svasdssvasds
เนชั่นทีวี

ต่างประเทศ

อังกฤษนับถอยหลังสู่การฉลองครองราชย์ครบ 70 ปี

02 มิถุนายน 2565
เกาะติดข่าวสาร >> Nation Story
logoline

ชาวอังกฤษเตรียมพร้อมรับการเฉลิมฉลองการครองสิริราชสมบัติครบ 70 ปี ของสมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2 ที่ทรงสร้างประวัติศาสตร์เป็นประมุขพระองค์แรกแห่งสหราชอาณาจักร ที่ได้ฉลอง "Platinum Jubilee" และทรงเป็นกษัตริย์เพียงพระองค์เดียวที่ครองราชย์ยาวนานกว่า 70 ปี

สำนักพระราชวังบักกิงแฮม เผยแพร่พระบรมฉายาลักษณ์อย่างเป็นทางการในสมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2 ก่อนการเฉลิมฉลองการครองราชย์ครบ 70 ปี (Platinum Jubilee) โดยพระองค์ประทับที่ "วิคทอเรีย เวสติบุล" ในปราสาทวินด์เซอร์ และมีพระบรมราชานุญาตให้รานัลด์ แม็คเคชนี เป็นผู้ฉายพระบรมฉายาลักษณ์เมื่อต้นปี ทั้งยังมีพระราชสาสน์ขอบใจผู้ที่ร่วมจัดงานเฉลิมฉลองเนื่องในวาระสำคัญยิ่งครั้งนี้ว่า "ความทรงจำอันมากมายที่เปี่ยมไปด้วยความสุข" จะถูกรังสรรค์ขึ้น 

 

สมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2

 

ประชาชนหลายล้านคนในสหราชอาณาจักร ได้เตรียมพร้อมสำหรับการเฉลิมฉลองในอีกไม่กี่ชั่วโมงข้างหน้า ที่ตรงกับวันหยุดยาว 4 วัน เริ่มตั้งแต่วันนี้ (2 มิถุนายน) จนถึงวันที่ 5 มิถุนายน และเป็นวันหยุดธนาคารด้วย ซึ่งในระหว่างนี้จะมีพิธีสำคัญหลายพิธีที่น่าจับตามอง โดยเฉพาะการเสด็จออกสีหบัญชร พระราชวังบักกิงแฮม เพื่อทอดพระเนตรการสวนสนามของการแสดงบินของเครื่องบินจากกองทัพอากาศ ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของพิธีสวนสนามของทหารรักษาพระองค์ (Trooping the Colour ceremony)

 

อังกฤษนับถอยหลังสู่การฉลองครองราชย์ครบ 70 ปี

 

พิธีสวนสนามของทหารรักษาพระองค์ (Trooping the Colour ceremony) เริ่มมาตั้งแต่ปี ค.ศ.1805 ซึ่งสมเด็จพระราชินีนาถทรงตรวจแถวทหารเป็นครั้งแรกเมื่อปี ค.ศ.1951 เนื่องจากพระเจ้าจอร์จที่ 6 (พระราชบิดา) ทรงพระประชวร พระองค์จึงทรงปฏิบัติพระราชกรณียกิจนี้แทน แต่ขณะนั้นยังทรงเป็นเพียงเจ้าหญิง ก่อนจะทรงครองราชย์เป็นสมเด็จพระราชินีนาถในปีถัดมา

 

พิธีสวนสนามของทหารรักษาพระองค์

การเสด็จออกสีหบัญชร ณ บักกิงแฮม  เป็นไฮไลต์ที่สำคัญที่สุดในงานพระราชพิธีแห่งชาติ นับตั้งแต่สมเด็จพระราชินีนาถวิคตอเรียเสด็จออกเมื่อปี ค.ศ.1851 สำหรับปีนี้ยิ่งมีความสำคัญอย่างยิ่ง เพราะเป็นบันทึกประวัติศาสตร์หน้าใหม่ที่องค์พระประมุขแห่งสหราชอาณาจักร ทรงครองราชย์ยาวนานที่สุดถึง 70 ปี พร้อมด้วยพระบรมวงศานุวงศ์อีก 17 พระองค์ ทำให้เกิดคำถามว่ามีใครบ้างที่ได้ออกสีหบัญชรพร้อมสมเด็จพระราชินีนาถ

 

อังกฤษนับถอยหลังสู่การฉลองครองราชย์ครบ 70 ปี

 

ใครได้ออกสีหบัญชร และใครที่ไม่ได้ออก 

 

พอลีน แม็คลาแรน จากศูนย์ศึกษาระบอบราชาธิปไตยสมัยใหม่ (Centre for the Study of Modern Monarchy) ของ Royal Holloway, University of London ให้ความเห็นว่า มีคำถามเกิดขึ้นมากมายว่าใครที่ได้ออกสีหบัญชร และใครไม่ได้ออก คำตอบคือ คนที่ได้ออกก็คือคนที่ทรงงานแบ่งเบาสมเด็จพระราชินีและรัชทายาท ยกเว้น เจ้าชายแอนดรูว์ พระโอรสองค์ที่ 2 และเจ้าชายแฮร์รีกับพระชายาเมแกน ดยุกและดัชเชสแห่งซัสเซ็กซ์ โดยในกรณีของเจ้าชายแอนดรูว์ เป็นผลมาจากเรื่องอื้อฉาวซื้อบริการทางเพศผู้เยาว์ และต้องยอมจ่ายค่าชดเชยเพื่อปิดคดีจากการถูกฟ้องร้องทางแพ่ง ส่วนดยุกกับดัชเชสแห่งซัสเซ็กซ์เป็นผลจากการถอยออกจากการเป็นสมาชิกพระบรมวงศานุวงศ์ชั้นสูง เพื่อไปหาอิสระทางการเงินที่สหรัฐฯ และเป็นที่มาของคำว่า "Megxit"

 

เจ้าชายแฮร์รีกับพระชายาเมแกน ดยุกและดัชเชสแห่งซัสเซ็กซ์

 

ความชัดเจนของการออกสีหบัญชรในปีนี้ เป็นยุทธศาสตร์ที่ราชวงศ์ต้องการแสดงให้ว่า "คุมสถานการณ์ได้" เพราะรู้ดีว่าจะเกิดอะไรขึ้นถ้าให้เจ้าชายแอนดรูว์ผู้อื้อฉาวได้มีส่วนร่วม ส่วนกรณีดยุกกับดัชเชสแห่งซัสเซ็กซ์ ก็คือการแสดงให้เห็นถึงจารีตที่เคร่งครัดว่าไม่มีสมาชิกราชวงศ์แบบ "ครึ่ง ๆ กลาง ๆ" 

 

 เจ้าชาย แอนดรูว์ พระโอรสองค์ที่ 2

ใครคือคนสำคัญ 

 

แน่นอนว่าแม้จะมีผู้ได้รับอนุญาตเกือบ 20 คน แต่ "ผู้เล่นสำคัญ" ยังคงเป็นผู้สืบทอดราชบัลลังก์ อันได้แก่ เจ้าฟ้าชายชาร์ลส มกุฎราชกุมาร รัชทายาทลำดับที่ 1, เจ้าชายวิลเลียม ดยุกแห่งเคมบริดจ์ รัชทายาทลำดับที่ 2 และเจ้าชายจอร์จ พระโอรสองค์โตในเจ้าชายวิลเลียม รัชทายาทลำดับที่ 3 ซึ่งแม็คลาแรน บอกว่านี่ยิ่งกว่า "สัญลักษณ์" ที่แสดงถึงความ "ยืนยง" ของสถาบันกษัตริย์ แม้โฉมหน้าจะเปลี่ยนไป 

 

อังกฤษนับถอยหลังสู่การฉลองครองราชย์ครบ 70 ปี

 

แม้สีหบัญชรจะกว้างใหญ่ แต่มีนายกรัฐมนตรีเพียง 2 คน ที่ได้ขึ้นไป คนแรก คือ เนวิล แชมเบอร์เลน หลังเจรจาข้อตกลงที่มิวนิคของเยอรมนีเมื่อปี ค.ศ.1938 และคนที่สองคือ เซอร์วินสตัน เชอร์ชิล ตอนที่ฝูงชนเฉลิมฉลองการสิ้นสุดสงครามในยุโรป เมื่อปี ค.ศ.1945 

 

อังกฤษนับถอยหลังสู่การฉลองครองราชย์ครบ 70 ปี

 

อังกฤษนับถอยหลังสู่การฉลองครองราชย์ครบ 70 ปี

 

ใครยืนตรงไหน มีการมาร์คจุดหรือไม่

 

ไม่มีการมาร์คจุดอย่างเป็นทางการ แต่ก็เป็นธรรมเนียมว่าสมเด็จพระราชินีนาถทรงยืนที่ด้านหน้า และทรงไม่เคยเปลี่ยนจุดเลย ส่วนผู้ที่ยืนขนาบก็คือเจ้าฟ้าชายชาร์ลส-พระชายาคามิลลา ดัชเชสแห่งคอร์วอลล์ กับเจ้าชายวิลเลียม-พระชายาแคทเธอรีน ดัชเชสแห่งเคมบริดจ์ 

 

นับตั้งแต่เสด็จขึ้นครองราชย์ สมเด็จพระราชินีนาถทรงปฏิบัติพระราชกรณียกิจในการเสด็จฯ เยือนต่างประเทศรวมกว่า 260 ครั้ง รวมถึงเสด็จฯ เยือนประเทศไทยอย่างเป็นทางการ 2 ครั้ง ในปี ค.ศ.1972 และ ค.ศ.1996 ซึ่งนับตั้งแต่ทรงพระราชสมภพจนถึงวันนี้ ที่ทรงพระชนมายุ 96 พรรษานั้น เป็นช่วงเวลาที่พลิกผันจากเจ้าหญิงน้อยที่ทรงใช้ชีวิตช่วงสิบปีแรกอย่างอิสรเสรี ใช้เวลาส่วนใหญ่เล่นกับสุนัขและม้า ก่อนที่โชคชะตาจะลิขิตให้ต้องขึ้นครองราชย์ เป็นองค์ประมุขของ 15 ประเทศ จาก 53 รัฐ สมาชิกในเครือจักรภพจวบจนทุกวันนี้ 

 

อังกฤษนับถอยหลังสู่การฉลองครองราชย์ครบ 70 ปี

 

 

logoline