svasdssvasds
เนชั่นทีวี

สังคม

"กรมปศุสัตว์" ประกาศมาตรการ ควบคุมเคลื่อนย้าย ม้า ลา ล่อ หลังไทยปลอดกาฬโรคแอฟริกา

29 พฤศจิกายน 2566
เกาะติดข่าวสาร >> Nation Story
logoline

ราชกิจจานุเบกษา เผยแพร่ ระเบียบกรมปศุสัตว์ ว่าด้วยมาตรการควบคุมเคลื่อนย้าย ม้า ลา ล่อ ภายในประเทศ หลังประเทศไทยได้รับสถานภาพปลอดกาฬโรคแอฟริกาในม้าจากองค์การสุขภาพสัตว์โลก (WOAH) พ.ศ. ๒๕๖๖

ทั้งนี้ ระเบียบกรมปศุสัตว์ ดังกล่าว มีเนื้อหาระบุว่า เพื่อให้การดำเนินการควบคุมเคลื่อนย้ายสัตว์ชนิดม้า ลา ล่อ สอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบันของประเทศไทย และให้มีการดำเนินการอย่างมีประสิทธิภาพและต่อเนื่อง

อาศัยอำนาจตามความในมาตรา ๓ วรรคสอง แห่งพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน พ.ศ. ๒๕๓๔ ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน (ฉบับที่ ๕) พ.ศ. ๒๕๔๕ อธิบดีกรมปศุสัตว์ จึงวางระเบียบให้ถือปฏิบัติไว้ ดังต่อไปนี้

ข้อ ๑ ระเบียบนี้เรียกว่า "ระเบียบกรมปศุสัตว์ว่าด้วยมาตรการควบคุมเคลื่อนย้าย ม้า ลา ล่อ ภายในประเทศ  หลังประเทศไทยได้รับสถานภาพปลอดกาฬโรคแอฟริกาในม้าจากองค์การสุขภาพสัตว์โลก (WOAH) พ.ศ. ๒๕๖๖"

ข้อ ๒ ระเบียบนี้ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันประกาศเป็นต้นไป

ข้อ ๓ ในระเบียบนี้

  • "เจ้าหน้าที่" หมายความว่า  สัตวแพทย์ประจำท้องที่  และสัตวแพทย์ผู้มีหน้าที่รับผิดชอบประจำเขต
  • "สัตวแพทย์ประจำท้องที่" หมายความว่า สัตแพทย์ของกรมปศุสัตว์ซึ่งปฏิบัติงานในลักษณะประจำในท้องที่ที่ตนเองรับผิดชอบ
  • "สัตวแพทย์ผู้มีหน้าที่รับผิดชอบประจำเขต" หมายความว่า ปศุสัตว์จังหวัด ปศุสัตว์อำเภอ หัวหน้าด่านกักกันสัตว์  หรือสัตแพทย์ที่อธิบดีกรมปศุสัตว์กำหนดประจำท้องที่ที่มีการประกาศเป็นเขตโรคระบาดชั่วคราว เขตโรคระบาด  หรือเขตเฝ้าระวังโรคระบาด
  • "สัตวแพทย์" หมายความว่า  สัตแพทย์ตามกฎหมายว่าด้วยโรคระบาดสัตว์
  • "เครื่องหมายประจำตัวสัตว์" หมายความว่า เครื่องหมายประจำตัวสัตว์ตามกฎหมายว่าด้วยโรคระบาดสัตว์
  • "สมุดประจำตัวม้า" หมายความว่า สมุดประจำตัวม้าที่ออกโดยกรมปศุสัตว์ หรือสมาคมที่กรมปศุสัตว์รับรอง ได้แก่  สมาคมกีฬขี่ม้าแห่งประเทศไทย สมาคมกีฬาขี่ม้าโปโลแห่งประเทศไทย และสมาคมม้าแข่งไทย
  • "โรคระบาด" หมายความว่า โรคระบาดตามกฎหมายว่าด้วยโรคระบาดสัตว์
  • "การตรวจโรคระบาด " หมายความว่า การตรวจสุขภาพสัตว์  และสุขศาสตร์ซากสัตว์ ทั้งทางกายภาพ และทางห้องปฏิบัติการ เพื่อค้นหาหรือทราบว่าเป็นโรคระบาดหรือพาหะของโรคระบาด
  • "การทำลายเชื้อโรค" หมายความว่า การกระทำใด ๆ เพื่อให้ปราศจากเชื้อโรคระบาด  เช่น การใช้สารเคมีภัณฑ์ หรือความร้อนกับวัสดุอุปกรณ์ที่สัมผัสกับตัวสัตว์หรือซากสัตว์ ยานพาหนะบรรทุกสัตว์ รวมตลอดถึงการกระทำที่ตัวสัตว์หรือซากสัตว์
  • "ใบอนุญาต" หมายความว่า ใบอนุญาตให้นำสัตว์หรือซากสัตว์ไปยังท้องที่ จังหวัดอื่น
     

ข้อ ๔ เมื่อประเทศไทยได้รับสถานภาพปลอดกาฬโรคแอฟริกาในม้าจากองค์การสุขภาพสัตว์โลกแล้ว ให้เจ้าหน้าที่ดำเนินการควบคุมเคลื่อนย้าย ม้า ลา ล่อ ภายในประเทศ ดังต่อไปนี้
(๑) ดำเนินการออกใบอนุญาตและปฏิบัติตามหลักการ ดังนี้
(๑.๑) กรณีการเคลื่อนย้ายสัตว์หรือซากสัตว์ไปยังท้องที่จังหวัดอื่น ให้ดำเนินการตามประกาศกรมปศุสัตว์ เรื่อง กำหนดหลักกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขการขออนุญาต  และการออกใบอนุญาต การตรวจโรคและทำลายเชื้อโรคในการนำสัตว์หรือซากสัตว์ไปยังท้องที่จังหวัดอื่น พ.ศ. ๒๕๕๘
(๑.๒) กรณีการเคลื่อนย้ายสัตว์หรือซากสัตว์ เข้า ออก ผ่าน หรือภายในเขตโรคระบาด หรือเขตเฝ้าระวังโรคระบาด ให้ดำเนินการตามระเบียบกรมปศุสัตว์ว่าด้วยการอนุญาตเคลื่อนย้ายสัตว์ หรือซากสัตว์ เข้า ออก ผ่าน หรือภายในเขตโรคระบาดชั่วคราว เขตโรคระบาด หรือเขตเฝ้าระวังโรคระบาด พ.ศ. ๒๕๕๙

(๒) ดำเนินการออกใบอนุญาต และบันทึกข้อมูลจากเอกสารที่ใช้ประกอบคำขออนุญาตเคลื่อนย้ายผ่านระบบบริการอิเล็กทรอนิกส์ (e -Sevice) ของกรมปศุสัตว์ ได้แก่ ระบบการทำเครื่องหมายและขึ้นทะเบียนสัตว์แห่งชาติ (NID) และระบบเคลื่อนย้ายสัตว์ และซากสัตว์ (e-Movement) ทั้งนี้ให้ตรวจสอบเอกสารประกอบการเคลื่อนย้าย ดังนี้
(๒.๑) หนังสือขออนุญาตเคลื่อนย้าย (ร.๓ หรือ ร.๔) ที่พิมพ์จากระบบเคลื่อนย้ายสัตว์และซากสัตว์  (e-Movement)
(๒.๒) เอกสารที่พิมพ์จากระบบการทำเครื่องหมายและขึ้นทะเบียนสัตว์แห่งชาติ (NID)
(๒.๓) ม้า ลา ล่อ  ที่จะทำการเคลื่อนย้ายจะต้องทำเครื่องหมายประจำตัวสัตว์โดยใช้ไมโครชิพที่ได้มาตรฐานสากล และสมุดประจำตัวม้าที่มีข้อมูลครบถ้วน  ดังนี้
(๒.๓.๑) รายละเอียดที่เกี่ยวข้องกับม้า ลา ล่อ ได้แก่ ชื่อสัตว์ เพศ ปีเกิด และสี
(๒.๓.๒) หมายเลขประจำตัวม้าจากระบบการทำเครื่องหมายและขึ้นทะเบียนสัตว์แห่งชาติ (NID)
(๒.๓.๓) หมายเลขไมโครชิพ
(๒.๓.๔) รายละเอียดรูปพรรณ
(๒.๓.๕) รายละเอียดเจ้าของ
(๒.๓.๖) ประวัติการฉีดวัคซีน

(๒.๔) รายงานผลการตรวจโรคระบาดจากห้องปฏิบัติการของกรมปศุสัตว์ หรือห้องปฏิบัติการที่ได้มีการเปรียบเทียบผลการวัดระหว่างห้องปฏิบัติการกับห้องปฏิบัติการสถาบันสุขภาพสัตว์แห่งชาติ (Interlaboratory Comparison) โดยให้เจ้าของหรือผู้ประกอบการ  แสดงหลักฐานรายงานผลการตรวจโรคระบาดดังกล่าวเช่นเดียวกัน ทั้งกรณีการเคลื่อนย้ายสัตว์หรือซากสัตว์ไปยังท้องที่จังหวัดอื่น และกรณีการเคลื่อนย้ายสัตว์หรือซากสัตว์ เข้า ออก ผ่าน หรือภายในเขตโรคระบาด  หรือเขตเฝ้าระวังโรคระบาด  ดังนี้
(๒.๔.๑) โรคโลหิตจางติดเชื้อในม้า (Equine Infectious Anemia; EIA) ตรวจด้วยวิธี  AGID  มีอายุใช้ประกอบการเคลื่อนย้าย ๑๘๐ วัน นับจากวันที่ที่ห้องปฏิบัติการตอบผลการตรวจ
(๒.๔.๒) กาฬโรคแอฟริกาในม้า (African Horse sickness; AHS) ด้วยวิธี Real-time  RT-PCR  มีอายุการใช้งาน ๔๐ วัน นับจากวันที่ที่ห้องปฏิบัติการตอบผลการตรวจ

ทั้งนี้ ในการตรวจโรคระบาดตามวรรคหนึ่ง (๒.๔.๑) และ (๒.๔.๒) ผลการตรวจโรคจะต้องเป็นลบเท่านั้น โดยเจ้าของหรือผู้ประกอบการจะต้องรับผิดชอบค่าใช้จ่ายในการตรวจทั้งหมด

(๓) ให้เจ้าหน้าที่พิจารณาตรวจสอบแหล่งที่มาของสัตว์อย่างละเอียด ในกรณีเป็นสัตว์ที่ขึ้นทะเบียนใหม่ ให้ดำเนินการทำเครื่องหมายประจำตัวสัตว์  บันทึกรายละเอียดเจ้าของสัตว์  รายละเอียดตัวสัตว์  ประวัติสุขภาพสัตว์ และบันทึกการเคลื่อนย้ายสัตว์ ตามระบบบันทึกข้อมูลออนไลน์ที่สำนักควบคุม ป้องกัน และบำบัดโรคสัตว์กำหนด เพื่อบันทึกเป็นฐานข้อมูลประวัติม้า ลา ล่อ ในท้องที่ที่รับผิดชอบ

(๔) ให้เจ้าหน้าที่หรือสัตวแพทย์ที่ได้รับมอบหมาย ดำเนินการให้เจ้าของ ผู้ประกอบการหรือผู้ได้รับมอบหมายในการเคลื่อนย้ายสัตว์หรือซากสัตว์ ปฏิบัติการทำลายเชื้อโรค ทั้งก่อน ระหว่างและหลังการเคลื่อนย้าย อาทิ ฉีดพ่นยานพาหนะด้วยยาฆ่เชื้อ  กำจัดมูลสัตว์และสิ่งปฏิกูลซึ่งอาจนำพาหะของโรคได้ ฉีดพ่นยาไล่แมลงสำหรับใช้นตัวสัตว์  เป็นต้น 

ทั้งนี้ ให้เป็นไปตามประกาศกรมปศุสัตว์ เรื่อง กำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขการขออนุญาต และการออกใบอนุญาตการตรวจโรค และทำลายเชื้อโรคในการนำสัตว์หรือซากสัตว์ไปยังท้องที่จังหวัดอื่น พ.ศ. ๒๕๕๘ หรือระเบียบกรมปศุสัตว์ว่าด้วยการอนุญาตเคลื่อนย้ายสัตว์หรือซากสัตว์ เข้า  ออก ผ่าน หรือภายในเขตโรคระบาดชั่วคราว เขตโรคระบาด หรือเขตเฝ้าระวังโรคระบาด พ.ศ. ๒๕๕๙

ประกาศ ณ วันที่ ๘ พฤศิกายน พ.ศ. ๒๕๖๖
สมชวน รัตนมังคลานนท์
อธิบดีกรมปศุสัตว์

อ่านเนื้อหา ราชกิจจานุเบกษาฉบับเต็ม >> คลิกที่นี่
ราชกิจจานุเบกษา เผยแพร่มาตรการ กรมปศุสัตว์ ควบคุมเคลื่อนย้าย ม้า ลา ล่อ
\"กรมปศุสัตว์\" ประกาศมาตรการ ควบคุมเคลื่อนย้าย ม้า ลา ล่อ หลังไทยปลอดกาฬโรคแอฟริกา
\"กรมปศุสัตว์\" ประกาศมาตรการ ควบคุมเคลื่อนย้าย ม้า ลา ล่อ หลังไทยปลอดกาฬโรคแอฟริกา

logoline