svasdssvasds
เนชั่นทีวี

การเมือง

สรุปมหากาพย์ "เงินหมื่นดิจิทัล" จากจุดเริ่ม สู่จุดจบ

18 มกราคม 2567
เกาะติดข่าวสาร >> Nation Story
logoline

"นโยบายดิจิทัลวอลเล็ต 10,000 บาท" ถูกนำมาใช้เป็นเรือธงในการหาเสียงของพรรคเพื่อไทยในการเลือกตั้ง เมื่อเดือน พ.ค. 2566 จากวันนั้นจวบจนวันนี้ ถูกตั้งคำถามมากมาย รวมถึงเสียงทักท้วงจากหลายฝ่าย บทสรุปของโครงการนี้จะเป็นอย่างไร คนไทยจะได้ใช้เงินหมื่นดิจิทัลหรือไม่

"Nation Story" ขอพาย้อนไทม์ไลน์ให้เห็นภาพว่าเกิดอะไรขึ้นบ้างระหว่างทางที่รัฐบาลลุยทำโครงการดิจิทัลวอลเล็ต ก่อนที่จะถึงทางแยกระหว่างเดินหน้าต่อ หรือจะพับโครงการไป

ประกาศ "ดิจิทัลวอลเล็ต" เป็นนโยบายเร่งด่วน

เริ่มจาก 11 ก.ย.2566 ก้าวแรกของรัฐบาลในการแถลงนโยบาย ต่อที่ประชุมรัฐสภา นำโดยนายกรัฐมนตรี "เศรษฐา ทวีสิน" ได้หยิบ โครงการดิจิทัลวอลเล็ต 10,000 บาท ให้เป็น 1 ใน 5 ประเด็นเร่งด่วนที่รัฐบาลจะดำเนินการให้เป็นจริงให้เร็วที่สุด

โดยให้เหตุผลว่า โครงการเติมเงิน 10,000 บาท ผ่าน Digital Wallet จะทำหน้าที่เป็นตัวจุดชนวนที่จะกระตุกเศรษฐกิจประเทศให้ตื่นขึ้นมาอีกครั้ง ด้วยการใส่เงินเข้าไปในระบบเศรษฐกิจอย่างทั่วถึง และกระจายไปยังทุกพื้นที่ให้หมุนเวียนอยู่ในระบบเศรษฐกิจให้ถึงฐานราก เกิดการจับจ่ายใช้สอยยกระดับคุณภาพชีวิต และสร้างโอกาสในการประกอบอาชีพของประชาชน 

สรุปมหากาพย์ \"เงินหมื่นดิจิทัล\" จากจุดเริ่ม สู่จุดจบ

ตั้งบอร์ดดิจิทัลวอลเล็ต 

ต่อมา 3 ต.ค.2566 ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติแต่งตั้งคณะกรรมการเติมเงินดิจิทัล วอลเล็ต ซึ่งเปรียบเมือน ครม.ชุดย่อย โดยมีนายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี และ รมว.คลังเป็นประธาน เพื่อพิจารณาแนวนโยบาย กรอบวงเงิน ที่มา งบประมาณ กลไกดำเนินการต่างๆ ก่อนที่จะมีการนัดประชุมกันครั้งแรกในวันที่ 5 ต.ค.2566

ประเด็นแรกที่ถูกหยิบยกขึ้นมาถกเถียงกันในที่ประชุม คือ เรื่องของเงื่อนไข และหลักเกณฑ์ โดยเฉพาะประเด็นรัศมีการใช้จ่ายในโครงการ ซึ่งระบุว่าต้องอยู่ภายใน 4 กม. ยึดตามทะเบียนบ้าน อีกทั้งกลุ่มเป้าหมาย ที่ควรจะให้เฉพาะผู้มีรายได้น้อยหรือไม่ 

จุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ รัฐมนตรีช่วยคลัง

คลัง เคาะเปลี่ยนเงื่อนไข-เลื่อนแจกเงินหมื่น

24 ต.ค.2566 รมช.คลัง ประชุมคณะอนุกรรมการฯ และมีมติ มีเคาะปรับเกณฑ์เงื่อนไขแจกเงินดิจิทัล 10,000 บาท กลุ่มเป้าหมาย จ่ายเฉพาะกลุ่มผู้มีรายได้น้อย ซึ่งมีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ จำนวน 15-16 ล้านคน ใช้งบประมาณ 1.6 แสนล้านบาท เปลี่ยนรัศมีการใช้จ่ายได้ระดับอำเภอ จากเดิมระยะ 4 กิโลเมตร และเลื่อนจ่ายเป็น พ.ค. 67

ในระหว่างทางที่รัฐบาลกำลังเดินหน้าเพื่อให้โครงการดิจิทัลวอลเล็ตเสร็จได้ทันตามกรอบระยะเวลาตามที่ได้ประกาศไว้ มีเสียงท้วงติงออกมาเป็นระยะๆ 

"เศรษฐา" แถลงใหญ่ ดิจิทัลวอลเล็ต ต้องออก พ.ร.บ.กู้เงิน 5 แสนล้าน

10 พ.ย.2566 นายกรัฐมนตรี เศรษฐา ทวีสิน จัดแถลงใหญ่ แจงรายละเอียดโครงการแบบละเอียดยิบ จะให้ 50 ล้านคน กำหนดเงื่อนไข เงินเดือนไม่ถึง 70,000 บาท เงินฝากต่ำกว่า 500,000 บาท และรัฐบาลจำเป็นต้องออก "พ.ร.บ.กู้เงิน 5 แสนล้านบาท"  

สรุปมหากาพย์ \"เงินหมื่นดิจิทัล\" จากจุดเริ่ม สู่จุดจบ

 

ส่งกฤษฎีกา ตีความ พ.ร.บ.เงินกู้ 5 แสนล้าน

หลังแถลงได้ไม่ทันข้ามวัน เสียงจากธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.) นักการเมืองฝ่ายค้าน นักวิชาการการเงินการคลัง เศรษฐศาสตร์ นักตรวจสอบ ต่างตั้งคำถาม เป้าหมายการ กู้มาแจกของรัฐบาล กว่า 5 แสนล้านบาทนั้น จะเกิดการกระตุ้นเศรษฐกิจขนาดใหญ่ได้จริงหรือไม่ ท่ามกลาง กระบวนการตรวจสอบ องค์กรอิสระ ลับดาบ เข้าคิวรอเชือด แง่มุมทางกฎหมายที่กางออกมาแล้ว ดูสุ่มเสี่ยงไม่น้อย

ทำให้รัฐบาลต้องส่งเรื่องนี้ให้กฤษฎีกาช่วยตีความว่า จริงๆแล้วสามารถออก พ.ร.บ.กู้เงิน 5 แสนล้านได้หรือไม่ 

ปกรณ์ นิลประพันธ์ เลขาธิการคณะกรรมการกฤษฎีกา

กฤษฎีกา ย้ำให้ยึดตามพ.ร.บ.วินัยการเงินการคลัง

9 ม.ค.2567 นายปกรณ์ นิลประพันธ์ เลขาธิการคณะกรรมการกฤษฎีกา ออกมาให้สัมภาษณ์ว่าได้ส่งคำตอบเรื่องการออกพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) กู้เงิน 5 แสนล้านบาท เพื่อใช้ในโครงการดิจิทัลวอลเล็ต 1 หมื่นบาท มาให้รัฐบาลแล้ว ซึ่งคำตอบกฤษฎีกาให้ความเห็นในเชิงกฎหมาย ไม่ได้เป็นการชี้ชัดว่าไฟเขียว หรือไม่ไฟเขียวให้ดำเนินการได้  เพียงแต่อธิบายให้เห็นว่ารัฐบาลจะต้องทำอย่างไรให้อยู่ในข้อกฎหมาย โดยยึดตามพ.ร.บ.วินัยการเงินการคลัง 

ป.ป.ช. สกัดดิจิทัลวอลเล็ต ชี้เสี่ยงทุจริต ขัดกฎหมาย

ขณะเดียวกันก็มีคนส่งเรื่องไปที่ป.ป.ช. จึงมีการตั้งคณะกรรมการขึ้นมาเพื่อศึกษาและรับฟังความเห็น โครงการดังกล่าว โดยมี น.ส.สุภา ปิยะจิตติ กรรมการ ป.ป.ช.เป็นประธาน ต่อมาเมื่อวันที่ 16 ม.ค. ที่ผ่านมา มีเอกสารหลุดออกมา อ้างว่าเป็นผลการศึกษา จำนวน 177 หน้า สาระสำคัญคือ ชี้ชัดว่าโครงการดิจิทัลวอลเล็ต มีความสุ่มเสี่ยงต่อการเกิดทุจริตเชิงนโยบาย  และขัดต่อข้อกฎหมาย อีกประเด็นคือ เศรษฐกิจไทยยังไม่วิกฤต โดยอ้างคำนิยามของธนาคารโลก จึงยังไม่จำเป็นต้องมากู้แจก

อย่างไรก็ตามในเอกสารระบุข้อแนะนำต่อโครงการดิจิทัลวอลเล็ตให้ปรับเปลี่ยนแนวทางแจกเงินหมื่น ให้กับกลุ่มเปราะบางผ่านเครื่องมือชี้วัดเส้นความยากจนแทน

บทสรุปของโครงการดิจิทัลวอลเล็ตจะเป็นอย่างไร รัฐบาลจะเลือกทางไหน ระหว่าง พับโครงการนี้ไป หรือจะเลือกเดินหน้าลุยไฟต่อ ซึ่งหากเลือกเดินต่อ จะเดินไปด้วยวิธีใด ให้ไม่สุ่มเสี่ยงต่อการผิดกฎหมาย รัฐบาลต้องต้องตัดสินใจ 

logoline