svasdssvasds
เนชั่นทีวี

ต่างประเทศ

วิกฤตยูเครน โอกาสขายก๊าซของสหรัฐอเมริกา

05 เมษายน 2565
เกาะติดข่าวสาร >> Nation Story
logoline

สหรัฐทุ่มงบประมาณมหาศาลเพื่อช่วยยูเครนท้ั้งด้านอาวุธและด้านมนุษยธรรมแต่สิ่งหนึ่งที่สหรัฐได้กลับคืนมาจากวิกฤตยูเครนและการคว่ำบาตรรัสเซียก็คือการส่งออกก๊าซธรรมชาติเหลว (LNG) ที่ยอดเพิ่มสูงขึ้นมาก ลูกค้าเป้าหมายก็คือยุโรป ทำให้มีเสียงวิจารณ์สหรัฐในเรื่องนี้

เรือขนถ่ายก๊าซ LNG

 

วิกฤตยูเครนอาจเป็นวิบัติของหลายประเทศและเป็นโอกาสของบางประเทศเช่นกันเรื่องนี้มีคนมองไปที่สหรัฐที่ยอดส่งออกก๊าซธรรมชาติเหลวหรือ LNG เพิ่มขึ้นเกือบ 16 เปอร์เซ็นต์ สูงเป็นประวัติการณ์เพราะมาตรการคว่ำบาตรรัสเซียนั่นเอง

 

LNG (Liquefied Natural Gas) หรือก๊าซธรรมชาติเหลว คือ ก๊าซธรรมชาติที่ถูกเปลื่ยนสถานะจากก๊าซเป็นของเหลวโดยใช้ความเย็นประมาณ -160 องศาเซลเซียส เพื่อความสะดวกในการจัดเก็บและการขนส่ง ถ้าจะนำไปใช้งานต้องแปรสภาพกลับไปเป็นก๊าซเหมือนเดิมก่อน และสามารถนำไปใช้งานเช่นผลิตไฟฟ้าหรือเป็นเชื้อเพลิงรถยนต์และโรงงานอุตสาหกรรม

 

เดือนกุมภาพันธ์สหรัฐส่งออกก๊าซ LNG 6.4 ล้านตัน ถัดมาเดือนเดียวคือมีนาคม ยอดส่งออกเพิ่มขึ้นเป็น 7.43 ล้านตัน ตลาดส่งออกก๊าซของสหรัฐที่ใหญ่ที่สุดคือยุโรปซึ่งคิดเป็น 65 เปอร์เซ็นต์ของทั้งหมด

 

ประเทศในสหภาพยุโรปหรืออียูทั้งหมดต้องพึ่งพาการนำเข้าก๊าซจากรัสเซียประมาณ 40 เปอร์เซ็นต์และนำมันดิบประมาณ 30 เปอร์เซ็นต์ โดยเมื่อวันที่ 25 มีนาคม สหรัฐและอียูได้ทำความตกลงความร่วมมือด้านพลังงานที่จะขยายการส่งออก LNG ของสหรัฐไปยังสหภาพยุโรปเพิ่มเติมให้ได้อย่างน้อย 15,000 ล้านลูกบาศก์เมตรในปีนี้และเพิ่มขึ้นในปีต่อๆไป

 

สต็อกก๊าซของยุโรปขณะนี้หายไปประมาณ 25 เปอร์เซ็นต์และอาจจะถึง 80 เปอร์เซ็นต์ภายในวันที่ 1 พฤศจิกายนนี้  ราคาพลังงานในยุโรปที่กำลังเพิ่มขึ้นถือเป็นภัยคุกคามความมั่นคงด้านพลังงานแต่นักวิเคราะห์ก็มองว่าการหันไปซื้อก๊าซ LNG จากสหรัฐจะทำให้ชาติยุโรปจ่ายสูงขึ้น

วิกฤตยูเครน โอกาสขายก๊าซของสหรัฐอเมริกา

ไมค์ วอลเลซ สมาชิกรัฐสภายุโรปถึงกับออกมาบอกว่ายุโรปไม่ควรเปลี่ยนการพึ่งพาพลังงานจากรัสเซียมาเป็นสหรัฐพร้อมกับประณามว่าเป็นสิ่งที่เลวทรามสำหรับประเทศที่ชอบทิ้งระเบิด ชอบรุกราน ชอบยึดครองและชอบแทรกแซงประเทศอื่่นๆมากกว่าใครๆซึ่งก็หมายถึงสหรัฐนั่นเอง

 

ธนาคาร Gazprombank

หันมาฝั่งรัสเซียที่ประธานาธิบดีปูตินเคยประกาศว่าจะยกเลิกการส่งออกก๊าซหากยุโรปไม่ยอมจ่ายเป็นเงินรูเบิลผ่านธนาคารของรัสเซียโดยเริ่มมีผลตั้งแต่วันที่ 1 เมษายนเป็นต้นมา ล่าสุดออกมาประกาศว่าจะยังไม่ระงับการส่งออกและไม่มีผลต่อการส่งมอบที่ได้จ่ายเงินไปแล้วในงวดตั้งแต่วันที่ 1-15 เมษายน เพื่อให้เวลากับสหภาพยุโรปหรืออียู.ในการเจรจากับบริษัทพลังงานเพื่อหาทางจ่ายค่าก๊าซหรือหาแนวทางร่วมกันในการทำสัญญาจ่ายเงินให้กับรัสเซียที่เปิดทางให้อียูซื้อเงินรูเบิลผ่านธนาคาร Gazprombank ซึ่งเป็นของรัฐบาลรัสเซียได้ซึ่งอียูยังไม่คว่ำบาตรธนาคารนี้เพื่อให้การซื้อน้ำมันและก๊าซจากรัสเซียเดินหน้าต่อไปได้

 

ต่างจากอังกฤษที่คว่ำบาตร Gazprombank ได้เพราะนำเข้าก๊าซจากรัสเซียไม่ถึง 5 เปอร์เซ็นต์  ขณะที่

ฝรั่งเศสนำเข้าประมาณ 20 เปอร์เซ็นต์

บัลกาเรียสูงถึง 90 เปอร์เซ็นต์

ออสเตรีย 80 เปอร์เซ็นต์ 

โปแลนด์ เท่ากับคือเยอรมนี 50 เปอร์เซ็นต์

กรีซกับอิตาลีก็เท่ากันคือ 40 เปอร์เซ็นต์  

เนเธอร์แลนด์ 15-20 เปอร์เซ็นต์

 

นักวิเคราะห์มองว่ากลยุทธ์ของปูตินที่ขู่จะยุติการส่งออกเชื้อเพลิงหากไม่จ่ายเป็นเงินรูเบิล นอกจากจะช่วยพยุงค่าเงินรูเบิลแล้วยังต้องการปกป้องไม่ให้ยักษ์ใหญ่ด้านพลังงงานของรัสเซียอย่าง Gasprom หรือแม้แต่ Gasprombank ถูกคว่ำบาตรในอนาคตด้วย เพราะถ้าอียูคว่ำบาตรก็จะถูกตัดการส่งออกเชื้อเพลิง

Gasprom ยักษ์ใหญ่ด้านพลังงงานของรัสเซีย

นอกจากนั้นปูตินยังต้องการทดสอบว่าจะมีใครยอมจ่ายด้วยเงินรูเบิ้ลหรือไม่ ซึ่งขณะนี้ยังไม่มีประเทศไหนยอม ดังนั้นเมื่อถูกตีกลับอย่างนี้ปูตินก็ต้องพยายามหาระบบที่ทำให้เขาสามารถอ้างว่าเป็นชัยชนะของรัสเซียให้ได้ ทางหนึ่งที่กำลังทำก็คือยอมให้จ่ายเป็นเงินรูเบิลแบบค่อยเป็นค่อยไป ไม่ได้บังคับในทันที

 

บางคนมองว่านี่เป็นสิ่งที่เรียกว่า Game of Chicken หรือเกมวัดใจว่าใครขี้ขลาด เปรียบเหมือนรถ 2 คันเมื่อพุ่งเข้าหากัน คนหลบก่อนคือคนขี้ขลาดหรือคนแพ้ แต่ถ้าไม่มีใครหลบใครก็ชนกันพินาศ เทียบไดักับรัสเซียกับอียูในขณะนี้

 

สหภาพยุโรปไม่ได้ยกเลิกการนำเข้าน้ำมันและก๊าซจากรัสเซียที่เป็นแหล่งน้ำเข้าหลักและเป็นเรื่องยากสำหรับสหภาพยุโรปที่จะหาแหล่งนำเข้าก๊าซจากแหล่งอื่น ทำให้รัสเซียมีรายได้จากการขายก๊าซให้สหภาพยุโรปวันละประมาณ 400 ล้านปอนด์

 

เยอรมนีเริ่มส่งสัญญาณเตือนว่าอาจจะต้องถึงขั้นปันส่วนก๊าซในประเทศแล้วโดยเรียกร้องให้ประชาชนและบริษัทลดการใช้ก๊าซเพราะมีความเป็นไปได้สูงที่จะขาดแคลน เช่นเดียวกับออสเตรียที่เริ่มคุมเข้มตลาดก๊าซ

 

ไม่ใช่แค่น้ำมันและก๊าซ รัสเซียยังขู่จะต้องจ่ายด้วยเงินรูเบิลในสินค้าอื่นๆเช่นปุ๋ย ธัญพืช โลหะและไม้ด้วย

 

ในกรณีของก๊าซน่าสนใจเพราะมีข้อมูลว่าเยอรมนีไม่เคยขาดแคลนก๊าซเพราะมีสำรองไว้มหาศาลแต่ในช่วงปีที่แล้วพูดง่ายๆก็คือรัสเซียกลับเติมก๊าซให้ไม่เต็มถัง เลยมีบางคนเหมาเอาว่าถ้าจะมีความเป็นไปได้ที่รัสเซียต้องการใช้ก๊าซเป็นอาวุธต่อรองกับยุโรปนั่นเอง

logoline