svasdssvasds
เนชั่นทีวี

ไลฟ์สไตล์

แอปเปิล ชายนิรนาม และความจริงอันน่าพิศวงในภาพของ “เรอเน มากริต”

08 พฤษภาคม 2567
เกาะติดข่าวสาร >> Nation Story
logoline

ภาพแอปเปิลสีเขียวลอยบดบังใบหน้าชายนิรนาม คือหนึ่งในภาพวาดของ เรอเน มากริต ศิลปินที่ท้าทายผู้ชมด้วยการวาดภาพที่ขัดแย้งกับความจริง

ในตอนที่ผ่านมา เราเล่าถึงรื่องราวสุดซ่าของศิลปินเซอร์เรียลิสม์ตัวพ่ออย่าง ซัลบาดอร์ ดาลี ที่ชอบทำตัวพิลึกพิลั่นเรียกร้องความสนใจจากสาธารณชนไปแล้ว ในตอนนี้เราขอกล่าวถึงศิลปินเซอร์เรียลิสม์อีกคนที่ถึงแม้จะไม่ได้มีชื่อเสียงเลื่องลืออื้อฉาวอย่างดาลี แต่ก็ได้ชื่อว่าเป็นศิลปินเซอร์เรียลิสม์คนสำคัญและมีผลงานเป็นที่รู้จักมากที่สุดในศตวรรษที่ 20 อีกคนหนึ่ง ด้วยความที่เขาเป็นคนเงียบขรึม สุขุม และค่อนข้างเก็บตัว หากแต่เก็บเอาความพิลึกพิลั่น ความมหัศจรรย์ และความคิดฝันอันน่าตื่นตะลึงทั้งหลายทั้งปวงไปใส่ไว้ในงานศิลปะของเขาจนหมดสิ้นนั่นเอง 

เขาสร้างสรรค์ภาพวาดอันแปลกประหลาดน่าพิศวงจนเกินกว่าที่ศิลปินหัวก้าวล้ำนำหน้าในยุคเดียวกันจะจินตนาการออกมาได้ ไม่ว่าจะเป็นภาพขบวนรถจักรไอน้ำที่พุ่งออกมาจากเตาผิง ภาพแตรทูบาที่กำลังลุกเป็นไฟ หรือภาพก้อนหินขนาดมหึมาที่มีปราสาทสถิตอยู่บนยอด กำลังล่องลอยอยู่ท่ามกลางหมู่เมฆบนท้องฟ้าราวกับไร้น้ำหนัก เขาซ่อนจินตนาการอันโลดโผนเอาไว้ภายใต้บุคลิกเรียบร้อย ไม่ต่างกับภาพวาดของชายที่ซ่อนใบหน้าเอาไว้หลังผลแอปเปิลของเขา ศิลปินผู้นี้มีชื่อว่า 

เรอเน มากริต (René Magritte)

เรอเน มากริต (René Magritte). ภาพจาก Wikimedia Commons
 

หรือในชื่อเต็มว่า เรอเน ฟร็องซัว กีแลน มากริต (René François Ghislain Magritte) เกิดในปี 1898 ที่เมือง Lessines ประเทศเบลเยียม เขาเป็นบุตรชายคนโตในจำนวนสามคนของ ลีโอโปลด์ ช่างตัดเสื้อผ้าและเจ้าของโรงงานอุตสาหกรรมสิ่งทอ กับ เรจินา อดีตช่างทำหมวก (เป็นเหตุให้ในเวลาต่อมา เขามักวาดภาพบุรุษสวมชุดสูทและหมวกในผลงานของเขาอยู่เสมอ) ต่อมาครอบครัวของเขาย้ายไปอยู่ที่เมือง Châtelet และที่นั่นเองที่ชีวิตวัยเด็กอันผาสุกของเรอเนน้อยก็ต้องยุติลงเมื่อแม่ของเขากระโดดแม่น้ำฆ่าตัวตาย (ตอนที่พบร่าง ใบหน้าของศพถูกคลุมปิดด้วยชุดของเธอ ซึ่งภาพนี้กลายเป็นแรงบันดาลใจให้มากริตวาดภาพตัวละครที่ถูกผ้าคลุมหัวหลายภาพในช่วงปี 1927-1928) หลังจากนั้นลีโอโปลด์ก็ย้ายครอบครัวไปอยู่ที่เมือง Charleroi

เมื่อจบไฮสคูล เรอเนที่มีฝีมือทางด้านวาดภาพก็ได้สมัครเข้าเรียนที่สถาบัน Academie des Beaux-Arts ในปี 1916-1918 ที่เมืองบรัสเซลส์ แต่ก็เลิกเรียนกลางคันด้วยความเบื่อหน่ายและคิดว่าเสียเวลา ก่อนที่จะหันเหมาสนใจแนวทางศิลปะในกระแสเคลื่อนไหว ฟิวเจอร์ริสม์ (Futurism) และ คิวบิสม์ ของ ปาโบล ปิกัสโซ (Pablo Picasso) หากในเมืองนี้เอง เขาได้พบกับสาวน้อยนาม จอร์เจ็ต แบร์เคอร์ และต่างตกหลุมรักและหมั้นหมายกัน จนลงเอยด้วยการแต่งงานกันในปี 1922 จอร์เจ็ตกลายเป็น Muse (เทพธิดาแห่งแรงบันดาลใจ) คนสำคัญของสามีของเธอ เธอเป็นนางแบบให้เขาวาดและถ่ายภาพหลายต่อหลายครั้ง 
 

ในช่วงปี 1922 เป็นช่วงเวลาอัตคัดฝืดเคืองของเหล่าศิลปิน ศิลปินหลายคนต้องหันเหไปทำงานโฆษณาหรือพาณิชย์ศิลป์ เช่นวาดภาพโปสเตอร์หรือปกแผ่นเสียง ยอดชายนายมากริตก็เป็นเช่นเดียวกัน เขาได้งานเป็นนักออกแบบวอลเปเปอร์ และในช่วงนั้นเองเขาก็เริ่มพัฒนาสไตล์การทำงานศิลปะของตัวเองขึ้นมา ประจวบกับการที่เขาได้เห็นผลงาน The Song of Love (1914) ของจิตรกรชาวอิตาเลียน จอร์จิโอ เดอ คิริโก (Giorgio de Chirico) ในนิตยสารฉบับหนึ่ง ซึ่งเป็นภาพของถุงมือแพทย์ขนาดยักษ์ข้างหนึ่งที่ถูกหมุดตรึงแขวนห้อยอยู่บนกำแพงตึกรูปทรงประหลาด เคียงข้างด้วยส่วนหัวของรูปสลักแบบกรีกโบราณ ภาพวาดนี้ทำให้มากริตรู้สึกถึง ‘สภาวะแห่งความเป็นบทกวีที่อยู่เหนือภาพวาด’ และทำให้เขาประทับใจจนอดหลั่งน้ำตาออกมาไม่ได้ เขากล่าวถึงภาพวาดนี้ว่า

“ภาพวาดที่เหมือนกับบทกวีอันเลิศเลอนี้แทนที่ภาพลักษณ์จำเจในการวาดภาพแบบเดิมๆ มันเป็นตัวแทนของการทำลายกรอบทางความคิดแบบเดิมๆ ของศิลปินที่มักจะเป็นนักโทษที่ถูกจองจำโดยพรสวรรค์ สุนทรียะ และความสามารถของตัวเอง ภาพวาดนี้เป็นวิสัยทัศน์ใหม่ที่อาจจะทำให้ผู้ชมรับรู้ถึงความโดดเดี่ยวของตนเองและได้ยินความเงียบสงัดของโลกใบนี้”

ภาพวาดของ เดอ คิริโก กระตุ้นเร้าความคิดและทิศทางแห่งการสร้างสรรค์ของมากริต ด้วยการตอบคำถามของการค้นหาปรัชญาทางศิลปะใหม่ๆ นั่นก็คือ บทกวีที่อยู่ในรูปของภาพวาด สำหรับมากริต ภาพวาดเซอร์เรียลิสม์ของเขาก็คือการเขียนบทกวีด้วยภาพวาดนั่นเอง

ศิลปินในยุคศตวรรษที่ 19 อาจทำงานศิลปะเพื่อศิลปะ (Art for art's sake) แต่มากริตต์ต้องการทำงานศิลปะที่เกี่ยวกับความคิด สำหรับเขา แนวความคิดจึงมาก่อนความงามเสมอ และย่อมแน่นอนว่าต้องเต็มไปด้วยความแปลกประหลาด ลึกลับ น่าพิศวงเป็นอย่างมาก

“ภาพวาดของผมเป็นภาพที่ผู้ชมดูชมได้โดยไม่ได้ซุกซ่อนความหมายอะไรเอาไว้ ถึงแม้มันจะทำให้รู้สึกถึงความลึกลับ และแน่นอนว่าเมื่อใครบางคนได้ดูภาพของผม เขาก็มักจะถามตัวเองว่า “นี่มันหมายความว่าอะไรกันแน่? ซึ่งอันที่จริงมันไม่มีความหมายอะไรเลย เพราะความลึกลับนั้นไม่มีความหมายอะไร มันเป็นสิ่งที่ไม่อาจเข้าใจได้ด้วยเหตุผล"

The Lovers II (1928). ภาพจาก www.renemagritte.org

มากริตสร้างสรรค์ผลงานที่มีรายละเอียดอันโดดเด่นเหนือธรรมดา และมีเรื่องราวที่ดูเหมือนจะเป็นไปได้แต่ในความฝันเท่านั้น ไม่ว่าจะเป็นผลงาน Dangerous Liaisons (1926) ภาพวาดผู้หญิงเปลือยยืนถือกระจกเงาที่สะท้อนภาพด้านหลังของตัวเธอออกมา หรือภาพชายหญิงใส่ผ้าคลุมหัวมิดชิดจูบกันใน The Lovers II (1928) หรือผลงาน Attempting the Impossible (1928) ภาพวาดตัวเขาเองกำลังยืนวาดภาพอยู่ข้างๆ ผู้หญิงเปลือยนางหนึ่งในห้อง ซึ่งมันก็คงไม่มีอะไรแปลกประหลาดถ้าหากผู้หญิงคนนั้นจะไม่ใช่ภาพที่เขากำลังวาดขึ้นมา หนำซ้ำเขายังวาดแขนข้างหนึ่งของเธอยังไม่เสร็จเลยด้วยซ้ำไป! ผลงานเหล่านี้ของเขาแสดงให้เห็นถึงภาษาภาพอันโดดเด่นเปี่ยมด้วยเอกลักษณ์เฉพาะตัว

Attempting the Impossible (1928). ภาพจาก www.renemagritte.org

ในช่วงปลายยุค 1920 มากริตเริ่มค้นหาความเชื่อมโยงระหว่างภาพและถ้อยคำในงานศิลปะของเขา เขาสร้างผลงาน The Treachery of Images (1928-1929) ซึ่งเป็นภาพของกล้องยาสูบธรรมดาๆ ที่วาดอย่างประณีตงดงาม ราวกับเป็นภาพประกอบในงานโฆษณา ใต้กล้องยาสูบมีข้อความเขียนด้วยลายมือว่า "Ceci n'est pas une pipe." (“นี่ไม่ใช่กล้องยาสูบ”) ซึ่งก่อให้เกิดความงุนงงสงสัยแก่ผู้ชมเป็นล้นพ้น ว่ามันหมายถึงอะไรกันแน่?

The Treachery of Images (1928-1929). ภาพจาก www.renemagritte.org

ความหมายของมากริตก็คือ ถึงจะเป็นภาพวาดกล้องยาสูบ  แต่มันก็ไม่ใช่กล้องยาสูบจริงๆ เพราะเราหยิบกล้องในภาพออกมาสูบไม่ได้ มันเป็นแค่ภาพของสิ่งของ แต่ไม่ใช่ของสิ่งนั้นจริงๆ  มากริตเล่นกับแนวคิดที่ว่า ภาพและถ้อยคำไม่ได้มีค่าเท่ากัน มันสามารถกระตุ้นให้เรานึกถึงกันและกันได้ หากแต่แทนที่กันและกันไม่ได้ นี่เป็นมุกตลกทางภาพที่มากริตโปรดปราน และใช้ในงานศิลปะของเขาเรื่อยมา (ซึ่งต่อมาเป็นแรงบันดาลให้มุกตลกทางภาพที่ส่งต่อกันแพร่หลายในโลกอินเตอร์เน็ตอย่าง มีม (meme) นั่นเอง)

ในช่วงเวลาใกล้เคียงกัน นักค้างานศิลปะชาวบรัสเซลส์เซ็นสัญญากับมากริต ซึ่งทำให้เขาไม่จำเป็นต้องทำงานพาณิชย์ศิลป์อีกต่อไป ในปี 1928 เขาและภรรยาย้ายไปอยู่ที่ปารีส ฝรั่งเศส เพื่อเข้าร่วมขบวนการเซอร์เรียลิสม์ที่มี อองเดร เบรอตง (André Breton) เป็นผู้นำ ซึ่งเน้นในการแสดงออกทางจิตอย่างอิสระ (free association) และการตีความความฝัน (dream interpretation) และสนับสนุนการใช้ภาพในห้วงฝันมาทำงานศิลปะ

แต่ถึงกระนั้น มากริตต์ไม่ได้สนใจการทำงานศิลปะแบบไม่วางแผน เช่น ‘การวาดภาพโดยอัตโนมัติ’ (automatic drawing) หรือการค้นลึกไปยังจิตไร้สำนึกในแบบของฟรอยด์ที่ชาวเซอร์เรียลลิสต์ยึดถือเป็นแนวทางปฏิบัติ ในทางกลับกัน เขาต้องการเล่นกับความเข้าใจของผู้คนเกี่ยวกับความเป็นจริง ด้วยการสร้างภาพที่ขัดแย้งต่อความเป็นจริงขึ้นมา 

ดังเช่นในผลงานที่โด่งดังที่สุดชิ้นหนึ่งของเขาอย่าง The Castle of the Pyrenees (1959) ในโลกแห่งความเป็นจริง ก้อนหินนั้นมีน้ำหนัก มหาศาลจนไม่มีทางยกขึ้นมาได้ แต่ในโลกอันเหนือจริงของมากริต ก้อนหินใหญ่ยักษ์กลับลอยเท้งเต้งอยู่กลางอากาศได้อย่างง่ายดาย หรืออยู่ดีๆ ก็มีขบวนรถจักรไอน้ำควันพวยพุ่งวิ่งออกมาจากเตาผิงในห้องในภาพ Time Transfixed (1938) หรือในผลงาน L’évidence éternelle (The Eternal Evidence) (1930) ที่มากริตวาดภาพหญิงสาวคนรักในความทรงจำของเขา ด้วยการนำเสนอร่างกายแต่ละส่วนของเธอ ในหลายภาพเรียงต่อกัน โดยที่สัดส่วนในภาพไม่ต่อเนื่องกัน ภาพวาดที่อยู่ในกรอบอันเรียบง่ายนี้ แสดงถึงลักษณะพิเศษของความทรงจำ ที่มักจะเป็นเศษเสี้ยวและไม่ปะติดปะต่อกัน

The Castle of the Pyrenees (1959)

ในโลกแห่งความเป็นจริง เราสามารถแยกแยะความแตกต่างระหว่างภาพวาดกับทิวทัศน์นอกหน้าต่าง แต่ในผลงาน The Human Condition (1933) ภาพวาดในกรอบผ้าใบกลับถูกวางทาบทับบนทิวทัศน์นอกหน้าต่างอย่างกลมกลืนจนแทบจะแยกไม่ออก ว่าอะไรเป็นหน้าต่าง หรืออะไรเป็นทิวทัศน์กันแน่

เช่นเดียวกับผลงาน The Key of the Fields (La Clef des champs) (1936) ภาพวาดของหน้าต่างที่เปิดออกไปยังทิวทัศน์ท้องทุ่งด้านนอก ในขณะที่กระจกหน้าต่างแตกร่วงหล่นกระจัดกระจายลงมาบนพื้นห้อง แต่ภาพของทิวทัศน์ด้านนอกกลับปรากฏอยู่บนเศษกระจกอย่างน่าพิศวง ราวกับมากริตพยายามจะบอกเราว่า ภาพที่เราเห็นผ่านกระจกหน้าต่างออกไปนั้นไม่ใช่ทิวทัศน์จริง หากแต่เป็นภาพที่วาดอยู่บนกระจกต่างหาก

The Key of the Fields (La Clef des champs) (1936) โดย เรอเน มากริตต์ ถ่ายภาพโดย ภาณุ บุญพิพัฒนาพงศ์

หรือผลงาน La reproduction interdite หรือ Not to Be Reproduced (1937) ภาพวาดสีน้ำมันที่นำเสนอภาพของผู้ชายคนหนึ่งกำลังยืนหันหลังมองกระจกเงาบานหนึ่งอยู่ ภาพวาดนี้คงจะไม่แปลกอะไร ถ้าเงาสะท้อนของชายคนที่ว่านี้จะไม่หันหลังให้กับผู้ชม แทนที่จะสะท้อนเงาทางด้านหน้าของเขาที่จ้องมองกระจกอยู่ออกมา อย่างที่เราคาดหวังว่าจะเห็น

ความน่าสนใจของภาพวาดภาพนี้ก็คือ ถึงแม้ภาพวาดนี้จะแสดงความพิลึกพิลั่นอันเป็นไปไม่ได้ในโลกแห่งความเป็นจริง ที่กระจกเงาจะสะท้อนภาพด้านหลังของคนที่ยืนจ้องมองมันออกมา หากแต่ในภาพยังมีหลักฐานที่ยืนยันว่าสิ่งที่ชายผู้นี้ยืนจ้องอยู่นั้นคือกระจกเงาจริงๆ (หาใช่หน้าต่างที่มีฝาแฝดของเขายืนอยู่ข้างหน้าไม่) ก็คือหนังสือเล่มหนึ่ง ที่วางอยู่ทางมุมขวาของเคาน์เตอร์เตาผิงหินอ่อน ที่เงาสะท้อนของหนังสือบนกระจกนั้นเป็นเงาสะท้อนแบบกลับข้างจากซ้ายเป็นขวาตามปกติ 

มากริตวาดภาพ Not to Be Reproduced ด้วยรายละเอียดอันประณีตสมจริงอย่างชำนิชำนาญ ทั้งเงาสะท้อนบนเรือนผม เสื้อสูท กรอบกระจก เตาผิงหินอ่อน หรือแม้แต่หนังสือ ที่ดูเหมือนจริงจนคล้ายกับภาพถ่าย รายละเอียดเหล่านี้ยิ่งขับเน้นความแปลกประหลาดให้เข้มข้น จนสร้างความรู้สึกกระอักกระอ่วนให้ผู้ชม(ในยุคนั้น)อย่างแรง ยิ่งการวาดภาพเงาสะท้อนในห้องให้ดูว่างเปล่า ไร้การตกแต่งประดับประดาใดๆ ผนวกกับการให้แสงหม่นมัวสลัวราง ยิ่งทำให้ภาพวาดนี้ดูลึกลับน่าพิศวงอย่างมาก

สำหรับมากริต ภาพวาดไม่ใช่การเลียนแบบความเป็นจริง หากแต่เป็นการสะท้อนถึงสิ่งที่อยู่ภายในจิตใจ มากกว่าจะแสดงออกถึงสิ่งที่ตามองเห็น เขามักใช้ผลงานของเขากระตุ้นให้ผู้ชมมองข้ามพ้นไปจากสิ่งที่อยู่ตรงหน้า ดังเช่นชื่อของภาพวาด Not to Be Reproduced ที่ภาพวาดไม่จำเป็นต้องลอกเลียนแบบ (reproduced) ความเป็นจริงเสมอไป ไม่ต่างอะไรกับการที่กระจกเองก็ไม่จำเป็นต้องสะท้อนความเป็นจริงที่อยู่ตรงหน้ามันเสมอไปเช่นเดียวกัน ดังคำกล่าวของมากริตที่ว่า
 
“คุณสามารถตั้งคำถามว่า อะไรคือจินตนาการ และอะไรคือความเป็นจริง? สิ่งนี้เกี่ยวข้องกับความเป็นจริงของสิ่งที่ปรากฏ(อยู่ตรงหน้าเรา) หรือการปรากฏขึ้นของความเป็นจริงหรือไม่? อะไรคือสิ่งที่อยู่ภายในและภายนอกความจริงนั้น? การมีอยู่ของเราคือความเป็นจริงหรือความฝัน? ถ้าความฝันเป็นการแสดงให้เห็นถึงการตื่นและการมีชีวิต การมีชีวิตและการตื่น ก็เป็นการแสดงให้เห็นถึงความฝันด้วยเช่นกัน”

ด้วยผลงานในลักษณะนี้ มากริตประสบความสำเร็จในการสร้างสรรค์ผลงานอันเปี่ยมเอกลักษณ์เฉพาะตัว ในการวาดภาพทิวทัศน์และเหตุการณ์ปกติธรรมดาในชีวิตประจำวันออกมาได้อย่างสมจริง และถ่ายทอดความซับซ้อนคลุมเคลือจนน่าพิศวงลงไป เพื่อเปิดเผยให้ผู้ชมเห็นแง่มุมอันลึกลับน่าฉงนในชีวิตประจำวัน 

“คนที่มัวแต่มองหาความหมายเชิงสัญลักษณ์ (ในผลงานของผม) มักจะล้มเหลวในการรู้ซึ้งถึงธรรมชาติแห่งความเป็นกวีและความลึกลับในภาพของผม”

ในขณะที่ชาวเซอร์เรียลิสม์เริ่มยอมรับแนวทางศิลปะของเขา ตัวมากริตเองกลับรู้สึกรำคาญกับความเจ้ากี้เจ้าการและจุกจิกในกฎระเบียบหยุมหยิมอันไม่รู้จบของเบรอตงขึ้นทุกที ประกอบกับการที่นักค้างานศิลปะผู้สนับสนุนมากริตได้ปิดแกลเลอรีของเขาลง ทำให้สถานภาพทางการเงินของมากริตย่ำแย่ จนในปี 1930 เขาและครอบครัวก็ย้ายกลับไปที่เบลเยียม ที่ซึ่งมากริตสามารถกลับไปทำงานพาณิชยศิลป์หาเลี้ยงครอบครัวและหาเงินใช้จ่ายในชีวิตประจำวันได้

ในช่วงปี 1940 กองทัพนาซียาตราเข้ายึดเบลเยียม ซึ่งส่งผลต่อสไตล์การทำงานของศิลปินในยุคนั้นอย่างมาก ด้วยเหตุที่ศิลปะสมัยใหม่เป็นสิ่งที่ผู้นำพรรคนาซีอย่างฮิตเลอร์ชิงชังรังเกียจ มากริตต์เองก็เป็นหนึ่งในจำนวนนั้น เขาจึงเปลี่ยนแนวทางการทำงานเป็นแบบ อิมเพรสชันนิสต์ (Impressionist) ที่เน้นฝีแปรง แสงสี และความสดใสสวยงาม ซึ่งก่อนหน้านี้ไม่ค่อยมีปรากฏในภาพวาดของเขานัก แต่แนวคิดในภาพวาดก็ยังคงเป็นแบบเซอร์เรียลิสม์อยู่ดี เขากล่าวถึงผลงานในช่วงนี้ว่า “ประสบการณ์จากสงครามสอนผมว่า สิ่งที่สำคัญในศิลปะคือการแสดงออกถึงเสน่ห์ดึงดูดใจ เมื่อผมอยู่ในโลกที่ไม่โสภา ผมก็ต้องตอบโต้ด้วยสิ่งที่ตรงกันข้ามออกมา” ปัญหาก็คือนักวิจารณ์ศิลปะต่างก็เกลียดมัน และในที่สุดมากริตเองก็เลิกทำงานแนวนี้และหวนกลับไปหาสไตล์เดิมของเขาในเวลาต่อมา

The Son of Man (1964). ภาพจาก www.renemagritte.org

ในช่วงนี้เองที่มากริตต์สร้างสัญลักษณ์อันโดดเด่นในผลงานศิลปะของเขาขึ้นมา ด้วยการสร้างตัวละครชายนิรนามลึกลับผู้สวมสูทสากลและหมวกทรงกลม ซึ่งถูกนำเสนออย่างคลุมเครือด้วยวิธีการต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นการหันหลังให้ผู้ชม อย่างในภาพวาด The Schoolmaster (1955) หรือใบหน้าถูกบดบังด้วยวัตถุหรือสิ่งต่างๆ ไม่ว่าจะเป็น กล้องยาสูบในภาพวาด Good Faith (1964-65) หรือนก ในภาพวาด The Man in the Bowler Hat (1964) และผลแอปเปิล ในภาพวาด The Son of Man (1964) หรือไม่ก็วาดให้ศีรษะหลุดออกจากบ่ามาลอยอยู่ข้างๆ อย่างในภาพวาด The Pilgrim (1966) บางครั้งชายนิรนามก็ถูกเพิ่มจำนวนขึ้นเป็นสองหรือสามคนในภาพวาด The Mysteries of the Horizon (1955)  แต่ที่หนักข้อชวนเหวอแดรกที่สุดก็คือภาพ Golconda (1953) ที่มีชายนิรนามในชุดสูทร่วงหล่นมาจากฟากฟ้าเหมือนสายฝนโปรยปรายลงมานับร้อยคน! ซึ่งสัญลักษณ์ชายนิรนามดังกล่าวก็ได้กลายเป็นภาพแทนตัวเขาไปในที่สุด (สัญลักษณ์นี้น่าจะได้แรงบันดาลใจมาจากพื้นเพของพ่อแม่ของเขาที่มีอาชีพเป็นช่างตัดเสื้อและช่างทำหมวกอย่างที่กล่าวมาข้างต้นนั่นเอง)

Golconda (1953). ภาพจาก www.renemagritte.org

หรือผลงานที่พิลึกพิสดารของเขาอีกชิ้นอย่าง Perspective II, Manet's Balcony (1950) ที่เป็นการหลอมรวมระหว่างความจริงกับความฝันเข้าด้วยกันจนไม่อาจแยกแยะ รวมถึงการนำเสนอเรื่องราวและวัตถุที่แฝงความคิดอันคลุมเครือ ชวนให้ตั้งคำถามและตีความไปต่างๆ นานา

เดิมทีมากริตต์ได้แรงบันดาลใจในการวาดภาพนี้จากผลงาน Le balcon (The Balcony) (1869) ของศิลปินชาวฝรั่งเศส เอดูอาร์ มาเน (Édouard Manet) ในภาพประกอบด้วยสุภาพสตรีในชุดขาวสองคนนั่งอยู่บนระเบียง โดยมีสุภาพบุรุษในชุดสากลคนหนึ่งยืนอยู่ข้างหลัง และอีกคนหันมามองจากข้างในห้อง (ซึ่งอันที่จริงมาเนเองก็ได้แรงบันดาลใจในการวาดภาพนี้มาจากภาพวาด Las majas en el balcón (Majas on a Balcony), 1814 ของศิลปินเอกชาวสเปน ฟรานซิสโก โกยา (Francisco Goya) อีกทอดหนึ่งเหมือนกัน) มากริตจำลองภาพวาดของมาเนภาพนี้ออกมาในรายละเอียดเดิมแทบไม่ผิดเพี้ยน เว้นแต่บุคคลทั้งสี่ในภาพที่ถูกเปลี่ยนให้กลายเป็นโลงศพมานั่งๆ ยืนๆ มองอยู่บนระเบียงอย่างน่าพิศวงปนขันขื่นแทน

เมื่อถูกนักปรัชญาและนักวิจารณ์ชื่อก้องชาวฝรั่งเศสอย่าง มิเชล ฟูโกต์ (Michel Foucault) ถามว่าทำไมเขาถึงเห็นโลงศพแทนที่จะเป็นตัวละครขาวซีดในภาพวาดของมาเนในภาพนี้ มากริตต์ตอบทางจดหมายอย่างเรียบง่ายว่า “สำหรับผม ตัวภาพเองก็บอกชัดเจนอยู่แล้วว่าฉากบนระเบียงนั้นเหมาะสมที่จะเอาโลงศพวางลงไป” 

เขายังตอบอีกว่า “การเผย ‘กลไก’ เบื้องหลังผลงานชิ้นนี้อาจทำหน้าที่อธิบายความหมายเชิงวิชาการและอาจตอบคำถามของคุณได้ ซึ่งผมไม่อาจทำได้ แต่ถึงแม้จะบอกไปก็ไม่ได้ทำให้ความน่าพิศวงของงานน้อยลงไปอยู่ดี”

มากริตกล่าวว่า ภาพนี้เป็นหนึ่งในภาพวาดจากซีรีส์ Perspective ที่นอกจากจะจำลองภาพวาดของมาเนแล้ว เขายังจำลองภาพวาดของจิตรกรชาวฝรั่งเศสชื่อก้อง ฌัก-หลุยส์ ดาวีด (Jacques-Louis David) และ ฟร็องซัว เจอราร์ด (François Gérard) ออกมาใหม่ ในองค์ประกอบและรายละเอียดที่คล้ายคลึงกับภาพเดิม แต่เปลี่ยนบุคคลในภาพให้กลายเป็นโลงศพแทน
    
เขายังชี้ให้เห็นว่าชื่อซีรีส์ของภาพวาดชุดนี้อย่าง ‘Perspective’ (ทัศนียภาพ) นั้นมีความหมายที่แตกต่างไปจากความหมายปกติ ทำให้นักวิจารณ์บางคนตีความว่า นี่อาจเป็นการเล่นคำทางภาพและภาษาของเขา เหตุเพราะคำว่า Perspective ในภาษาฝรั่งเศสสามารถแปลได้ในความหมายอื่นว่า ความคาดหวัง/คาดการณ์ถึงอนาคตข้างหน้า หรือชะตากรรมที่รอพวกเราทุกคนอยู่ (ซึ่งในภาพก็คือ ‘โลงศพ’ หรือ ‘ความตาย’ อันเป็นหนึ่งในสัจธรรมของชีวิตที่ไม่มีใครหลีกหนีพ้นนั่นเอง) ลักษณะเช่นนี้เป็นการเล่นมุกทางภาพที่เชื่อมโยงกับภาษา หรือ visual pun (เช่นเดียวกับที่ปรากฏในภาพวาด “นี่ไม่ใช่กล้องยาสูบ” หรือ The Treachery of Images (1928-1929) อันโด่งดังของเขา) ที่มากริตโปรดปรานและใช้ในงานศิลปะของเขาเสมอมา จนอาจกล่าวได้ว่ามากริตเป็นศิลปินที่ทำงานในลักษณะเดียวกับมีม ในฐานะผู้มาก่อนกาลก็เป็นได้

จะว่าไป การที่มากริตหยิบเอาผลงานของ เอดูอาร์ มาเน ศิลปินสัจนิยม (Realism) และยังเป็นหนึ่งในศิลปินผู้บุกเบิกกระแสเคลื่อนไหวทางศิลปะอิมเพรสชันนิสม์ (Impressionism) หรือศิลปินผู้ยิ่งใหญ่ในอดีตคนอื่นๆ มาตีความใหม่ในรูปแบบเหนือจริงของศิลปะเซอร์เรียลิสม์ ก็อาจมีความหมายแฝงเร้นถึงการโบกมืออำลาและการล้มหายตายจากของยุคสมัยทางศิลปะที่เคยเฟื่องฟูในยุคก่อนหน้า และเป็นการต้อนรับกระแสความเคลื่อนไหวและแนวคิดทางศิลปะในยุคสมัยใหม่ๆ ที่กำลังจะถือกำเนิดขึ้นมาก็เป็นได้

หรือผลงาน The Empire of Light (L'Empire des lumières) (1947-1965) ภาพวาดที่ดูเผินๆ เหมือนภาพทิวทัศน์ของบ้านหลังน้อยบนถนนมืดครึ้มในยามพลบค่ำ ท่ามกลางแสงสลัวรางจากโคมไฟถนนตามปกติธรรมดา แต่เมื่อมองไปยังเบื้องบนกลับกลายเป็นท้องฟ้าสีฟ้าสดใสสว่างไสว มีเมฆสีขาวล่องลอยเป็นปุยอยู่ราวกับเป็นตอนกลางวัน ด้วยการวาดภาพนี้ออกมาด้วยฝีแปรงอันประณีตสมจริงราวกับภาพถ่าย มากริตสร้างความรู้สึกขัดแย้งระหว่างความสมจริงเข้ากับความเหนือจริง เพื่อสะกิดให้ผู้ชมตั้งคำถามว่า สิ่งที่พวกเขามองเห็นอยู่นั้นเป็นความจริงหรือเป็นภาพมายากันแน่?

The Empire of Light (L Empire des lumieres) (1947-1965) โดย เรอเน มากริตต์, พิพิธภัณฑ์ Peggy Guggenheim Collection ถ่ายภาพโดย ภาณุ บุญพิพัฒนาพงศ์

ถึงแม้มากริตจะสร้างผลงานที่ชวนตื่นตะลึง แต่ชีวิตส่วนตัวของเขากลับเรียบง่าย และถึงแม้เขาจะรับอิทธิพลทางความคิดบางอย่างจากกลุ่มศิลปินเซอร์เรียลิสม์ แต่เขาก็ไม่เคยทำตัวโดดเด่นหรือเรียกร้องความสนใจเหมือนชาวเซอร์เรียลิสม์คนอื่นๆ เขาทำงานและใช้ชีวิตอย่างสมถะอยู่กับภรรยาเรื่อยมา

ในช่วงปี 1960 มีการเปิดนิทรรศการแสดงผลงานย้อนหลังของมากริตในพิพิธภัณฑ์ศิลปะทั่วโลก ภาพวาดของเขาขายได้เป็นจำนวนมหาศาล

ในปี 1965 เขาล้มป่วยจนต้องหยุดทำงานศิลปะไประยะหนึ่ง จนกระทั่งในวันที่ 15 สิงหาคม 1967 เรอเน มากริต ก็เสียชีวิตด้วยโรงมะเร็งตับอ่อนในวัย 68 ปี

ไม่เพียงแต่จะส่งอิทธิพลต่อศิลปินเซอร์เรียลิสม์คนอื่นๆ ผลงานของมากริตส่งแรงบันดาลใจอย่างสูงต่อศิลปินแนวป๊อป, มินิมอลลิสม์ รวมถึงศิลปินคอนเซ็ปชวลอาร์ตอย่างมากมาย (โดยเฉพาะการใช้ตัวหนังสือประกอบในภาพวาด หรือการหยิบเอาวัตถุข้าวของดาษดื่นสามัญมาใช้เป็นแบบในการวาดภาพ หรือแม้แต่การใช้เทคนิคของการวาดภาพประกอบงานโฆษณามาใช้ในการวาดภาพของเขา ซึ่งส่งอิทธิพลอย่างมากต่อศิลปินรุ่นหลังอย่าง แอนดี วอร์ฮอล (Andy Warhol), แจสเปอร์ จอนส์ (Jasper Johns), มาร์ติน คิปเพนเบอร์เกอร์ (Martin Kippenberger), โรเบิร์ต โกเบอร์ (Robert Gober), จอห์น บัลเดสซารี (John Baldessari), และ เจฟ คูนส์ (Jeff Koons) เป็นต้น

ในขณะเดียวกันผลงานของเขาก็ส่งแรงบันดาลใจต่อวัฒนธรรมป๊อป และวัฒนธรรมร่วมสมัย โดยถูกดัดแปลงไปใช้ในงานโฆษณา, โปสเตอร์, ปกหนังสือ, ปกอัลบั้มเพลง, โปสเตอร์หนัง และมีมต่างๆ รวมถึงเป็นแรงบันดาลใจให้กับหนังและซีรีส์มากมายหลายเรื่อง ยกตัวอย่างเช่นโลโก้ของค่ายเพลงยักษ์ใหญ่สัญชาติอเมริกัน Geffen Records ที่ออกแบบโดยนักออกแบบชาวอเมริกัน ซอล เบส (Saul Bass)  ก็น่าจะได้แรงบันดาลใจมาจากภาพวาด Voice of Space (1931) หรือ ‘กระดิ่งลอยฟ้า’ ของมากริตมาไม่มากก็น้อย

ด้วยคุณสมบัติเหล่านี้นี่เอง ที่ทำให้มากริตเป็นหนึ่งในศิลปินชั้นนำแห่งศตวรรษที่ 20 และเป็นศิลปินที่มีชื่อเสียงที่สุดคนหนึ่งในขบวนการเซอร์เรียลลิสม์ หลายคนอาจรู้จักผลงานของเขา แต่กลับมีน้อยคนที่รู้จักตัวเขา เขายืนโดดเด่นเป็นสง่าอยู่ท่ามกลางเหล่าศิลปินที่มีบุคลิกแปลกประหลาดด้วยการไม่ทำตัวโดดเด่น หลบเร้นกายจากแสงไฟสาดส่องราวกับเป็นบุคคลปริศนา แบบเดียวกับในภาพวาดของเขา แต่ในขณะเดียวกันก็ท้าทายความเป็นจริงด้วยการสร้างโลกอันน่าพิศวงจากสิ่งที่ดูเหมือนจะธรรมดา แต่ไม่ธรรมดา ในผลงานศิลปะของเขาตลอดมา

 

 

ข้อมูลอ้างอิง

  • Paquet, M. (1999). Rene Magritte: 1898 - 1967. Thunder Bay Pr.
  • ภาณุ บุญพิพัฒนาพงศ์. (2017). ART IS ART, ART IS NOT ART อะไร(แม่ง)ก็เป็นศิลปะ. SALMON.
  • René Magritte. The Artstory. https://www.theartstory.org/artist/magritte-rene/
  • Not to Be Reproduced — Art Criticism. (2021, January 26). What Painting is That?. https://whatpaintingisthat.medium.com/not-to-be-reproduced-art-criticism-44699754ed89
  • Not to Be Reproduced. (2023, January 28). Mindlybiz. https://mindlybiz.com/articles/art/painting/rene-magritte/not-to-be-reproduced/
  • Not to Be Reproduced. (n.d.). Wikipedia. https://en.wikipedia.org/wiki/Not_to_Be_Reproduced
  • La reproduction interdite. (n.d.). Boijmans. https://www.boijmans.nl/en/collection/artworks/4232/la-reproduction-interdite
  • René Magritte. La Reproduction interdite (Not to Be Reproduced). Brussels, 1937. (n.d.). The Museum of Modern Art. https://www.moma.org/audio/playlist/180/2381?fbclid=IwAR3xgWGizHh2JCsE66vUmsYAzUvqVKizwfff2879f1KDJ7I-G4LWi3-Y5wM
     
logoline