเป็นประจำ อาจทำให้แคลเซียมในร่างกายเสียสมดุล
  • หลีกเหลี่ยงการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ อาจกระตุ้นให้เกิดอาการต่าง ๆ ที่รุนแรงตามมาได้

แนวทางการรักษาโรคข้อเข่าเสื่อม

1.การรักษาที่ไม่ใช้ยา (non-pharmacological therapy) : เป็นการปฏิบัติตัวหรือการปรับเปลี่ยนการดำเนินชีวิต เพื่อการกำจัดสาเหตุของโรค เช่น การลดน้ำหนัก การออกกำลังกาย การบริการข้อ การใช้ข้ออย่างถูกต้อง

2.กายภาพบำบัด เป็นการฟื้นฟูบริหารกล้ามเนื้อ เพื่อบรรเทาอาการปวดบริเวณข้อเข่า เช่น การทำอัลตราซาวด์ การใช้เลเซอร์รักษา หรืออาจใช้ผ้ารัดเข่า เฝือกอ่อนพยุงเข่า แต่ข้อควรระวังคือ ถ้าใช้นานๆ จะทำให้กล้ามเนื้อลีบได้

3.การใช้ยา  (pharmacological therapy) :  อาจจะเป็นแบบรับประทาน หรือแบบฉีดก็ได้ ในส่วนยากินบรรเทาอาการ ปัจจุบันมีการใช้ยาหลายกลุ่ม ได้แก่ เช่น ยาแก้ปวดลดการอักเสบที่ไม่ใช่สเตียรอยด์ (Steroid) ยาช่วยปรับเปลี่ยนโครงสร้างของข้อ ซึ่งต้องดูแลและสั่งจ่ายโดยแพทย์

4.การรักษาโดยการผ่าตัด :  ปัจจุบันได้รับความนิยมมากขึ้น เนื่องจากได้ผลดี และทำให้ผู้ป่วยกลับมาใช้ชีวิตได้เป็นปกติโดยไม่เจ็บเข่าทรมานอีก ซึ่งวิธีการผ่าตัดมีหลายวิธีดังนี้

  • การผ่าตัดเพื่อให้ผิวข้อเข้ามาชิดกัน (Arthrodesis)
  • การผ่าตัดปลี่ยนข้อเข่า (Arthroplasty)
  • การตัดเปลี่ยนแนวกระดูก (Osteotomy)

โดยวิธีการผ่าตัดแต่ละแบบจะเหมาะสมกับลักษณะปัญหาของคนไข้และบุคคล ซึ่งก่อนทำการรักษาด้วยการผ่าตัด จะมีการตรวจประเมินและวางแผนการรักษาร่วมกับคนไข้  ด้วยการพิจารณาจากประวัติความเจ็บป่วย ลักษณะการเดิน ตรวจดูรูปร่างของเข่า ลักษณะกล้ามเนื้อขาและรอบเข่า สังเกตอาการอักเสบ ปวด บวม แดง ร้อน ดูการเคลื่อนไหวของข้อ การงอ การเหยียด และฟังเสียงกรอบแกรบ ร่วมกับการทำเอกซเรย์ CT scan หรือ MRI ร่วมด้วย

แม้โรคข้อเข่าเสื่อมจเกิดขึ้นได้เมื่ออายุมากขึ้น แต่ก็สามารถชะลอ รวมถึงในปัจจุบันก็มีแนวทางในการรักษาที่เหมาะสมในแต่ละบุคคลหลายวิธี ดังนั้นใครที่้เริ่มมีความผิดปกติที่ข้อเข่า ควรให้ความสำคัญและเริ่มดูแลรักษาอาการตั้งแต่เนิ่นๆ ในกรณีที่เริ่มมีอาการเจ็บปวด ใช้ชีวิตลำบาก แนะนำควรรีบปรึกษาแพทย์ เพื่อเข้ารับการตรวจวินิจฉัยหาสาเหตุที่แท้จริง พร้อมวางแนวทางการรักษาอย่างถูกวิธี ก็จะช่วยลดความรุนแรง การลุกลาม และลดความเจ็บปวดทรมาน ให้กลับมามีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นได้