เพิ่ม nation online
ลงในหน้าจอหลักของคุณ
2 มิถุนายน 2565 รศ.นพ.ธีระ วรธนารัตน์ หรือ “หมอธีระ” คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โพสต์ผ่านเพจเฟซบุ๊ก “Thira Woratanarat” เปิดงานวิจัย วัคซีนเข็มกระตุ้น ป้องกัน โควิด19 ควรเลือกวัคซีนชนิดใด พร้อมแจงเหตุผล มีรายละเอียดดังนี้..
2 มิถุนายน 2565 ทะลุ 533 ล้านไปแล้ว เมื่อวานทั่วโลกติดเพิ่ม 518,141 คน ตายเพิ่ม 1,167 คน รวมแล้วติดไป 533,302,371 คน เสียชีวิตรวม 6,315,200 คน
5 อันดับแรกที่ติดเชื้อสูงสุด คือ เกาหลีเหนือ ไต้หวัน สหรัฐอเมริกา เยอรมัน และบราซิล
เมื่อวานนี้จำนวนติดเชื้อใหม่มีประเทศจากยุโรปและเอเชียครอง 7 ใน 10 อันดับแรก และ 15 ใน 20 อันดับแรกของโลก
จำนวนติดเชื้อใหม่ในแต่ละวันของทั่วโลกตอนนี้ มาจากทวีปเอเชียและยุโรป รวมกันคิดเป็นร้อยละ 70.09 ของทั้งโลก ในขณะที่จำนวนการเสียชีวิตคิดเป็นร้อยละ 58.95
การติดเชื้อใหม่ในทวีปเอเชียนั้นคิดเป็นร้อยละ 46.62 ของทั้งโลก ส่วนจำนวนเสียชีวิตเพิ่มคิดเป็นร้อยละ 19.02
สถานการณ์ระบาดของไทย
จากข้อมูล Worldometer เช้านี้พบว่า จำนวนติดเชื้อเมื่อวาน รวม ATK ของไทย สูงเป็นอันดับ 11 ของโลก
ในขณะที่จำนวนเสียชีวิตเมื่อวาน สูงเป็นอันดับ 14 ของโลก และเป็นอันดับ 3 ของเอเชีย ถึงแม้สธ.ไทยจะปรับระบบรายงานตั้งแต่ 1 พ.ค.เป็นต้นมาจนทำให้จำนวนที่รายงานนั้นลดลงไปก็ตาม
ทั้งนี้จำนวนเสียชีวิตของไทยเมื่อวานคิดเป็น 12.61% ของการเสียชีวิตทั้งหมดที่รายงานของทวีปเอเชีย
อัพเดตความรู้
1. การฉีดวัคซีนเข็มกระตุ้น (เข็ม 3) มีความจำเป็น และควรใช้ mRNA vaccine (รูปที่ 1-2)
Au WY และคณะ เผยแพร่ผลการวิจัย Network Meta-analysis ลงในวารสารการแพทย์ระดับสากล British Medical Journal วันที่ 31 พฤษภาคม 2565
สาระสำคัญที่ได้จากงานวิจัยนี้คือ การฉีดวัคซีน mRNA ทั้ง 3 เข็มนั้นได้รับการพิสูจน์แล้วว่าไดhประสิทธิภาพในการป้องกันโรคโควิด19 สูงกว่าวัคซีนชนิดอื่นๆ แต่หากสองเข็มแรกได้รับวัคซีนชนิดอื่นๆ มาก่อน การฉีดวัคซีน mRNA เป็นเข็มกระตุ้น หรือ เข็มที่ 3 ก็จะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพขึ้นมาได้ดีขึ้นมาก
2. การเสียชีวิตจาก COVID-19 เทียบกับไข้หวัดใหญ่และปอดอักเสบจากเหตุอื่น (รูปที่ 3)
หากเราเคยได้ยินคำเปรียบเปรยว่ายุงนั้นร้ายกว่าเสือ ข้อมูลจาก Office for National Statistics สหราชอาณาจักร เผยแพร่มาเมื่อ 23 พฤษภาคม 2565 ชี้ให้เห็นชัดเจนว่า โรคโควิด-19 นั้นร้ายกว่าไข้หวัดใหญ่และปอดอักเสบจากเหตุอื่น เพราะจำนวนการเสียชีวิตที่เกิดขึ้นจากโควิด-19 นั้นสูงกว่าไข้หวัดใหญ่และปอดอักเสบจากเหตุอื่นอย่างมาก
ทั้งนี้เราจะสังเกตเห็นได้ว่า การเสียชีวิตจากโควิด-19 ของสหราชอาณาจักรนั้นแสดงให้เห็นทั้งจำนวนที่ตายจากโควิด-19 (Death from COVID-19) และที่ตายจากเหตุอื่นโดยมีการติดเชื้อโควิด-19 ร่วมด้วย (Death involving but not due to COVID-19)
ONS UK แสดงให้เห็นรายละเอียดการเสียชีวิตทั้งสองประเภท แตกต่างจากที่กระทรวงสาธารณสุขไทยที่นำเสนอเฉพาะการตายจากโควิด-19 เท่านั้น
คงจะเป็นการดี หากไทยเรานำเสนอข้อมูลอย่างละเอียดเหมือนสากลโลกที่ให้ข้อมูลเชิงลึกแก่ประชาชนในสังคม เพื่อจะได้เข้าใจสถานการณ์จริงอย่างลึกซึ้ง และเป็นประโยชน์ที่จะเสริมสร้างความรู้เท่าทัน นำไปสู่การตัดสินใจประพฤติปฏิบัติได้อย่างถูกต้องเหมาะสมต่อสถานการณ์
แต่หากมีข้อมูล โดยนำเสนอเฉพาะบางส่วน ก็จะทำให้ทุกคนเห็นเพียงเศษเสี้ยวของภาพทั้งหมด และเข้าใจคลาดเคลื่อนจากความเป็นจริงได้
เราจะตอบสนองต่อภัยคุกคามต่างๆ ในอนาคตได้อย่างมีประสิทธิภาพ หากเราช่วยกันคิด ช่วยกันทำ
แต่จะทำเช่นนั้นได้ ความโปร่งใส การตรวจสอบได้ และทำให้มีแหล่งข้อมูลรายละเอียดที่ประชาชนทุกคนเข้าถึงได้นั้นเป็นเรื่องจำเป็นอย่างยิ่ง
ป.ล.หากจะลองคาดประมาณจำนวนเสียชีวิตรวมของไทย ทั้ง Death from COVID และ Death with COVID โดยตั้งสมมติฐานว่าเหมือนธรรมชาติที่พบในสหราชอาณาจักร เราอาจบวกเพิ่มขึ้นไปอีกเฉลี่ยราว 30% แต่คงจะดีกว่า หากมีการนำเสนอตัวเลขที่มีจริงออกมาให้รับทราบโดยตรง
อ้างอิง :
1. Au WY et al. Effectiveness of heterologous and homologous covid-19 vaccine regimens: living systematic review with network meta-analysis. BMJ. 31 May 2022.
2. How coronavirus (COVID-19) compares with flu and pneumonia as a cause of death. Office for National Statistics, UK. 23 May 2022.