svasdssvasds
เนชั่นทีวี

การเมือง

"เงินหมื่นดิจิทัล" นโยบายพรรคเพื่อไทย-รัฐบาล "นายกฯ" จะพุ่งชนอย่างไร?

08 มกราคม 2567
เกาะติดข่าวสาร >> Nation Story
logoline

"เงินหมื่นดิจิทัล" นโยบายพรรคเพื่อไทย-รัฐบาล ภายใน 2 วันนี้มารอลุ้นกันว่า "นายกฯ เศรษฐา" ผู้ประกาศโครงการดังกล่าว จะพุ่งชนเป้าหมายอย่างไร?

8 มกราคม 2567 จากกรณี นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ได้ให้สัมภาษณ์ วานนี้ ( 7 ม.ค.) ถึงความคืบหน้า โครงการดิจิทัล วอลเล็ต ว่า "โครงการดิจิทัล วอลเล็ต ที่ส่งคำถามไปยังสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา ได้รับคำตอบมาเมื่อวันที่ 6 ม.ค.ที่ผ่านมา เบื้องต้นไม่มีข้อติดขัดอะไร มีเพียงข้อเสนอแนะ จากนี้คงต้องฟังความคิดเห็นอีกหลายฝ่าย ในอีก 2 วันข้างหน้า คงจะมีการแถลงออกมาว่าขั้นตอนต่อไป จะทำอย่างไรต่อ"

นายกฯ เศรษฐา คิกออฟ นโยบาย 30 บาท รักษาทุกที่ ด้วยบัตรประชาชนใบเดียว ที่จ.ร้อยเอ็ด พร้อมให้สัมภาษณ์ความคืบหน้า โครงการดิจิทัล วอลเล็ต

ล่าสุดวันนี้ ( 8 ม.ค.) นายสมชัย ศรีสุทธิยากร อดีตกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) โพสต์เฟซบุ๊ก กล่าวถึงกรณีดังกล่าวว่า สำนักข่าวอิศรา รายงานว่าหนังสือตอบจาก กฤษฎีกา ไปยัง กระทรวงการคลัง เรื่อง พ.ร.บ. กู้เงิน 500,000 ล้านบาท มีการตีตรา "ลับ"

"ลับ" แปลว่าอะไร ตามระเบียบว่าด้วยการรักษาความลับทางราชการ เอกสารลับ หมายถึง เอกสารใดก็ตามที่ "เปิดเผยทั้งหมดหรือบางส่วน จะก่อให้เกิดความเสียหายต่อประโยชน์แห่งรัฐ"

สมชัย ศรีสุทธิยากร

ดังนั้น เรื่องนี้ แม้บางคนรู้ บางคนมีสำเนาเอกสารในมือ ก็เอามาเปิดเผยไม่ได้ ต้องรอ กระทรวงการคลัง หรือ รมว.คลังมาแถลงเอง

แต่ถ้า กฤษฎีกา เขาบอกเพียงอธิบายข้อขัดข้อง ตาม มาตรา 53 ของ พ.ร.บ.วินัย การเงินการคลัง ไม่ได้ฟันธงว่ากู้ได้หรือไม่ได้ แล้วมีคนมาเจื้อยแจ้วว่า ไม่มีอะไรขัดข้อง "ทำได้ ทำอยู่ ทำต่อ"

ระวังเจอข้อหา Fake News จำคุก 5 ปี หรือ ปรับ 100,000 บาท ตามที่โฆษกรัฐบาล คุณชัย ขู่ฟอด ๆ เมื่อวันก่อนนะครับ

ขณะที่ นายสมชาย แสวงการ สมาชิกวุฒิสภา (สว.) โพสต์เฟซบุ๊ก ในกรณีเดียวกันว่า "ดิจิทัล 5 แสนล้าน ผิดกฎหมาย กฤษฎีกาเตรียมชี้ไม่เข้า 4 เกณฑ์

     1.เร่งด่วน

     2.วิกฤต 

     3.ต่อเนื่อง

     4.ทำพ.ร.บ.งบประมาณไม่ทัน

พร้อมติด #เลิกดันทุรัง"

สว. สมชาย กฤษฎีกา

อย่างไรก็ตาม มีรายงานข่าวว่า หลังจากเมื่อเดือนธันวาคม 2566 กระทรวงการคลังได้ส่งข้อหารือ ถึงคณะกรรมการกฤษฏีกา พิจารณา เกี่ยวกับการที่รัฐบาลจะออก พ.ร.บ.กู้เงินฯ 5 แสนล้านบาท เพื่อไปใช้จ่ายโครงการ แจกเงินหมื่นดิจิทัล วอลเล็ตได้หรือไม่ โดยคณะกรรมการกฤษฏีกาคณะที่ 12 ซึ่งมี นายพนัส สิมะเสถียร  อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เป็นประธาน ได้มีการประชุมกันเมื่อปลายเดือนธันวาคม และตอบข้อหารือ พร้อมทั้งส่งเรื่องให้ กระทรวงการคลัง ไปแล้วและขอให้รัฐบาลหรือกระทรวงการคลังเป็นผู้แถลงข่าวเรื่องนี้

ในขณะที่ แหล่งข่าวจากทำเนียบรัฐบาล เปิดเผยว่า ประเด็นสำคัญที่คณะกรรมการกฤษฎีกาคณะที่ 12 ให้ความสำคัญคือ ข้อกฎหมายเกี่ยวกับการกู้เงินเพิ่มเติม จากงบประมาณรายจ่ายประจำปีของรัฐบาล จะสามารถทำได้เมื่อเกิดกรณีวิกฤต ฉุกเฉิน และจำเป็นเร่งด่วนอย่างไม่สามารถหลีกเลี่ยงได้เท่านั้น ซึ่งเป็นไปตามกฎหมาย มาตรา 53 พ.ร.บ.วินัยการเงินการคลังของรัฐ พ.ศ.2561 ที่ระบุว่า

"หากใช้เงินที่ไม่ได้เป็นไปตามงบประมาณปกติ หรือกู้เงินรัฐบาลจะทำได้ใน กรณีมีความ วิกฤตจำเป็นเร่งด่วนเท่านั้น"

โดยมาตรา 53 พ.ร.บ.วินัยการเงินฯ ระบุว่า การกู้เงินของรัฐบาลนอกเหนือจากที่บัญญัติไว้ในกฎหมาย ว่าด้วยการบริหารหนี้สาธารณะ ให้กระทรวงการคลังกระทำได้ ก็แต่โดยอาศัยอำนาจตามกฎหมายที่ตราขึ้นเป็นการเฉพาะ และเฉพาะกรณีที่มีความจำเป็น ที่จะต้องดำเนินการโดยเร่งด่วนและอย่างต่อเนื่อง เพื่อแก้ไขปัญหาวิกฤตของประเทศ โดยไม่อาจตั้งงบประมาณรายจ่ายประจำปีได้ทัน

กฎหมายที่ตราขึ้นตามวรรคหนึ่ง ต้องระบุวัตถุประสงค์ของการกู้เงิน ระยะเวลาในการกู้เงิน แผนงานหรือโครงการที่ใช้จ่ายเงินกู้ วงเงินที่อนุญาตให้ใช้จ่ายเงินกู้ และหน่วยงานของรัฐ ซึ่งเป็นผู้รับผิดชอบ

การดำเนินแผนงานหรือโครงการที่ใช้จ่ายเงินกู้นั้น เงินที่ได้รับจากการกู้เงินตามวรรคหนึ่ง ให้กระทรวงการคลังเก็บรักษาไว้ เพื่อให้หน่วยงานของรัฐ เบิกไปใช้จ่ายตามแผนงานหรือโครงการตามที่กฎหมายกำหนดได้โดยไม่ต้องนำส่งคลัง เว้นแต่จะมีกฎหมายบัญญัติไว้เป็นอย่างอื่น

นอกจากนี้ที่ผ่านมาพบว่า กรณีที่เกิดวิกฤตกับประเทศรัฐบาลต้องกู้เงิน เพื่อใช้ในการรับมือกับวิกฤตที่เกิดขึ้นรัฐบาลที่ผ่าน ๆ มาใช้การออกพระราชกำหนด (พ.ร.ก.) ในการให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงิน เช่น ในช่วงวิกฤตโควิด-19 รัฐบาลในช่วงนั้น ใช้มติ ครม.ในการออก พ.ร.ก. ซึ่งเป็นวิธีการจัดการในช่วงที่เกิดวิกฤต ไม่ใช่เป็นการออก พ.ร.บ. เพราะต้องใช้เวลานาน

จึงสะท้อนว่า สถานการณ์เศรษฐกิจในขนาดนี้ของประเทศไม่ได้วิกฤตจริง รัฐบาลจึงใช้วิธีการออก พ.ร.บ. ซึ่งใช้เวลาในการออกกฎหมายนาน และเห็นว่าการออก พ.ร.บ.กู้เงิน 5 แสนล้านบาท จึงมีความย้อนแย้งกันกับสิ่งที่รัฐบาลบอกว่าเกิดวิกฤตที่ต้องเร่งแก้ไข

ขณะที่รัฐธรรมนูญ แห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 มาตรา 140 ที่บัญญัติไว้ว่า การจ่ายเงินแผ่นดิน จะกระทำได้เฉพาะที่ได้อนุญาตไว้ในกฎหมาย ว่าด้วยงบประมาณรายจ่าย กฎหมายว่าด้วยวิธีการงบประมาณ หรือกฎหมายเกี่ยวด้วยการโอนงบประมาณ กฎหมายว่าด้วยเงินคงคลัง หรือกฎหมายว่าด้วยวินัยการเงินการคลังของรัฐ เว้นแต่ในกรณีจำเป็นรีบด่วนจะจ่ายไปก่อนก็ได้ แต่ต้องเป็นไปตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่กฎหมายบัญญัติ

โดยกรณีดังกล่าว ต้องตั้งงบประมาณรายจ่ายชดใช้ ในพระราชบัญญัติโอนงบประมาณรายจ่าย หรือพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายเพิ่มเติม หรือพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณถัดไป ซึ่งการกู้เงิน 5 แสนล้านบาทนั้น รัฐบาลไม่สามารถชำระคืนได้เต็มจำนวนในปีงบประมาณถัดไป ตามที่ข้อกฎหมายกำหนดไว้ อย่างไรก็ตาม รายละเอียดทั้งหมดต้องรอฟังแถลงอย่างเป็นทางการจากรัฐบาล

นอกจากนี้ แหล่งข่าวระดับสูงจากทำเนียบรัฐบาล เปิดเผยอีกว่า ผลจากการตีความของกฤษฏีกา ทำให้รัฐบาลเตรียมหาทางออก โดยจะมีการเสนอออกพันธบัตรรัฐบาล เพื่อเป็นการระดมทุน จำนวน หนึ่งล้านล้านบาท โดยจะนำเงินมาใช้ใน โครงการแจกหมื่นดิจิทัล วอลเล็ต ตามที่พรรคเพื่อไทย หาเสียงไว้ และเป็นทุนสำรองอีกส่วนหนึ่งในการแก้ไขปัญหาสภาพคล่องของรัฐบาล โดยลุ้นว่ารัฐบาลจะออก พ.ร.บ. หรือ พ.ร.ก. กันแน่ในไม่กี่ชั่วโมงข้างหน้าและจะมีเอฟเฟ็กต์ใดบ้างตามมา

เพราะลีลาในตอนนี้ของหัวหน้ารัฐบาลพอจับจังหวะได้ว่า การเดินหน้าโครงการแจกเงินดิจิทัล วอลเล็ต น่าจะมีโอกาสตัน แต่รัฐบาลจะเดินหน้าแบบลุยเต็มสูบ ไม่ว่ารูปแบบใด และเป็นไปได้หรือไม่ที่รัฐบาลพยายามหาจังหวะบางเรื่อง ในการดูแลคนไทยโดยเฉพาะวาระทางเศรษฐกิจที่สะเทือนคนไทยทั่วประเทศ

เพราะตอนนี้มีสัญญาณจากสว.แล้วว่า จะหารือถึงการยื่นญัตติขอเปิดอภิปรายทั่วไปในวุฒิสภา เพื่อให้คณะรัฐมนตรี (ครม.) ของนายกฯ เศรษฐา แถลงข้อเท็จจริงหรือชี้แจงปัญหาสำคัญ เกี่ยวกับการบริหารราชการแผ่นดิน โดยไม่มีการลงมติตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 153

ที่ผ่านมามีกระแสข่าวว่า หัวหน้ารัฐบาลไม่ลงรอยกับ นายเศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เกี่ยวกับการแจกเงินดิจิทัล วอลเลต ในช่วงรัฐนาวาลำนี้เริ่มทำงานเพราะ ผู้ว่าฯ ธปท. ไม่เห็นด้วย ที่จะแจกเงินให้คนไทยห้าสิบหกล้านคน ทำให้รัฐบาลปรับเกณฑ์เหลือห้าสิบล้านคนและปรับเงื่อนไขเพิ่มขึ้นจากที่เคยระบุไว้ว่า เพื่อบรรเทาความขัดแย้ง เพราะมีภาพและข่าวยืนยันว่าทั้งสองคนนั่งคุยและรับประทานอาหารร่วมกัน ซึ่งอาจจะมองได้มา มีการหารือเพื่อหาวิธีเดินหน้าอย่างไรกับโครงการนี้ให้สะดวก

นโยบายหาเสียง ที่ "เศรษฐา" เป็นผู้ประกาศ

ทั้งนี้ โครงการแจกเงินดิจิทัล วอลเล็ต เริ่มจาก นโยบายหาเสียง ของพรรคเพื่อไทย ในการกระตุ้นเศรษฐกิจผ่านกระเป๋าเงินดิจิทัล โดยใช้วงเงิน 560,000 ล้านบาท โดยนายเศรษฐา เป็นผู้ประกาศนโยบายว่า "จะกระตุ้นเศรษฐกิจครั้งใหญ่ ผ่านกระเป๋าเงินดิจิทัล (Digital Wallet)" บนเวทีเปิดตัว สส.แบบแบ่งเขต 400 คน เมื่อ 17 มี.ค. 66 ก่อนเปิดเผยวงเงินที่จะเติมให้ประชาชนจำนวน 10,000 บาท บนเวทีเปิดตัว 3 แคนดิเดตนายกรัฐมนตรีของพรรคเพื่อไทย เมื่อ 5 เม.ย.

โดยจะจ่ายให้คนไทยที่มีอายุ 16 ปีขึ้นไป ใช้จ่ายใกล้บ้านภายในรัศมี 4 กิโลเมตร โดยเงินดิจิทัลมีอายุการใช้งาน 6 เดือน และร้านค้าสามารถนำมาแลกเป็นเงินบาทกับธนาคารรัฐในภายหลัง

ขณะที่พรรคเพื่อไทย ได้ ชี้แจงโครงการดังกล่าวถึงที่มา ของเงิน 560,000 ล้านบาท ว่า จะใช้การบริหารระบบงบประมาณปกติและบริหารระบบภาษี ซึ่งมีที่มาจาก 4 แหล่ง ได้แก่

     1. ประมาณการว่าปี 2567 รัฐจะจัดเก็บภาษีได้เพิ่มขึ้น 260,000 ล้านบาท

     2. การจัดเก็บภาษีนิติบุคคลจะเพิ่ม 100,000 ล้านบาท

     3. การบริหารจัดการงบประมาณ 110,000 ล้านบาท

4. การบริหารงบประมาณด้านสวัสดิการที่ซ้ำซ้อน 90,000 ล้านบาท

นโยบายรัฐบาล ที่หน่วยงานรัฐกังวล

และได้ย้ำอีกครั้ง ในการแถลงนโยบายรัฐบาล เติมเงิน 10,000 บาท ผ่านดิจิทัล วอตเล็ต ว่า "จะทำหน้าที่เป็นตัวจุดชนวนที่จะกระตุกเศรษฐกิจประเทศให้ตื่นมาอีกครั้ง ด้วยการใส่เงินเข้าไปในระบบเศรษฐกิจอย่างทั่วถึงและกระจายไปยังทุกพื้นที่ ให้หมุนเวียนอยู่ในระบบเศรษฐกิจฐานราก เกิดการจับจ่ายใช้สอยยกระดับคุณภาพชีวิตและสร้างโอกาสในการประกอบอาชีพของประชาชน และภาคธุรกิจที่จะขยายการลงทุน ขยายกิจการ เกิดการผลิตสินค้าที่มากขึ้น นำไปสู่การจ้างงาน สร้างอาชีพ และ เกิดการหมุนเวียนของกิจกรรมทางเศรษฐกิจอีกหลายรอบ รัฐบาลเองก็จะได้รับผลตอบแทนคืนมาในรูปแบบของภาษี

นอกจากนี้ จะเป็นการวางรากฐานเศรษฐกิจดิจิทัลให้กับประเทศ เพิ่มประสิทธิภาพและความโปร่งใสให้กับกลไกการชำระเงินของระบบเศรษฐกิจและรัฐบาล"

หลังจากนั้นมา เรื่องนี้กลายเป็นความหวังของสังคมกลุ่มหนึ่ง ในขณะเดียวกันก็เป็นข้อกังวลของหลายฝ่าย โดย สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน ออกคำสั่งที่ 305/2566 เรื่อง แต่งตั้งคณะทำงานศึกษาความเสี่ยงและผลกระทบจากการดำเนินนโยบายการเติมเงิน 10,000 บาท ผ่าน Digital Wallet ลงวันที่ 15 ก.ย.2566 โดยมีอำนาจหน้าที่ศึกษาข้อมูล ข้อกฎหมาย วิเคราะห์ความเสี่ยงและผลกระทบจากการดำเนินนโยบายการเติมเงิน 10,000 บาท ผ่าน Digital Wallet พร้อมทั้งจัดทำรายงานผลการศึกษาวิเคราะห์ความเสี่ยงและผลกระทบจากการดำเนินนโยบายการเติมเงิน 10,000 บาท ผ่าน Digital Wallet และเสนอต่อผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดิน

ขณะที่ คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) มีการประชุมหารือร่วมกัน และซึ่งมีมติ ให้ตั้งคณะกรรมการพิจารณาศึกษาโครงการดิจิทัล วอลเล็ต 10,000 บาท โดยให้เชิญนักวิชาการ ผู้เชี่ยวชาญ ผู้ทรงคุณวุฒิด้านการเงิน ด้านเศรษฐศาสตร์ และธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) มาร่วมเป็นคณะกรรมการ เพื่อศึกษารายละเอียดโครงการดังกล่าวว่า มีข้อน่าห่วงใย หรือความสุ่มเสี่ยงที่จะก่อให้เกิดปัญหาการทุจริต หรือผลกระทบด้านเศรษฐกิจในระยะยาว ตามที่มีนักวิชาการและอดีตผู้ว่าฯ ธปท.ท้วงติงมาหรือไม่

ล่าสุด กฤษฎีกา ก็ตอบข้อหารือรัฐบาล โดยออกเป็นเอกสารลับ ตามที่ นายสมชัย ออกมาเปิดเผย

แม้แต่หน่วยงานรัฐ ยังมีความกังวลกับโครงการ 5.6 แสนล้านบาท หวั่นรัฐบาลจะทำผิดกฎหมาย แต่รัฐบาล เองโดย "นายกฯ เศรษฐา" ก็ยังย้ำว่า ยังคงเดินหน้าโครงการดังกล่าว ตามไทม์ไลน์ ที่จะเริ่มแจกในเดือน พฤษภาคมปีนี้   

logoline