svasdssvasds
เนชั่นทีวี

ต่างประเทศ

ฟิลิปปินส์กับผู้นำที่เหยียบแผ่นดินสหรัฐฯ ไม่ได้

03 พฤษภาคม 2565
เกาะติดข่าวสาร >> Nation Story
logoline

การเลือกตั้งประธานาธิบดีฟิลิปปินส์ที่กำลังจะมีขึ้น มีบุคคลที่ถูกจับตามองเป็นพิเศษเพราะนอกจากจะมีคะแนนนิยมนำมาเป็นอันดับ 1 แบบทิ้งห่างแล้ว ขณะเดียวกันถ้าเขาได้รับเลือกตั้งเป็นประธานาธิบดีขึ้นมาจริงๆ ก็จะเป็นคนแรกที่ไม่สามารถไปเหยียบแผ่นดินสหรัฐฯ ได้

บุคคลที่ถูกจับตามองคือ เฟอร์ดินานด์ "บองบอง" มาร์กอส จูเนียร์ เพราะคะแนนนิยมที่ทิ้งห่างคู่แข่งคนอื่นๆ ส่อเค้าความเป็นไปได้ที่เขาจะได้เป็นประธานาธิบดีคนใหม่ ที่จะมาพร้อมกับประวัติศาสตร์หน้าใหม่คือ เขาจะเป็นประธานาธิบดีฟิลิปปินส์คนแรกที่ไม่สามารถไปเหยียบแผ่นดินสหรัฐฯ ได้ เพราะเขากับแม่คือ อิเมลดา มาร์กอส ถูกศาลแขวงในรัฐฮาวายสั่งปรับเงิน 353.6 ล้านดอลลาร์ (12,000 ล้านบาท) ฐานละเมิดคำพิพากษาในคดี "เหยื่อสิทธิมนุษยชน" (Human Rights Victims) เมื่อปี 2535 ที่สั่งห้ามไม่ให้กระจายทรัพย์สินออกจากอสังหาริมทรัพย์ของ เฟอร์ดินานด์ มาร์กอส บิดาของเขา 

 

พ่อของบองบองถูกจดจำในฐานะหนึ่งในผู้นำเผด็จการที่อื้อฉาวมากที่สุดในศตวรรษที่ 20 โดยตลอดระยะเวลา 21 ปี (2508-2529) ที่อยู่ในอำนาจ มีแต่การคอร์รัปชันเอาเงินที่ได้จากการฉ้อราษฎร์บังหลวงมาเสวยสุขใช้ชีวิตอย่างหรูหรา ขณะที่ประชาชนยากจนข้นแค้น คนที่เห็นต่างถูกละเมิดสิทธิมนุษยชนและถูกฆ่าอย่างทารุณ ภายใต้การประกาศกฎอัยการศึกที่ยาวนานเกือบ 10 ปี จากตัวเลขประมาณการอย่างเป็นทางการชี้ว่า มาร์กอสกับคนใกล้ชิดยักย้ายถ่ายเทเงินออกจากธนาคารกลางฟิลิปปินส์โดยการโอนไปยังบัญชีธนาคารในต่างประเทศ และการซื้อสินค้าหรูหราราคาแพง เช่น งานศิลปะและเครื่องเพชร มูลค่าระหว่าง 5,000-10,000 ล้านดอลลาร์ 

 

เฟอร์ดินานด์ มาร์กอส

แม้คะแนนนิยมจะสูงลิ่วถึง 56% แต่บองบองวัย 64 ปี ก็ยังไม่มีนโยบายที่ชัดเจน รวมทั้งมุมมองเกี่ยวกับจีนที่สยายปีกทางทหารเข้าไปในทะเลจีนใต้ โดยได้แต่พูดย้ำเรื่อง "การปรองดอง" (unity) บนเวทีหาเสียง เขาบอกด้วยว่าไม่เคยคิดจะเป็นนักการเมืองและพยายามหลีกเลี่ยงมาโดยตลอด แต่ก็ถูกกระตุ้นจากคนรอบข้างตั้งแต่ยังเป็นวัยรุ่น ที่ไม่อยากเป็นเพราะเห็นจากที่พ่อเคยเป็นมาก่อน และยังพูดดักไว้ด้วยว่าจะไม่ให้ความเห็นเกี่ยวกับเหตุการณ์เมื่อ 35 ปีก่อน ซึ่งก็คือช่วงที่พ่อของเขาอยู่ในอำนาจ 

 

แม้ภาพจำในสมัยพ่อของบองบองจะเลือนลางสำหรับคนรุ่นใหม่ ที่หลายคนเกิดไม่ทันโดยเฉพาะตอนที่ถูกพลังมหาชนโค่นอำนาจเมื่อปี 2529 จนต้องรีบเก็บข้าวเก็บของหนีออกจากทำเนียบมาลากันยังอย่างฉุกละหุก เพื่อขึ้นเครื่องบินไปฮาวาย ทิ้งภาพจำคือรองเท้าราว 2,000 คู่ ของอิเมลดา ไว้ให้ดูต่างหน้า ซึ่งเป็นไปได้ว่ารอยด่างในอดีตเหล่านี้มักจะเป็นอุปสรรคในเส้นทางการเมือง จนเขาเป็นคนเดียวใน 10 คน ที่ไม่ร่วมดีเบตถ่ายทอดทางโทรทัศน์ของคณะกรรมการการเลือกตั้ง 2 ครั้ง และปฏิเสธการร่วมดีเบตที่จัดโดย CNN ฟิลิปปินส์ 

 

เมลดา มาร์กอส

นอกจากปฏิเสธคำเชิญร่วมดีเบตแล้ว เขายังไม่ค่อยให้สัมภาษณ์สื่อและมักไม่ตอบคำถามผู้สื่อข่าว คงเพราะไม่อยากให้ซ้ำรอยตอนเลือกตั้งชิงตำแหน่งรองประธานาธิบดีเมื่อปี 2559 ที่โดนซักหนักเรื่องการทุจริตและความรุนแรงในสมัยพ่อของเขา จนนำไปสู่ความพ่ายแพ้อย่างหมดรูปต่อ เลนี่ โรเบรโด และต้องรอถึง 5 ปี กว่าจะกลับมาลงเลือกตั้งประธานาธิบดี 

 

ฟิลิปปินส์กับผู้นำที่เหยียบแผ่นดินสหรัฐฯ ไม่ได้

 

บองบองจะแสดงท่าทีเบื่อหน่ายทันทีเมื่อเจอคำถามจี้จุด เช่น ตอนที่ให้สัมภาษณ์สถานีโทรทัศน์ One News เขาก็จะถามกลับว่ามีคำถามอะไรที่ยังไม่เคยถามอีกและมีคำตอบอะไรที่ยังไม่เคยตอบอีก ก่อนจะทิ้งท้ายว่า มันเปลี่ยนแปลงอะไรไม่ได้แล้ว ซึ่งนักวิจารณ์ได้ลงความเห็นว่า ครอบครัวมาร์กอสไม่เคย "ขออภัย" หรือยอมรับความผิดพลาดที่ทำในอดีต และเชื่อว่าการสมัครชิงเก้าอี้ประธานาธิบดีของบองบอง ก็เพื่อหวังจะ "ฟอกขาว" ประวัติศาสตร์ เพื่อลบล้างความผิดที่ก่อไว้ในอดีต 

logoline