17 พฤษภาคม 2567 ศูนย์นิติศาสตร์ธรรมศาสตร์ ได้จัดกิจกรรมเนื่องในโอกาสรำลึก 32 ปีพฤษภาประชาธรรม 2535 โดยมีเวทีเสวนา "รำลึกการเลือก สว.และประชามติรัฐธรรมนูญฉบับใหม่กับอนาคตประเทศไทย"
โดย "ผศ.ดร.ปริญญา เทวานฤมิตรกุล" อาจารย์คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวว่า จะต้องจัดทำรัฐธรรมนูญที่ทุกฝ่ายยอมรับ การเลือก สว. ที่จะมีขึ้น จะเป็นบันไดสู่ความเป็นประชาธิปไตย แต่ก็ห่วงระบบการเลือก เพราะเป็นระบบที่มีปัญหามากที่สุด อีกทั้ง กกต.ออกระเบียบที่ไม่เอื้อให้คนทั่วไป ที่ไม่มีพรรคพวก ไม่มีประโยชน์จูงใจคนอื่น มีโอกาสเป็นสว.ได้
ทั้งนี้ ยังมีเวลาที่จะสามารถแก้ระเบียบ กกต. เกี่ยวกับผู้สังเกตการณ์ พร้อมยังเห็นว่า กกต. ควรประกาศให้ชัด เปิดโอกาสให้สื่อมวลชนเข้าไปสังเกตการณ์ และเห็นควรให้มีการบันทึกภาพหรือไลฟ์สด ทางออนไลน์ เพื่อเห็นกระบวนการในการเลือก ให้ประชาชนทั่วทั้งประเทศ มีส่วนร่วมในการตรวจสอบและอยากให้เปิดโอกาสให้ผู้สมัครสามารถแนะนำตัวเพิ่มเติม
ทั้งนี้ นอกเหนือจากแนะนำผ่านกระดาษ A4 เพียง 2 แผ่น เพราะเป็นการจำกัดสิทธิ และเชื่อว่าวันที่ 2 ก.ค. จะประกาศรายชื่อ สว. 200 คนได้ยาก พร้อมเชิญชวนให้ทุกคนเข้ามามีส่วนร่วมและสมัครเข้าสู่กระบวนการเลือก
"ยังเห็นว่าการเชิญชวนให้คนเข้ามาสมัคร สว. สามารถทำได้ แต่การจ่ายเงินให้ไปสมัคร เป็นสิ่งที่ กกต. ชี้ว่าอาจฮั้วกัน อีกทั้ง เห็นว่าการเชิญชวนให้เลือกใครโดยไม่ได้รับผลประโยชน์ สามารถทำได้ แต่ กกต.ชี้ว่าทำไม่ได้" ผศ.ดร.ปริญญา กล่าว
ด้าน "รศ.ดร.พิชาย รัตนดิลก ณ ภูเก็ต" อาจารย์คณะพัฒนาสังคมและยุทธศาสตร์การบริหาร สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) กล่าวว่า คณะของ "นายมีชัย ฤชุพันธุ์" อดีตประะธานคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ ที่ร่างรัฐธรรมนูญ 2560 พยายามออกแบบการเลือก สว. มาเพื่อแก้ปัญหาที่เคยเกิดในปี 2540
อย่างไรก็ตาม ซึ่งตอนนั้น สว. มาจากการเลือกตั้ง ก็ถูกครหาว่าเป็นสภาผัวเมีย จึงมองว่าการเลือกตั้งอาจไม่ใช่คำตอบ แต่พอปี 2550 หลังการรัฐประหาร ก็มีการแก้ไขย้อนกลับให้เลือกตั้งครึ่งหนึ่ง สรรหาครึ่งหนึ่ง ซึ่งปี 2560 กลับถอยหลังเข้าคลอง เพราะมาจากการแต่งตั้งของคณะรัฐประหาร
"กกต. บอกว่า 2 ก.ค. จะได้ สว. 200 คน แน่นอน ผมก็จะจับตาดูว่าจริงหรือไม่" รศ.ดร.พิชาย กล่าว
ขณะที่ "รศ.ดร.โอฬาร ถิ่นบางเตียว" อาจารย์คณะรัฐศาสตร์และนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยบูรพา ตั้งคำถามว่า มี สว.ไว้ทำไม เพราะหลายบทบาทถูกใช้ในทางการเมืองมากกว่า ไม่ตรงไปตรงมา เพราะฉะนั้น สังคมควรถกเถียงกันสักครั้งว่า มี สว.ไว้ทำไม จะเอาไว้ตรวจสอบ กลั่นกรองกฎหมาย หรือเอาไว้เป็นเครื่องมือ เป็นฐานที่มั่นของกลุ่มชนชั้นนำทางการเมือง หรือกลุ่มการเมืองที่ตัวเองอยากให้ครองอำนาจ
ขณะเดียวกัน มองว่า 2 วันแรกที่เปิดให้คนรับใบสมัคร มีจำนวนไม่มาก ซึ่งถ้าไม่มีบางกลุ่มเชิญชวน รณรงค์ให้คนไปรับใบสมัคร ก็แทบจะไม่มีคนเลยหรือไม่ จึงมองว่า การออกแบบเลือก สว. ครั้งนี้ เป็นการกันกีดกันคนออกจากการมีส่วนร่วมทางการเมือง ซึ่งขัดหลักการประชาธิปไตย ที่ส่งเสริมให้ประชาชนมีส่วนร่วมมากที่สุด
"ถ้าเป็นแบบนี้คนจะถอยออกจากการมีส่วนร่วม แล้วจะมีคนใช้โอกาส ใช้กลไกของตัวเองให้ได้ สว. 200 คน รวมถึงการจ่ายค่าสมัคร 2,500 บาท ก็ไม่เสมอภาค ถ้าผู้สมัครไม่มีกำลังจ่าย ก็อยากถาม กกต. ว่ามีตรรกะอะไรรองรับในหลักการนี้ เพราะมันสร้างข้อจำกัด และโอกาสของประชาชน ในการเข้าไปขอส่วนแบ่งในอำนาจ แล้วความเป็นมนุษย์อยู่ตรงไหน" รศ.ดร.โอฬาร ระบุ
ด้าน "ผศ.วันวิชิต บุญโปร่ง" อาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต มองว่า การเลือก สว. ครั้งนี้ เป็นภาวะการเชื่อมจิตครั้งสุดท้ายกับคณะรัฐประหาร ที่ทำให้เห็นว่ามีความพยายามรักษาอำนาจ สร้างความซับซ้อนสร้างเงื่อนไขและสร้างปริศนาทางความคิด ว่าการได้มาซึ่งสว. 200 คน
ทั้งนี้ ตกใจที่มีผู้สนใจสมัครน้อย ประชาชนยังไม่ตื่นตัว ส่วนข้อสงสัยว่า มีสว.ไว้ทำไม ตนเห็นว่ามี สว.ไว้จอดรถทัวร์ ซึ่งสิ่งที่อยากเห็นหลังจากนี้ ไม่ใช่เพียงการรณรงค์ในแวดวงวิชาการ แต่ต้องทุกภาคส่วน พร้อมต้องตั้งคำถามตรงไปยัง กกต. ถึงกระบวนการในการเลือกไขว้ จำนวนสัดส่วน ตัวเลขบางสาขาอาชีพ ไม่ได้มีมากพอ บางสาขาอาชีพผู้สมัครอาจมาก ขณะเดียวกัน
"ผมยกตัวอย่าง ปากีสถาน สว.ที่มาจากการเลือกตั้ง ได้มีการเขียนในรัฐธรรมนูญว่า ต้องมีสัดส่วนเป็นสุภาพสตรีไม่น้อยกว่าร้อยละ 17 ซึ่งเป็นการกำหนดกระจายบทบาทเรื่องสิทธิเสรีภาพ ให้สมเหตุสมผล นำไปสู่การลดความเคลือบแคลง" ผศ.วันวิชิต กล่าว
"ดร.ปุรวิชญ์ วัฒนสุข" อาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวถึง การเลือก สว. 20 กลุ่มอาชีพ ว่า ยังหาเหตุผลรองรับไม่ได้ว่า ใช้เกณฑ์ใดในการแบ่ง ซึ่งไทยถือเป็นประเทศแรกในโลก และตนพยายามหาคำตอบว่า ทำไมต้องใช้วิธีการเลือกกันเอง
"โดยเชื่อว่าอยู่บนพื้นฐานความไม่ไว้วางใจประชาชน จึงมีกระบวนการซับซ้อน ซ่อนเงื่อน ใช้วิธีเลือกไขว้ เป็นการทำให้งง อย่างจงใจ" ดร.ปุรวิชญ์ กล่าว
อย่างไรก็ตาม สว.ชุดใหม่มีความสำคัญในการกำหนดและตัดสินการร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ หลังเคยมีข้อเสนอแก้ไขรัฐธรรมนูญถึง 26 ครั้ง การเลือก สว. ครั้งนี้ จึงเป็นเดิมพันมากที่สุด และเป็นเหตุผลที่ประชาชนจะต้องมีส่วนร่วมมากที่สุด