svasdssvasds
เนชั่นทีวี

สังคม

หมอธีระ เปิดงานวิจัยสหรัฐฯ "โควิด"ทำลายระบบใด พร้อมช่วงเวลาเหมาะฉีดวัคซีน

04 มิถุนายน 2565
เกาะติดข่าวสาร >> Nation Story
logoline

หมอธีระ เปิดงานวิจัยสหรัฐฯ ถึงผลกระทบการติดเชื้อโควิด สร้างความเสียหายแทบทุกระบบในร่างกาย บางรายพบยาวนานเกือบปี พร้อมทั้งเปิดช่วงเวลาการฉีดวัคซีนโควิด-19 เวลาใดส่งผลต่อประสิทธิภาพสูงสุด

รศ.นพ.ธีระ วรธนารัตน์ หรือ “หมอธีระ” คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โพสต์ผ่านเพจเฟซบุ๊ก “Thira Woratanarat” เปิดงานวิจัยสหรัฐฯ ถึงผลกระทบการติดเชื้อโควิดสร้างความเสียหายมากกว่าระบบหายใจ พร้อมทั้งเปิดช่วงเวลาการฉีดวัคซีนโควิด-19 ที่ส่งผลต่อประสิทธิภาพสูงสุด มีข้อความระบุว่า..

 

4 มิถุนายน 2565 เมื่อวานทั่วโลกติดเพิ่ม 502,675 คน ตายเพิ่ม 1,122 คน รวมแล้วติดไป 534,603,007 คน เสียชีวิตรวม 6,318,839 คน

5 อันดับแรกที่ติดเชื้อสูงสุดคือ สหรัฐอเมริกา เกาหลีเหนือ ไต้หวัน เยอรมัน และบราซิล

 

เมื่อวานนี้จำนวนติดเชื้อใหม่มีประเทศจากยุโรปและเอเชียครอง 7 ใน 10 อันดับแรก และ 14 ใน 20 อันดับแรกของโลก จำนวนติดเชื้อใหม่ในแต่ละวันของทั่วโลกตอนนี้ มาจากทวีปเอเชียและยุโรป รวมกันคิดเป็นร้อยละ 62.75 ของทั้งโลก ในขณะที่จำนวนการเสียชีวิตคิดเป็นร้อยละ 56.06 การติดเชื้อใหม่ในทวีปเอเชียนั้นคิดเป็นร้อยละ 41.57 ของทั้งโลก ส่วนจำนวนเสียชีวิตเพิ่มคิดเป็นร้อยละ 21.03

 

หมอธีระ เปิดงานวิจัยสหรัฐฯ \"โควิด\"ทำลายระบบใด พร้อมช่วงเวลาเหมาะฉีดวัคซีน

 สถานการณ์ระบาดของไทย  

จากข้อมูล Worldometer เช้านี้พบว่า จำนวนติดเชื้อที่รายงานของไทยนั้นไม่สามารถนำมาใช้เปรียบเทียบกับประเทศอื่นได้ เพราะหลัง 1 มิ.ย. มีการประกาศปรับมารายงานเพียงจำนวนคนป่วย ไม่ใช่รายงานการติดเชื้อใหม่ทั้งหมดที่เกิดขึ้น


ในขณะที่จำนวนเสียชีวิตเมื่อวาน สูงเป็นอันดับ 11 ของโลก และเป็นอันดับ 2 ของเอเชีย ถึงแม้สธ.ไทยจะปรับระบบรายงานตั้งแต่ 1 พ.ค.เป็นต้นมาจนทำให้จำนวนที่รายงานนั้นลดลงไปมากก็ตาม

 

ทั้งนี้จำนวนเสียชีวิตของไทยเมื่อวานคิดเป็น 13.55% ของการเสียชีวิตทั้งหมดที่รายงานของทวีปเอเชีย (อย่างไรก็ตามหากปรับตามคาดประมาณสัดส่วนของคนที่มีโรคร่วมเหมือน UK จะพบว่าอาจพุ่งไปถึง 18.4%)

 

 อัพเดตความรู้สำคัญ 

1. การติดเชื้อไวรัสโรคโควิด-19 นั้น พบว่า เชื้อกระจายไปทั่วร่างกาย หลากหลายอวัยวะ (systemic infection) ไม่ใช่เพียงแค่ทางเดินหายใจ

 

งานวิจัยจากทีม National Institute of Health (NIH) ของประเทศสหรัฐอเมริกา เผยแพร่ใน NIH VideoCast เมื่อวันที่ 19 พฤษภาคม 2565 ที่ผ่านมา ชี้ให้เห็นผลการศึกษาโดยการทำการชันสูตรศพผู้ป่วยที่เสียชีวิตและติดเชื้อไวรัสโรคโควิด-19 จำนวน 44 ราย พบว่า..

 

สามารถตรวจพบ RNA ของไวรัสกระจายอยู่ทั่วทุกระบบของร่างกาย ไม่ใช่เฉพาะในทางเดินหายใจเท่านั้น มีทั้งสมอง, ระบบประสาท, หัวใจและหลอดเลือด, ต่อมน้ำเหลือง, ทางเดินอาหาร, ระบบสืบพันธุ์, ทางเดินปัสสาวะ และบางรายตรวจพบได้ยาวนานกว่า 7 เดือน ดังนั้นการป้องกันตัวไม่ให้ติดเชื้อย่อมดีที่สุด

 

หมอธีระ เปิดงานวิจัยสหรัฐฯ \"โควิด\"ทำลายระบบใด พร้อมช่วงเวลาเหมาะฉีดวัคซีน

2. ฉีดวัคซีนช่วงเช้า จะกระตุ้นภูมิคุ้มกันได้ดีกว่าช่วงบ่าย

Wang C และคณะวิจัยจากคณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเจนีวา ประเทศสวิสเซอร์แลนด์ ทำการทบทวนหลักฐานวิชาการเกี่ยวกับการทำงานของระบบภูมิคุ้มกันของร่างกายในแต่ละช่วงเวลาของวัน 

สาระสำคัญคือ ชี้ให้เห็นว่า การฉีดวัคซีนในช่วงเช้าจะกระตุ้นภูมิคุ้มกันได้ดีกว่าช่วงบ่าย

 

3. การติดเชื้อไวรัสโรคโควิด-19 จะเพิ่มความเสี่ยงต่อการเป็นเบาหวานราว 59%

Banerjee M และคณะจากประเทศอินเดีย ทำการวิจัยทบทวนหลักฐานวิชาการอย่างเป็นระบบ และวิเคราะห์อภิมานจากการศึกษาทั่วโลก พบว่า การติดเชื้อไวรัสโรคโควิด-19 จะเพิ่มความเสี่ยงต่อการเป็นเบาหวานในช่วงหลังจากการติดเชื้อ 59% (ช่วงความเชื่อมั่นตั้งแต่ 40%-81%)


แม้จะมีความแตกต่างกันของปัจจัยต่างๆ ในแต่ละงานวิจัยย่อยที่นำมาวิเคราะห์อภิมาน แต่งานวิจัยนี้ก็ชี้ให้เห็นถึงแนวโน้มความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้นหลังการติดเชื้อ


คนที่เคยติดเชื้อมาก่อนจึงควรป้องกันตัวสม่ำเสมอ เพราะจะติดเชื้อซ้ำได้ และเพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดปัญหาโรคเรื้อรัง และภาวะ Long COVID ได้ นอกจากนี้ยังควรประเมินตรวจสุขภาพตนเองเป็นระยะ หากมีอาการผิดปกติควรปรึกษาแพทย์เพื่อทำการตรวจวินิจฉัยและรักษาได้ตั้งแต่เนิ่นๆ

 

“ สถานการณ์ไทยเราขณะนี้ การระบาดยังเป็นไปอย่างต่อเนื่อง ควรใช้ชีวิตอย่างมีสติ การใส่หน้ากากเป็นหัวใจสำคัญครับ การใส่หน้ากาก เป็น New Normal ที่ปลอดภัยสำหรับยุคที่ต้องอยู่กับโควิด-19 และฝีดาษลิง ไม่ใช่วิถีชีวิตดี๊ด๊าแบบในอดีต คนที่ใส่ใจสุขภาพจะมีความเสี่ยงน้อยกว่าคนที่ประมาท อย่ารอจนถึงแจ็คพอตแล้วค่อยนึกในใจว่า ไม่น่าเลย...รู้งี้จะป้องกันตัวให้ดี เลยครับ ” หมอธีระ กล่าวในตอนท้าย

 

หมอธีระ เปิดงานวิจัยสหรัฐฯ \"โควิด\"ทำลายระบบใด พร้อมช่วงเวลาเหมาะฉีดวัคซีน

อ้างอิง : 
1. SARS-CoV-2 Infection and Persistence Throughout the Human Body and Brain. NIH VideoCast. 19 May 2022.
2. Wang C et al. The Circadian Immune System. Science Immunology. 3 June 2022.
3. Banerjee M et al. Risk of incident diabetes post-COVID-19: A systematic review and meta-analysis. Primary Care Diabetes. 29 May 2022.
 

logoline