svasdssvasds
เนชั่นทีวี

การเมือง

"ศิริกัญญา" ถามรัฐบาลเศรษฐกิจวิกฤตตอนไหน ยันไม่ยื่นตีความ พ.ร.บ.กู้เงิน

10 มกราคม 2567
เกาะติดข่าวสาร >> Nation Story
logoline

"ศิริกัญญา" ถามรัฐบาล เศรษฐกิจไทยเริ่มวิกฤตตอนไหน ยัน "ก้าวไกล" ไม่คิดยื่นศาลรธน. ตีความคำตอบกฤษฎีกา ปมร่างพ.ร.บ.กู้เงิน 5 แสนล้าน ชี้น่าเสียดายคำตอบกลับไม่ชัดเจน

10 มกราคม 2560 น.ส.ศิริกัญญา ตันสกุล สส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล ในฐานะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 กล่าวถึงการเดินหน้าของรัฐบาลในการผลักดันร่างพ.ร.บ.กู้เงิน 5 แสนล้านบาท หลังจากกฤษฎีกาทำความเห็นกลับมายังรัฐบาล ว่า เป็นเรื่องสำคัญที่จะเป็นจุดพลิกผันของร่างพ.ร.บ.ดังกล่าว ซึ่งจะได้มีการพูดคุยกันใน คณะกรรมาธิการงบประมาณฯ โดยในวันนี้ (10 ม.ค.) จะมีสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สภาพัฒน์ฯ) สำนักงบประมาณ กระทรวงการคลัง และธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เข้ามาร่วมชี้แจงต่อคณะกรรมาธิการ

โอกาสออกพ.ร.บ กู้เงิน 5 แสนล้านริบหรี่

นางสาวศิริกัญญา กล่าวว่า วันนี้จะได้รู้กันว่าวิกฤตเศรษฐกิจหน้าตาควรต้องเป็นแบบใด สามารถพิสูจน์ได้ทางวิทยาศาสตร์ตามที่เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาได้กล่าวไว้ เพราะตนมองว่า หากหน่วยงานต่างๆยังชี้แจงไม่ตรงกัน สุดท้ายแล้วโอกาสที่จะออกร่างพ.ร.บ.กู้เงิน 5 แสนล้านบาท ก็จะริบหรี่ลงไปเรื่อยๆ

จับตา รัฐบาลให้นิยามคำว่า "วิกฤตเศรษฐกิจ"  

ส่วนคำนิยามของวิกฤตเศรษฐกิจควรจะมีตัวชี้วัดอย่างไรเพื่อให้เป็นที่ยอมรับตรงกัน ควรต้องอิงกับหลักสากล ตามหน้าตาของวิกฤตเศรษฐกิจที่ทั่วโลกนิยามใช้ตัวชี้วัดอะไรบ้าง และของประเทศไทยเป็นไปตามตัวชี้วัดเหล่านั้นหรือไม่ เพื่อจะได้ข้อสรุปที่เป็นจริงและเป็นวิทยาศาสตร์ว่าเป็นวิกฤตจริงหรือไม่

ทั้งนี้มองว่าหน่วยงานต่างๆที่เกี่ยวข้อง โดยเฉพาะคณะกรรมการนโยบายดิจิทัลวอลเล็ตควรจะต้องพูดคุยให้ตกผลึกว่าจะใช้ตัวชี้วัดใด เพื่อจะชี้แจงกับประชาชนว่าประเทศกำลังวิกฤต

“แต่ดิฉันคิดว่าคงไม่ได้เป็นไปตามนิยามที่เป็นสากลตามปกติสักเท่าไหร่ สำหรับกรณีของประเทศไทย เราก็คงต้องดูว่ารัฐบาลจะใช้วิธีการใดที่คิดค้นขึ้นมาว่าตอนนี้เรากำลังอยู่ในวิกฤต”น.ส.ศิริกัญญา กล่าว

"ก้าวไกล" ไม่ยื่นศาล รธน.ตีความคำตอบกฤษฎีกา 

น.ส.ศิริกัญญา กล่าวว่า ตนขอยืนยันว่าในส่วนของพรรคก้าวไกล ไม่มีความคิดจะยื่นให้ศาลรัฐธรรมนูญตีความร่างพ.ร.บ.กู้เงินดังกล่าว เพราะหน่วยงานที่มีหน้าที่กำกับดูแลให้เป็นไปตามวินัยการเงินการคลังจะสามารถพิจารณาได้ว่าควรทำหรือไม่ควรทำอยู่แล้ว 

“น่าเสียดายที่กฤษฎีกาไม่ได้ตีความตรงๆ ว่าสรุปแล้วทำได้หรือไม่ ควรทำหรือไม่ แต่กลับบอกเพียงแค่ว่า ถ้าถูกกฎหมายก็ทำได้ ถ้าไม่ถูกกฎหมายก็ทำไม่ได้ ก็เสียโอกาสที่อุตส่าห์รอคอยมา 1 เดือน แต่คำตอบกลับไม่ชี้ชัดฟันธง”น.ส.ศิริกัญญา กล่าว

ถามรัฐบาลเศรษฐกิจไทยวิกฤตเริ่มตอนไหน

เมื่อถามว่ามองอย่างไรกรณีที่รัฐบาลอ้างว่าประเทศกำลังอยู่ในวิกฤตแต่กลับออกเป็นพ.ร.บ.แทนที่จะออกเป็นพระราชกำหนด(พ.ร.ก.) นางสาวศิริกัญญา กล่าวว่า ในทางกฎหมายสามารถทำได้ทั้งทางพ.ร.บ.และพ.ร.ก. แต่เมื่อคำนึงว่า ปัญหาที่เป็นวิกฤต ควรต้องแก้ไขอย่างเร่งด่วน รัฐบาลกลับเลือกทางที่ไม่ได้เร่งด่วนขนาดนั้น คือพ.ร.บ.ที่เว้นระยะเวลาและยังต้องรอผ่านความเห็นชอบจากรัฐสภา

ถ้าเป็นวิกฤตเร่งด่วนจริงอาจจะไม่ทันการณ์ก็ได้ หากเกิดข้อติดขัด เช่น หากวุฒิสภาไม่เห็นด้วยแล้วตีกลับไปยังสภาผู้แทนราษฎรกรอบเวลาในการแก้ปัญหาที่วางไว้ก็อาจเป็นไปไม่ได้ มองว่ามีความย้อนแย้งกันอยู่ แต่ก็ต้องเริ่มตั้งแต่การนิยามว่าเป็นวิกฤตหรือไม่แล้ว เพราะนโยบายดิจิทัลวอลเล็ต เปิดตัวตั้งแต่เดือนเม.ย. 66 และเราก็ยังรอกันมา 1 ปี จึงไม่รู้ว่าวิกฤตนี้เริ่มต้นขึ้นตั้งแต่ตอนไหนกันแน่

เตือนนายกฯ ชงแบงก์ชาติลดดอกเบี้ย ระวังเข้าข่ายแทรกแซง

ส่วนกรณีที่นายกฯเชิญผู้ว่าการธปท. เข้ามาพูดคุยที่ทำเนียบรัฐบาลนั้น  ต้องยืนยันในหลักการของความเป็นอิสระของธนาคารกลางที่ทุกประเทศจำเป็นจะต้องเดินตามหลักการนี้ เพราะไม่ได้กระทบเพียงแค่นโยบายทางการเงิน แต่รวมถึงเครดิตเรตติ้ง ซึ่งมีผลการศึกษาชี้ว่า ถ้ามีการแทรกแซงจากฝ่ายบริหารไปที่ธนาคารกลาง ก็มีโอกาสที่เครดิตเรตติ้งจะปรับลด เพราะจะคาดการณ์ว่ามีการแทรกแซงเพื่อให้ลดดอกเบี้ย ซึ่งเป็นวิวาทะที่เคยเกิดขึ้นในหลายประเทศทั่วโลก จึงต้องขอให้นายกรัฐมนตรีทำเรื่องนี้ด้วยความระมัดระวัง เพราะตามปกติจะไม่มีการแทรกแซงระหว่างฝ่ายบริหารและธนาคารกลาง

logoline