สภาพยาบาลระหว่างประเทศ (International Council of Nurses, ICN) ซึ่งเป็นองค์กรวิชาชีพพยาบาล ได้กำหนดให้วันที่ 12 พฤษภาคม ของทุกปี เป็นวันพยาบาลสากล (International Nurses Day) โดยเริ่มครั้งแรกเมื่อปี พ.ศ.2514 (ค.ศ.1971)
ทั้งนี้ วันที่ 12 พฤษภาคม เป็นวันเกิดของมิสฟลอเรนซ์ ไนติงเกล ผู้ก่อกำเนิดวิชาชีพการพยาบาล และเป็นผู้ที่มีอุดมการณ์ ตั้งใจจะบำเพ็ญสาธารณประโยชน์เพื่อมวลมนุษย์อย่างแท้จริง จนได้รับการยกย่องและเป็นที่รู้จักไปทั่วโลก
จุดประสงค์ของการกำหนดวันพยาบาลสากล เพื่อสดุดีคุณงามความดีของมิสฟลอเรนซ์ ไนติงเกล ที่ทำประโยชน์อย่างมากมายให้แก่มวลมนุษย์ รวมทั้งเพื่อเป็นการยกย่อง ให้เกียรติ และให้คนยึดถือเอาเป็นแบบอย่าง อีกทั้งยังมีจุดมุ่งหมายให้พยาบาลทั่วโลก ร่วมมือจัดกิจกรรมบำเพ็ญประโยชน์แก่สาธารณชน และกำหนดแนวทางเพื่อให้พยาบาลทั่วโลกรณรงค์แก้ไขปัญหาสุขภาพในแต่ละปี
สารจากนายกสภาการพยาบาล เนื่องในวันพยาบาลสากล 12 พฤษภาคม 2567
สภาการพยาบาล ร่วมกับสมาคมพยาบาลแห่งประเทศไทย ในพระราชูปถัมภ์สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี สภาพยาบาลระหว่างประเทศ (International Council of Nurses-ICN) พร้อมด้วยพยาบาลทั่วโลก ร่วมจัดกิจกรรมเพื่อเฉลิมฉลองเนื่องในวันพยาบาลสากล ซึ่งตรงกับวันที่ 12 พฤษภาคม
โดยในปี พ.ศ. 2567 ICN ได้ประกาศหัวข้อ วันพยาบาลสากลว่า "Our Nurses. Our Future. The Economic Power of Care" ซึ่งสมาคมพยาบาลแห่งประเทศไทยฯ ได้ให้ความหมายว่า "พยาบาล คือ อนาคตและอำนาจทางเศรษฐกิจในการดูแลสุขภาพ"
สภาการพยาบาล ขอแสดงความชื่นชมและขอบคุณพยาบาลทุกท่านที่ได้ใช้ความรู้ ความสามารถ จิตเมตตา มุ่งมั่นปฏิบัติหน้าที่ด้วยความทุ่มเทในการสร้างเสริมสุขภาพ ป้องกันโรค ให้การพยาบาล และฟื้นฟูสภาพให้กับคนทุกคน ทุกวัย โดยไม่แบ่งแยกด้วยเพศ เชื้อชาติ และฐานะเศรษฐกิจและสังคม
ซึ่งเป็นไปตามมาตรฐาน จรรยาบรรณ และจริยธรรมวิชาชีพ เพื่อให้ผู้รับบริการทุกคนสามารถเข้าถึง และได้รับบริการสุขภาพที่มีคุณภาพ โดยมีค่าใช้จ่ายที่เหมาะสมด้วมความเท่าเทียม เพื่อเป้าหมายให้ทุกคนมีสุขภาพ และสุขภาวะที่ดี อันเป็นเป้าหมายของการพัฒนาสุขภาพอย่างยั่งยืน (Sustainable Development-Health Goal 3)
พยาบาลทั่วโลกได้รับการยอมรับว่าเป็นกำลังหลักของระบบสุขภาพ และใกล้ชิดประชาชน ด้วยเหตุที่พยาบาลให้การดูแล
ผู้รับบริการอย่างเป็นองค์รวม ครอบคลุมทุกมิติ และทำงานในทุกระดับของระบบบริการสุขภาพ ร่วมกับบุคลากรอื่นทั้งในและ
นอกทีมสุขภาพ รวมทั้งชุมชนและองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น
ในบริบทของประเทศไทยแม้ว่าวิชาชีพการพยาบาลจะความเจริญก้าวหน้าทัดเทียมอารยประเทศ สภาการพยาบาลตระหนักดีว่า วิชาชีพการพยาบาล และพยาบาลทั่วประเทศ ยังต้องเผชิญกับความท้าทายหลายประการ โดยเฉพาะหลังการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 การเข้ามามีบทบาทของเทคโนโลยี และนวัตกรรมทางการแพทย์ การเพิ่มขึ้นของประชากรวัยสูงอายุและผู้ป่วยเรื้อรัง และการเรียกร้องบริการสุขภาพที่มีคุณภาพของประชาชนที่เพิ่มขึ้น
สภาการพยาบาล ร่วมกับสมาคมพยาบาลแห่งประเทศไทยฯ และกองการพยาบาล กระทรวงสาธารณสุข ได้เรียกร้องให้รัฐบาลและหน่วยงานทุกภาคส่วน เพิ่มการลงทุนให้กับวิชาชีพการพยาบาล ตามมติของสมัชชาอนามัยโลก สมัยที่ 74 และได้จัดทำกลยุทธ์การพยาบาลและผดุงครรภ์ พ.ศ. 2565-2569 ที่มีโครงการสำคัญหลายโครงการ อาทิ
แผนพัฒนากำลังคนทางการพยาบาลและผดุงครรภ์ โครงการเพิ่มการผลิตพยาบาลระดับปริญญาตรี โครงการรับผู้สำเร็จการศึกษาในสาขาอื่นเข้าศึกษาในสาขาพยาบาลศาสตร์ การเปิดหลักสูตรระดับบัณฑิตศึกษาและการพยาบาลเฉพาะสาขาเพิ่มขึ้น การพัฒนาภาวะผู้นำ การกำหนดตำแหน่งความเชี่ยวชาญ /ชำนาญการพิเศษ เพิ่มขึ้น การสร้างความสมดุลของการทำงานและการใช้ชีวิตส่วนตัว การจัดสิ่งแวดล้อมในการทำงานที่ปลอดภัย รวมถึงการให้ความสำคัญในการขยายบทบาทอิสระของพยาบาลด้านการบริการระดับปฐมภูมิในรูปแบบคลินิกพยาบาลชุมชนอบอุ่น
สภาการพยาบาลเชื่อมั่นว่ากลยุทธ์และโครงการเหล่านี้จะช่วยให้จำนวนพยาบาลมีความเพียงพอ มีการกระจายอัตรากำลังอย่างเหมาะสม สามารถธำรงรักษาพยาบาลที่มีสมรรถนะให้คงอยู่ในระบบบริการสุขภาพ และทำงานอย่างมีความสุขและปลอดภัย
สภาการพยาบาลมีความเชื่อมั่นว่า พยาบาล คือ อนาคตและอำนาจทางเศรษฐกิจในการดูแลสุขภาพ รวมถึงเป็นพลังสำคัญในการดูแลระบบสุขภาพให้ประชาชนของประเทศมีสุขภาพที่ดี เพื่อเป็นรากฐานที่สำคัญในการสร้างรายได้ และพัฒนาเศรษฐกิจ ให้เกิดการพัฒนาประเทศอย่างมั่นคงและยั่งยืน
สภาการพยาบาลและองค์กรผู้นำทางการพยาบาลเชื่อมั่นว่ารัฐบาล และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะให้ความสำคัญกับการลงทุนที่เพิ่มขึ้นในวิชาชีพการพยาบาล เพื่อส่งเสริมให้เกิดความปลอดภัย และส่งเสริมกำลังใจในการปฏิบัติงาน อันนำไปสู่การพัฒนาสังคม และระบบเศรษฐกิจของประเทศชาติที่ยั่งยืนต่อไป
ขอบคุณข้อมูล : สภาการพยาบาล