svasdssvasds
เนชั่นทีวี

สุขภาพ

3 สัญญาณเตือน Burnout เครียดแค่ไหนเรียก “หมดไฟ”

08 สิงหาคม 2566
เกาะติดข่าวสาร >> Nation Story
logoline

อายุน้อยยิ่งเสี่ยง Burnout Syndrome สูง ซูม 3 สัญญาณเตือน...เครียดแค่ไหนเรียก “หมดไฟ” และเทคนิคเติมไฟที่วัยทำงานต้องรู้

เมื่อ “ภาวะหมดไฟ” หรือ  Burnout Syndrome เป็นปรากฏการณ์ระดับโลก โดยองค์การอนามัยโลก (WHO) ประกาศว่า Burnout Syndrome เกิดจากความเครียดเรื้อรังในที่ทำงาน ส่งผลทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงด้านจิตใจ กลายเป็นภาวะหมดไฟในการทำงาน นับเป็นภาวะทางสุขภาพซึ่งจำเป็นต้องได้รับการดูแลรักษา เพราะส่งผลทำให้เกิด “โรคซึมเศร้า” ได้ในระยะยาว เป็นสาเหตุของการเสียชีวิตสูงสุดเป็นอันดับที่ 2 ในกลุ่มคนรุ่นใหม่ทั่วโลก อีกทั้งโรคซึมเศร้ายังเป็นสาเหตุอันดับ 9 ที่ทำให้คนไทยเจ็บป่วย

3 สัญญาณเตือน Burnout เครียดแค่ไหนเรียก “หมดไฟ”

อาการของ “ภาวะหมดไฟในการทำงาน” ที่ปรากฏคือ ความเหนื่อยล้าทางอารมณ์ รู้สึกสูญเสียพลังงานทางจิตใจ มองความสามารถในการทำงานของตนเองในเชิงลบ ขาดความรู้สึกประสบความสำเร็จ มองความสัมพันธ์ในที่ทำงานไปในทางลบ รู้สึกเหินห่างจากคนอื่นไม่ว่าจะเป็นผู้ร่วมงานหรือลูกค้า

ซึ่งหากปล่อยไว้อาจส่งผลด้านร่างกาย ทำให้มีอาการเหนื่อยล้าเรื้อรัง ปวดเมื่อย ปวดศีรษะ ส่วนผลด้านจิตใจ ทำให้บางคนขาดแรงจูงใจ ไร้ความหวัง ส่งผลให้นอนไม่หลับ เสี่ยงต่อการใช้สารเสพติดเพื่อจัดการกับอารมณ์ ส่วนผลต่อการทำงาน เช่น ขาดงานบ่อย ประสิทธิภาพการทำงานลดลง และรุนแรงถึงขั้นลาออก

อายุน้อยยิ่งเสี่ยง Burnout Syndrome สูง

สถานการณ์ Burnout Syndrome ในประเทศไทยน่ากังวลไม่น้อย ผลสำรวจโดยวิทยาลัยการจัดการมหาวิทยาลัยมหิดล พบว่า คนวัยทำงานในกรุงเทพฯ ร้อยละ 12 อยู่ในภาวะหมดไฟ และร้อยละ 57 มีความเสี่ยงสูงที่จะเข้าสู่ภาวะหมดไฟ

ที่น่าสังเกตคือ ยิ่งอายุน้อยยิ่งมีความเสี่ยงสูงที่จะป่วยเป็น Burnout Syndrome สูง

  • กลุ่มเจน Z หรือช่วงอายุต่ำกว่า 22 ปี กำลังตกอยู่ในภาวะหมดไฟมากที่สุดถึงร้อยละ 17
  • กลุ่มเจน Y หรือช่วงอายุ 23 – 38 ปี ร้อยละ 13
  • กลุ่มเบบี้บูมเมอร์ หรือช่วงอายุ 55 - 73 ปี อยู่ในภาวะหมดไฟเพียงร้อยละ 7

หากแยกเป็นกลุ่มอาชีพ คนที่มีภาวะ Burnout Syndrome มากที่สุดคือ

  • พนักงานรัฐวิสาหกิจ (ร้อยละ 77)
  • พนักงานบริษัทเอกชน (ร้อยละ 73)
  • ข้าราชการ (ร้อยละ 58)
  • ธุรกิจส่วนตัว (ร้อยละ 48)

ผลสำรวจนี้ยังระบุเหตุผลหลักซึ่งทำให้เกิดภาวะหมดไฟในการทำงาน คือปริมาณงานและคนที่ไม่สมดุลกัน รวมทั้งการใช้เครื่องมือหรือระบบที่ไม่เหมาะสม ทำให้ลดเวลาและกระบวนการทำงานไม่ได้ หัวหน้างานขาดความรับผิดชอบ ไม่ฟังความคิดเห็น และโครงสร้างองค์กรที่ไม่มีความยืดหยุ่น

3 สัญญาณเตือน Burnout เครียดแค่ไหนเรียก “หมดไฟ”

3 สัญญาณเตือน...เครียดแค่ไหนเรียก “หมดไฟ”

1. สัญญานเตือนทางอารมณ์ รู้สึกหดหู่ เศร้า อารมณ์เปลี่ยนแปลงง่าย หงุดหงิด ไม่พอใจในงานที่ทำ

2. สัญญานเตือนทางความคิด เริ่มมองงานหรือคนอื่นในแง่ร้าย ระแวงง่ายขึ้น โทษคนอื่น สงสัยความสามารถของตนเอง และอยากเลี่ยงปัญหา

3. สัญญานเตือนทางพฤติกรรม มีอารมณ์หุนหันพลันแล่น ผัดวันประกันพรุ่ง ทำกิจกรรมสร้างความสุขลดลง เริ่มมาทำงานสายบ่อยขึ้น บริหารจัดการเวลาแย่ลง

เทคนิคเติมไฟวัยทำงาน

ผลสำรวจพบว่า คนที่อยู่ในภาวะหมดไฟมักแก้ปัญหาแตกต่างกัน “ผู้ชาย” เลือกคลายเครียดด้วยการเล่นเกม ออกกำลังกาย และการใช้โซเชียลเน็ตเวิร์ก ขณะที่ “ผู้หญิง” มักพูดคุยกับเพื่อน ใช้โซเชียลมีเดีย และการพูดคุยกับครอบครัวเพื่อป้องกันภาวะหมดไฟ โดยเราสามารถเริ่มต้นนำความสมดุลกลับมาสู่ชีวิตด้วยวิธีการดังนี้

  1. ขอความช่วยเหลือ พูดคุย ปรึกษา ระบายความเครียดกับคนที่สามารถช่วยเหลือได้ ไม่ว่าจะเป็นเพื่อนร่วมงาน หัวหน้า ลูกน้อง หรือครอบครัว
  2. พบปะสังสรรค์ มีกิจกรรมนอกเวลางานกับเพื่อนร่วมงานบ้าง งดหรือลดพบปะพูดคุยกับคนที่ทำให้รู้สึกแย่
  3. เข้าร่วมกลุ่มที่ช่วยให้ชีวิตรู้สึกดีและมีความหมายมากขึ้น เช่น กลุ่มศาสนา กลุ่มทางสังคม จิตอาสาต่างๆ ทำให้มีเพื่อนใหม่ ช่วยให้มีความสุขทางใจ ลดความเครียด
  4. ปรับเปลี่ยนมุมมองและค้นหาคุณค่าในงานที่ทำอยู่ รวมทั้งสร้างความสมดุลระหว่างงานและชีวิตด้านอื่นๆ
  5. ผูกมิตรกับเพื่อนร่วมงาน ทำให้ความเครียดในการทำงานลดลง บรรยากาศในการทำงานดีขึ้น มีการช่วยเหลือเกื้อกูลกัน ทำงานได้ผลดีขึ้น ผ่านช่วงเวลายากลำบากในการทำงานได้ง่ายขึ้น
  6. พัก ลางานไปใช้เวลาในสภาพแวดล้อมใหม่ เพื่อฟื้นฟูร่างกายและจิตใจ

 

logoline