svasdssvasds
เนชั่นทีวี

การเมือง

"สมคิด"ปาฐกถาครบ 88 ปีมธ.ชี้การเมืองเหนือจินตนาการปชต.แจกกล้วย

27 มิถุนายน 2565
เกาะติดข่าวสาร >> Nation Story
logoline

"สมคิด"รับมอบเข็มเกียรติยศ 88 ปี มธ. เชื่อจิตวิญญาณธรรมศาสตร์ไม่หายไป ชี้คนรั้วแม่โดมคงจินตนาการไม่ถึง ประชาธิปไตยที่ต่อสู้ มีเวอร์ชันแจกกล้วย ลั่นเป็นไปยากหากรอ รบ. ประชาธิปไตยแก้ไขปัญหา เตือนประเทศลำบาก หากไม่แก้เศรษฐกิจฐานราก

27 มิถุนายน 2565 นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ อดีตรองนายกรัฐมนตรี ในฐานะศิษย์เก่าคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ร่วมกล่าวปาฐกถาพิเศษในหัวข้อ "88 ปี ธรรมศาสตร์กับสังคมไทย" เนื่องในวันสถาปนามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ครบรอบ 88 ปี ณ หอประชุมใหญ่ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ โดยนายสมคิด เป็นหนึ่งในผู้ได้รับเข็มเกียรติยศ ในฐานะศิษย์เก่า ที่สร้างชื่อเสียงนำพาประเทศขับเคลื่อนท่ามกลางวิกฤติเศรษฐกิจในแต่ละช่วงเวลาสำคัญ

 

นายสมคิด กล่าวว่า มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์สร้างตนมา ตนรู้สึกทราบซึ้งมาก อีกไม่กี่ปีจะอายุครบ 69 ปี 15 ปีที่เป็นอาจารย์ กว่า 20 ปีอยู่บนเส้นทางการเมือง และ 10 ปีในตำแหน่งในภาครัฐบาล ถือว่าเป็นช่วงเวลาที่มีความยาวนานพอสมควร เคยมีคนถามว่าทำไมถึงเลือกเดินทางสายการเมือง ตนตอบว่าไม่ได้เลือกเดิน แต่มีบางสิ่งบางอย่างที่ชี้นำและผลักดันให้ชีวิตมาที่สายการเมือง โดยสิ่งที่ชี้นำ เป็นอย่างอื่นไม่ได้นอกจากประสบการณ์เป็นนักศึกษามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ โดยช่วงที่ตนเรียน เป็นช่วงที่มีความตื่นตัวสูงสุดทางการเมืองในมหาวิทยาลัย ทุกวันที่เดินเข้ามหาวิทยาลัย จะได้รับข่าวสารทางการเมือง ทั้งติดบนกำแพง ใบปลิว หรือกิจกรรมทางการเมืองและสังคมที่ออกมาในรูปแบบสัมมนา อภิปราย โดยมีภาคสังคมและประชาชนเข้ามาร่วมอยู่ตลอด ช่วงเวลานั้นจะเห็นนักศึกษาที่ตื่นตัวกับการเมือง 

 

"บางครั้งท่านจะได้เห็นเกษตรกร เดินเข้าออกมหาวิทยาลัย เพื่อหารือปัญหาชีวิต การออกค่ายในชนบท เพื่อเรียนรู้ปัญหา เป็นเรื่องธรรมดาสำหรับชีวิตนักศึกษาในสมัยนั้น ปกหนังสือทุกเล่มที่นักศึกษาถือ เขียนว่าฉันรักธรรมศาสตร์เพราะธรรมศาสตร์สอนบัตรประชาชน สิ่งเหล่านี้เป็นบรรยากาศ 4 ปีเต็มในมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์" นายสมคิด กล่าว

นายสมคิด ยังบอกว่า ไม่ว่าโดยตรงหรือโดยอ้อม สิ่งเหล่านี้ปลูกฝังให้อะไรบางอย่างในจิตใจ ทำให้นักศึกษาสนใจสิ่งที่เป็นปัญหาของบ้านเมือง มีทัศนคติมีแรงบันดาลใจและจิตสำนึกร่วมในการทำประโยชน์ให้บ้านเมืองและสังคม รวมถึงเมื่อมีการร่วมแสดงออกเพื่อต่อสู้ในระบอบประชาธิปไตย ตั้งแต่ปี 2516-2519 ก็ทำให้จิตสำนึกดังกล่าวมั่นคงยิ่งขึ้น ตนเชื่อว่าสิ่งเหล่านี้มีอิทธิพลโน้มน้าวความคิด ชี้แนะแนวทางประพฤติปฏิบัติและแนวทางดำเนินชีวิตของคนธรรมศาสตร์ในรุ่นนั้น ไม่ว่าจะอยู่ในบทบาทใด ก็มีจิตสำนึกที่คำนึงถึงผลประโยชน์ของประชาชนและส่วนรวม มองว่าสิ่งเหล่านี้เรียกว่าจิตวิญญาณของธรรมศาสตร์หรือไม่ 

 

นายสมคิด ระบุว่า 88 ปีเต็ม บางช่วงเวลา ถือว่าสุกงอมสมบูรณ์ ในการผลิตสิทธิ์เพื่อไปขับเคลื่อนสังคมเพื่อการเปลี่ยนแปลงที่ดีขึ้น แต่ในบางช่วงบางตอนก็เจือจาง เบาบางลง เพราะติดขัดในเรื่องข้อจำกัดทางสังคม การเมือง จนมีศิษย์เก่าบางคนกล่าวว่าจิตวิญญาณของธรรมศาสตร์หายไปแล้วหรืออย่างไร แต่ตนคิดว่ายังไม่หายไปไหน พร้อมที่จะลุกโชนและช่วยแก้ปัญหาได้ทุกเมื่อ เชื่อว่าจิตวิญญาณธรรมศาสตร์เป็นศูนย์รวมเบ้าหลอม ความมุ่งมั่นและจิตสำนึกที่ไม่หยุดนิ่ง เปลี่ยนแปลง ปรับปรุงได้ สามารถเอาองค์ประกอบใหม่ใหม่ที่สอดคล้องกับความต้องการของคนในแต่ละยุค มาเป็นเบ้าหลอมที่พร้อมจะผลิตสิ่งต่างๆออกมา

 

"เมื่อไหร่ก็ตามที่นักศึกษาได้รับการส่งเสริม สนับสนุน ให้มีความสนใจในมิติที่มีปัญหาของบ้านเมือง จะมีโอกาสแสดงออก ขอให้พร้อมรับฟัง เคารพความคิดคนกลุ่มนี้ และชี้แนะว่าอะไรดีอะไรไม่ดี พูดกันอย่างมีเหตุผล ผมเชื่อว่าจะทำให้ความกระตือรือร้นในการสนใจบ้านเมือง จะกลับมาได้ทุกเมื่อ" อดีตรองนายกฯ กล่าว

นายสมคิด กล่าวต่อว่า จากวันที่มีการสถาปนามหาวิทยาลัยจนถึงตอนนี้ บริบทที่มีการทำการเมืองเป็นบริบทแห่งการต่อสู้เพื่อประชาธิปไตย แต่ในปัจจุบันคิดว่าชาวธรรมศาสตร์จินตนาการไม่ถึงว่าประชาธิปไตยที่ต่อสู้ มีเวอร์ชันแปลกๆ 

 

"อาจจินตนาการไม่ถึงว่าการแจกกล้วยเป็นหวี อย่างไม่อายฟ้าอายดิน จนมีคนเรียกติดปากว่าประชาธิปไตยเงินสด จินตนาการไม่ถึงว่าการมีประชาธิปไตยแล้วจะทำให้คนเพียง 1% ของประเทศ มีทรัพย์สินมากกว่า 60 % ของคนทั้งประเทศ จินตนาการไม่ออกว่าประชาธิปไตยที่ได้รับมานั้น ถูกออกแบบให้เกิดความไม่เท่าเทียมทางการเมือง จนเกิดวิกฤติในอนาคต คำถาม คือ เราต้องการประชาธิปไตยแบบนี้หรือเปล่า คนรุ่นผมคงไม่ต้องตอบ แต่หากไปถามคนรุ่นใหม่ จะพบว่านี่เป็นสิ่งที่พวกเขาไม่ต้องการ บางครั้งไม่ได้รับความสนใจเลย เขาไม่สนใจการบ้านการเมืองเลย เพราะมันไม่ใช่ประชาธิปไตยที่เขาต้องการ" นายสมคิด ระบุ

 

นายสมคิด ย้ำว่า คนรุ่นใหม่ต้องการประชาธิปไตยที่ประชาชนส่วนใหญ่มีส่วนร่วมในการเมือง ออกความเห็น สามารถถกปัญหาโดยที่ไม่มีความขัดแย้ง เป็นประชาธิปไตยของปวงชนจริงๆ ไม่ใช่เป็นประชาธิปไตยของคนบางกลุ่ม หรือบางครอบครัว ตนเคยถามลูกชายว่าพวกเขาต้องการแบบนี้ใช่หรือไม่ ลูกชายตอบว่า พวกเขาไม่ต้องการประชาธิปไตยที่เรียกว่า 4 วินาที หากไม่มีโอกาสแสดงออก ไม่มีโอกาสมีส่วนร่วม ความกระตือรือร้นในปัญหาบ้านเมืองจะหายไป แต่ถ้าเมื่อไหร่ที่ให้โอกาสและแนะนำ เพราะอนาคตเป็นของพวกเขา ไม่ใช่พวกเรา พวกเรานี่เหลืออีกไม่นาน แต่พวกเขายังอีกยาวไกล ถ้าเราไม่ฟังความเห็นเขา เราจะฟังความเห็นใคร

 

นายสมคิด มองว่า ปัญหาที่กำลังเผชิญนั้น รุนแรงทุกมิติ ทั้งความไม่เท่าเทียม เศรษฐกิจ สิ่งแวดล้อม การเน้นเฉพาะเรื่องการเมืองอย่างเดียวนั้นไม่ได้สร้างอนาคตที่ดีไปกว่านี้ ยกตัวอย่างเรื่องเศรษฐกิจ ไม่นานมานี้ เพียงปีเดียว เฉพาะปัจจัยเรื่องเศรษฐกิจ ความสามารถในการประเทศไทยตกลงมา 13 จุด ประสิทธิภาพรัฐบาล เรื่องการแข่งขัน ตกลงมา 11 จุด เรื่องนี้ถือเป็นเรื่องอันตรายมาก และภายใน 4-5 ปีข้างหน้า หากไม่ได้รับแก้ไขเมืองไทยจะลำบากอย่างแน่นอน

 

ทั้งนี้ ในมุมของเศรษฐกิจโลก ทุกคนทราบดีว่าพายุลูกใหญ่กำลังจะมาเมืองไทย ลำบากอย่างแน่นอน หากไม่เร่งขับเคลื่อนความเข้มแข็งภายในประเทศ แรงส่งทางเศรษฐกิจจะหายไป วันนี้รากหญ้า ลำบากเลือดตาแทบกระเด็น วันข้างหน้าจะลำบากมากกว่านี้ ดังนั้น การเอาใจใส่เรื่องนี้ต้องมี นอกจากนี้ยังมีปัญหาใหญ่ที่มากกว่านี้ เช่น ความไม่เท่าเทียมทางเศรษฐกิจในประเทศ

 

นายสมคิด กล่าวด้วยว่า หากต้องรอให้รัฐบาลที่มาจากประชาธิปไตยแก้ไข เป็นไปได้ยากมาก เพราะมีข้อจำกัดเยอะ จะมานั่งรอไม่ได้ เพราะบริบทการเมืองไทยเป็น มองว่าสถาบันการศึกษา จะไม่สามารถแยกเรื่องการเมืองได้ เพราะสถาบันการศึกษาเป็นที่รวมศูนย์ของปัญญา เพื่อรองรับปัญหา นอกจากนั้น มหาวิทยาลัยยังเป็นแหล่งผลิตบุคลากร เพื่อทำงานเอาตัวรอดเท่านั้น แต่เป็นจุดเกิดที่ผลิตบุคลากรในการช่วยขับเคลื่อนสังคม เศรษฐกิจ การเมือง นอกจากหาเลี้ยงครอบครัว หากถามว่าอนาคตข้างหน้าบทบาทของธรรมศาสตร์เป็นอย่างไรนั้น มองว่า เป็นแหล่งปัญญา ผลิตบุคลากร ผลิตนักศึกษา เพื่อการเปลี่ยนแปลงบ้านเมือง 


 

logoline