svasdssvasds
เนชั่นทีวี

การเมือง

"เศรษฐกิจราย็อง" ประเทศมั่งคั่ง ประชาชนมั่นคง โดย ส.ว.พลเดช  ปิ่นประทีป

20 สิงหาคม 2566
เกาะติดข่าวสาร >> Nation Story
logoline

"ระยอง"กำลังจะมีการเลือกตั้งซ่อม ในวันอาทิตย์ที่ 10 กันยายน ทำให้ ผู้เขียน นึกถึงดินแดนชายฝั่งทะเลภาคตะวันออกแห่งนี้ ที่มีความอุดมสมบูรณ์ทรัพยากรทางธรรมชาติ ผลผลิตทางการเกษตร และการพัฒนาทางเศรษฐกิจอย่างน่าสนใจ

"ระยอง"ถูกกำหนดให้เป็นพื้นที่บุกเบิกอุตสาหกรรม จากยุค ESB จนถึงยุค EEC ทำให้กลายเป็นจังหวัดที่มีรายได้เฉลี่ยต่อหัวประชากรสูงเป็นอันดับหนึ่งของประเทศ 831,734 บาท/คน/ปี (บางปีสูงถึง 1.1 ล้านบาท) สร้างรายได้ร้อยละ 5.5 ของ GDP ประเทศ

โดยมีสัดส่วนภาคอุตสาหกรรมร้อยละ 78  ภาคบริการ ขายส่งขายปลีกและท่องเที่ยวร้อยละ 19 ในขณะที่ภาคการเกษตรเหลือเพียงร้อยละ 3 เท่านั้น 

อย่างไรก็ตาม "ผลไม้รสล้ำ อุตสาหกรรมก้าวหน้า น้ำปลารสเด็ด เกาะเสม็ดสวยหรู สุนทรภู่กวีเอก" ยังคงเป็นคำขวัญที่ครอบคลุมด้านการเกษตรกรรมที่เป็นวิถีชีวิตของชาวระยองพื้นฐาน
ประวัติศาสตร์

คำว่า"ระยอง" เพี้ยนมาจาก "ราย็อง" เป็นภาษาชอง อาจมีความหมายสองอย่าง คือ เขตแดน หรือ ไม้ประดู่ สันนิษฐานว่าน่าจะเป็นเมืองที่สร้างขึ้นในสมัยขอม ประมาณ พ.ศ. 1500  มีหลักฐานทางโบราณคดีที่ตำบลเชิงเนินและตำบลบ้านค่ายก่อสร้างแบบขอม ที่ชุมชมวัดบ้านค่ายเป็นชุมชนคนจีนซึ่งพัฒนาขึ้นมาหลัง พ.ศ. 1700  ชื่อเมืองระยองมาปรากฏในพงศาวดารประวัติศาสตร์ครั้งแรก ราว พ.ศ. 2113 ในสมัยพระมหาธรรมราชา

ในช่วงใกล้เสียกรุงศรีอยุธยาครั้งที่ 2 พระยาวชิรปราการได้รวบรวมพรรคพวกประมาณ 500 คน ยกทัพมุ่งไปทางตะวันออก มาพักแรมและตั้งค่ายอยู่ที่วัดลุ่มมหาชัยชุมพล ข้าราชการและประชาชนผู้จงรักภักดีพร้อมใจกันยกย่องสถาปนาท่านขึ้นเป็นเจ้าตากสินในปี 2310  ต้นสะตือเก่าแก่ยังคงยืนเด่นอยู่ที่เดิม มีศาลพระเจ้าตากเป็นหลักฐานทางประวัติศาสตร์ให้เกิดแรงบันดาลใจ

\"เศรษฐกิจราย็อง\" ประเทศมั่งคั่ง ประชาชนมั่นคง โดย ส.ว.พลเดช  ปิ่นประทีป

ภูมิศาสตร์

จังหวัดระยองเป็นพื้นที่ราบชายฝั่งที่เกิดจากการทับถมของตะกอนบริเวณแอ่งลุ่มน้ำระยอง และที่ราบสลับเนินเขาและภูเขา เป็นลอนคลื่นสูงต่ำสลับกันไป มีทิวเขาชะเมาทางตะวันออกและทิวเขาไปจนสุดทางเหนือ มีแม่น้ำสายสั้นๆไหลลงสู่อ่าวไทย ทรัพยากรธรรมชาติยังคงมีความอุดมสมบูรณ์ หาดทรายสวยงามและเกาะใหญ่น้อยเรียงรายเรียบชายฝั่ง เป็นทรัพยากรธรรมชาติสำหรับการเกษตรกรรมและการท่องเที่ยวสำคัญของประเทศ

แหล่งน้ำธรรมชาติ ได้แก่ แม่น้ำระยอง(คลองใหญ่) คลองทับมา คลองดอกกราย คลองหนองปลาไหลคลองโพล้ แม่น้ำประแสร์ คลองละโอก  มีโครงการอ่างเก็บน้ำ 3 แห่ง ความจุรวม 255 ล้าน ลบ.ม.และกำลังสร้างอ่างเก็บน้ำประแสร์ที่มีความจุเพิ่มอีก 203 ล้าน ลบ.ม.
ป่าสงวนมีพื้นที่รวม 596,000 ไร่ เป็นป่าสงวนแห่งชาติ 8 แห่ง อุทยานแห่งชาติ 2 แห่ง(เขาชะเมา-เขาวง และเกาะเสม็ด)  สวนรุกขชาติ 2 แห่ง(เพและหนองสนม) และเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า 1 แห่งที่เขาอ่างฤไน

ทรัพยากรทางทะเล มีชายฝั่ง 100 กม. พื้นที่ทำการประมง 6.22 ล้านไร่ เรือประมงจดทะเบียน 860 ลำ  สัตว์น้ำผ่านท่าจับปลามูลค่า 1,296 ล้านบาท และเพาะเลี้ยงกุ้ง 380 ล้านบาท  มีทรัพยากรแร่ธาตุเช่น แร่ทรายขาว แร่ดินขาว หินปูน หินแกรนิตและหินไนส์เพื่อการก่อสร้าง รวมทั้งเป็นที่ตั้งโรงแยกก๊าซธรรมชาติจากอ่าวไทย

\"เศรษฐกิจราย็อง\" ประเทศมั่งคั่ง ประชาชนมั่นคง โดย ส.ว.พลเดช  ปิ่นประทีป

เศรษฐกิจ

เขตปกครองภูมิภาคแบ่งเป็น 8 อำเภอ 54 ตำบล 439 หมู่บ้าน การปกครองท้องถิ่นมี 1 อบจ.42 อบต. 2 เทศบาลเมือง และ 27 เทศบาลตำบล ประชากรตามทะเบียนบ้าน 751,343 คน แต่สถิติด้านแรงงานปี 2565 ระบุว่ามีแรงงานจำนวนสูงถึง  1,077,915 คน  

เฉพาะผู้มีอายุ 15 ปีขึ้นไป 678,668 คน แบ่งเป็นแรงงานนอกภาคเกษตรร้อยละ 80.5 ในภาคเกษตร 19.5  ส่วนแรงงานนอกระบบ 252,720 คน (นอกภาคเกษตร ร้อยละ 54.8 ในภาคเกษตร 45.2 ) ส่วนแรงงานต่างด้าวมี 102,894 คน สัญชาติหลัก(ร้อยละ87.5) คือกัมพูชา พม่า ลาว  และค่าแรงขั้นต่ำเฉลี่ยวันละ 354 บาท อัตราเงินเฟ้อร้อยละ 5.5 ต่อปี

ภาวะการลงทุนภาคอุตสาหกรรม มีโรงงาน 2,542 แห่ง เงินลงทุน 1.525 ล้านบาท คนงาน 1.93 แสนคน อุตสาหกรรมที่ลงทุนสูงสุดคือเคมีภัณฑ์และผลิตภัณฑ์เคมี  มีนิคมอุตสาหกรรม 16 แห่ง เขตประกอบการอุตสาหกรรม 5 แห่ง ชุมชนอุตสาหกรรม 4 แห่ง และสวนอุตสาหกรรม 1 แห่ง  

ส่วนสถานประกอบการคงอยู่ 15,365 ราย (ทุน 5.85 แสนล้าน) นิติบุคคลตั้งใหม่ 1,492 ราย และเลิกกิจการ 276 ราย
ด้านการเกษตร มีพืชเศรษฐกิจที่ทำรายได้ของจังหวัดส่วนใหญ่เป็นพืชสวน ได้แก่ ยางพารา มันสำปะหลัง สับปะรด ทุเรียน เงาะ และมังคุด

ข้อสังเกตุบางประการ

•  จังหวัดระยองเป็นเครื่องปั้มเศรษฐกิจของประเทศ เพิ่มความสามารถในการแข่งขัน ทำเศรษฐกิจประเทศเข้มแข็ง แต่จากข้อมูล TPMAP พบว่ายังมีคนจนประมาณ 6,000 คนและบางอำเภอยังเป็นพื้นที่ชายขอบ ชี้ให้ว่าการใช้ตัวเลข GPP ของจังหวัดที่เหมารวมเช่นปัจจุบัน ไม่สามารถสะท้อนเศรษฐกิจของประชาชนและท้องถิ่นชุมชนได้เท่าที่ควร 

•  ในเชิงวิชาการและการวางแผน สภาพัฒน์และสถาบันวิชาการที่เกี่ยวข้องควรปรับวิธีวิเคราะห์โครงสร้างทางเศรษฐกิจของจังหวัดกันเสียใหม่ โดยแยกรายได้จากส่วนนิคมอุตสาหกรรม เขตประกอบการอุตสาหกรรม ชุมชนอุตสาหกรรม และส่วนอุตสาหกรรม อันเป็นเครื่องปั้มเศรษฐกิจชาติออกไปจากตัวเลขรายได้ทั่วไปของจังหวัดเสียก่อน จึงนำมาเปรียบเทียบศักยภาพการแข่งขันระหว่างพื้นที่กันได้ 

•  ประชากรระยองที่อยู่ในภาคการเกษตรมีเพียงร้อยละ 20เท่านั้น แต่กลับมีอาชีพและรายได้ที่มั่นคงจากการทำสวนผลไม้และยางพารา ในขณะที่เกษตรกรในจังหวัดอื่นยังคงอยู่กับความยากจนด้วยการทำนา ทำไร่ และปลูกพืชเชิงเดียว  ดังนั้นประเด็นการปรับเปลี่ยนโครงสร้างการเกษตรของประเทศจึงเป็นเป้าหมายการปฏิรูปสำคัญที่ควรพิจารณาอย่างยิ่ง

 

logoline