svasdssvasds
เนชั่นทีวี

การเมือง

สรุปคำแจง"ศักดิ์สยาม"ในศึกอภิปรายไม่ไว้วางใจหลังถอยตั้งหลัก

20 กรกฎาคม 2565
เกาะติดข่าวสาร >> Nation Story
logoline

รวมคำชี้แจง "ศักดิ์สยาม ชิดชอบ" ในศึกอภิปรายไม่ไว้วางใจ 2565 หลังปัดตอบซักฟอกของฝ่ายค้านวันแรก ย้ำทุกอย่างดำเนินการตามครรลอง

20 กรกฎาคม 2565 กลายเป็นประเด็นที่อยู่ในความสนใจ สำหรับ "ศักดิ์สยาม ชิดชอบ" รมว.คมนาคม หลังจากเปิดอภิปรายไม่ไว้วางใจ วันแรก เมื่อวันที่ 19 ก.ค. ที่ผ่านมา ซึ่งฝ่ายค้านต่างตั้งคำถามถึงความเหมาะสมต่อการดำรงตำแหน่งรัฐมนตรี รวมถึงความไม่ชอบมาพากลต่อการบริหารงาน แต่กลับไม่ได้รับคำตอบ ก่อนจะมาชี้แจงวันนี้ (20ก.ค.)  

 

สรุปคำแจง"ศักดิ์สยาม"ในศึกอภิปรายไม่ไว้วางใจหลังถอยตั้งหลัก

 

โดย "เนชั่นทีวี" ได้สรุปคำชี้แจงแต่ละประเด็น เริ่มจาก "เขากระโดง" ในจ.บุรีรัมย์

 

1.เป็นเพียงผู้อาศัยอยู่ในพื้นที่เขากระโดง เพราะทุกอย่างอยู่ในกระบวนการพิสูจน์สิทธิ์ตามกฎหมาย 

 

2.ยืนยันไม่เคยแทรกแซง ร.ฟ.ท. สั่งการให้ยึดกฎหมายและหลักธรรมาภิบาล มีการตั้งคณะทำงานพิจารณายุทธศาสตร์การบริหารพื้นที่ ได้ลงนามในหนังสือสั่งการแก้ไขปัญหาที่ดินรถไฟที่เขากระโดง ให้ปฏิบัติเท่าเทียม เสมอภาค ตามเอกสารที่นำมาแสดงต่อสภา

 

3.ร.ฟ.ท.เป็นหน่วยงานรัฐ การจะให้การรถไฟฯไปฟ้องร้องประชาชนที่มีเอกสารสิทธิ์ที่ออกโดยหน่วยงานรัฐ ถือว่าไม่เป็นธรรม สิ่งที่ ร.ฟ.ท.ดำเนินการ คือ ต้องพิสูจน์สิทธิ์ก่อน 

 

"ร.ฟ.ท.เชื่อว่าการออกเอกสารสิทธิ์ของกรมที่ดิน มีความคลาดเคลื่อน ขอให้กรมที่ดินพิจารณาตามกฎหมาย เพื่อเพิกถอนเอกสารสิทธิ์ที่ออกทับซ้อนที่ดินรถไฟ ร.ฟ.ท.จึงมีคำร้องไปที่ศาลปกครอง เพื่อให้วินิจฉัยเรื่องนี้" 

 

 

กรณีมีคำถามว่าทำไมไม่ฟ้องศาลยุติธรรม เรื่องนี้ ร.ฟ.ท. รายงานว่า การฟ้องศาลปกครองกลาง เพราะศาลปกครองกลางสามารถมีคำสั่งเพิกถอนที่ดินทั้งแปลงตามประมวลกฎหมายที่ดิน มาตรา 61 ได้อย่างสะดวก รวดเร็ว รัดกุม ไม่มีที่ดินส่วนใดตกหล่น ระยะเวลาดำเนินการมีเพียง 2 ศาล คือ ศาลปกครองกลาง และศาลปกครองสูงสุด

 

ร.ฟ.ท.ใช้สิทธิทางศาล ยื่นฟ้องกรมที่ดินในฐานะนายทะเบียน ขณะนี้ศาลได้มีคำวินิจฉัยรับคำร้องไว้พิจารณาแล้ว ศาลวินิจฉัยอย่างไรก็ปฏิบัติไปตามนั้น ขอให้ ส.ส.ระวังสิ่งที่นำมาอภิปราย อาจก้าวล่วงการพิจารณาของศาล สุ่มเสี่ยงต่อการละเมิดอำนาจศาล 

 

สรุปคำแจง"ศักดิ์สยาม"ในศึกอภิปรายไม่ไว้วางใจหลังถอยตั้งหลัก

 

กระบวนการพิสูจน์สิทธิ์ มีการพาดพิงคุณพ่อ คือ "ชัย ชิดชอบ" ซึ่งเสียชีวิตไปแล้ว คุณพ่อเคยไปเช่าที่ดินของการรถไฟจริง เนื้อที่ประมาณ 6 ไร่ แต่เป็นคนละแปลงกับโฉนดที่ดินเลขที่ 3466 ตามที่มีการอภิปราย เป็นเพียงที่ดินข้างเคียง 

 

ส่วนกรณีที่ศาลฎีกาพิพากษาที่ดินเขากระโดงว่าเป็นที่ดินรถไฟ ส.ส.ฝ่ายค้าน บอกว่าสามารถนำไปใช้ยืนยันกับบุคคลภายนอก ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง (ป.วิแพ่ง) มาตรา 145 ได้เลยนั้น (หมายถึงไปยืนยันกับที่ดินผืนอื่นๆ ที่มีการครอบครอง แต่ไม่ได้เป็นคู่ความฟ้อง) จริงๆ แล้วเป็น ป.วิแพ่ง มาตรา 145 เป็นเรื่องที่ใช้การยืนยันสิทธิ์ในที่ดินแปลงที่มีคำพิพากษาเท่านั้น ในกรณีมีบุคคลภายนอกมาอ้างสิทธิ์ในที่ดินผืนนี้ ไม่ใช่อ้างกับที่ดินผืนอื่นๆ 

 

4.มีการกล่าวหาว่าหน่วงเวลาในคดีเกี่ยวกับที่ดินของ "นายเอ" ที่ศาลฎีกาอ่านคำพิพากษา เมื่อวันที่ 13 มี.ค. 62 ว่าเป็นที่ดินรถไฟ จริงๆ แล้วที่ผ่านมามีการสืบทรัพย์สินของนายเอ ตั้งเจ้าพนักงานบังคับคดี ขณะนี้อยู่ระหว่างการทำงานของกรมบังคับคดี การรถไฟฯก็รออยู่ เป็นกระบวนการตามกฎหมาย

 

ส่วนประเด็นนิติกรรมอำพราง ขายหุ้น หจก.บุรีเจริญ  

 

ส.ส.ฝ่ายค้านกล่าวหาว่า การขายหุ้น หจก.บุรีเจริญ คอนสตรัคชั่น เป็นนิติกรรมอำพราง ซื้อขายปลอม ไม่ได้ชำระเงินจริง เพื่อให้ รมว.คมนาคม ได้ประโยชน์จากการลงทุนของ หจก.บุรีเจริญฯ 

 

1.มีการซื้อขายหุ้นกันจริง โดย ศุภวัฒน์ เกษมสุทธิ์ เพื่อนของตน หลักฐานธนาคารธนชาติ สาขาบุรีรัมย์ มีการโอนเงินกัน 3 ครั้ง ปี 60-61 ครั้งแรก 35 ล้านบาท ครั้งที่ 2 อีก 35 ล้านบาท และ ครั้งที่ 3  โอนวันที่ 5 ม.ค. 61 จำนวนเงิน 49.5 ล้านบาท และได้ไปแจ้งการเปลี่ยนแปลงผู้ถือหุ้นต่อกรมพัฒนาธุรกิจการค้า ในปี 2561 ฉะนั้นหลังจากนั้น หจก.บุรีเจริญฯ ทำธุรกิจ ทำธุรกรรมอะไรเป็นเรื่องของเขา ต้องไปสอบถามกับ หจก.เอง 

 

สรุปคำแจง"ศักดิ์สยาม"ในศึกอภิปรายไม่ไว้วางใจหลังถอยตั้งหลัก

 

2.ทำไมการซื้อขายหุ้นครั้งนี้จึงไม่ยื่นหลักฐานไปที่กรมพัฒนาธุรกิจการค้า เรื่องนี้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ของกรม หลักฐานที่ต้องยื่นมีเรื่องเดียว คือ มีการเพิ่มเงินลงทุน ฉะนั้นตั้งแต่วันที่ 28 มี.ค. 61 จึงไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการประกอบธุรกิจอย่างใดทั้งสิ้น เงินที่ได้จากการขายหุ้น เป็นเรื่องส่วนตัวว่านำไปใช้อะไร ไม่จำเป็นต้องรายงานแก่สมาชิก 

 

3.มีคำถามว่าทำไมไม่รายงาน ป.ป.ช. ขอชี้แจงว่ากิจกรรมทั้งหมดที่เกิดขึ้น ยังไม่ได้เข้าสู่ตำแหน่ง และเข้าสู่ตำแหน่ง รมว.คมนาคม วันที่ 5 พ.ค. 62 ตามกฎหมายต้องแจ้งบัญชีที่มี ณ ขณะนั้น ได้แจ้งไปเรียบร้อย เอกสารต่างๆ ก็ชัดอยู่แล้ว ป.ป.ช. ได้ประกาศต่อสาธารณะ

 

ส่วนประเด็นประมูลงานในโครงการของกระทรวงคมนาคม ในลักษณะฮั้วประมูล  

 

1.ไม่เป็นความจริง เป็นไปไม่ได้ ตั้งแต่เข้ารับตำแหน่ง รมว.คมนาคม ได้ให้นโยบายในการปฏิบัติงานอยู่ 4 ข้อ คือ ต้องเป็นไปตามระเบียบกฎหมาย ปฏิบัติตามมติ ครม. ปฏิบัติตามหลักธรรมาภิบาล และรับฟังความคิดเห็นประชาชน 

 

นอกจากนี้ ข้อกล่าวหาว่ากระทรวงคมนาคมจัดงบกรมทางหลวง และกรมทางหลวงชนบทไปที่ จ.บุรีรัมย์ มากผิดปกติ 

 

-ดูข้อมูลย้อนหล้ง 10 ปี ตั้งแต่ปี 2557-2566 ของบไปมากทุกปี แต่ได้รับจัดสรรไม่เกิน 1 ใน 3 

 

-กรมทางหลวงชนบทเสนอโครงการที่มีความพร้อม และจำเป็นเร่งด่วน กระทรวงมีคณะทำงานพิจารณา ก่อนเสนอให้ตนลงนาม ส่งสำนักงบประมาณ 

 

-ทั้งหมดเป็นไปตามกระบวนการ ไม่สามารถสั่งได้ให้งบลงตรงนั้นตรงนี้ 

 

-ย้อนหลัง 10 ปี จ.บุรีรัมย์ มีงบกรมทางหลวง และกรมทางหลวงชนบท ลงไปในพื้นที่ ไม่ได้มากกว่าจังหวัดอื่นๆ เช่น อยุธยา โคราช นครปฐม ได้มากกว่าบุรีรัมย์ 

 

-งบที่สูงขึ้นในระยะหลัง เพราะในอดีต จ.บุรีรัมย์ ได้รับงบน้อย ทำให้เกิดความเหลื่อมล้ำในการพัฒนา ที่ผ่านมา จ.บุรีรัมย์ พัฒนาโดยภาคเอกชนเป็นหลัก จึงต้องสร้างระบบคมนาคมไปรองรับสิ่งเหล่านี้ เกิดก่อนที่จะมาเป็นรัฐมนตรี 

 

-งบกระจุกตัวที่ จ.บุรีรัมย์ ไม่จริง มีแผนที่พล็อตจุด กระจายตัวทั้งจังหวัด ไม่ได้กระจุกตัว 

 

-การแบ่งซื้อแบ่งจ้าง ในโครงการต่างๆ ของกรมทางหลวง และกรมทางหลวงชนบท สาเหตุเพราะมีปัญหางบประมาณ โดยเฉพาะหลังมีโควิด โครงการขนาดใหญ่ทำได้น้อยมาก มีเพียงขยายมอเตอร์เวย์  สะพานข้ามเกาะลันตา สะพานข้ามทะเลสาบสงขลาแห่งที่ 3 จาก จ.พัทลุง ไปเกาะใหญ่ จ.สงขลา ทำให้กรมทางหลวงชนบทต้องบริหารงบแบบก่อสร้างเพียงปีเดียว ทำเป็นโครงการเล็ก ทำโครงการขนาดใหญ่ไม่ได้ 

 

-คู่สัญญากับกรมทางหลวงชนบทมีมากถึง 35 บริษัท จึงไม่ใช่การฮั้วประมูลตามที่มีการกล่าวหา

 

 

logoline