svasdssvasds
เนชั่นทีวี

การเมือง

บิ๊กตู่ VS บิ๊กป้อม ใครกุมเสียง ส.ว. มากกว่ากัน ?

22 มกราคม 2566
เกาะติดข่าวสาร >> Nation Story
logoline

รัฐธรรมนูญกำหนดว่า ผู้ที่เป็นนายกฯ จะต้องได้คะแนนเกินครึ่งของทั้ง 2 สภา (ส.ส. และ ส.ว) นั่นก็คือ 375 คะแนนขึ้นไป และในวันนี้บิ๊กตู่กับบิ๊กป้อม ใครกุมเสียง ส.ว. ที่มีทั้งหมด 250 เสียง ได้มากกว่ากัน ?

การเลือกตั้งปี 2566 ปัจจัยที่ชี้ขาดว่าใครจะได้เป็น “นายกรัฐมนตรี” ไม่ได้อยู่ที่พรรคใดได้ ส.ส. มากที่สุด หรือสามารถรวบรวมเสียง ส.ส. ได้มากที่สุดเท่านั้น แต่ยังอยู่ที่จำนวนเสียงของ ส.ว. (บทเฉพาะกาล 5 ปี) อีกด้วย อันเนื่องมาจากรัฐธรรมนูญ ฉบับปัจจุบัน กำหนดให้ผู้ที่สามารถเป็นนายกฯ ได้ จะต้องมีคะแนนเสียงรวมกันเกินครึ่งหนึ่งของทั้ง 2 สภา (ส.ส. และ ส.ว.) ซึ่ง ส.ส. มีจำนวนทั้งหมด 500 คน ในขณะที่ ส.ว. มีจำนวนทั้งสิ้น 250 คน รวมกันแล้วเท่ากับ 750 คน ดังนั้นผู้ที่จะได้เป็นนายกฯ ก็ต้องมีคะแนนเสียงเกิน 375 ขึ้นไป

เสียงของ ส.ว. จึงมีความสำคัญเป็นอย่างมาก แล้ว ส.ว. 250 คน มีที่มาอย่างไร ? และเมื่อ “บิ๊กตู่” กับ “บิ๊กป้อม” แยกทางกันเดิน ใครกุมเสียง ส.ว. ไว้ได้มากกว่ากัน ? NationOnline ขอนำข้อมูลเชิงลึกจากรายการ Nation Insight ดำเนินรายการโดย วีระศักดิ์ พงษ์อักษร และ บากบั่น บุญเลิศ มาเล่าสู่กัน ดังต่อไปนี้

ส.ว. 250 คน มาจากไหน ?

ส.ว. 250 คน ได้รับการแต่งตั้งใน “รัฐบาล คสช.” หรือ “ประยุทธ์ 1” ช่วงที่ “บิ๊กป้อม” กับ “บิ๊กตู่” ยังผนึกกำลังกันอย่างเหนียวแน่น กลุ่มอำนาจ 3 ป. ยังแข็งแกร่งแบบสุดๆ โดยการคัดเลือก ส.ว. แบ่งออกป็น 3 ประเภท ได้แก่

ประเภทที่ 1 เลือกกันเอง

ในประเภทนี้ เริ่มต้นจาก 10 กลุ่มอาชีพ ได้เปิดรับผู้สมัคร แล้วคัดเลือกกันเอง จนได้ 200 คน หลังจากนั้นก็ส่งรายชื่อให้ “คสช.” คัดเลือกในรอบไฟนอล จนได้ ส.ว. 50 คน

บิ๊กตู่ VS บิ๊กป้อม ใครกุมเสียง ส.ว. มากกว่ากัน ?

บทความที่น่าสนใจ

ประเภทที่ 2 กรรมการสรรหา คัดเลือก

กรรมการสรรหาจะทำการคัดสรรบุคคลที่เหมาะสม จำนวนทั้งสิ้น 400 คน แล้วก็ส่งให้ “คสช.” คัดเลือกจากรายชื่อดังกล่าว จนได้ ส.ว. 194 คน

ประเภทที่ 3 เป็น ส.ว. โดยตำแหน่ง

ข้าราชการระดับสูง 6 ตำแหน่ง ได้แก่ 1. ปลัดกระทรวงกลาโหม 2. ผู้บัญชาการทหารสูงสุด 3. ผู้บัญชาการทหารบก 4. ผู้บัญชาการทหารอากาศ 5. ผู้บัญชาการทหารเรือ และ 6. ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ จะเป็น ส.ว. โดยอัตโนมัติ หรือโดยตำแหน่งนั้นเอง

สรุปแล้วก็คือ ไม่ว่าจะเป็น ส.ว. ประเภทไหน ก็ได้รับการคัดเลือกจาก “คสช.” ทั้งสิ้น โดยผู้ที่เป็นแกนนำของ “คสช.” ก็คือ กลุ่ม 3 ป. นั่นเอง

บิ๊กตู่ VS บิ๊กป้อม ใครกุมเสียง ส.ว. มากกว่ากัน ?

เช็กขุมกำลัง ส.ว. ของบิ๊กตู่ กับบิ๊กป้อม และ ส.ว.อิสระ

คราวนี้ก็มาถึงช่วงไฮไลต์ นั่นก็คือ ระหว่าง “บิ๊กตู่” กับ “บิ๊กป้อม” ในปัจจุบันใครกุมเสียง ส.ว.ได้มากกว่ากัน โดยรายการ Nation Insight ได้ประเมินและคำนวณจากการโหวตต่างๆ ของเหล่า ส.ว. กระทั่งสรุปออกมาเป็นตัวเลขขุมกำลัง ส.ว. ในกลุ่มบิ๊กตู่ บิ๊กป้อม และ ส.ว.อิสระ ได้ดังนี้

ส.ว. ที่สนับสนุนบิ๊กตู่ คาดว่ามีจำนวน 140 คน

รายการ Nation Insight ประเมินว่า ส.ว. ที่สนับสนุน “บิ๊กตู่” มีจำนวน 140 คน และได้ทำการเช็กลงไปในรายละเอียด ถึงแกนนำในแต่ละกลุ่ม โดยบางกลุ่มก็มี ส.ว. เป็นสมาชิกรวมสิบกว่าคนเลยทีเดียว  ซึ่ง ส.ว. ระดับแกนนำกลุ่มที่ให้การสนับสนุน “บิ๊กตู่” มีรายชื่อ ดังต่อไปนี้

1. พล.ต.กลชัย สุวรรณบูรณ์

2. พล.ท.จเรศักณิ์ อานุภาพ  

3. พล.อ.ประสาท สุขเกษตร

4. พล.อ.วรพงษ์ สง่าเนตร

5. พล.อ.อกนิษฐ์ หมื่นสวัสดิ์

6. พล.อ.ยอดยุทธ บุญญาธิการ

7. พล.อ.โปฎก บุนนาค

8. พล.ร.อ.ชุนนุม อาจวงษ์

9. พล.อ.ดนัย มีชูเวท

10. พล.อ.สิงห์ศึก สิงห์ไพร

11. พล.ร.อ.นพดล โชคระดา

12. พล.อ.ปัฐมพงศ์ ประถมภัฏ

13. พล.อ.ศุภรัตน์ พัฒนาวิสุทธิ์

14. พล.ท.อำพน ชูประทุม

15. ร.อ.ประยุทธ์ เสาวคนธ์

16. พล.ร.อ.ชัยวัฒน์ เอี่ยมสมุทร

17. พล.อ.สกนธ์ สัจจานิตย์

18. พล.อ.ฉัตรชัย สาริกัลยะ

19. พล.อ.ธวัชชัย สมุทรสาคร

20. พล.อ.ธนะศักดิ์ ปฏิมาประกร

21. พล.อ.สุรศักดิ์ กาญจนรัตน์

ส.ว. ที่สนับสนุนบิ๊กป้อม คาดว่ามีจำนวน 80 คน

ส่วน ส.ว. ในสาย “บิ๊กป้อม” Nation Insight ประเมินว่า มีประมาณ 80 คน โดย ส.ว.ระดับแกนนำกลุ่ม มีรายชื่อดังนี้

1. พล.อ.นพดล อินทปัญญา

2. พล.อ.บุญสร้าง เนียมประดิษฐ์

3. พล.อ.เลิศฤทธิ์ เวชสวรรค์

4. พล.อ.ไพโรจน์ พานิชสมัย

5. พล.อ.อู้ด เบื้องบน

6. พล.ร.อ.ศิษฐวัชร วงษ์สุรรณ

7. พล.อ.สุรเชษฐ์ ชัยวงศ์

8. พล.อ.อ.ประจิน จั่นตอง

9. พล.อ.อ.ถาวร มณีพฤกษ์

10. พล.อ.อาชาไนย ศรีสุข

11. พล.อ.เทพพงศ์ ทิพยจันทร์

12. พล.อ.วลิต โรจนภักดี

13. พล.อ.กนิษฐ์ ชาญปรีชญา

14. พล.อ.สนธยา ศรีเจริญ

ส.ว. อิสระ คาดว่ามีจำนวน 30 คน

ส่วน ส.ว. อิสระ ทางรายการ Nation Insight คาดว่า มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ปัจจุบันน่าจะมีอยู่ราว 30 คน อาทิ 23 ส.ว. ที่เคยโหวตให้ปิดสวิตช์ตัวเอง ในการเลือกนายกฯ ดังรายชื่อต่อไปนี้

1. กาญจนารัตน์ ลีวิโรจน์

2. ไกรสิทธิ์ ตันติสิรินทร์

3. คำนูญ สิทธิสมาน

4. พ.ต.อ.จรุงวิทย์ ภุมมา

5. เฉลิม เฟื่องคอน

6. เฉลิมชัย บุญยะลีพรรณ

7. ณรงค์ สหเมธาพัฒน์

8. เนาวรัตน์ พงษ์ไพบูลย์

9. บรรชา พงศ์อายุกูล

10. ประภาศรี สุฉันทบุตร

11. ประมนต์ สุธีวงศ์

12. ปานเทพ กล้าณรงค์ราญ

13. คุณหญิงพรทิพย์ โรจนสุนันท์

14. พิศาล มาณวพัฒน์

15. มณเฑียร บุญตัน

16. เลิศรัตน์ รัตนวานิช

17. วันชัย สอนศิริ

18. วัลลภ ตังคณานุรักษ์

19. สถิตย์ ลิ่มพงศ์พันธุ์

20. สุวัฒน์ จิราพันธ์

21. พล.ต.อ.อดุลย์ แสงสิงแก้ว

22. อนุศาสน์ สุวรรณมงคล

23. อำพล จินดาวัฒนะ

บิ๊กตู่ VS บิ๊กป้อม ใครกุมเสียง ส.ว. มากกว่ากัน ?

ส.ส. พรรครวมไทยสร้างชาติ และพันธมิตร + ส.ว.สายบิ๊กตู่ จะทำให้ประยุทธ์ถึงฝั่งฝันหรือไม่ ?

รายการ Nation Insight ได้ประเมินจำนวน ส.ส. “พรรครวมไทยสร้างชาติ” และพันธมิตร ในกรณีที่ไม่มี “พรรคพลังประชารัฐ” ในการเลือกตั้งปี 2566 ไว้ดังนี้

พรรครวมไทยสร้างชาติ 40 เสียง

พรรคภูมิใจไทย 80 เสียง

พรรคประชาธิปัตย์ 50 เสียง

พรรคชาติพัฒนา 15 เสียง

ฉะนั้นหาก “บิ๊กตู่” มีเสียง ส.ว. 140 เสียง ให้การสนับสนุน จำนวนคะแนนเสียงทั้งหมดก็จะอยู่ที่ 330 เสียง ไม่ถึงกึ่งหนึ่งของทั้ง 2 สภา ที่ต้องได้คะแนนเสียง ส.ส. และ ส.ว. เกิน 375 เสียง

และถ้า “พรรคพลังประชารัฐ” ที่คาดว่าจะได้ ส.ส. ประมาณ 40 คน ตัดสินใจให้การสนับสนุน "บิ๊กตู่" แต่คะแนนรวมทั้ง 2 สภา ก็จะไม่ได้เพิ่มขึ้นมาเป็น 370 เสียง เพราะอย่าลืมว่า บิ๊กป้อมมีกลุ่ม ส.ว. ที่ให้การสนับสนุนอีกประมาณ 80 คน คะแนนของโมเดลนี้ ก็จะพุ่งขึ้นเป็น 450 คะแนน ทำให้ขั้วนี้ได้เป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาลทันที

แต่สมมติว่า "พรรคพลังประชารัฐ" พร้อม  ส.ว. ในสายบิ๊กป้อม เลือกเข้าร่วมกับฝั่ง "พรรคเพื่อไทย" เกมก็อาจจะพลิก กลายเป็นฝั่งเพื่อไทยได้เป็นแกนนำในการจัดตั้งรัฐบาลไปในที่สุด

ซึ่งในกรณีที่คะแนนของพรรคพลังประชารัฐ + ส.ว. กลายเป็นตัวแปรอันทรงพลัง ที่หากเข้ากับฝั่งใด ฝั่งนั้นก็จะได้เป็นรัฐบาล ก็จะทำให้อำนาจต่อรองของพรรคพลังประชารัฐสูงลิ่ว และอาจสูงถึงระดับที่ว่า สามารถต่อรองให้บิ๊กป้อมเป็นนายกฯ คนที่ 30 ได้เลยทีเดียว

ที่มา ผ่า! อาณาจักร "250 ส.ว." | เนชั่นอินไซต์ | NationTV22

logoline