svasdssvasds
เนชั่นทีวี

สุขภาพ

ขีดจำกัดของร่างกาย จะมีชีวิตอยู่ได้นานแค่ไหนถ้าไม่ได้กินอาหาร

เปิดไทม์ไลน์ “อันตรายของการอดอาหาร“ ตั้งแต่ช่วงเริ่มต้นจนเข้าสู่ขั้นเป็นอันตรายต่อสุขภาพ ช็อก หมดสติ และเสียชีวิต

ในทุกๆ วันร่างกายเราจะได้รับพลังงานจากอาหารที่กินเข้าไป ส่วนที่เกินจากที่ร่างกายใช้จะมีการสะสมเอาไว้เพื่อนำไปใช้ในตอนที่ขาดสารอาหาร เรียกว่า “ไกลโคเจน” โดยจะสะสมบริเวณตับและกล้ามเนื้อ ใช้สำหรับเป็นแหล่งของพลังงาน เมื่อปริมาณน้ำตาลในเส้นเลือดลดลง หรือร่างกายขาดสารอาหาร ตับจะเปลี่ยนไกลโคเจนให้เป็นน้ำตาลกลูโคส เพื่อให้ร่างกายดึงมาใช้ แต่ถ้าไม่มีอาหารเข้าสู่ร่างกายเลย จะเกิดอะไรขึ้นบ้างมาดูกัน

ขีดจำกัดของร่างกาย จะมีชีวิตอยู่ได้นานแค่ไหนถ้าไม่ได้กินอาหาร

เปิดไทม์ไลน์ “อันตรายของการอดอาหาร“

เริ่มต้นใน 3-4 ชม.แรกของอดอาหาร

ร่างกายจะดึงพลังงานจากอาหารมื้อล่าสุดที่กิน เพื่อเอามาใช้งานก่อน หลังจากนั้นถ้าพลังงานตรงนี้หมด จะไปดึงพลังงานส่วนไกลโคเจนมาใช้แทน ขั้นนี้ยังสบายๆ อยู่

อดอาหาร 24 ชม. (1 วัน)

ร่างกายจะเริ่มโหย อ่อนเพลียนิดหน่อย ท้องจะเริ่มส่งเสียงร้องฟ้องว่าต้องการอาหาร ระดับโซเดียมในเลือดสูงขึ้น ความดันเพิ่มขึ้นเล็กน้อย พอไกลโคเจนในเลือดหมดแล้ว ร่างกายจะดึงพลังงานมาใช้ก็คือกลูโคสหรือน้ำตาลส่วนที่เล็กที่สุดในร่างกาย โดยหลักๆ จะดึงกลูโคสไปใช้งานกับสมองก่อน เพราะเป็นส่วนที่สำคัญที่สุด

อดอาหาร 36 ชม.

ระดับคลอเรสเตอรอลในเลือดจะลดลง เนื่องจากไม่มีสารอาหารประเภทคาร์บหรือไขมันเข้าสู่ร่างกาย ถ้ากลูโคสหมด ร่างกายจะดึง “โปรตีน” มาใช้ ดึงไขมันที่สะสมใต้ผิวหนังมาใช้ ผิวหนังจะเริ่มซีดลง ลิ้นแห้ง และอาจมีตุ่มเล็กๆ ขึ้นบริเวณลิ้น เริ่มมีกลิ่นปากที่รุนแรงขึ้น เพราะของเสียจากการเผาไขมันจำพวกคีโตนทำให้มีกลิ่นที่รุนแรง

อดอาหาร 48 ชม. (2 วัน)

ดวงตาจะเริ่มล้าอ่อนแรง อาจพบอาการแทรก เช่น ปวดหัว รู้สึกไม่มีแรง ร่างกายจะขุดไขมันสะสมมาใช้อย่างจริงจัง ปกติไขมันสำรองของคนทั่วไป มักจะสามารถถูกเอามาเผาผลาญเป็นพลังงานต่อไปได้อีกอย่างน้อย 60-80 ชม. ใครที่มีน้ำหนักตัวเยอะ หรือมีไขมันสะสมเยอะก็จะอยู่ได้นานขึ้น

อดอาหาร 60 ชม.

เริ่มเข้าวันที่ 3 ความหิวจะลดลง ตอนนี้ร่างกายจะเริ่มดึงทั้งไขมันและดึงกล้ามเนื้อมาเผาผลาญพลังงานอย่างเต็มที่ เป็นจังหวะที่ร่างกายเราจะเริ่มปรับตัวได้แล้ว ถ้ายังมีน้ำกินอยู่ จะรู้สึกตัวเบา และค่อนข้าง Active เป็นพิเศษได้อีกหลายวัน ถือเป็นกลไกธรรมชาติเหมือนสั่งให้เราห้ามตาย และพยายามลุกออกไปไปหาอาหารมาเติมลงกระเพาะให้ได้

อดอาหาร 72 ชม. (3 วัน)

รู้สึกตัวเบา โหวงๆ อาจมีวูบๆ บ้างเวลาลุกเร็วๆ เพราะน้ำตาลในเลือดเราลดลงอย่างฮวบฮาบ รวมถึงดึงไขมันและกล้ามเนื้อมาเป็นพลังงานแทน

เข้าสู่ขั้นอันตรายจากการอดอาหาร

อดอาหาร 90 ชม. 

ตรงนี้เริ่มน่าเป็นห่วงเล็กน้อย เพราะปกติแล้วเราจะกินคาร์โบไฮเดรตจากอาหารต่างๆ แต่พอเราขาดคาร์บจากการกิน ร่างกายเราเลยไปทำปฏิกิริยากับโปรตีนและไขมันในเส้นเลือด ทำให้เลือดในร่างกายเริ่มค่อยๆ เสียไปเรื่อยๆ ทีละน้อยๆ ส่วนการดำรงชีพก็ยังคงดึงชั้นไขมันมาใช้ได้อยู่เหมือนเดิม

อดอาหาร 168 ชม. (1 สัปดาห์)

จุดวิกฤตคือประมาณ 7-10 วัน ร่างกายเคย Active หรือกระปรี้กระเปร่า จะเริ่มหมดเรี่ยวแรงไม่สามารถขยับไปไหนได้แล้ว อวัยวะภายในตับไตเริ่มพังทีละส่วน เนื่องจากเลือดเป็นพิษ ถ้าเลือดเป็นพิษถึงระดับ 30% ของเลือดในร่างกายทั้งหมดก็จะเป็นจุดที่อันตรายที่สุด เพราะทำให้มีสารพิษวิ่งเข้าสู่สมองได้ นับว่าเป็นช่วงเวลาแห่งความยากลำบากของจริง

จะเห็นได้ว่าถ้ากระบวนขาดสารอาหารยังเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องจนร่างกายดึงทุกส่วนมาใช้หมดแล้ว ก็จะเริ่มดึงเอา “โปรตีน” ซึ่งเป็นแหล่งพลังงานแหล่งสุดท้ายที่มีอยู่มาใช้ทดแทน โปรตีนเหล่านี้อยู่ในกล้ามเนื้อ กระดูก ผิวหนัง และเส้นผม เมื่อโปรตีนในร่างกายถูกย่อยแล้วจะกลายเป็น “กรดอะมิโน” เพื่อดูดซึมเข้าสู่กระแสเลือด แล้วจึงจะถูกเปลี่ยนเป็นกลูโคสอีกครั้งที่ตับ ทำให้สมองของเรายังทำงานอยู่ได้

สุดท้าย เมื่อร่างกายดึงเอาโปรตีนมาใช้ มวลกล้ามเนื้อต่างๆ ในร่างกายจึงจะค่อยๆ ลีบเล็ก แบนลงไปเรื่อยๆ ทำให้ร่างกายซูบผอม อ่อนเพลีย และถ้ายังขาดอาหารต่อไป ร่างกายจะไม่มีพลังงานอะไรให้ออกมาใช้เพื่อดำรงชีวิตได้อีก ก็จะเสียชีวิตได้ในที่สุด จึงนับว่าเป็นโชคดีที่คนเราสามารถมีชีวิตอยู่ได้โดยไม่ต้องทานอาหารได้นานถึง 3 สัปดาห์ หรือหากมีร่างกายแข็งแรงเป็นทุนเดิม อาจอยู่ได้ถึง 1 เดือน ถึง 1 เดือนครึ่ง

"หมอหมู" ไขข้อสงสัย

รศ.นพ.วีระศักดิ์ จรัสชัยศรี อาจารย์แพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านนิติเวชศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ (มศว) โพสต์ข้อความลงเฟซบุ๊ก หมอหมู วีระศักดิ์ พูดถึงเรื่องมนุษย์อดอาหารได้นานเท่าไหร่

โดยระบุว่า "โดยทั่วไป มนุษย์สามารถอดอาหารได้นานถึง 30-60 วัน โดยไม่ต้องได้รับอาหารใดๆ ระยะเวลาที่แน่นอนขึ้นอยู่กับหลายปัจจัย เช่น

  • น้ำหนักตัว: คนที่มีไขมันสะสมในร่างกายมาก จะสามารถอดอาหารได้นานกว่า เพราะร่างกายเผาผลาญไขมันเพื่อใช้เป็นพลังงาน
  • อายุ: เด็กและผู้สูงอายุมีระบบเผาผลาญที่อ่อนแอกว่า และมีระบบภูมิคุ้มกันที่ต่ำกว่า
  • สุขภาพโดยรวม: คนที่มีโรคประจำตัว จะมีโอกาสเสียชีวิตจากการอดอาหารเร็วกว่าคนทั่วไป
  • การเข้าถึงน้ำ: การขาดน้ำเป็นอันตรายต่อร่างกายมากกว่าการอดอาหาร ร่างกายจะทนอยู่ได้โดยไม่ต้องดื่มน้ำเพียง 3-5 วัน

สาเหตุหลักของการเสียชีวิตเนื่องจากการอดอาหาร มักเกิดจาก การติดเชื้อหรือเป็นผลมาจากการสลายตัวของเนื้อเยื่อ: สิ่งนี้เกิดขึ้นเนื่องจากร่างกายไม่สามารถผลิตพลังงานได้เพียงพอที่จะต่อสู้กับแบคทีเรียและไวรัส เมื่ออาการดำเนินไป ระบบภูมิคุ้มกันของร่างกายจะอ่อนแอลง และไม่สามารถป้องกันเชื้อโรคทั่วไปที่อาจไม่สามารถต่อสู้ได้อีกต่อไป

ภาวะแทรกซ้อนอื่นๆ: การอดอาหารอาจทำให้ระบบต่างๆ ในร่างกายเกิดความตึงเครียด เพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดภาวะแทรกซ้อน เช่น:

อวัยวะล้มเหลว: ไต ตับ และหัวใจมีความเสี่ยงเป็นพิเศษ

ความไม่สมดุลของอิเล็กโทรไลต์: การรบกวนแร่ธาตุที่จำเป็นสามารถขัดขวางการทำงานของร่างกายที่สำคัญได้ 

การอดอาหารเชื่อมโยงสุขภาพจิต

ข้อมูลโดย นพ.โชติ เหลืองช่อสิริ แพทย์เฉพาะทางโรคระบบทางเดินอาหารและตับ โรงพยาบาลพญาไท 2 เผยว่าการที่อดอาหารนานจนเกินไป ไม่ใช่แค่เรื่องการขาดสารอาหารอย่างเดียว แต่จะเชื่อมโยงกับเรื่องจิตใจของเราด้วย เนื่องจากฮอร์โมนต่างๆ ในร่างกายเปลี่ยนแปลง ทำให้เกิดความซึมเศร้า ความหิว หรือความอยากรับประทานของคนเรานั้นก็จะลดลง